8 ต.ค. 2021 เวลา 08:45 • การตลาด
IKEA เปิดบริการรับซื้อสินค้า IKEA มือสอง
เน้นขายราคาถูกกว่าของใหม่เฉลี่ย 50%
IKEA เพิ่มดีกรีการทำธุรกิจด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการเปิด 2 บริการในประเทศไทย คือ IKEA Circular Shop บริการรับซื้อสินค้าของ IKEA ในสภาพสมบูรณ์ และ Recycling Centre บริการรับจัดการขยะรีไซเคิลที่ IKEA บางใหญ่เป็นที่แรก
ทอม ซูเทอร์ ผู้จัดการสโตร์ อิเกีย บางใหญ่ กล่าวว่า IKEA Circular Shop เปิดให้บริการเป็นครั้งแรกที่ประเทศสวีเดน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ IKEA ก่อนจะขยายไปยังประเทศอื่นๆ อาทิ อังกฤษ, แคนาดา รวมถึงประเทศไทย ซึ่งถือกลุ่มประเทศแรกๆ ของโลกที่เริ่มให้บริการ
“แนวคิดการทำธุรกิจของ IKEA คือ ส่งต่อโลกที่ดีกว่าให้กับคนรุ่นหลัง IKEA Circular Shop เปิดขึ้นมาเพื่อให้โอกาสผู้บริโภคที่มีเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่ใช้แล้วได้หาบ้านใหม่ โดยผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์ คือลูกค้าที่มาเพื่อซื้อและขาย เราพบว่าในประเทศไทยมีคนจำนวนมากที่ต้องการเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ใหม่ แต่หาทางออกกับของเฟอร์นิเจอร์เก่าที่ใช้อยู่ไม่เจอ นี่คือจุดเริ่มต้นของ IKEA Circular Shop ส่วนบริการ Recycling Centre IKEA มองว่าการแยกขยะในประเทศไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าใดนัก จึงเปิดบริการนี้ขึ้นมา โดยมองว่าการสร้างแรงจูงใจด้วยการเอาขยะมาแลกกับแต้มของ IKEA น่าจะสร้างแรงจูงใจได้ในระดับหนึ่ง”
ทอม ซูเทอร์ ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา IKEA พยายามทำทุกอย่างเพื่อที่จะลดปริมาณขยะของประเทศให้ไปสู่ Landfill หรือการฝังกลบมากที่สุด โดยการเปิดให้บริการครั้งนี้ในเฟสแรก IKEA วางเป้าหมายว่าจะมีลูกค้านำเอาเฟอร์นิเจอร์เก่ามาคืนอย่างน้อย 10 ชิ้น ต่อสัปดาห์ ส่วนเรื่องของการรีไซเคิลขยะ ปัจจุบัน IKEA สามารถรีไซเคิลขยะภายในสโตร์ของIKEA ได้ประมาณ 78% ของปริมาณขยะทั้งหมด ซึ่งหลังจากการเปิดให้บริการ Recycling Centre คาดว่าน่าจะเพิ่มตัวเลขการนำขยะเอาไปรีไซเคิลเป็น 83%
ในส่วนของการประเมินราคาซื้อ-ขาย สินค้ามือสองนั้น ผู้จัดการสโตร์ อิเกีย บางใหญ่ กล่าวว่า ไม่มีราคาที่ตายตัว แต่โดยเฉลี่ยแล้ว สินค้ามือสองน่าจะมีราคาถูกลงประมาณ 50% เมื่อเทียบกับราคาของสินค้ามือหนึ่ง
“IKEA มองการประเมินราคาเป็นงานศิลปะ เราไม่ได้มีสูตรคำนวณตายตัว เราพยายามใช้หลักการแบบใจเขาใจเรา แต่ยังคงเน้นเรื่องของคุณภาพ ถ้าสินค้ามีบางส่วนที่เสียหาย มีตำหนิ หรือสกปรก เราจะทำให้ทุกอย่างกลับมาอยู่ในคุณภาพที่ดีก่อนนำไปวางจำหน่าย โดยไม่มีการชาร์จค่าซ่อมแซม หรือคิดค่าทำความสะอาดสินค้า นี่คือหลักการ เพราะ IKEA ไม่ได้หวังจะสร้างกำไรจากส่วนธุรกิจใหม่ทั้ง 2 ยูนิตนี้”
โดยขั้นตอนการใช้บริการของ IKEA Circular Shop มีดังนี้
● นำเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องการขายมาติดต่อที่แผนกบริการลูกค้า ชั้น 1 อิเกีย บางใหญ่ เพื่อประเมินสภาพของเฟอร์นิเจอร์ของลูกค้า และแจ้งราคารับซื้อ ซึ่งหากลูกค้าตกลง จะได้รับ
บัตรของขวัญอิเกีย มูลค่าตามที่แจ้ง (สามารถตรวจสอบเงื่อนไขการให้บริการและรายละเอียดต่างๆ ได้ที่เคาน์เตอร์บริการลูกค้า หรือ IKEA.co.th/buy-back-resell)
● รับบัตรของขวัญอิเกียตามจำนวนที่ได้ตกลงกันเพื่อนำไปซื้อสินค้าในสโตร์บัตรของขวัญมีอายุ 2 ปี
● สินค้ามือสองที่มีคุณภาพและราคาเอื้อมถึงได้ ผ่านการตรวจสอบคุณภาพแล้ว จะวางจำหน่ายที่เซอร์คิวลาร์ช็อป โดยจะมีสติกเกอร์ “สวัสดี ฉันกำลังหาบ้านใหม่” แปะไว้
● สำหรับเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบของอิเกียและลูกค้าไม่ต้องการทิ้งเฟอร์นิเจอร์ให้กลายเป็นขยะ สามารถติดต่อที่ศูนย์รีไซเคิล โดยอิเกียจะนำเฟอร์นิเจอร์ของคุณไปบริจาคให้องค์กรการกุศลในท้องถิ่นต่อไป
ในส่วนของการรีไซเคิลขยะ ทอม ซูเทอร์ อธิบายว่า โดยปกติแล้ว ขยะที่นำมารีไซเคิลจะมีมูลค่าในตัวเองจากการรับซื้อของโรงงานแยกขยะ โดยทาง IKEA จะเอารายได้ตรงนี้มาซัพพอร์ตกับปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งถ้ามีตัวเลขค่าใช้จ่ายที่มากกว่าการขายขยะ ทาง IKEA ก็จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายตรงส่วนนี้ โดยไม่มีการผลักภาระไปยังผู้บริโภค
ตั้งแต่เริ่มมีการเปิดให้บริการมามีสมาชิกของ IKEA นำขยะมาส่งที่ Recycling Centre แล้วกว่า 200 กิโลกรัม โดยทุกๆ 1 กิโลกรัม IKEA จะมอบรางวัลเป็นแต้มสะสมซึ่งสามารถนำไปซื้อสินค้าและบริการใน IKEA ได้
โดยเงื่อนไขการรับขยะรีไซเคิลของ IKEA มีรายละเอียดดังนี้
• รับคะแนน IKEA Family สำหรับขยะรีไซเคิลที่แยกประเภททุกๆ 1 กิโลกรัม ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ พลาสติก อะลูมิเนียมและโลหะอื่นๆ และแก้วใสตามที่กำหนด เมื่อสะสมคะแนนโบนัสครบยอด 5,000 คะแนน สามารถแลกคูปองเงินสดมูลค่า 50 บาทเพื่อไปซื้อสินค้าในสโตร์ได้
• ถ้าขยะรีไซเคิลไม่ถึงน้ำหนักขั้นต่ำสุดคือ 1 กิโลกรัม ยังคงนำไปรีไซเคิลได้ด้วยการนำไปไว้ในถังขยะที่เรากำหนดไว้
• ไม่สามารถรับเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ บรรจุภัณฑ์ของสารเคมีและสารกัมมันตรังสี ทั้งที่เป็นขยะรีไซเคิลได้และรีไซเคิลไม่ได้
เมื่อถูกถามถึงเรื่องโอกาสในการรับซื้อเฟอร์นิเจอร์ของแบรนด์อื่นๆที่ไม่ใช่ IKEA ทอม ซูเทอร์ อธิบายว่า เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะไม่สามารถตรวจสอบคุณภาพ รวมถึงข้อมูลของสินค้าได้
“การรับซื้อเฟอร์นิเจอร์จากที่อื่นไม่น่าจะทำได้ เพราะว่าเราต้องรู้ที่มาที่ไปของสินค้า แต่ถ้ามีคนสนใจเป็นจำนวนมาก ก็อาจจะใช้ทางออกด้วยวิธีการ อื่นๆ เช่น เปิดพื้นที่ส่วนหนึ่งของลานจอดในวันธรรมดาที่มีประมาณรถไม่หนาแน่นเป็นตลาดนัดเฟอร์นิเจอร์มือสอง ในลักษณะ Flea Market ในวันธรรมดา เพื่อให้คนซื้อและคนขายมาเจอกัน”
ปัจจุบันทั้ง 2 บริการใหม่นี้ จะยังมีเปิดให้บริการเฉพาะที่ IKEA สาขาบางใหญ่ ซึ่งแผนงานในอนาคต ทาง IKEA ก็เตรียมที่จะขยายการให้บริการนี้ไปยังสาขาบางนา และภูเก็ตด้วย
1
“ทุกคนรับรู้ว่าโลกเรามีทรัพยากรธรรมชาติที่จำกัด เพราะฉะนั้นมิชชั่นของ IKEA คือต้องหาทางลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด เราเชื่อว่า เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทยสามารถขยับขยายจนกลายเป็นกระแสหลักได้ เพราะประเทศไทยมีระบบโลจิสติกส์ที่ดี มีโรงงานที่ผลิตสินค้าในกลุ่มนี้อยู่ในประเทศไทยหลายแห่ง มีบริษัทที่ช่วยคัดแยกและจำกัดขยะ เชื่อว่าไม่นานน่าจะเป็นกระแสหลักได้”
#BrandAge_Online #IKEA
โฆษณา