10 ต.ค. 2021 เวลา 11:51 • หนังสือ
“เหตุผลในการมีชีวิตอยู่ของคุณคืออะไร”
คำถามนี้เป็นหนึ่งในสิ่งที่จุดประจายนักเขียนชาวสเปน 2 คนในการเขียนหนังสือเรื่อง “อิคิไก ikigai” เพื่อค้นหาคำตอบให้แก่ตัวเอง
หนังสือเรื่อง “อิคิไก ikigai” เขียนโดย เอ็กตอร์ การ์เซีย กับ
ฟรานเซสค์ มิราเยส แปลโดย เพ็ญพิสาข์ ศรีวรนารถ สำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์ เป็นหนังสือเกี่ยวกับปรัชญาและศิลปะการดำเนินชีวิตตามหลัก “อิคิไก” หรือ “จุดมุ่งหมายในชีวิต” ซึ่งเป็นคำภาษาญี่ปุ่น 生き甲斐 โดย 生き แปลว่า “ชีวิต” ส่วน 甲斐 แปลว่า “คุ้มค่า”
1
นักเขียนทั้งสองคนเดินทางไปยังหมู่บ้านโอกะมิหรือ “หมู่บ้านศตวรรษิกชน” ทางตอนเหนือของเกาะโอกินะวะ ซึ่งมีจำนวนประชากรที่อายุยืนมากที่สุดในโลกเพื่อสัมภาษณ์เคล็ดลับการใช้ชีวิตของคนในชุมชน
3 สิ่งที่ได้เรียนรู้
1
1. ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าคนเรามี “อิคิไก” ที่ฝังลึกในตัวเองและรอการค้นพบ สิ่งนี้เปรียบเสมือน “เข็มทิศ” ในการใช้ชีวิตที่ทำให้เราอยากตื่นนอนในทุก ๆ วัน
อิคิไกอาจจะเป็นความหลงใหลในบางสิ่ง ความสามารถบางอย่างที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย หรือการใช้ศักยภาพสูงสุดเพื่อทำประโยชน์ให้แก่ตนเอง คนรอบข้าง และสังคม
วิถีชีวิตของผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยการมีภารกิจสำคัญอย่างน้อย 1 อย่าง (อิคิไก) ที่มีความหมายกับพวกเขาและทำเป็นประจำด้วยความกระตือรือร้น เช่น พบปะเพื่อนฝูง เป็นอาสาสมัครหมู่บ้าน ทำงานจักสาน หรือยิ้มแย้มกับผู้คน เป็นต้น
2. หลักสำคัญของอิคิไกคือความสมดุลของชีวิต
บทสัมภาษณ์ของชาวบ้านโอกะมิแสดงให้เห็นถึงการรักษาสมดุลทางกายและใจทั้งกับตัวเองและคนรอบข้างในการใช้ชีวิตประจำวัน
ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารแต่พออิ่ม (ให้ท้องอิ่มแค่ 80%) การเคลื่อนไหวร่างกายเบา ๆ ตลอดวัน การรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมหมู่บ้าน (เฉลิมฉลองวันสำคัญร่วมกัน ทำกิจกรรมกลุ่ม หรือช่วยเหลือกัน) การมองโลกในแง่ดีการอยู่กับธรรมชาติ (ผู้ให้สัมภาษณ์ทุกคนมีสวนของตัวเอง) การมีสมาธิมากที่สุดกับสิ่งที่ทำ รวมถึงการเห็นความสวยงามในความไม่สมบูรณ์แบบของสรรพสิ่ง (วาบิซะบิ) และการอยู่กับปัจจุบัน (อิชิโกะอิชิเอะ)
3. คนในชุมชนโอกะมิใช้ชีวิตด้วยความกระฉับกระเฉง ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และความมีวินัย
จากการสังเกตการณ์ของผู้เขียนพบว่า ชาวบ้านในชุมชนมักจะหากิจกรรมทำตลอดเวลา อาทิ ออกกำลังกาย หรือพบปะสังสรรค์ แทนที่จะนั่งเฉย ๆ
ชาวบ้านบนเกาะโอกินะวะ รวมถึงหมู่บ้านโอกะมิ มักเป็นสมาชิกของโมอะอิ ซึ่งคล้ายกับชมรมกิจกรรมของผู้ที่มีความสนใจร่วมกัน สมาชิกจะจ่ายค่าสมาชิกรายเดือนเพื่อนำไปจัดประชุมกลุ่มและกิจกรรมอื่น ๆ อาทิ เล่นหมากรุกหรือรับประทานอาหารร่วมกัน นอกจากนี้ยังทำหน้าที่คล้ายสหกรณ์ชุมชนที่มีการจ่ายเงินปันผลและให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่สมาชิกที่เดือดร้อนอีกด้วย
1
บทสัมภาษณ์ของชาวบ้านยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการมีกิจวัตรประจำวันหรือกิจกรรมที่ทำเป็นประจำทุกวัน เช่น การตื่นนอนเวลาเดิมทุกวัน การออกกำลังกายทุกวัน การสังสรรค์กับผู้คนเป็นประจำ เป็นต้น
โฆษณา