18 ต.ค. 2021 เวลา 09:48 • ข่าว
การทูตเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ
หลายท่านอาจไม่ทราบว่ากระทรวงการต่างประเทศเพิ่งจะมีกรมน้องใหม่ในสังกัด อายุเพียง ๖ ขวบเท่านั้น แต่บทบาทและผลงานของน้องเล็กคนนี้ถือว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว วันนี้ ดิฉันจึงอยากจะมาแนะนำน้องสุดท้องของกระทรวงการต่างประเทศ นั่นก็คือ ‘กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ’ หรือ ‘Thailand International Cooperation Agency: TICA’ ว่ามีหน้าที่และพันธกิจอย่างไรกันบ้าง ผ่านบทสัมภาษณ์ คุณอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ในรายการคุยรอบโลกกับโฆษก กต. Spokesman Live เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๔ ตอน กรมความร่วมมือระหว่างประเทศกับงานด้านการทูตเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (https://fb.watch/87_jp2coFy/)
TICA เป็นหน่วยราชการที่ดูแลและรับผิดชอบการบริหารงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนา เรียกว่า Official Development Assistance (ODA) ซึ่งทำหน้าที่เสมือนองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) และหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ (United States Agency for International Development: USAID) ซึ่งต่างเป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ หรือภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า development cooperation หมายถึง ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา และถือเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่จะนำไปสู่ผลประโยชน์ร่วมกันในอนาคต ‘ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา’ จึงถือว่าเป็นการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศเชิงรุกในการส่งเสริมความสัมพันธ์กับมิตรประเทศ โดยเฉพาะในระดับประชาชนกับประชาชน
นอกจากนี้ ยังเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมสถานะภาพลักษณ์ เกียรติภูมิ ของไทยในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา หรือ development partner ขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งเป้าหมายด้านอื่น ๆ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่มีใครได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว
TICA ให้ความสำคัญลำดับต้นกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยย่อมส่งผลต่อประเทศเพื่อนบ้าน และสิ่งที่เกิดกับประเทศเพื่อนบ้านก็ย่อมส่งผลต่อไทยเช่นเดียวกัน โดยมีการปรับโครงสร้างภายในกรมฯ ใหม่ประกอบด้วย ๓ กอง ได้แก่ (๑) กองส่งเสริมและประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ มีหน้าที่บูรณาการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในภาพรวม เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ของไทย (๒) กองความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กองนี้ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการในรูปแบบต่าง ๆ แบ่งการทำงานออกเป็นสาขาสังคมและสาขาเศรษฐกิจ
(๓) กองความร่วมมือด้านทุน มีหน้าที่ดูแลทั้งเรื่องการให้ทุนการศึกษาและการฝึกอบรม
กรมฯ มองว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นการส่งเสริมการทูตเพื่อการพัฒนาของไทยผ่านเครือข่ายความสัมพันธ์ระดับประชาชน ปัจจุบัน มีมิตรประเทศของไทยทั่วโลกในกว่า ๑๕๐ ประเทศ ที่ได้รับทุนจากรัฐบาลไทย ซึ่งท่านอธิบดีมองว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ส่วนใหญ่คนมองว่า เราให้ความช่วยเหลือกับต่างประเทศ แล้วไทยได้อะไร? ท่านอธิบดีได้ยกตัวอย่างที่เห็นผลเป็นรูปธรรม เช่น โครงการพัฒนาฝีมือตามแนวชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาฝีมือแรงงานในประเทศเพื่อนบ้านที่มาทำงานในประเทศไทย เพื่อตอบสนองความต้องการแรงงานที่มีทักษะสูงของภาคธุรกิจไทย ซึ่งให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มประสิทธิพลและความสามารถในการแข่งขัน ในขณะเดียวกัน การพัฒนาศักยภาพศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน จะช่วยให้แรงงานท้องถิ่นมีทักษะตามความต้องการของภาคเอกชนไทยที่ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านด้วย
ด้านสาธารณสุข จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ TICA มีโครงการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ในการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อข้ามพรมแดน โดยได้มีการส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ อย่างเช่น เครื่องตรวจ
RT-PCR และชุด PPE ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่ง TICA ได้ถือโอกาสสร้างเครือข่ายในการให้องค์ความรู้กับบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้ชื่อโครงการ TICA’s Knowledge Bank on COVID-19 ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านเข้าถึงองค์ความรู้ด้านการควบคุมโรค และเป็นการสร้างเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระบุคคลากรด้านสาธารณสุขของไทย โดยเฉพาะตามแนวชายแดน
วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๔ นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ และนางสาวอุศนา พีรานนท์ อธิบดีกรมอาเซียน ได้ร่วมตรวจความเรียบร้อยของการจัดส่งอุปกรณ์การแพทย์ให้แก่เมียนมา อาทิ เครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องอัลตราซาวด์ เครื่องวัดความดัน เป็นต้น ภาพจาก Facebook TICA Cooperation กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ
อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของ TICA ที่เกี่ยวกับการสร้างเครือข่ายภาคประชาชน คือ ‘โครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย’ (Friends from Thailand) ซึ่งขณะนี้ มีอาสาสมัครกว่า ๑๖๐ คน ทำหน้าที่หลักคือ เข้าไปช่วยดำเนินโครงการสาขาต่าง ๆ อาทิ การศึกษา และการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่หน่วยงานส่วนกลางและท้องถิ่นในต่างประเทศ ซึ่งนอกจากทำหน้าที่ในการส่งเสริมการพัฒนาแล้ว ยังเป็น ‘ทูตภาคประชาชน’ ได้เป็นอย่างดี
อาสาสมัครเพื่อนไทยในดินแดนเทือกเขาหิมาลัย ในการปฏิบัติงานร่วมทีมสำรวจและทดสอบหาเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่เกิดขึ้นในภูฏาน ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ภาพจาก Facebook TICA Cooperation กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ
อาสาสมัครเพื่อนไทยในดินแดนเทือกเขาหิมาลัย ในการปฏิบัติงานร่วมทีมสำรวจและทดสอบหาเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่เกิดขึ้นในภูฏาน ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ภาพจาก Facebook TICA Cooperation กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ
อาสาสมัครเพื่อนไทยในดินแดนเทือกเขาหิมาลัย ในการปฏิบัติงานร่วมทีมสำรวจและทดสอบหาเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่เกิดขึ้นในภูฏาน ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ภาพจาก Facebook TICA Cooperation กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ
อาสาสมัครเพื่อนไทยในดินแดนเทือกเขาหิมาลัย ในการปฏิบัติงานร่วมทีมสำรวจและทดสอบหาเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่เกิดขึ้นในภูฏาน ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ภาพจาก Facebook TICA Cooperation กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ
กรมกิจการด้านเศรษฐกิจและสังคมของสหประชาชาติ (UN Department of Economic and Social Affairs) ได้คัดเลือกโครงการอาสาสมัครเพื่อนไทยให้เป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เพื่อให้ประเทศที่กำลังพัฒนาได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทำให้ไทยมีภาพลักษณ์ที่ดี รวมทั้งได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับมิตรประเทศ และที่สำคัญสำหรับบรรดาอาสาสมัครเอง คือ ได้มีโอกาสพัฒนาตนเองจากประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศ เป็นการเสริมสร้างศักยภาพของเยาวชนไทยในลักษณะการนำความสามารถในระดับท้องถิ่นไปสู่เวทีโลก หรือ ที่เราอาจจะเคยได้ยินกันว่า Local to Global
งานของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศถือเป็นการสร้างพันธมิตรเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการแบ่งปันองค์ความรู้ ประสบการณ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และแบบอย่างความสำเร็จของไทย โดยเฉพาะในการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนา และการเน้นเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นหลัก เพราะความสำเร็จของโครงการ คือ ความยั่งยืนที่อยู่หลังจากโครงการนั้นเสร็จสิ้น
นางสาวพัณณ์ชิตา โชติจินตนาทัศน์
เจ้าหน้าที่ประมวลและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ
โฆษณา