12 ต.ค. 2021 เวลา 04:33 • การเมือง
๑๐ ปีก่อนกับนายพลบีทู(KNPP) ตอน 1
.
เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ดิฉันเดินทางไปที่หมู่บ้านเล็กๆ ชายแดนไทย-พม่า เพื่อไปพบกับนายพลบีทู ผู้นำกองกำลังKNPP
.
ในช่วงนั้นดิฉันลงพื้นที่ทำงานข่าวสงครามในพื้นที่สู้รบภาคตะวันตกและภาคเหนือของไทยต่อเนื่องอยู่หลายปี และส่งข่าวให้กับหลายสำนักข่าว และเวลานั้น ดิฉันเคยเขียนเผยแพร่ในเนชั่นสุดสัปดาห์ว่า
.
“ในกลุ่มติดอาวุธทั้ง ๓ กลุ่ม ที่ยังสู้รบกับรัฐบาลพม่าอันได้แก่ กองทัพรัฐฉาน(Shan State Army-SSA) ,กลุ่มสหภาพชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (Karen National Union-KNU), และกองกำลังพรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเรนนี (Karenni National Progress Party-KNPP) ซึ่งเคลื่อนไหวต่อสู้อยู่ในรัฐกะยา เราแทบจะไม่ได้ยินข่าวคราวจากกลุ่มKNPP ปรากฏออกมามากนัก อีกทั้งรัฐกะยานับเป็นรัฐที่มีพื้นที่เล็กที่สุดในประเทศพม่า
พรพิมล ตรีโชติ กล่าวไว้ในงานเขียน “ชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่า” ว่า รัฐกะยามีเนื้อที่ ประมาณ ๑๑,๗๓๐ ตารางกิโลเมตร ส่วนผู้นำทางทหารของกะเรนนีระบุว่า แผ่นดินของตนมีเนื้อที่ ๔,๕๕๕ ตารางไมล์ และประชาชนในรัฐหลักๆแล้วประกอบด้วยชนเผ่า กะเรนนี(กะยา-กะเหรี่ยงแดง),กะเหรี่ยงสะกอ(ปกากะญอ-กะเหรี่ยงขาว), ปะด่อง(กะเหรี่ยงคอยาว), กะยอ, ไทใหญ่,ปะโอ(ต่องสู่), ยินดาไล และชาวเขาเผ่าต่างๆ รัฐกะยาอยู่ติดกับ จ.แม่ฮ่องสอน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงและป่าไม้ ที่ราบมีน้อย แผ่นดินอุดมด้วยแร่ธาตุนานาชนิดทั้ง ทองคำ ทองคำขาว เหล็ก ตะกั่ว พลอย ดีบุก วุลแฟรม และก๊าซธรรมชาติ
บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ระบุในงานเขียน “คนไทยในพม่า” ถึงสุภาษิตของชาวกะเรนนีบทหนึ่งมีว่า “เขียดร้องฝนจึงตก ฝนตกปลาจึงขึ้น ปลาขึ้นเพราะน้ำมาก น้ำมากช้างจึงลากซุง ซุงจึงตกสู่แม่น้ำ ซุงตกถึงแม่น้ำ จึงบริบูรณ์” และบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ได้อธิบายว่า สุภาษิตบทนี้แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจของรัฐกะยาขึ้นอยู่กับการทำป่าไม้ ซึ่งนอกจากจะเป็นไม้สักแล้ว ยังมีไม้สน ไม้ยาง ไม้ตะเคียน ไม้ประดู่ ฯลฯ แต่ในบัดนี้ผู้นำกะเรนนีกล่าวว่า พม่าทำลายป่าสักตัดไม้ซุงในรัฐกะยาไปขายจนทรัพยากรไม้สักเหลืออยู่น้อยเต็มทีแล้ว
พลโทบีทูเป็นคนกะเหรี่ยงขาว ปกากะญอ นับถือศาสนาคริสต์ และมีคำกล่าวถึงจากทหารไทยกับทหารไทใหญ่ตรงกันว่า นายพลบีทูเป็นนักรบที่แท้จริง เป็นคนซื่อตรง ชัดเจน พูดน้อย เด็ดขาด คำไหนคำนั้น แต่ก็ใจดีและมีเมตตายิ่งนักกับประชาชนของตน (สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓)
.
รัฐกะยาขณะนี้ยังมั่งคั่งด้วยแร่ธาตุหลายชนิด มีการทำเหมืองแร่ของทางการพม่า แต่ละเดือนขุดออกมาได้ร้อยกว่าตัน แต่รายได้ที่เกิดขึ้นไม่มีการนำไปพัฒนาพื้นที่หรือชีวิตประชาชนในรัฐกะยา ผู้นำทหารกะเรนนีเล่าว่า กระทั่งถนนที่พม่าใช้ขนแร่ก็ตัดเส้นทางไว้ตั้งแต่สมัยอังกฤษปกครอง ทุกวันนี้เป็นหลุมเป็นบ่อขรุขระอย่างที่สุด นานๆทีจะมีการเอาทรายไปเทลงตามหลุมบ่อนั้นบ้าง หลังยุคอังกฤษแล้วพม่าไม่เคยตัดถนนใหม่ในรัฐกะยา มีแต่สูบเอารายได้ ทรัพยากรมีค่าออกไปจากแผ่นดินกะยา โดยไม่เคยพัฒนาสาธารณูปโภคใดๆ เศรษฐกิจทั้งหมดลูกหลานเครือข่ายผู้นำทหารพม่าควบคุมไว้หมดสิ้น แม้แต่เมืองดอยก่อเมืองหลวงของรัฐ ยังเหมือนแค่หมู่บ้าน การพัฒนาแทบไม่มี เสาไฟฟ้ามีน้อยและยังเป็นไม้อยู่ โรงพยาบาลในเมืองดอยก่อก็ขาดแคลนมาก ถ้าคนเจ็บไข้ที่พอมีเงินก็จะข้ามมารักษาตัวฝั่งไทย หากต้องรักษานานก็เข้ามาอยู่โรงพยาบาลในกรุงเทพ
.
ในอดีตรัฐกะยาเคยเป็นรัฐอิสระปกครองตัวเอง ไม่เคยอยู่ใต้รัฐบาลพม่า หลังจากพม่าได้เอกราชจากอังกฤษในปีพ.ศ.๒๔๙๑ รัฐกะยาถูกรวมเข้าในสหภาพพม่าโดยปริยาย และกองทัพกู้ชาติกะเรนนีก็ก่อตั้งขึ้นทันทีในเดือนสิงหาคมของปีนั้น ในชื่อ กองทัพแห่งชาติกะเรนนี (Karenni National Army-KNA) ครั้นปี พ.ศ.๒๕๑๐ กองกำลังKNA ได้ทำการปรับปรุงองค์กร เปลี่ยนชื่อเป็น Karenni National Progress Party-KNPP ทำการต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่าที่ยึดครองแผ่นดินและปล้นชิง ฆ่าฟัน ทารุณประชาชนกะเรนนีตลอดมา
สำหรับนโยบายเรื่องยาเสพติดนั้น พลโทบีทูกล่าวว่า ทางกองทัพKNPP ปกป้องไม่ให้มีการผลิต ไม่ให้มีการซื้อขายในพื้นที่ที่ทางKNPPดูแลอยู่ อันได้แก่พื้นที่ติดกับเขตรอยต่ออำเภอปางมะผ้า อำเภอเมือง อำเภอขุนยวม อำเภอแม่ลาน้อยติดต่อกับอำเภอแม่สะเรียง (ภาพจากKNPP, สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓)
.
ผู้นำสูงสุดและผู้นำทหารKNPP แทบไม่เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนใดๆ ข่าวที่ออกมาบ้างจะเป็นเกี่ยวกับการสู้รบโจมตีทหารพม่าในรัฐกะยาเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่เรื่องราวต่างๆของกองกำลังKNPP ในสายตาชาวโลก ดูค่อนข้างมัวมนราวอยู่หลังม่านหมอก
ข่าวคราวของKNPP เริ่มปรากฏมากขึ้นเมื่อสถานการณ์ในพม่ากำลังจะถึงจุดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลังจากรัฐบาลทหารพม่าเขียนรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อย และประกาศจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๓ โดยยื่นข้อเสนอบีบบังคับให้กลุ่มหยุดยิงทุกกลุ่มแปรเปลี่ยนเป็นกองกำลังอาสาสมัครรักษาชายแดน (BGF-Border Guard Forces) ในเวลาที่กำหนด เพื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้กองกำลังชนกลุ่มน้อยทุกชาติพันธุ์มีการเคลื่อนไหวอย่างมาก เพื่อรับมือกับรัฐบาลทหารพม่าและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่นานข้างหน้า ซึ่งทางKNPPก็กำลังดำเนินการเคลื่อนไหวอยู่หลายด้านในสถานการณ์นี้เช่นกัน
.
ขณะนี้ ประธานสูงสุดของKNPPคือ แตบูแพ (Khu Hte Bu Peh) อายุ ๗๐ ปี ซึ่งค่อนข้างเก็บตัว ส่วนผู้บัญชาการสูงสุดของกองกำลังKNPP คือนายพลบีทู ทำหน้าที่ดูแลทั้งทางด้านการทหารและเศรษฐกิจ
.
นายพลบีทูเป็นคนกะเหรี่ยงขาว ปกากะญอ นับถือศาสนาคริสต์ เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖ ในครอบครัวชาวไร่ชาวนา ที่หมู่บ้านโชโหลก ทางตะวันตกของเมืองมอชี รัฐกะยา ได้เรียนหนังสือจบชั้นมัธยมปลาย มีความรู้ทั้งภาษากะเหรี่ยง ภาษาพม่า ภาษาอังกฤษ ภาษาไทใหญ่ และพูดภาษาไทยได้บ้าง เคยเข้าไปเรียนหนังสือที่มาเนอปลอว์พื้นที่ของกะเหรี่ยงKNU และเริ่มมาเป็นทหารในปี พ.ศ.๒๕๑๔ เมื่ออายุประมาณ ๑๘ ปี
พลโทบีทูกล่าวไว้ชัดเจนว่า การที่ชนกลุ่มน้อยแต่ละกลุ่มจะสู้รบกับรัฐบาลทหารพม่า ล้วนต้องสามัคคีกัน ร่วมกันหาทางออก จึงจะเป็นผลสำเร็จขึ้นมาได้ (ภาพจากคาเซ ณ คาเรน, สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓)
.
ในสถานการณ์ที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเมืองพม่าขณะนี้ นี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่นายพลบีทู ยินยอมเปิดเผยประวัติ และแสดงความคิดเห็นอย่างค่อนข้าง “ยาว” ที่สุด เท่าที่ได้เคยมีสื่อมวลชนหลายฝ่ายพยายามติดต่อขอสัมภาษณ์นายพลผู้นี้มา แต่ก็โจษขานกันว่าเป็นเรื่องยากยิ่ง อีกทั้งข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวกับนายพลผู้นี้นับว่าปรากฏออกมาน้อยที่สุด มีเพียงคำกล่าวถึงจากทหารไทยและทหารไทใหญ่ตรงกันว่า นายพลบีทูเป็นนักรบที่แท้จริง เป็นคนซื่อตรง ชัดเจน พูดน้อย เด็ดขาด คำไหนคำนั้น แต่ก็ใจดีและมีเมตตายิ่งนักกับประชาชนของตน นายพลบีทูแทบไม่เคยให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์ ติดต่อถึงตัวได้ยากมาก หากกับสถานการณ์การเมืองที่กำลังบีบรัดเข้ามาทุกด้านบัดนี้ นายพลยินดีที่จะตอบในหลายคำถาม”
.
บทความชุดนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ในเนชั่นสุดสัปดาห์ ๓ ฉบับต่อเนื่องกันในช่วงปลายเดือนกันยายน –กลางเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๓ และดิฉันได้นำมาตีพิมพ์ซ้ำในหนังสือ “ปลายขอบฟ้าฉาน” สนพ.ศยาม ที่พิมพ์ออกมาเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๕
.
ในการพบปะ สัมภาษณ์ สอบถามข้อมูลต่างๆจากนายพลบีทูในครั้งนั้น ยังมีปลายประเด็นที่น่าสนใจ และพอจะทำให้เห็นภาพชีวิตกลุ่มชนต่างๆ ในรัฐกะยา ชายแดนไทย กับการสู้รบทำสงครามต่อเนื่องยาวนาน ที่แม้บัดนี้ ผ่านไป ๑๐ กว่าปี ก็ยังไม่ล้าสมัย เพราะพื้นที่ในรัฐต่างๆของพม่า ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก และหนังสือปลายขอบฟ้าฉานก็หาค่อนข้างยากแล้ว ดิฉันจึงคัดข้อความบางส่วนในบทความชุดนี้ มาเผยแพร่ไว้ทางเพจของดิฉัน
.
ด้วยความรำลึกถึง และเคารพยิ่งที่ดิฉันได้เคยพบ เคยสนทนา เคยขอความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น จากนายพลบีทู ผู้นำKNPP
.
🅠 ตลอด ๕๐ กว่าปีที่ผ่านมาชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มก็มีศัตรูคนเดียวกัน คือรัฐบาลพม่า แล้วก็ทุกกลุ่มก็ต้องการเป็นเอกราชตั้งรัฐของตัวเอง แต่ทำไมทุกกลุ่มถึงไม่สามารถรวมตัวกันได้ แม้แต่สามัคคีกันเองยังทำไม่ได้ มันเป็นเพราะอะไร นายพลเห็นวิธีการแก้ปัญหานี้ยังไงคะ
.
ผมเห็นว่าเมื่อมีการสร้างสหภาพพม่า ตกลงจะอยู่รวมกันอย่างเท่าเทียมกัน เราก็โอเค เรามองเห็นอย่างนั้น แต่พม่าไม่ได้มองอย่างนั้น เขามองว่า ในสหภาพพม่านี่ พม่าต้องใหญ่ที่สุด เขามองอย่างนั้น ปัญหามันถึงเกิดขึ้นมาตลอด ๕๐ กว่าปี ทีนี้เมื่อก่อนแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์เขาก็คิดว่า เขาสู้ได้ อย่างกะเหรี่ยงกลุ่มเดียวเขาก็ว่าจะทำได้ ไทใหญ่เขาก็คิดว่าเขาทำได้ เพราะเราไม่ได้จับมือกัน แต่ทุกวันนี้เห็นกันแล้วล่ะว่า ถึงเวลาที่เราต้องสามัคคีกันแล้ว ก็พยายามประสานงานกันอยู่ แต่ยังไม่ได้ผลเท่าไหร่ ทุกวันนี้ก็ต่างคนต่างทำงานของตัวเองไป ถึงจะมี NDF (National Democratic Front -แนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ) มานานแล้ว ที่พยายามรวมทุกกลุ่มทุกชาติพันธุ์เข้ามา เพราะมองเห็นแล้วว่า ทางออกที่ดีคือชนกลุ่มน้อยทั้งหมดสามัคคีกัน เพื่อต่อสู้กับพม่า เรามีศัตรูคนเดียวกัน
แต่พอหลังปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ที่เกิดประท้วงใหญ่ หลังจากนั้นก็มีกลุ่มประชาธิปไตยกลุ่มต่างๆ มีนักศึกษาถืออาวุธแยกตัวออกมา ทางพม่าก็มีอีก ๔-๕ กลุ่มรวมตัวจัดตั้งกันขึ้นมา อองซาน ซูจีก็ออกมาตั้งพรรคกันเอง ทุกกลุ่มเล็งเห็นว่า เมื่อเราจับมือกันทั้งหมดได้ สิ่งที่ตั้งใจมุ่งหมายมันจะเกิดเร็วขึ้น การเปลี่ยนแปลงในพม่าจะเร็วขึ้นไง แต่ในความคิดเห็นของผม จริงๆแล้ว กลุ่มพรรคการเมืองต่างๆเหล่านั้น มีกำลังไหม มีพื้นที่ไหม มีเศรษฐกิจหลักไหม มีอำนาจการปกครองไหม ไม่มี ทุกวันนี้อย่างไรล่ะ ต่างประเทศต้องช่วยเหลือมาตลอดร่วม ๒๐ ปีแล้ว การเปลี่ยนแปลงใดๆในพม่าก็ยังไม่มี ประเทศต่างๆทางตะวันตกเข้าไปตรวจสอบปัญหาในพม่า ก็ยังพบว่าพม่ายังไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่เหมือนเดิม ดังนั้นจึงถึงเวลาที่ชนกลุ่มน้อยทั้งหมดในพม่าทั้ง ๗ รัฐที่พม่าแบ่งแยกไว้ ต้องสามัคคีกัน เราต้องจับมือกัน ช่วยกันหาทางออกของปัญหา
🅠 นายพลคิดว่าทำไมรัฐบาลทหารเผด็จการทหารพม่าถึงได้อยู่ยืดยาวมาตลอด ๕๐ ปี เขาเก่งตรงไหนถึงได้จัดการพม่าได้อยู่มืออย่างนี้
เพราะมันใช้อาวุธ แล้วก็ปิดข่าว ปิดประตู ไม่มีใครสนใจ รัฐบาลพม่าทำผิดมาเยอะ เขาก็ต้องคุมอำนาจให้ได้ต่อไป แต่ตอนนี้ปัญหาพม่าเป็นปัญหาของโลกไปแล้ว ก็ค่อยๆแก้ปัญหากันไป แล้วสักวันหนึ่งข้างหน้า รัฐบาลทหารพม่าก็ต้องขึ้นศาลโลก
.
🅠กับปัญหาในพม่าที่ยืดเยื้อมายาวนานนี้ KNPP มีจุดยืนอย่างไร ต้องการทางออกแบบไหน ต้องการแยกรัฐกะยาออกเป็นประเทศของตัวเองไหม
.
ไม่ครับ
.
🅠แต่ในประวัติศาสตร์กะยาเคยเป็นรัฐอิสระมิใช่หรือ
.
ครับ สมัยโบราณทางกะเรนนีของเราเป็นรัฐอิสระ ปกครองตัวเอง ไม่เคยขึ้นกับใคร แต่นั่นเป็นเรื่องในอดีต เป็นเรื่องในประวัติศาสตร์ไปแล้ว ทุกวันนี้ สถานการณ์มันล่วงเลยมาหลายปีแล้ว ตอนตั้งสหภาพพม่า เรามีสถานะที่ชัดเจน มีรัฐธรรมนูญ มีรัฐบาลกลาง
.
🅠 KNPP ยังยินดีจะเป็นรัฐหนึ่งที่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลกลางของพม่าหรือ
.
ครับ
.
🅠 แล้วคิดว่าจะอยู่ร่วมกันไปได้หรือ เพราะความขัดแย้งที่ผ่านมา ทหารพม่าฆ่าฟันประชาชนกะเรนนีมาอย่างรุนแรงมาก มีความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์รุนแรงมาก แบบนี้จะอยู่ด้วยกันต่อได้อย่างไร
.
โลกนี้พัฒนาแล้ว ผมคิดว่าอยู่กันได้ อภัยให้กันได้ แต่ปัญหาหนักๆจะเกิดกับพม่าและกะเหรี่ยงมากที่สุด ปัญหาต่างๆจะปะปนกันเต็มไปหมดอย่างแยกไม่ออก และยังมีปัญหาอยู่ เพราะแต่ละรัฐก็ยังมีคนชาติพันธุ์ต่างๆอยู่ร่วมกัน อย่าเขตพะโคก็มีกะเหรี่ยงมาก แต่ก็มีพม่าอยู่ด้วย ย่างกุ้งก็มีพม่ามากแต่ก็มีกะเหรี่ยงอยู่ด้วย ถ้าไม่แก้ปัญหาตรงนี้ก็ยากเหมือนกัน มันต้องร่วมมือกันปกครอง หรืออย่างไทใหญ่ก็มีปัญหามาก รัฐฉานนี่ปัญหาใหญ่เหมือนกัน ทุกวันนี้ว้าอยู่เต็มในบางพื้นที่ ในพื้นที่ว้ามีแต่เฉพาะว้า และว้าที่เพิ่มขึ้นทุกวันๆ พม่าก็ไม่มี ไทใหญ่ก็ไม่มี รัฐฉานเขามีหลายกลุ่มชนหลายเผ่า ต้องสร้างความสามัคคีระหว่างกันให้ได้ก่อน
.
🅠 กับกองทัพไทยล่ะ นายพลสัมพันธ์ยังไงบ้างคะ ใกล้ชิดมากไหม
.
ไม่ตอบดีกว่า
………………………………
โฆษณา