13 ต.ค. 2021 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ความไม่สมมาตรของข้อมูล (Asymmetric Information) ความล้มเหลวของตลาดที่มีส่วนกับทั้งบิทคอยน์และวิกฤติการเงิน
1
ความไม่สมมาตรของข้อมูล (Asymmetric Information) เป็นหนึ่งในความล้มเหลวของตลาดที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์มากมายในชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ในการซื้อขายหรือการทำธุรกรรมต่างๆ ไปจนถึงเรื่องที่มีผลกระทบใหญ่หลวงกับผู้คน อย่างเรื่องของบิทคอยน์หรือวิกฤติการเงิน
ความไม่สมมาตรของข้อมูล (Asymmetric Information) ความล้มเหลวของตลาดที่มีส่วนกับทั้งบิทคอยน์และวิกฤติการเงิน
แต่ถึงจะมีผลกระทบกับเหตุการณ์จำนวนมากขนาดนี้ การแก้ปัญหาของความไม่สมมาตรของข้อมูลก็ยังเป็นเรื่องทำได้ยาก และก็ยังมีการพัฒนาวิธีการจัดการกับมันมาตลอด ในบทความนี้ ทาง Bnomics เลยจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับเจ้าความล้มเหลวของตลาดที่เรียกกันว่า ความไม่สมมาตรของข้อมูล ว่ามันส่งผลอย่างไร และมีการจัดการเจ้าปัญหานี้อย่างไรบ้าง
📌 ความไม่สมมาตรของข้อมูล (Asymmetric Information) คืออะไร
ความไม่สมมาตรของข้อมูล หรือบางคนอาจจะรู้จักในชื่อ ความล้มเหลวของข้อมูล (Information Failure) เกิดขึ้นในการทำธุรกรรมที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีข้อมูลเหนือกว่าฝ่ายตรงข้าม แล้วก็ใช้ข้อมูลที่มีอยู่นั้นในการทำธุรกรรม โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อย คือ
1) Adverse Selection คือ การที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้ข้อมูลที่มากกว่าสร้างความได้เปรียบก่อนที่จะเกิดการทำธุรกรรม และ
2) Moral Hazard คือ การที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำข้อมูลที่ตัวเองมีมากกว่า มาสร้างความได้เปรียบหลังจากที่เกิดการทำธุรกรรมไปแล้ว
หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนที่ทำให้เห็นภาพของทั้งสองข้อได้ คือ เรื่องการซื้อประกันภัย ที่ทางผู้ที่ต้องการซื้อประกันจะรู้ถึงข้อมูลสุขภาพของตัวเองมากกว่าบริษัทประกันภัย และผู้ที่ยิ่งมีความเสี่ยงมากก็จะยิ่งอยากซื้อประกัน และหากคนกลุ่มนี้สามารถปิดบังข้อมูลสุขภาพที่สำคัญจากบริษัทประกันก่อนที่จะมีการทำธุรกรรมตกลงซื้อประกันได้แล้ว เหตุการณ์แบบนี้เราก็จะเรียกว่า “Adverse Selection”
ส่วนอีกตัวอย่าง คือ การที่เมื่อผู้ซื้อประกันพอมีประกันภัยแล้ว ก็จะใช้ชีวิตแบบระมัดระวังน้อยลง เที่ยวกลางคืนหรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงๆ มากขึ้น ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแบบนี้ก็อาจจะเป็นข้อมูลที่บริษัทประกันไม่สามารถเข้าถึงได้ และมันก็เกิดขึ้นหลังจากที่มีการทำธุรกรรมไปแล้ว เหตุการณ์แบบนี้เราจะเรียกว่า “Moral Hazard”
ตัวอย่างการเกิด Adverse Selection ไปสู่ Moral Hazard
ผู้ที่มีข้อมูลมากกว่าไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายผู้ซื้อเสมอ หลายครั้งในการทำธุรกรรม คนที่มีข้อมูลมากกว่าอาจจะเป็นผู้ขายก็ได้ เช่น Broker หุ้น หรือนายหน้าขายบ้าน และในหลายๆ ครั้ง เราก็อาจจะเห็นเหตุการณ์ที่เกิดทั้ง Adverse Selection และ Moral Hazard ด้วย
ซึ่งเจ้าปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของข้อมูล ก็เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่สร้างผลเสียให้กับผู้คน จนทำให้มีความพยายามในการสร้างวิธีการที่จะลดปัญหาเหล่านี้ลงให้ได้ ซึ่งหนึ่งในวิธีการที่สำคัญก็ คือ “การสร้างความเชื่อใจ (Trust)”
📌 วิธีการสร้างความเชื่อใจ (Trust) และบทบาทของ Blockchain ที่อาจจะเข้ามาเปลี่ยนโลก
ในยุคเริ่มแรก สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เพื่อใช้เป็นตัวเชื่อมในการสร้างความเชื่อใจก็คือ สถาบันที่เป็นตัวกลางต่างๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ “ธนาคาร”
ยกตัวอย่าง ในการเจรจาซื้อขายสินค้า ผู้ขายย่อมมีความกังวลว่าผู้ซื้อจะสามารถชำระเงินได้ตามที่ตกลงกันไว้หรือไม่ ผู้ซื้อก็อาจจะกังวลว่าจะได้รับของไหม หากจ่ายเงินไปแล้ว ซึ่งส่วนนี้ คือ ส่วนที่สถาบันที่เป็นตัวกลางอย่างธนาคารเข้ามามีบทบาท เพื่อยืนยันและตรวจสอบว่าธุรกรรมนี้ดำเนินไปอย่างเรียบร้อย ผู้ขายได้เงิน ผู้ซื้อได้รับของ
นอกจากธนาคาร เราก็ยังเห็นสถาบันตัวกลางที่มีบทบาทในชีวิตประจำวันที่อุดช่องว่างการมีข้อมูลข่าวสารอย่างไม่เท่าเทียมกันอีก อย่างเช่น สถาบันกฎหมาย นายหน้าขายบ้าน หรือ แม้แต่โรงพยาบาลก็สามารถถูกมองว่าอาศัยความรู้ที่มากกว่าทางการแพทย์ในการสร้างอาชีพได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี ยังมีวิธีอื่นที่ใช้ในการสร้างความเชื่อใจอีก นอกจากการใช้ตัวกลางอีก ยกตัวอย่าง ธุรกิจอย่าง E-commerce ที่ไม่ได้มีการทำธุรกรรมผ่านการเจอหน้ากัน ก็ต้องคิดหาวิธีการในการสร้างความเชื่อใจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในแพลตฟอร์ม ซึ่งหนึ่งในวิธีการที่เขาใช้ก็ คือ การเปิดให้ลูกค้าโหวตให้คะแนนและแสดงความคิดเห็นต่อร้านค้า การที่ร้านค้าไหนมีคะแนนเยอะๆ และมีความคิดเห็นเชิงบวกจำนวนมาก ก็เหมือนเป็นการแปะป้ายรับประกันในระดับหนึ่งว่าร้านค้านี้เป็นร้านที่ดี ไว้ใจได้
1
การสร้างฟีเจอร์ให้คะแนนและแสดงความเห็นเป็นหนึ่งในฟีเจอร์ที่แพลตฟอร์ม E-commerce ใช้แก้ความไม่สมมาตรของข้อมูล
วิธีการแบบนี้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เราเรียกว่า การส่งสัญญาณ (Signaling) ที่เกิดขึ้นกับกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตประจำวันด้วย แต่โดยทั่วไปคนที่ส่งสัญญาณจะต้องหาวิธีในการโฆษณาตัวเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นมาโฆษณาเหมือนในแพลตฟอร์ม E-commerce หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การสมัครงานของนักศึกษาที่ใช้ใบปริญญาเป็นการส่งสัญญาณกับนายจ้างว่าฉันมีความสามารถนะ
วิธีการในการสร้างความเชื่อใจยังไม่จบลงอยู่เพียงเท่านั้น เมื่อนวัตกรรมสำคัญอย่าง “Blockchain”เกิดขึ้นมา และอาจจะกำลังเข้ามาเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยสร้างความเชื่อใจในการทำธุรกรรมต่างๆ และแก้ปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูลด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าการใช้ตัวกลางใช้อยู่มาอย่างยาวนาน
Blockchain เป็นนวัตกรรมสำคัญที่ถูกจับตามองว่าจะเข้ามาแทนที่สถาบันตัวกลางทางธุรกรรม - entefy.com
ด้วยความสามารถในการบันทึกเรื่องราวธุรกรรมและการตรวจสอบผ่านโครงข่ายที่ถูกเจาะได้ยากมาก ทำให้หลายคนมองว่าธุรกรรมผ่าน Blockchain คือ อนาคตของโลกธุรกิจที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ที่เป็นเหรียญที่ใช้แลกเปลี่ยนใน Blockchain ถูกจับตามองและได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น บิทคอยน์ (Bitcoin) ที่ล่าสุด ราคาของมันก็ได้ทะลุเกินระดับ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐอีกครั้งแล้ว
เราพูดเรื่องความไม่สมมาตรของข้อมูลที่เกิดขึ้นในธุรกรรมทั่วไปกันมาพอสมควร และก็ไล่ระดับมาจนถึงเรื่องของ Blockchain และคริปโทเคอร์เรนซี แต่ยังมีภาคต่อ เมื่อเรื่องของความไม่สมมาตรของข้อมูลยังเป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญที่ทำให้วิกฤติทางการเงินหลายครั้งรุนแรงยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งความล้มเหลวของตลาดที่เกิดขึ้นในวิกฤติเหล่านี้ เมื่อมองดูแล้วแท้จริงคล้ายกับปัญหาที่เกิดขึ้นในธุรกิจรถยนต์มือสองมาก
📌 อะไรที่ตลาดรถมือสองมีส่วนเหมือนกับวิกฤติการเงิน
ในตลาดรถยนต์มือสอง จะมีทั้งรถยนต์มือสองคุณภาพดีและคุณภาพแย่ สมมติราคาที่เหมาะสมของรถยนต์ที่ดีเท่ากับ 1 ล้านบาท และราคาที่เหมาะสมของรถยนต์คุณภาพแย่คือ 500,000 บาท ถามว่าถ้าคุณเป็นผู้ซื้อโดยที่ไม่มีความสามารถในการตรวจสอบว่ารถยนต์ครั้งไหนดีหรือไม่ดี คุณจะยอมจ่ายเงินซื้อรถที่ราคาเท่าใด
คำตอบของหลายคน คือ 500,000 บาท เพราะนี่คือ ราคาที่เหมาะสมสำหรับรถยนต์คุณภาพแย่ ถามว่าพวกเขาอยากได้รถยนต์คุณภาพดีไหม คำตอบ คือ ใช่ แต่ในเมื่อพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญในการแยกแยะรถได้ การจ่ายราคาต่ำสุดก็อาจจะเหมาะสมแล้ว และเมื่อผู้ขายเห็นว่าทุกคนอยากจะจ่ายราคาที่ต่ำกว่าราคารถคุณภาพดี ก็จะทำให้ไม่มีแรงจูงใจในการนำรถคุณภาพดีมาขายอีก ในตลาดรถมือสองจึงจะมีแต่สินค้าคุณภาพแย่
ในเหตุการณ์วิกฤติทางการเงินมีเหตุการณ์ที่คล้ายกันเกิดขึ้น ในตลาดการกู้ยืมของธนาคาร ในตอนวิกฤตินั้น จะมีสถาบันการเงินจำนวนมากที่ต้องการกู้เงินจากสถาบันการเงินที่มีสภาพคล่องเหลือ ปัญหา คือ สถาบันการเงินบางแห่งก็จะเป็นผู้กู้ที่ดีแต่บางแห่งก็จะไม่ใช่ และสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ได้ก็ดันไม่สามารถรู้ได้ว่าใคร คือ คนดีหรือไม่ดี สิ่งที่พวกเขาทำจึงเป็นการคิดดอกเบี้ยสูงๆ ไว้ก่อน เพื่อเป็นการประกันความเสี่ยง
1
ความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นในตลาดเมื่อตอนที่ Lehman Brothers ล้มละลายทำให้อัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้น จนธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องเข้ามาแทรกแซง
แต่การที่คิดดอกเบี้นสูงๆ แบบนี้ก็ดันกลายมาเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจแทน เพราะว่าสถาบันการเงินที่ดีที่จะกู้ได้ตอนแรกก็จะรับต้นทุนไม่ไว้แทน และคนที่เข้ามากู้เงินก็ดันเป็นผู้กู้ที่ไม่ดี ที่รับดอกเบี้ยที่สูงได้เพราะเอาเงินไปลงทุนในกิจกรรมที่เสี่ยงมากๆ แทน เหมือนกับกรณีของรถยนต์มือสองคุณภาพไม่ดีที่เข้ามาอยู่เกลื่อนตลาดแทน ซึ่งปัญหานี้ทำให้ต้องเกิดการแทรกแซงจากธนาคารกลาง เช่นในปี 2008 ที่ The Federal Reserve เข้ามาช่วยแก้ปัญหาตลาดการเงินสหรัฐฯ นั่นเอง
#Market_Failure #Asymmetric_Information #Moral_Hazard
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
โฆษณา