15 ต.ค. 2021 เวลา 02:40 • การศึกษา
ข้อสอบการเขียน จะมีสองประเภทคือข้อสอบแบบบูรณาการ (Integrated) ซึ่งมีเนื้อหาข้อมูลให้อ่านกับฟังแล้วตอบคำถาม ส่วนข้อสอบแบบเปิดกว้างหรือให้แสดงความคิดเห็น (Independent) ที่ให้ตอบตามประสบการณ์โดยให้เหตุผลประกอบ
ข้อสอบบูรณาการจะมีเนื้อหาเป็นบทความสั้น ๆ ขนาด 230-300 คำให้อ่านในเวลา 3 นาที ผู้สอบควรมองหาใจความสำคัญและจดบันทึกประเด็นหรือสิ่งที่เกี่ยวข้องไว้สั้น ๆ ไม่จำเป็นต้องจดจำโดยละเอียดเพราะเนื้อหาจะปรากฏอยู่ด้านข้างตลอดเวลาที่ผู้สอบพิมพ์คำตอบ เมื่อหมดเวลาอ่านผู้สอบจะได้ฟังบรรยายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาบทความขนาด 230-300 คำในเวลา 2 นาทีแต่เป็นมุมมองอีกด้านหนึ่งซึ่งอาจสนับสนุนหรือขัดแย้งกับเนื้อหาก่อนหน้า ผู้สอบจดบันทึกได้และต้องมองหาประเด็นที่สัมพันธ์กับเนื้อหาบทความ
โจทย์จะให้ผู้สอบสรุปใจความสำคัญจากที่ฟังบรรยายและอธิบายว่ามันเกี่ยวข้องกับเนื้อหาในบทความอย่างไร ผู้สอบมีเวลา 20 นาทีเพื่อพิมพ์คำตอบ แม้จะไม่จำกัดจำนวนคำหรือความยาว แต่คำตอบที่ตรงประเด็นและได้คะแนนดีมักมีความยาวที่ 150-225 คำ
ผู้เชี่ยวชาญจาก ETS แนะนำว่า
1. มองหาใจความสำคัญและประเด็นที่เกี่ยวข้อง ส่วนมากใจความสำคัญจะอยู่ในย่อหน้าแรกของเนื้อหา ประเด็นอย่างเช่นข้อสนับสนุนมักอยู่ในย่อหน้าถัดมา รูปแบบทั่วไปที่พบได้ในบทความสั้น ๆ คือมีประเด็นหลักตามด้วยข้อสนับสนุน 2-3 ข้อ และจะเป็นเช่นเดียวกันในเนื้อหาที่ฟังบรรยายซึ่งควรตั้งใจฟังตั้งแต่ต้น เมื่อสามารถจับประเด็นทั้งจากเนื้อหาและการฟังบรรยายได้แล้วผู้สอบจะมีข้อมูลเพียงพอเพื่อตอบคำถาม
2. ต้องตอบให้ตรงคำถาม นั่นคือสรุปเนื้อหาการบรรยายและแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการบรรยายกับเนื้อหาบทความ ไม่ใช่เขียนตอบเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องแค่กับเนื้อหาบทความเท่านั้น
เกณฑ์การให้คะแนน
1. การขยายความที่ตรงจุด หมายถึงผู้สอบเลือกเฟ้นข้อมูลสำคัญจากการฟังบรรยายแล้วนำเสนอโดยเชื่อมโยงกับข้อมูลจากบทความได้
2. คำตอบมีแบบแผน หมายถึงตัวคำตอบอ่านเข้าใจง่ายไม่สับสน ซึ่งทำได้โดยเรียบเรียงใจความของคำตอบเป็นย่อหน้า รู้จักดำเนินเรื่องไปสู่ประเด็นถัดไปและไม่มีเนื้อหาที่ซ้ำซ้อนลักลั่นเช่นอธิบายสิ่งเดิมซ้ำ ๆ ด้วยถ้อยคำหรือวลีใหม่
3. การใช้ภาษา หมายถึงรู้จักเลือกถ้อยคำซึ่งแสดงว่าผู้สอบมีคลังคำศัพท์ (vocabulary) มากพอ สร้างประโยคที่แสดงให้เห็นว่ามีความรู้ด้านไวยากรณ์ที่ถูกต้องและสื่อสารได้อย่างไม่กำกวม อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือเนื้อความที่ผู้สอบต้องการสื่อนั้นจะต้องชัดเจน ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องความถูกต้องแม่นยำด้านไวยากรณ์ 100 %
รายละเอียดในเกณฑ์คะแนนดูได้จาก Writing Rubrics ของ ETS ที่โพสท์ลิ้งก์ไว้ในอ้างอิง
การฝึกฝนเพื่อตอบข้อสอบประเภทนี้
1. ฝึกถอดความแล้วถ่ายทอดใจความสำคัญของเนื้อหาต่าง ๆ (paraphrase) โดยลองเรียบเรียงและอธิบายในแนวทางอื่น เนื้อหาที่ใช้ฝึกฝนอาจมาจากข่าว บทความ โฆษณา e-mail ที่ส่งหรือได้รับ หรือแม้แต่บทกวี
2. เพิ่มคลังคำ (vocabulary) ด้วยวิธีการทางอ้อมต่าง ๆ เช่นการดูภาพยนตร์ ฟังเพลง อ่านบทความแล้วจดเก็บคำศัพท์และความหมายไว้ การรู้จักคำพ้องความหมาย (synonem) จะช่วยให้อธิบายใจความสำคัญได้ง่ายขึ้น
3. ฝึกจับใจความสำคัญโดยฟังการบรรยายแล้วเขียนใจความสำคัญออกมาตามความเข้าใจ ซึ่งจะดีมากหากมีเพื่อนทำเช่นเดียวกันเพื่อเปรียบเทียบ
4. อ่านบทความในหัวข้อเดียวกันแล้วเขียนสรุปของทั้งสองบทความ จากนั้นมองหาว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างในการนำเสนอประเด็นสำคัญนั้นอย่างไร
ข้อสอบแบบเปิดกว้างหรือให้แสดงความคิดเห็นตามประสบการณ์และความรู้ (Independent) จะเปิดประเด็นมาเรื่องหนึ่งแล้วถามในทำนองว่า "Do you agree or disagree?", "Which would you prefer?" หรือ "Do you support or oppose this idea?" นอกจากแสดงความคิดเห็นแล้วผู้สอบต้องแสดงเหตุผลและยกตัวอย่างประกอบด้วย ผู้สอบมีเวลา 30 นาทีเพื่อพิมพ์คำตอบ คำตอบที่ดีโดยทั่วไปจะมีความยาวเกิน 300 คำ
ผู้เชี่ยวชาญจาก ETS แนะนำว่า
1. เขียนโครงร่าง (outline) ของคำตอบโดยตัดสินใจเลือกว่าจะตอบคำถามในแนวทางไหน ผู้สอบเลือกอะไร (กรณีที่คำถามบอกตัวเลือก) เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จากนั้นให้เหตุผลประกอบ เขียนเป็นหัวข้อหรือประเด็นไว้ก่อน แล้วยกตัวอย่างสำหรับแต่ละหัวข้อ
2. ไม่ฝืนจดจำเนื้อหาบางอย่างไว้ล่วงหน้า เพราะเนื้อหานั้นอาจเข้ากันไม่ได้กับคำถามและส่งผลให้คะแนนสอบต่ำลง
3. เค้าโครงโดยทั่วไปของคำตอบจะประกอบด้วยย่อหน้าแรกเป็นมุมมองของผู้สอบ ตามด้วยประเด็นที่เป็นเหตุผลประกอบและขยายความย่อหน้าละหนึ่งประเด็น จากนั้นปิดท้ายด้วยการสรุป
เกณฑ์การให้คะแนนมีสามข้อเช่นเดียวกับข้อสอบแบบ Integrated โดยเฉพาะข้อ 2 กับ 3 นั้นแทบจะเหมือนกันทั้งหมด
1. การขยายความ หมายถึงผู้สอบตอบได้ตรงประเด็นคำถาม มีการให้เหตุผลลงรายละเอียดพร้อมยกตัวอย่างที่สนับสนุนคำตอบจะได้คะแนนดี หากคำตอบนั้นไม่สัมพันธ์กับคำถามหรือเหตุผลและตัวอย่างไม่สนับสนุนคำตอบจะถูกหักคะแนนในเรื่องนี้
2. คำตอบมีแบบแผน หมายถึงตัวคำตอบอ่านเข้าใจง่ายไม่สับสนตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งทำได้โดยเรียบเรียงใจความของคำตอบเป็นย่อหน้า รู้จักดำเนินเรื่องไปสู่ประเด็นถัดไป แต่ละประเด็นมีความเป็นเหตุเป็นผลและมีภาพรวมที่เป็นเอกภาพสนับสนุนคำตอบ ไม่มีเนื้อหาที่ซ้ำซ้อนลักลั่นเช่นอธิบายสิ่งเดิมซ้ำ ๆ ด้วยถ้อยคำหรือวลีใหม่
3. การใช้ภาษา หมายถึงรู้จักเลือกถ้อยคำซึ่งแสดงว่าผู้สอบมีคลังคำศัพท์ (vocabulary) มากพอ สร้างประโยคที่แสดงให้เห็นว่ามีความรู้ด้านไวยากรณ์ที่ถูกต้องและสื่อสารได้อย่างไม่กำกวม อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือเนื้อความที่ผู้สอบต้องการสื่อนั้นจะต้องชัดเจน ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องความถูกต้องแม่นยำด้านไวยากรณ์ 100 %
การฝึกฝนเพื่อตอบข้อสอบประเภทนี้
1. หาข่าวหรือบทความเชิงแสดงความคิดเห็น จากนั้นคิดแล้วเขียนแสดงความคิดเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่กับบทความนั้น
2. จับเวลา 30 นาทีเพื่อฝึกฝนวิธีทำข้อสอบประเภทนี้ซึ่งต้องวางแผน เขียนและเกลาเนื้อความในเวลาจำกัด
3. ผู้สอบจะเห็นจุดบกพร่องด้านไวยากรณ์เมื่อฝึกเขียนไประยะหนึ่ง หาทางทำความเข้าใจและแก้ไขจุดบกพร่องนั้น
การฝึกฝนอื่น ๆ ที่จำเป็น
1. ฝึกพิมพ์ภาษาอังกฤษแบบสัมผัสเพื่อพิมพ์คำตอบได้อย่างรวดเร็ว
2. paraphrase อาจเริ่มฝึกได้โดยวงกลมคำทั่ว ๆ ไปที่ใช้ในต้นฉบับที่จะเป็นคำตอบ เป็นคำที่อ่านแล้วไม่ดึงดูดความสนใจหรือธรรมดาเช่น get, nice, things, stuff จากนั้นลองใช้คำอื่นที่มีความหมายใกล้เคียงกันอย่าง obtain, pleasant, objects, possessions และทดลองไปเรื่อย ๆ เพื่อทดสอบว่าคุณมีคลังคำแค่ไหนและคำไหนเหมาะสมกับเนื้อความ
3. หาวิธีเชื่อมโยงระหว่างประเด็นด้วยคำเชื่อม เช่น on the other hand หรือ in conclusion เพื่อสร้างเค้าโครงให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น
4. คำตอบที่ดีมาจากย่อหน้าที่ดี ระลึกไว้ว่าย่อหน้าที่ดีจะกล่าวถึงและอภิปรายเพียงหนึ่งประเด็น และเนื้อหาในย่อหน้ามักเกี่ยวข้องกับแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งของประเด็นนั้นที่เกี่ยวข้องกับใจความสำคัญของคำตอบ
5. สมัครคอร์สฟรีของ ETS ใน edX ซึ่งแนบลิ้งก์ไว้ในอ้างอิง ส่วนที่สอนเรื่องสอบการเขียนจะมีตัวอย่างข้อสอบให้ทำเสมือนการสอบจริงและมีการตรวจประเมินให้คะแนน
อ้างอิง
Answers to Common Questions for TOEFL® Test Preparation: The Insider’s Guide
TOEFL iBT® Test Independent and Integrated Writing Rubrics เป็นฉบับเดียวกันกับที่ผู้ตรวจ (Raters) ใช้เป็นเกณฑ์ให้และหักคะแนน
TOEFL® Test Preparation: The Insider’s Guide เป็นคอร์สเรียนบนเว็บไซต์ edX แค่สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซต์ก็สามารถลงทะเบียนเรียน (enroll) ฟรีได้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา