14 ต.ค. 2021 เวลา 20:13 • ความคิดเห็น
ก่อนจะตอบว่าอะไรจะช่วยลดความขัดแย้ง ต้องถามก่อนว่าแล้วทำไมต้องลด? หรือเชื่อว่าลดแล้วสังคมจะดีขึ้น? ลดแล้วจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น?
ความขัดแย้งมันมีอยู่ในทุกมิติของสังคม ในสถาบันเล็กสุดของสังคมอย่างสถาบันครอบครัว ก็ยังคงมีความขัดแย้ง จำเป็นไหมที่ทุกคนในบ้านต้องมีความเห็นเหมือนกันหมด? ในสถาบันศาสนาก็มีความขัดแย้ง จำเป็นไหมที่ทุกศาสนาต้องคิดเห็นเหมือนกันหมด? ในสถาบันการศึกษาก็มีความขัดแย้ง ในสถาบันการเมืองนี่ไม่ต้องพูดถึง หรือแม้แต่ในสถาบันสันทนาการอย่างวงการบันเทิง วงการตลก ที่เรามักมีมายาคติว่าวงการนี้ต้องมีแต่ความสนุกสนาน แต่เราก็เห็นว่าความจริงแล้ว ความขัดแย้งก็มากมาย
ความขัดแย้งมีพื้นฐานมาจากความคิดที่แตกต่างกัน เมื่อคนความคิดต่างกันมาอยู่ร่วมกัน มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกัน ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้น ความขัดแย้งทางความคิด นำไปสู่ความขัดแย้งในทางปฏิบัติ ถ้าเราลองจินตนาการให้ง่ายขึ้นอย่าง คนสองคนที่มีความเชื่อทางศาสนาต่างกันต้องมาอยู่ร่วมกัน คำอธิบายการกำเนิดของโลก การกำเนิดของมนุษย์ก็ไม่เหมือนกัน ข้อห้ามทางศาสนาก็ไม่เหมือนกัน ศีลธรรมถูกผิดก็ไม่เหมือนกัน เท่าที่ยกตัวอย่างมานี้ความขัดแย้งทางความคิดและการปฏิบัติมันชัดเจนว่าสูงอย่างแน่นอน
คำถามคือ การอยู่ร่วมกันของสองคนนี้จะมีปัญหามั๊ย? คำตอบคือ อาจมีหรือไม่มีก็ได้ มันจะมีปัญหาก็ต่อเมื่อทั้งสองคนไม่เคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกัน คนหนึ่งพยายามที่จะพิสูจน์ว่าความเชื่อของตัวเองนั้นถูกต้องที่สุด และดูถูกเสียดสีความคิดหรือความเชื่อของอีกฝั่ง ท้ายสุดสถานการณ์อาจบานปลายนำไปสู่ความรุนแรงเกิดการทำร้ายซึ่งกันและกันนำไปสู่การบาดเจ็บหรือล้มตาย แต่มันก็อาจไม่มีปัญหาหากทั้งสองฝ่ายเคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกัน ให้เกียรติในความเชื่อของแต่ละคน ไม่พยายามลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนอื่น แสวงจุดร่วมและสงวนจุดต่าง และอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ
จากตัวอย่างที่ยกมาเราจะเห็นได้ว่า มันไม่มีความจำเป็นเลยที่เราจะไปลดความขัดแย้งของเค้า เพราะการลดความขัดแย้งก็คือการไม่เปลี่ยนแปลงความคิดของเขา บางความคิดเปลี่ยนได้ แต่เราก็ต้องยอมรับว่าบางความคิดมันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกันได้ง่ายๆ โดยเฉพาะความเชื่อที่มันฝังอยู่ลึกเป็นตัวตนของเค้า เป็นคำอธิบายโลกของเขา สิ่งที่เราควรจะโฟกัสเมื่อเราเจอกับความขัดแย้งมันคือการจัดการกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดการบานปลายหรือความรุนแรงจนนำไปสู่ความสูญเสียต่างหาก
แน่นอนว่าในทุกยุคทุกสมัย หรือในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยในประเทศพัฒนาแล้วก็ล้วนแล้วแต่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในการกำหนดกฏเกณฑ์นโยบายต่างๆก็ล้วนแล้วแต่มีคนที่สนับสนุนและมีคนที่คัดค้าน หน้าที่ของรัฐบาลจึงไม่ใช่การพยายามลดความขัดแย้งแต่เป็นการพยายามจัดการกับความขัดแย้งเหล่านั้น คำนึงถึงคนกลุ่มต่างๆในสังคมมองพวกเขาให้มีตัวตน ใช้เหตุผลและพยายามทำความเข้าใจ
ทุกครั้งที่เราถามนักรัฐศาสตร์ว่าการเมืองคืออะไร คำตอบหลักๆที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นก็คือการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ บางคนอาจมองว่าอำนาจเป็นทรัพยากรอย่างหนึ่ง หรือบางคนอาจบอกว่าอำนาจเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ แต่สิ่งที่เราต้องตระหนักอยู่เสมอนั่นก็คืออำนาจมันไม่ใช่สิ่งเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่จะปราศจากการต่อต้านขัดขืน มันขึ้นอยู่กับว่าการต่อต้านขัดคืนนั้นจะแสดงออกมาในรูปแบบไหน แล้วเราจะทำอย่างไรให้การต่อต้านขัดคืนนั้นออกมาอย่างสันติปราศจากความรุนแรง
เราอาจจะคิดต่างกัน เราอาจจะเชื่อต่างกัน เราอาจจะมองทางออกของปัญหาที่เราเผชิญต่างกัน แต่ท้ายที่สุดเราก็ต้องอยู่ร่วมกัน ท้ายที่สุดเราก็อยู่ในสังคมเดียวกัน ท้ายที่สุดเราก็อยู่บนโลกใบเดียวกัน และเราต่างเป็นมนุษย์เหมือนกัน เรามีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ไม่ได้มีใครมีความเป็นมนุษย์สูงส่งกว่ากัน นี่จึงเป็นสิ่งที่เราควรพึงละลึกว่าเราควรจะเคารพในความคิดของกันและกัน แม้ว่าเราไม่ได้มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันก็ตาม
โฆษณา