15 ต.ค. 2021 เวลา 10:41 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ซีลาแคนท์ คือปลายุคโบราณที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าพวกมันได้สูญพันธุ์ไปจนหมดพร้อมกับไดโนเสาร์เมื่อประมาณ 65 ล้านปีที่แล้วจากเหตุการณ์อุกกาบาตพุ่งชนโลก แต่โลกใบนี้ก็ยังทำให้เรื่องไม่น่าเชื่อเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะสายพันธุ์ของซีลาแคนท์ ยังมีชีวิตรอดจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้
การค้นพบซีลาแคนท์เริ่มขึ้นเมื่อวันหนึ่งในปี ค.ศ.1938 มีชาวประมงได้จับปลาหน้าตาแปลกประหลาดได้ที่บริเวณปากแม่น้ำชาลุมน่า(Chalumna river) ประเทศแอฟริกาใต้ แม้เขาจะเป็นชาวประมงแต่ก็ไม่เคยเห็นปลาชนิดนี้มาก่อนเลยในชีวิต เขาจึงตัดสินใจติดต่อไปยัง มาร์เจอรี่ คอทนี่-ลาทิเมอร์ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในแอฟริกาใต้ให้มาตรวจสอบปลาตัวนี้ เมื่อได้เห็น มาร์เจอรี่ก็ไม่อาจจะทราบได้ว่าปลาตัวนี้เป็นปลาอะไร เธอจึงได้สตาฟมันไว้และวาดรูปแสดงลักษณะของปลาตัวนี้ลงในจดหมายส่งไปให้ ดร. เจ.แอล.บี สมิธ นักมีนวิทยาเมื่อได้เห็นภาพเขารู้ได้ทันทีเลยว่าปลาตัวนั้นคือ ซีลาแคนท์
ดร. เจ.แอล.บี. สมิธ และซีลาแคนท์ที่พบในปี ค.ศ.1938
เมื่อเห็นอย่างนั้นแล้ว ดร.สมิธ ก็ได้ตั้งชื่อให้ปลาซีลาแคนท์ว่า Latimeria chalumnae เพื่อเป็นเกียรติแด่ มาร์เจอรี่ คอทนี่-ลาทิเมอร์ จากการตรวจสอบทำให้ ดร.สมิธ ตกใจยิ่งขึ้นไปอีกเพราะว่าปลาซีลาแคนท์ตัวนี้แทบไม่แตกต่างจากฟอสซิลที่พบเลย เช่น กระดูกสันหลังที่กลวง กระดูกที่หางของ และครีบเนื้อของปลาตัวนี้ โดยปกติแล้วปลาทั่วไปจะไม่มีกระดูกที่หางและมีครีบเป็นลักษณะของก้าง แต่ปลาซีลาแคนท์มีครีบที่เป็นเนื้อ เหมือนแขนขาของสัตว์บก จากการค้นพบนี้เองทำให้นักวิทยาศาสตร์คิดว่าสัตว์บกอาจจะวิวัฒนาการมาจากปลา
ซีลาแคนท์
ภาพแสดงครีบเนื้อของซีลาแคนท์
แต่ทฤษฎีนี้ได้ถูกปัดตกจากงานวิจัยของ คริส ที. อมีมิย่า และคณะ ที่ได้ทำการตรวจสอบ
จีโนมของปลาซีลาแคนท์ กับปลาที่มีครีบเนื้อในปัจจุบันอย่าง ปลาปอด พบว่ามีจีโนมที่แตกต่างกันมากเกินไป และจีโนมของปลาปอดก็ใกล้เคียงกับจีโนมของสัตว์บกมากกว่าอีกด้วย นั่นทำให้ทราบว่าซีลาแคนท์คืออีกกิ่งของวิวัฒนาการที่แยกออกไปใช้ชีวิตในน้ำแบบปลาส่วนอีกกิ่งหนึ่งก็ได้แยกออกมาใช้ชีวิตบนบกมาจนถึงทุกวันนี้
ภาพแสดง กิ่งวิวัฒนาการที่แตกออกมาของซีลาแคนท์ โดย Chris T. Amemiya
ในปัจจุบันนี้ได้มีการค้นพบปลาซีลาแคนท์สปีชี่ส์ย่อย Latimeria menadoensis ในปี 1988 ที่ประเทศอินโดนีเซีย และในปัจจุบันนี้ปี 2021 ปลาซีลาแคนท์ทั้งสองสปีชี่ส์ต่างก็ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ทั้งคู่ จากการลักลอบจับไปขายในตลาดมืด หรือผลกระทบมาจากภาวะโลกร้อน คิดแล้วก็น่าเศร้านะครับ สัตว์ชนิดหนึ่งที่รอดชีวิตมาจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่ล้างบางสิ่งมีชีวิตไปมากมายต้องมาสูญพันธุ์ด้วยน้ำมือของมนุษย์
Latimeria medanonesis
สำหรับผู้อ่านที่สงสัยว่าปลาวิวัฒนาการขึ้นมาบนบกได้อย่างไรนั้นผมได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้แล้ว ในชื่อ ‘วันที่ปลาทิ้งท้องทะเล’ มีอยู่ 2 พาร์ทด้วยกัน โดย
วันที่ปลาทิ้งท้องทะเล PART 1: การเดินทางสู่โลกใบใหม่
วันที่ปลาทิ้งท้องทะเล PART 2: เมื่อปลาทิ้งความเป็นปลา
สามารถกดตามลิ้งค์แล้วไปอ่านได้เลยครับ
โฆษณา