16 ต.ค. 2021 เวลา 01:00 • สิ่งแวดล้อม
การตัดไม้และไฟป่า พรากชีวิตเสือจากัวร์ในแอมะซอนไป 1,470 ตัว ในเวลา 3 ปี
ปัจจุบัน คาดว่ามีเสือจากัวร์ในธรรมชาติเหลืออยู่บนโลกนี้ราว 170,000 ตัว
กระจายตัวกันอยู่ในอเมริกากลาง อเมริกาใต้ ไปจนถึงเกือบทางเหนือสุดในอาร์เจนตินา
แต่ประชากรส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในบราซิล
หากินในผืนป่าแอมะซอนและพื้นที่ชุ่มน้ำแพนทานัล
ในบรรดาสัตว์ตระกูลแมวใหญ่ ขนาดร่างกายของจากัวร์เป็นรองเพียงเสือโคร่งและสิงโต
นักวิทยาศาสตร์พบว่าจากัวร์ที่อาศัยอยู่ในผืนป่าแอมะซอนและพื้นที่ชุ่มน้ำแพนทานัลจะมีขนาดใหญ่กว่ากลุ่มที่อาศัยอยู่ในอเมริกากลาง
นั่นเป็นเพราะความอุดมสมบูรณ์ของถิ่นที่อยู่อาศัย
ในป่าฝนและพื้นที่ชุ่มน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก พวกมันถูกจัดเป็นนักล่าลำดับสูงของห่วงโซ่อาหาร และเป็นอยู่อย่างนั้นมาช้านาน...
จนวันที่ป่าถูกบุกรุก พร้อมเครื่องยนต์หลากชนิดที่เข้ามาผลาญสิ่งที่อยู่แวดล้อมจนราบเป็นหน้ากลอง - สัตว์ที่อยู่จุดสูงก็อันตธานหายไป
ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ผืนป่าแอมะซอนถูกระรานอย่างหนักจากการตัดไม้ทำลายป่า และการเผาพื้นที่จนเกิดเพลิงไหม้ใหญ่โต
โดยในเฉพาะในช่วง ชาอีร์ โบลโซนาโร เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ระบบนิเวศของผืนป่าแอมะซอนถูกทำลายเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
เหตุการณ์ไฟป่าในปี 2019 ทำให้แอมะซอนเสียพื้นที่ป่าไปอย่างน้อย 1,250 ตารางกิโลเมตร หรือกว่า 7 แสนไร่ - ไม่รวมที่ถูกถาง
มากไปกว่านั้น ทำให้สิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์ต้องระกหระเหินหนีตาย บ้างรอด บ้างไม่รอด
ในจำนวนนั้นพี่ใหญ่อย่างเสือจากัวร์เองก็ไม่รอด
จากข้อมูลการศึกษาล่าสุดพบว่า ระหว่างปี 2016-2019 การตัดไม้ในแอมะซอนและมหันภัยจากไฟป่าได้พรากชีวิตจากัวร์ไปจากป่าทั้งสิ้น 1,470 ตัว
บ้างตายลง บ้างถูกไล่ออกจากบ้าน
ซึ่งในช่วงเวลา 3 ปีดังกล่าว แอมะซอนในบราซิลถูกทำลายไป 3,200 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2 ล้านไร่
 
หรือคิดเป็นพื้นที่ขนาดเท่าๆ ประเทศเบลเยี่ยม
จุดที่ถูกทำลายหนัก อยู่ในเขตรัฐมาตูโกรสซู และรัฐปารา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ฝั่งตะวันออกของแอมะซอน
เมื่อป่าเขียวขจีถูกทำลาย กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและการทำปศุสัตว์ สิ่งมีชีวิตที่เคยเกื้อกูลกันในระบบห่วงโซ่อาหารก็หายตามไป
เสือที่พยายามกลับมาหาบ้านหลังเดิม ต้องออกล่าวัวที่คนเอาเข้ามาเลี้ยง เพราะเหลือสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวที่อาศัยอยู่บนพื้นราบอันเคยเป็นครัวหลังเก่า
แต่ส่วนใหญ่เหตุการณ์มักพลิกผันกลายเป็นเสือถูกไล่ล่าโดยมนุษย์เจ้าของฟาร์มเสียแทน
กลายเป็นความขัดแย้งซ้ำสองหลังจากการเสียบ้านเสียป่าเสียครัวเสียอาหาร
การสูญเสียที่อยู่อาศัยและอาหารยังทำให้จากัวร์ต้องแก่งแย่งอาหารที่เหลืออยู่จากเผ่าพันธุ์เดียวกันเอง
เสือตัวผู้จะมีอาณาเขตหากินอยู่ราวๆ 30 ตารางกิโลเมตร ส่วนตัวเมียใช้พื้นที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร
หากป่าถูกทำลายลงเรื่อยๆ เสือสองตัวอาจต้องมาปะทะกันอย่างเลี่ยงไม่ได้
ขณะเดียวกัน สถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชุ่มน้ำแพนทานัล ซึ่งอยู่เลียบพรมแดนของบราซิล ปารากวัย และโบลิเวียทางตอนใต้ของแอมะซอน เริ่มทรุดโทรมหนัก
สิ่งนี้ยิ่งกดดันให้เสือจากัวร์ต้องพบกับความลำบากมากไปกว่าเก่า
ในพื้นที่แถบนั้นคาดว่ามีเสือจากัวร์อาศัยอยู่ประมาณ 2,000 ตัว
ไฟป่าและการบุกรุกพื้นที่ไว้ทำการเกษตรทำให้ความชุ่มน้ำที่เคยมีหดหายกลายเป็นความแห้งแล้ง
และหากความแห้งแล้งยังคุกคามพื้นที่ชุ่มน้ำต่อไปเรื่อยๆ จระเข้เคแมน ซึ่งเป็นอาหารของเสือจากัวร์จะอยู่ลำบาก
เช่นเดียวกับพวกคาปิบาราที่อาศัยหากินอยู่แถบนั้นเช่นกัน
วันนี้ผลกระทบยังไม่ชัดเจน แต่มีแนวโน้มค่อนข้างแน่นอนว่าสักวันเหยื่อของจากัวร์อาจหายไปจากพื้นที่ชุ่มน้ำแพนทานัลอย่างแน่นอน
จากข้อมูลล่าสุด คาดว่าในแต่ละปีเสือจากัวร์กลางป่าแอมะซอนได้ลาจากโลกนี้ไปปีละประมาณ 300 ตัว
เหล่านี้คือปัจจุบันและอนาคตที่เสือจากัวร์กำลังเผชิญ
โอกาสเดียวที่จะช่วยชีวิตพวกมันได้ คือ ต้องผลักดันให้การบุกรุกทำลายผืนป่าหายไปโดยเร็ว
มิเช่นนั้นประชากรจากัวร์กลุ่มใหญ่ที่สุดอาจต้องพบกับจุดจบที่เรียกว่า “การสูญพันธุ์”
#IsLIFE #Jaguars #Amazon #Deforestation #Extinction #WildFire
อ้างอิง
Photo : Staffan Widstrand l WWF
โฆษณา