19 ต.ค. 2021 เวลา 05:00 • หนังสือ
โฟกัสชีวิตให้ถูกจุด
1.
ในหนังสือ Focal Point ของ Brian Tracy เขายกตัวอย่างเรื่องมูลค่าของ "การโฟกัส" ไว้ได้ดีมาก ผู้เขียนเล่าไว้อย่างนี้ครับ...
ภาพถ่ายโดย Jenna Hamra จาก Pexels
โรงงานพลังงานนิวเคลียร์แห่งหนึ่ง จ้างผู้เชี่ยวชาญจากแดนไกลมาตรวจโรงงานว่ามีจุดไหนในระบบที่เสีย เนื่องจากช่างประจำโรงงานหาจุดเสียไม่เจอสักที เมื่อผู้เชี่ยวชาญคนดังกล่าวมาถึง เขาก็เดินดูท่อในโรงงานสักพัก แล้วกากบาทจุดที่เสียไว้ว่าต้องซ่อมตรงนี้ จากนั้นเขาก็นั่งเครื่องกลับไป แล้วส่งบิลคิดเงินค่าใช้จ่ายสูงถึง 10,000 เหรียญ
1
พอเห็นตัวเลขสูงขนาดนี้ ผู้จัดการโรงงานจึงเขียนกลับไปถามว่าทำไมแพงจัง คุณแค่เดินไปมาแล้วกากบาทเนี่ยนะ 10,000 เหรียญ?! ช่วยแจกแจงรายละเอียดหน่อย
ผู้เชี่ยวชาญคนนั้นจึงส่งบิลมาใหม่ พร้อมเขียนรายละเอียดดังนี้ ค่ากากบาท = 1 เหรียญ ค่าที่รู้ว่า "ต้องกากบาทตรงไหน" = 9,999 เหรียญ
เป็นไงครับ นี่ล่ะมูลค่าของการรู้ว่า "ตรงไหนต้องโฟกัส?" "ตรงไหนต้องกากบาท?"
2.
ถ้าเรารู้ว่าต้องโฟกัสจุดไหนในชีวิต ถ้าเรารู้ว่าต้องกากบาทจุดไหนที่ต้องซ่อม ถ้าเราเลือกเวลา สถานที่ และกิจกรรมที่ต้องทำให้ถูก ...ชีวิตจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีแบบมหาศาล
มีคำถามสำคัญอยู่ 3 คำถามที่เราน่าจะถามตัวเอง เพราะเมื่อหาคำตอบได้ ชีวิตจะไปได้ไกลกว่าคนทั่วไป
คำถามแรก ทำอย่างไรฉันจึงจะประสบความสำเร็จในอาชีพ และยังคงมีสมดุลในชีวิตส่วนตัวและความสัมพันธ์?
คำถามที่สอง ทำไมคนคนหนึ่งจึงประสบความสำเร็จ และมีประสิทธิภาพมากกว่าคนอื่นๆ ได้?
คำถามที่สาม (ซึ่งสำคัญที่สุด) จริงๆ แล้วฉันต้องการอะไรในชีวิตกันแน่?
1
ผมไม่มีคำตอบสำเร็จรูปให้กับคำตอบทั้ง 3 ข้อนี้ แต่ละคนต้องค้นหาคำตอบเอง ไม่ว่าจะใช้เวลาหาคำตอบนานแค่ไหนก็ตาม เพราะ 3 คำถามนี้จะช่วยให้เราโฟกัสถูกจุด และรู้ตัวเองว่าต้องซ่อมแซมจุดไหน
รับรองว่าคำตอบนี้มูลค่าเกิน 10,000 เหรียญแน่นอน
1
3.
ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม หนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้เราแน่ใจได้ว่ามีโอกาสสูงที่จะ "ชนะ" ในอาชีพนั้น ก็คือ เรามี Passion กับงานนั้นแค่ไหน? จริงอยู่ที่ Passion เป็นคำโหล ๆ ในยุคนี้ ใคร ๆ ก็พูดว่าต้องมีความหลงใหลในงาน แต่คำถามก็คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าฉันมี Passion ในงานที่ทำอยู่จริงหรือเปล่า?
1
วิธีง่ายที่สุดที่ผมจะแนะนำว่าคุณมี Passion แค่ไหน? ผมคงต้องเล่าถึงผู้ชายคนหนึ่งให้คุณรู้จัก เขาชื่อ "อธิป กีรติพิชญ์" เจ้าของแฟนเพจ นิ้วโป้ง Fundamental VI
เขาทำให้คนที่เคยไม่สนใจเรื่องหุ้นอย่างผม รู้สึกสนุกทุกครั้งที่ฟังเขาพูดคุยเรื่องหุ้น เรื่องงบ เรื่องตัวเลข เหมือนเขาเล่าเรื่องสนุก ๆ ให้เราฟัง เล่าไปเขาก็ยิ้มไป เมามันในการเล่า แถมยังทำให้เราอินไปกับเขาด้วยสิ ยิ่งฟังผมก็ยิ่งทึ่งในความรู้ของเขา แต่ที่ทึ่งกว่าก็คือ... ผมรู้สึกได้ถึง Passion ของเขาที่มีต่อหุ้น มันไหลล้นจนผมสัมผัสได้
เล่ามาทั้งหมดเพื่อจะบอกว่า เรื่องที่เราชอบเล่า เล่าได้อย่างไม่มีวันหมด เรื่องที่เราพูดคุยได้อย่างออกรส เรื่องที่เราหาความรู้เพิ่มเติมโดยไม่ต้องมีใครสั่ง ...นั่นล่ะครับสัญญาณของการมี Passion
ผมคิดว่าคำถามสำคัญที่ใช้ค้นหาและตรวจสอบ Passion ของเรา คือคำถามนี้ครับ "เราอยากเล่าเรื่องงานของเราให้คนอื่นฟังมากน้อยแค่ไหน?"
ถ้าตอบว่าอยากมาก นั่นแสดงว่าเรากำลังอินกับงานที่ทำอยู่ (แต่ในข้อแม้ว่าไม่ใช่การบ่นถึงปัญหาของงานนะ) แสดงว่าเรากำลังได้ทำในสิ่งที่รัก มี Passion อย่างเต็มเปี่ยม
และมีโอกาสสูงมากที่จะเป็นผู้ชนะในสายอาชีพนั้น
1
4.
โดยสรุป ผมคิดว่ามีอยู่ 3 ขั้นตอนในการประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน
ขั้นแรก หา Passion ด้วยการสังเกตว่าเราชอบเรื่องอะไร ชอบมากจนเล่าเรื่องนี้ให้คนอื่นฟังได้ทั้งวัน ไม่มีเบื่อ
ขั้นที่สอง เมื่อพบเบาะแส Passion แล้ว จงทำให้ตัวเองเก่งในเรื่องนั้น ฝึกปรือ ลงมือทำ ล้มคะมำก็ลุกขึ้นใหม่ อย่าแค่ชอบอย่างเดียว แล้วไม่ทำไม่ฝึกอะไรเพิ่มเติม แบบนั้นเป็นผู้บริโภค ไม่ใช่ผู้ผลิตครับ
1
ขั้นที่สาม ระหว่างที่กำลังจับ Passion มาฝึกฝนให้เก่ง ลองหาข้อมูลไปพร้อม ๆ กันว่าสิ่งที่เรารักและเก่งนั้น มีคนต้องการความสามารถนี้ของเราหรือเปล่า?
เช่น ถ้าความสามารถคือชอบดูซีรีส์เกาหลี แบบนี้คงไม่มีใครสนใจ แต่ถ้าปรับอีกนิด ความสามารถคือ ดูซีรีส์เกาหลี แล้วรีวิวได้สนุก ข้อมูลแน่น ไม่สปอยล์ แถมยังทำให้คนอยากดูได้อีก แบบนี้มีคนต้องการ Passion ของเราแน่นอน youtuber หลายคนก็ทำงานลักษณะนี้ครับ
1
ใครโชคดี สิ่งที่ชอบ สิ่งที่เก่ง มีคนต้องการเรื่องนี้อยู่แล้ว แบบนี้ก็สบายหน่อย (แต่ต้องหาความแตกต่าง) ส่วนใครที่มีสิ่งที่ชอบ ทำสิ่งนี้ได้เก่ง แต่ยังมีคนต้องการสิ่งนี้ไม่มาก ก็ต้องสร้างความต้องการขึ้นมา ทำให้ตลาดเห็นค่าความสามารถของเรา โชว์ผลงาน โชว์ความสามารถบ่อย ๆ แล้ว Community จะค่อย ๆ เกิดขึ้นเอง
1
หรือต่อให้สุดท้ายถ้าไม่มีใครเห็นค่าจริง ๆ อย่างน้อย ตอนนี้เราก็เจอ Passion ที่เราทำแล้วมีความสุข
1
ซึ่งนั่นก็นับว่าคุ้มแล้วครับ.
โฆษณา