17 ต.ค. 2021 เวลา 00:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
🚀 TINA ปรากฏการณ์ที่ทำให้หุ้นขึ้นได้อีก เพราะไม่มีทางเลือก!
1
🟢 เดือนมีนาคมปี 2020 ทั่วโลกเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในขณะที่บริษัททั่วโลกรายได้เริ่มหดหายแต่ตลาดหุ้นกลับพุ่งทะยานสวนทางความรู้สึก เพียงเพราะธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยพร้อมใช้ Unlimited QE ซื้อสินทรัพย์การเงิน
🟢 การกระทำเช่นนี้ของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นเหตุให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า TINA ซึ่งสามารถนำมาใช้อธิบายว่าทำไมตลาดหุ้นจึงปรับตัวขึ้นได้แม้กำไรของบริษัทในตลาดหุ้นชะลอตัว
#TINA ย่อมาจาก "There is no alternative" ถูกใช้อย่างแพร่หลายราวทศวรรษที่ 80 หลังอดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ Margaret Thatche เปลี่ยนแปลงนโยบายการเมืองและเศรษฐกิจซึ่งถูกวิจารณ์อย่างหนัก แต่นายกหญิงแกร่งท่านนี้ได้ตอบกลับไปว่า “There Is No Alternative” ก็คือไม่มีทางเลือก
🟢 วลีนี้ถูกนำมาใช้กับตลาดการเงินเป็นที่นิยมอย่างมากภายหลังเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ นักลงทุนมักใช้เพื่ออธิบายว่าทำไมถึงเลือกลงทุนเพียงแต่หุ้นมากกว่าใช้การจัดพอร์ต (Asset Allocation) ซึ่งก็เป็นเพราะสินทรัพย์ประเภทอื่นให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าหุ้น ดังนั้นราคาหุ้นจึงปรับตัวขึ้นเพราะนักลงทุนไม่มีทางเลือกอื่น
สาเหตุของปรากฏการณ์เริ่มขึ้นเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รับมือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2008 ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยแตะระดับ 0% นับตั้งแต่วันนั้นถึงปัจจุบันตลาดการเงินอยู่ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำมาโดยตลอด
🟢 สินทรัพย์ที่เคยเป็นแหล่งหลบภัยอย่างพันธบัตรก็มีอัตราผลตอบแทนลดลงเช่นกัน โดยเมื่อกลางปี 2007 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี อยู่ที่ 5.2% มาในปัจจุบันอยู่ที่ 1.5% และระหว่างปี 2008 ถึง 2021 อัตราผลตอบแทนกลับขึ้นไปสูงสุดที่ 3.2% ซึ่งแน่นอนว่าความน่าสนใจของพันธบัตรลดลงอย่างชัดเจน
2
ส่วนตราสารหนี้เอกชนที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตร แต่ก็มาพร้อมความกังวลว่าอัตราผลตอบแทนที่ได้สูงขึ้นอาจไม่เพียงพอกับความเสี่ยงการผิดชำระหนี้และปัญหาสภาพคล่อง ด้านราคาตราสารหนี้เอกชนก็มีโอกาสไม่มากที่จะปรับตัวขึ้นจนทำให้นักลงทุนทำกำไรได้จากส่วนต่างราคา
1
🟢 ที่ผ่านมาสินทรัพย์ประเภทกองทุนอสังหาฯ และ REITs เข้ามาเติมเต็มช่องว่างที่พันธบัตรและตราสารหนี้เอกชนทิ้งไว้ในพอร์ตการลงทุน ด้วยอัตราผลตอบแทนที่ระดับ 4-6% จากการเก็บค่าเช่า อีกทั้งแต่ละปียังเพิ่มขึ้นตามการขึ้นค่าเช่าซึ่งก็ใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อ เรียกได้ว่าตอบโจทย์ทั้งอัตราผลตอบแทนและการป้องกันอัตราเงินเฟ้อ
แต่แล้วการมาของเชื้อไวรัส COVID-19 ก็เปิดเผยจุดอ่อนของกองทุนอสังหาฯ และ REITs ให้เห็นว่าการปิดเมืองทำให้อัตราผลตอบแทนที่เคยน่าสนใจกลับแทบจะไม่เหลือเลย ส่วนค่าเช่าก็คงไม่เพิ่มอีกอย่างน้อย 1-2 ปี ประกอบกับความเสี่ยงเดิมอย่างความเสื่อมหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุบัติภัยได้ ส่งให้ผลตอบแทนไม่น่าสนใจเมื่อเทียบกับทั้งความเสี่ยงและการลงทุนในหุ้น
🟢 นอกจากการลดอัตราดอกเบี้ยจนโลกกการเงินอยู่ในภาวะดอกเบี้ยต่ำแล้ว ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ใช้นโยบายซื้อสินทรัพย์ที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า QE ซึ่งก็คือการอัดฉีดเงินเข้าตลาดการเงิน และเหล่านักลงทุนสถาบันที่ได้รับเงินมาก็ไม่มีทางเลือกให้ลงทุนมากเช่นกัน จึงยิ่งไปหนุนให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นสร้างผลตอบแทนเหนือสินทรัพย์อื่นดึงดูดเงินลงทุนเข้ามาเพิ่ม
การใช้นโยบาย QE อย่างยาวนานส่งผลให้หุ้นเสพติดสภาพคล่องไปเรียบร้อยแล้ว โดยผลการศึกษาจาก Bridgewater ชี้ว่า 35% ของหุ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวตามสภาพคล่อง เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2010 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 12% ส่วนหุ้นที่เคลื่อนไหวตามการเติบโตของเศรษฐกิจลดลงจาก 55% เหลือประมาณ 38%
🟢 ปรากฏการณ์ TINA เป็นความเคลื่อนไหวของตลาดในเชิงโมเมนตัม การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นจะดำเนินต่อไปตราบเท่าที่นักลงทุนยังแห่เข้ามา เพราะพวกเขาเชื่อว่าอนาคตบริษัทในตลาดหุ้นจะทำกำไรได้มากขึ้นส่งผลให้ตลาดหุ้นขึ้นได้อีก
ในบางครั้งการตัดสินใจลงทุนอาจไม่ได้ใช้ปัจจัยพื้นฐานแต่ขึ้นอยู่กับความเชื่อของนักลงทุนในตลาด หรือถ้าจะบอกว่าปรากฏการณ์นี้เป็นผลมาจากอุปทานหมู่ของนักลงทุนก็ว่าได้ ซึ่งหากเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นที่ไม่ได้มีการเติบโตของกำไรที่โดดเด่นก็อาจลงเอยด้วยฟองสบู่แตก
🟢 อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ TINA อาจไม่เกิดขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นผลจากเศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัวหรือหดตัว เนื่องจากแม้พันธบัตรจะให้อัตราผลตอบแทนที่ต่ำแต่ก็ยังคุ้มค่ามากกว่าจะเสี่ยงกับการถือครองหุ้นในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้
1
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ปรับตัวลงในช่วงทศวรรษที่ 90 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ตลอด 10 ปีในทศวรรษดังกล่าวประเทศญี่ปุ่นอยู่ในภาวะซบเซา ปี 1996 เป็นปีที่ GDP ของประเทศญี่ปุ่นเติบโตสูงสุดที่ 3.1% และมีถึง 3 ปีที่ GDP หดตัว ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะเห็นว่ามีตลาดหุ้นของหลายประเทศที่ไม่ปรับตัวขึ้นแม้ทั่วโลกจะเริ่มกลับมาเปิดเมืองแล้ว นั่นก็เป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจและการทำกำไรของบริษัทยังไม่สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้
📍 ต้องยอมรับว่าผลของปรากฏการณ์ TINA จะยังคงอยู่กับโลกการลงทุนต่อไปโดยเฉพาะตลาดหุ้นที่มีบริษัทซึ่งกำไรเติบโตได้ดี และก็สามารถนำไปใช้อธิบายว่าทำไมตลาดหุ้นถึงปรับตัวขึ้นทั้งที่ไม่ควรจะเป็นไปได้ อย่างไรก็ตามก็ยังมีบางสภาวะที่แม้อัตราดอกเบี้ยจะต่ำแต่ตลาดหุ้นก็ไม่เกิดปรากฏการณ์ TINA และท้ายที่สุดหาก TINA เกิดกับตลาดหุ้นที่ไม่ได้มีการเติบโตโดดเด่นก็จะนำไปสู่ฟองสบู่แตกได้ครับ
ชอบ "กดถูกใจ ❤️" ใช่ "กดแชร์ 👆"
แล้วพบกับบทความดี ๆ จาก SkillLane อีกมากมาย
กดติดตามไว้ได้เลย!
พบกับคอร์สออนไลน์การเงินการลงทุน โดยกูรูระดับประเทศที่ SkillLane
🔥 คลิกเลย https://skl.website/3vgXzxa
โฆษณา