17 ต.ค. 2021 เวลา 13:21 • การศึกษา
ยะกู๊บ ท้วมประถม
ตำนานนักเขียนมุสลิม
อาจารย์ยะกู๊บ หรือ เกียรติ ท้วมประถม อัจฉริยะปากกาทองคำ
นักเขียนผู้มีเอกลักษณ์ เจ้าของหนังสือแห่งตำนาน " คุตบะฮ์วันศุกร์ "
อาจารย์ยะกู๊บ คือหนึ่งในปูชนียบุคคล ที่ควรค่าแก่การบันทึกในประวัติศาสตร์มุสลิมไทย
เป็นเวลามากกว่าหลายสิบปี ที่เวลาเข้าไปละหมาดที่มัสญิดหลายแห่งในประเทศไทย
เรามักจะเห็น และคุ้นตากับหนังสือเล่มหนึ่ง ที่วางอยู่บนชั้นเก็บหนังสือศาสนาประจำมัสญิด
มัสญิดบางแห่งจะมีหนังสือเล่มดังกล่าว วางอยู่ใกล้กับมิมบัร
หรือ ใกล้กับสถานที่สำหรับเคาะตีบอ่านเทศนาวันศุกร์
ที่เราเรียกแบบสามัญชนมุสลิมทั่วไปว่า " มิมบัรอ่านคุตบะฮ์วันศุกร์ "
หนังสือเล่มขนาดกระทัดรัด หน้าปกมีสีสวยงาม สะดุดตาเวลาเห็นไกล ๆ บางเล่มสีเหลือง บางเล่มสีกรมท่า บางเล่มสีน้ำตาล บางเล่มสีแดง และอีกหลากสีสดใส
แค่เห็นหน้าปกหนังสือ หลายคนคงอดไม่ได้ที่จะเดินไปสัมผัสหนังสือว่า เป็นหนังสือชื่ออะไรหนอ หรือ หากพอเวลา ก็ใช้โอกาสเปิดอ่านสักหน่อย
หนังสือดังกล่าวมีชื่อว่า
" คุตบะฮ์วันศุกร์ "
โดย ฮัจยี ยะกู๊บ ท้วมประถม
เคยลองถามคนใกล้ชิด หรือคนที่คุ้นเคยว่า
" รู้จัก ยะกู๊บ ท้วมประถม มั้ย ? "
หลายคนมักไม่ตอบ แต่กลับจะย้อนถามอีกว่า
" คนที่เขียนหนังสือ เรื่อง คุตบะฮ์วันศุกร์ใช่มั้ย ? "
แสดงว่า อาจารย์ยะกู๊บ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และตอกย้ำการรู้จักด้วยการต่อเติมคำว่า " คนที่เขียนหนังสือคุตบะฮ์วันศุกร์ "
อาจารย์ยะกู๊บ กำเนิดสู่บรรณภิภพตำรา หรือโลกแห่งหนังสือศาสนาอิสลาม ก่อนสงครามมหาเอเซียบูรพา
อะศอลเดิม หรือ ดั้งเดิมของท่านเป็นคนย่านชุมชนเจริญพาศน์ ฝั่งธนบุรี
สายสกุลของท่าน เป็นสายสกุลที่มีเกียรติ์ มีการบันทึกว่า
นามสกุล " ท้วมประถม " เป็นสายสกุลที่สืบเชื้อสายมาจาก สุลต่าน สุลัยมาน ชาห์
ท่านเติบโตในครอบครัวที่ทำมาหากินด้วยการค้าการขาย แต่เคร่งครัดในศาสนาและไม่ทำให้การค้ามาเป็นอุปสรรค กีดกั้นการทำอามั้ล อิบาดัติ
บิดามารดาของท่าน มีบุตรทั้งหมด 9 คน
ครอบครัวอาจารย์ยะกู๊บ ให้ความสำคัญกับการศึกษาศาสนาอิสลามอย่างมาก
ครอบครัวท่านส่งอาจารย์ยะกู๊บไปเรียนศาสนากับอาจารย์ต่วน สุวรรณศาสน์ ( หรือ อาจารย์ อิสมาอีล ยะห์ยาวี ) ที่โรงเรียนอันยุมันอิสลาม ตรอกโรงภาษีเก่า อยู่ใกล้มัสญิดฮารูน บางรัก
อาจารย์ต่วน อดีตจุฬาราชมนตรี คือ ศาสนาจารย์ที่ยอดเยี่ยมคนหนึ่งแห่งยุคสมัยนั้น
อาจารย์ต่วน เคยเป็นสหายร่วมเรียนกับ ครูเลาะห์สอน หรือ อาจารย์อับดุลลอฮ์ ( สอน ) อับดุลลากาซิม ที่นครมักกะฮ์ และกลับมาเมืองไทยพร้อม ๆ กัน
ความรู้ของอาจารย์ต่วน จึงเป็นที่ถูกยอมรับโดยทั่วไป และความรู้ทางภาษาอาหรับแตกฉานมาก ลูกศิษย์ลูกหาต่างรักใคร่
เมื่ออัลลอฮ์ปรารถนาผู้ใดด้วยความดี อัลลอฮ์จะทรงให้เขาผู้นั้นเข้าใจในศาสนา
อัลลอฮ์ปรารถนาความดีแก่อาจารย์ยะกู๊บ พระองค์ทรงให้ท่านเข้าใจศาสนาตั้งแต่วัยเยาว์
ดังที่เราทำทราบ กฏกอดอกอดัร เป็นหนึ่งในหลักศรัทธาของมุสลิม
อาจารย์ยะกู๊บ เข้าใจกฏกอดอกอดัร ที่อัลลอฮ์ ตักดีรให้ท่านเกิดมาในครอบครัวที่ต้องสู้ชีวิตทำมาค้าขาย
ท่านไม่เพียงแค่เรียนหนังสือเท่านั้น
แต่ยังเข้าใจความเหน็ดเหนื่อยของครอบครัว ท่านจึงช่วยเหลือครอบครัวค้าขายไปด้วย
อัลลอฮ์ให้ความจำเริญแก่บุตรที่ทำดีต่อพ่อแม่
อัลลอฮได้ให้ความจำเริญแก่ชีวิตในวัยเยาว์ของท่านอย่างมาก เพราะท่านไม่บกพร่องในเรื่องเรียน และเรื่องช่วยเหลือครอบครัว
ระหว่างปี พ.ศ.2484 ถึง พ.ศ.2488 เป็นช่วงเวลาแห่งสงครามแปซิฟิก หรือ สงครามเอเชียมหาบูรพา
ประชาชนที่มีชีวิตและมีลมหายใจอยู่ในช่วงเวลานั้น ได้รับผลกระทบอย่างถ้วนหน้า และไม่อาจหลีกเลี่ยงความลำบากได้
ครอบครัวอิหม่ามยะกู๊บ ก็ไม่ต่างกับครอบครัวอื่น ได้รับผลกระทบโดยตรง
ตลาดพาหุรัด เป็นตลาดที่ใครได้ยิน ไม่ต้องนึกนาน ก็ทราบทันทีว่า เป็นตลาดอินเดียขายผ้า หรือขายอาหารอินเดีย
เพราะมีนายห้างชาวอินเดีย หรือ คนไทยเชื้อสายอินเดีย ทำมาหากินค้าขายเกือบทุกซอกของตลาด และทุกซอยของมุมทางเดิน
จนได้ฉายานาม " ลิตเติ้ล อินเดีย " แห่งสยามประเทศ
แต่ในความเป็นจริง หาใช่ตลาดเฉพาะของชาวอินเดียเท่านั้น ที่ทำมาค้าขาย
แต่ยังมีคนไทย คนจีน ร่วมเปิดร้านทำมาค้าขายด้วย
พาหุรัด จึงเป็นตลาดแห่งพหุวัฒนธรรมทางการค้า
ใครใคร่ค้า .... ค้า
ใครใคร่ขาย .... ขาย
เรื่องเชื้อสาย เรื่องชาติพันธุ์กำเนิด หาใช่ปัญหา ริซกีของใคร ริซกีของคนนั้น
ครอบครัวอาจารย์ยะกู๊บ ก็ได้อาศัยตลาดพาหุรัดเป็นที่ทำมาหาริซกี ทำการค้าการขาย
การค้าก่อนสงครามเอเชียมหาบูรพา ธุรกิจราบรื่น พออยู่ได้ ตามอัตภาพ
แต่เมื่อสงครามปรากฏ สิ่งที่ราบรื่น กลายเป็นสิ่งที่ไม่ราบรื่น และไม่ราบเรียบ
ระเบิดลูกแล้ว ลูกเล่า ถูกย่อนลงมาจากฝูงบินฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อการทำลายล้าง
ยุคนั้น มี 2 สะพาน ที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ คือ
1 - สะพานพุทธ
2 - สะพานพระรามหก ที่ใกล้ใต้สะพานพระรามหก เคยมีปาเนาะของ ครูเลาะฮ์สอน อับดุลลากาซิม ทำการสอน
ทั้งสองสะพานโดนบอมบ์ถล่มก่อนที่อื่น ๆ สะพานพุทธถูกระเบิดลง จนทำให้ระบบเปิด- ปิด สะพานชำรุด
สะพานพระรามหก ที่มีทางรถไฟผ่าน โดนหนักสุด ๆ
เพราะฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการทำลายเครือข่ายรถไฟที่ญี่ปุ่นใช้ในสงคราม
หลายเดือนต่อมา จุดยุทธศาสตร์สำคัญในกรุงเทพฯถูกบอมบ์ถล่มถ้วนหน้า
ยาม พอ ศอ นั้น มีโรงไฟฟ้าหลักที่ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้ประชาชนในกรุงเทพและฝั่งธนบุรี คือ
1 - โรงไฟฟ้าวัดเลียบ หลังวัดราชบูรณะ ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2441
2 - โรงไฟฟ้าสามเสน ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2455
ทั้งสองโรงไฟฟ้าเป็นที่หมายปองว่าต้องทิ้งระเบิดทำลายของฝ่ายสัมพันธมิตร
ทั้งสองโรงไฟฟ้าโดนบอมบ์ทั้งคู่ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าวัดเลียบ ที่โดนหนักจนอ่วมอรทัย
ตามจุดยุทธศาสตร์ ฝ่ายสัมพันธมิตรเห็นว่า โรงไฟฟ้าวัดเลียบ มีความสำคัญที่จะต้องถูกบอมบ์
เพราะโรงไฟฟ้าวัดเลียบผลิตไฟฟ้าเลี้ยงผู้คนเกือบทั่วพระนครและธนบุรี
แล้วฝ่ายสัมพันธมิตร ได้จัดชุดใหญ่ และจัดหนัก ใช้ฝูงบิน บี - 24 ถล่มโรงไฟฟ้าวัดเลียบ
จนโรงไฟฟ้าวัดเลียบกลายสภาพเป็นโรงไฟฟ้าวัดเรียบ ราพณาสูร และราบเป็นหน้ากลอง
เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดอย่างหนักที่โรงไฟฟ้าวัดเลียบ
สถานที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้าวัดเลียบ เลยหนีไม่พ้นลูกหลง สถานที่รอบ ๆ และใกล้ ๆ โดนลูกหลงกันถ้วนสถาน เช่น
วัดราชบูรณะ เพาะช่าง สวนกุหลาบ เวิ้งนาครเขษม และตลาดพาหุรัด
บางครั้ง ระเบิดลูกหลงถูกย่อนลงมาที่ตลาดพาหุรัด จนร้านรวงทั้งหลายพังทลาย
และร้านของครอบครัวอาจารย์ยะกู๊บ ก็เป็นหนึ่งในบรรดาร้านที่ได้รับความเสียหาย
ช่วงระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา เกิดเรื่องเศร้าเรื่องหนึ่งในครอบครัวอาจารย์ยะกู๊บ
บิดาของอาจารย์ยะกู๊บ ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ของครอบครัว ได้ถึงอาญั้ลของอัลลอฮ์
" อินนาลิ้ลลา วะอินนา อิลัยฮิ รอญิอูน "
ที่หมายถึง " เราเป็นของอัลลอฮ์ และยังพระองค์ที่เราจะกลับไป "
ทั้งมารดา สมาชิกในครอบครัว และอาจารย์ยะกู๊บ โศกเศร้ากับการจากไปของบิดา
บิดาผู้เป็นเสาหลักของครอบครัว ขณะนั้น มารดาอาจารย์ยะกู๊บกำลังตั้งครรภ์บุตรคนที่ 9
หากเป็นสุภาพสตรีทั่วไป คงอาจจะร้องไห้ฟูมฟาย หมดอาลัยตายอยาก ที่สูญเสียผู้นำครอบครัว
แต่สำหรับ มารดาอาจารย์ยะกู๊บกลับไม่เป็นเช่นนั้น
มุสลิมะฮ์ผู้ศรัทธามั่น ทรงคุณค่าในความดี ยิ่งกว่าคุณค่าทองคำ ที่ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้
บททดสอบของอัลลอฮ์ ต่อผู้ศรัทธาย่อมมีบั้นปลายที่หอมหวานและงดงาม ณ อัลลอฮ์ ไม่มีวันขาดทุน
มารดาของอาจารย์ยะกู๊บไม่มีคำว่า ตัดพ้อกับชีวิตที่อัลลอฮ์ทดสอบ และมักจะพูดกับอาจารย์ยะกู๊บอยู่เสมอว่า
" อะไรจะเกิด ก็เกิด เรามีอัลลอฮ์องค์เดียวเท่านั้น "
มารดาของอาจารย์ยะกู๊บ จึงอดทน ตะวักกั้ล มอบความวางใจให้อัลลอฮ์องค์เดียวเท่านั้น
สงครามโหดร้ายเกินกว่าจะกล่าว แต่หัวใจนักสู้ชีวิต และจิตใจแห่งศรัทธาในมารดาของอาจารย์ยะกู๊บไม่มีแผ่วเบา ไม่มีท้อถอย
เกียรติยศอย่างหนึ่งในการเป็นบ่าวของอัลลอฮ์ คือ แสวงหาริซกีที่ฮาลาล หาปัจจัยยังชีพจากน้ำพักน้ำแรง
เหมือนนบีดาวูด ที่เป็นถึงกษัตริย์ แต่ยังแสวงหาริซกีจากน้ำพักน้ำแรง ด้วยการเป็นช่างตีเหล็ก
และนบีมูซา แสวงหาริซกีจากน้ำพักน้ำแรง ด้วยการเป็นคนเลี้ยงแพะเลี้ยงแกะ
มารดากับอาจารย์ยะกู๊บ ได้ช่วยกันขนสินค้าลงเรือ
ลงแรง ลงมือ แจวเรือข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจากเจริญพาสน์ คลองบางกอกใหญ่
แจวเรือ พายงัด ใช้พลังทั้งข้อมือ และข้อเท้า ใช้แรงโถม บิดเอว และบิดสะโพก
ใช้พละกำลังและเรี่ยวแรงทั้งหมดที่มีอยู่ในร่างกาย สู้กับละอองน้ำในยามฟ้าเริ่มใกล้สาง
ตั้งหัวเรือ ตัดแรงกระเพื่อมของลูกคลื่น ฝ่ากระแสน้ำเชี่ยวที่ไหลมาจากเมืองเหนือ เพื่อข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้
พอถึงอีกฝั่งของแม่น้ำ แจวเรือต่อเนื่องเข้าคลองสะพานหัน
พอเข้าคลองสะพานกัน ค่อยยังชั่วกับความเหน็ดเหนื่อย พอหายใจยาว ๆ ได้ พร้อมทั้งหยาดเหงื่อที่ท่วมหัว และโทรมกาย
จากนั้น แจวเรือในคลองสะพานหันอย่างช้า ๆ และแผ่วเบา จนถึงท่าเรือเป้าหมายที่อยู่ใกล้ตลาดพาหุรัด
จากนั้น ช่วยกันขนสินค้า ไปค้าขายต่อที่พาหุรัด เพื่อแสวงหาริซกีที่ฮาลาลจากน้ำพักน้ำแรง และหยาดเหงื่อ
ช่วงสงคราม ร้านพังเพราะถูกระเบิด
แต่ค้าขายหยุดไม่ได้ ชีวิตยังต้องการปัจจัยยังชีพ ทั้งสองจึงช่วยกันเอาผ้าปูริมถนน แล้วเอาสินค้าวางขาย
มารดาอาจารย์ยะกู๊บ มีความเข้าใจในศาสนา ว่า
การละหมาดคือรุ่ก่น หรือ หลักการหนึ่งของอิสลาม เมื่อเข้าเวลาละหมาด ก็ต้องละหมาด จะไม่ละหมาดคงไม่ดีแน่
แต่ โอ้อัลลอฮ์ อนิจจา !!! ร้านพังแล้ว
มารดาอาจารย์จึงใช้สังกะสีกั้นทำเป็นห้องเล็ก ๆ ส่วนตัว ปิดบังสายตาผู้คน
พ่อค้าแม่ขายที่ขายสินค้าอยู่ใกล้ ๆ ต่างถามไถ่ตามประสาคนค้าขายด้วยกัน เพราะนึกว่าจะทำห้องน้ำ
มารดาอาจารย์ยะกู๊บ บอกเพื่อน ๆ ว่า ไม่ได้กั้นสังกะสีห้องเล็ก ๆ เพื่อทำห้องน้ำ
แต่กั้นสังกะสีเพื่อทำเป็นห้องละหมาด มารดาของท่านก็ได้ละหมาดท่ามกลางห่ากระสุนและลูกระเบิด
ต้องยอมรับว่า ช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา เป็นช่วงเวลาที่สาหัสสากรรจ์ที่สุด
ทั้งสองขายของไปด้วยก็ต้องคอยเงี่ยหูฟังด้วยว่า
ระเบิดจะมาเมื่อไร และลูกระเบิดจะถูกโยนลงจากเครื่องบินที่ใหน
เมื่อรู้ว่า ระเบิดกำลังจะมา ก็ต้องรีบกระวีกระวาด กุลีกุจอขนสินค้าลงเรือ หนีเอาชีวิตรอด
ชีวิตการศึกษาของอาจารย์ยะกู๊บ ไม่ได้มีโอกาสเรียนทางระบบชั้นเรียนมากมาย
ท่านไม่เคยไปเรียนต่างประเทศ เพราะต้องคอยช่วยเหลือครอบครัวค้าขาย
แต่ผู้ใฝ่วิชาความรู้ย่อมไม่มองวิกฤตเป็นการเสียโอกาส
ท่านจึงพยายามอ่านค้นคว้าด้วยตนเอง จดบันทึกความรู้ที่สมควรบันทึกลงสมุดบันทึก
ยามว่างจากการค้า ท่านจะอ่านหนังสือศาสนาต่อเนื่อง
มีสำนวนไทยที่เราต่างเคยได้ยิน
" แมลงภู่อยู่ไกล ได้ไล้เกสร "
หมายถึง ผู้ที่สนใจหาความรู้ หมั่นเพียรพยายามหานักปราชญ์
อาจารย์ยะกู๊บ เช่นกัน เมื่อมีโอกาส ก็จะพยายามหาความรู้เพิ่มเติมจากผู้รู้อยู่เสมอ
คนไทยมักพูดว่า " พรสวรรค์ คู่พรแสวง "
ถ้ามุสลิมเราก็จะบอกว่า อัลลอฮ์ให้มูฮิบะฮ์ คู่กับความอุตสาหะ พยายาม
อัลลอฮ์ ให้มูฮิบะฮ์ทางการเขียนแก่อาจารย์ยะกู๊บ คู่กับความมุมานะในการเขียนของท่าน
จำเนียรกาล เมืองไทยเราสมัยก่อน
แต่ไหนแต่ไร เวลาอิหม่ามอ่านคุตบะฮ์วันศุกร์ ไม่นิยมใช้ภาษาไทย จะใช้ภาษาอาหรับกับภาษามาลายู
มีเรื่องเล่าจากลูกหลานของ อาจารย์เต็ม หาญเขตต์ หรือ อาจารย์ตอฮา อัลคอยร์ บิน อับดุลลอฮ์
อาจารย์เต็มอดีตเคยเป็นประธานกรรมการอิสลามจังหวัดธนบุรี ( สมัยนั้น กรุงเทพ กับ ธนบุรี ยังไม่รวมกัน )
อาจารย์เต็ม เป็นศิษย์รุ่นแรกของ อาจารย์อะหมัด วาฮาบ มินังกาเบา
เพื่อนอาจารย์เต็ม ที่เป็นศิษย์รุ่นแรกของอาจารย์อะหมัด วะฮาบ เช่น
อาจารย์มูซา ฮานาฟี
และ ต่วนหม่าน บางกอกน้อย
อาจารย์เต็ม บอกว่า อาจารย์อะหมัด วาฮาบ เป็นผู้ริเริ่มใช้ภาษาไทยประกอบในการอ่านคุตบะฮ์วันศุกร์
จากนั้น คุตบะฮ์วันศุกร์ โดยมีภาษาไทยประกอบ จึงได้รับความนิยมกันเรื่อยมา
อาจารย์ยะกู๊บมองเห็นจุดน่าสนใจ ที่เกิดขึ้นในสังคมมุสลิมไทยว่า
บางครั้งเคาะตีบที่อ่านคุตบะฮ์ อาจจะนึกไม่ออก ไม่รู้ว่าจะอ่านอะไรในแต่ละศุกร์
เคาะตีบที่อ่านคุตบะฮ์วันศุกร์ แน่นอนว่าต้องเป็นผู้รู้ในระดับหนึ่ง แต่การถ่ายทอดความรู้ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ดูง่าย แต่อาจไม่ง่ายสำหรับบางคน เปรียบเปรยคล้าย เส้นผมบังภูเขา
เพื่อให้เกิดความสะดวกและเกิดความง่ายกับเคาะตีบ ตอนเวลาอ่านคุตบะฮ์วันศุกร์
อาจารย์ยะกู๊บจึงได้เขียนบทความคุตบะฮ์วันศุกร์ โดยแจกจ่ายให้กับผู้สนใจ
ตัวอาจารย์ยะกู๊บ เอง ก็ยังได้ใช้ประโยชน์จากบทความคุตบะฮ์วันศุกร์ที่ท่านเขียนด้วย
เพราะท่านเองก็ใช้อ่านคุตบะฮ์วันศุกร์ ตอนเวลาที่เป็นเคาะตีบที่มัสญิดใกล้บ้าน
มัสญิดต้นสน คือมัสญิดเก่าแก่แห่งคลองบางกอกใหญ่ เป็นมัสญิดที่อยู่ใกล้บ้านท่าน
มัสญิดแห่งนี้ เก่าแก่ที่สร้างมานานมาก มีบันทึกบอกว่า มัสญิดต้นสนมีมาก่อนสมัยรัตนโกสินทร์
ปัจจุบัน มัสญิดต้นสน มีอิหม่ามชื่อ " อิหม่ามศราวุธ ศรีวรรณยศ " ผู้มีชื่อเสียงในอดีตในฐานะผู้นำสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย
ว่ากันว่า อาจารย์ยะกู๊บ เขียนบทความคุตบะฮ์วันศุกร์ไว้มากกว่า 5,000 เรื่อง หรืออาจะเกือบ 10,000 เรื่อง
เขียนเสร็จก็จะจัดแยกเป็นหมวดหมู่ เช่น
เรื่องเกี่ยวกับความดี ก็จะแยกเป็นระเบียบวางเป็นปึก ๆ เรื่องเกี่ยวกับทำดีต่อพ่อแม่ ก็จะแยกเป็นปึกอีกต่างหาก เพื่อไม่ให้ไปปนกับเรื่องอื่น
แต่ละหมวดหมู่ก็จะวางเป็นระเบียบข้างในบ้าน จนดูคล้ายกำแพงกระดาษ ดูแล้วสะอาดตา และสะดวกเวลาที่จะเอามาใช้อ่านคุตบะฮ์
อิหม่ามยะกู๊บ เขียนคุตบะฮ์วันศุกร์ ไม่ได้เขียนเพื่อแสวงหาค่าตอบแทน แต่เขียนเป็นวิทยาทาน ใครขอมา ก็ให้ไป
บางครั้ง มีคนเขียนจดหมายจากภูเก็ต อยากได้ข้อเขียนคุตบะฮของท่าน ท่านก็ส่งให้อย่างเต็มใจ
บางเวลา หน่วยงานทางราชการ หรือองค์กรมุสลิม ขอบทความท่านไปตีพิมพ์ในโอกาสต่าง ๆ ท่านจะให้บทความอย่างไม่อั้น ไม่มีหวงวิชา
วงการสื่อสิ่งพิมพ์ หรือ หนังสือศาสนาอิสลามในบ้านเรา
ถ้าเอ่ยชื่อ สำนักพิมพ์ ส.วงศ์เสงี่ยม คนที่เป็นมุสลิมและสนใจศาสนา น้อยคนจะไม่รู้จัก
ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ ส.วงศ์เสงี่ยม มีชื่อว่า มานพ วงศ์เสงี่ยม บางคนเรียกท่านว่า นายห้างมานพ
คุณมานพ สนใจงานเผยแผ่ศาสนามานานแสนนาน
เดิมทีเดียว คุณมานพทำงานเป็นหัวหน้าโรงพิมพ์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และทำธุรกิจควบคู่ไปด้วย คือ ห้างพินิจพัฒนา
ห้างพินิจพัฒนา เป็นร้านค้าขายแพรพรรณ และอาภรณ์เครื่องประดับที่ตลาดพาหุรัด
คุณมานพ รักงานศาสนา กล้าหาญขนาดทำรายการวิทยุภาคมุสลิมยามรุ่งอรุณ
โดยเช่าสถานีวิทยุ กองพล ป.ต.อ. สี่แยกเกียกกาย ออกอากาศ เมื่อปี พ.ศ.2492
เป็นคนแรกที่คิดจัดรายการวิทยุภาคมุสลิมในยามรุ่งอรุณ
เพราะสมัยนั้น ส่วนใหญ่ รายการวิทยุภาคมุสลิมจะจัดกันในเย็นวันเสาร์และวันอาทิตย์
จากนั้น คุณมานพ สนใจงานเผยแพร่ศาสนาอิสลามด้วยการตีพิมพ์หนังสือศาสนา และก่อตั้งสำนักพิมพ์ ส.วงศ์เสงี่ยม
คุณมานพเสียสละชีวิตในงานศาสนาแบบทุ่มเท สรรหานักเขียน สรรหาตำรา สรรหาผู้แปล เพื่อเอาผลงานมาตีพิมพ์
คุณมานพใช้ทุนรอน และค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ในการตีพิมพ์หนังสือเป็นร้อยเป็นพันเล่ม โดยไม่เคยหวังผลกำไรเป็นที่ตั้ง
ถ้าหวังผลกำไรเป็นที่ตั้ง จะไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะตำราหนังสือแต่ละเล่มใช้เวลาแรมปี บางเล่มแรมสิบปี
และหนึ่งในนักเขียนที่คุณมานพสนใจมากคือ " อาจารย์ยะกู๊บ ท้วมประถม "
ด้วยคุณมานพทราบว่า อาจารย์ยะกู๊บ เขียนบทความคุตบะฮ์วันศุกร์อยู่เป็นจำนวนมาก และสนใจจะนำมารวมเป็นเล่มเพื่อตีพิมพ์
อาจารย์ยะกู๊บ กับคุณมานพ คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เพราะต่างก็ทำธุรกิจในเวิ้งพาหุรัดเหมือนกัน
ทุกอย่างจึงราบรื่น ท้องฟ้าจึงไร้เมฆหมอก ผืนแผ่นดินโปรยรอยยิ้ม เหล่าบุหรง มวลวิหค สกุณา โลกดุนยาขานรับการทำงานศาสนาของท่านทั้งสองอย่างปิติ
และนั้นก็คือปฐมบทหนังสือ " คุตบะฮ์วันศุกร์ " ที่ถูกตีพิมพ์มาสู่สายตาของพี่น้องมุสลิมไทย
" คุตบะฮ์วันศุกร์ " ถูกตีพิมพ์ตั้งแต่เล่มที่ 1 จนตีพิมพ์ออกมาในอีกหลาย ๆ เล่ม เพราะเสียงเรีกร้องจากผู้อ่าน จนกลายเป็นหนังสือขึ้นชื่อในงานวรรณกรรมมุสลิม
อาจารย์ยะกู๊บ เขียนคุตบะฮ์วันศุกร์ ด้วยอักษรภาษาที่อ่านง่าย
ใช้ศัพท์สุภาพตามแบบฉบับสุภาพบุรุษลุ่มน้ำลำคลองฝั่งธนบุรี คนบ้าน ๆ คนคลอง ๆ อ่านแล้ว เข้าใจง่าย สบายใจ
หนังสือ " คุตบะฮ์วันศุกร์ " ได้รับความนิยมจากนักอ่านเกินกว่าจะจินตนาการ
และถึงขั้นยกระดับไปไกล ได้รับการชื่นชมในหมู่นักวิชาการบางส่วน ในระดับมหาวิทยาลัย
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะเป็นเรื่องจริง หนังสือ "คุตบะฮ์วันศุกร์ " ที่อาจารย์ยะกู๊บเขียน ได้ถูกนำไปเสนอในงานวิจัยทางวิชาการ
งานวิจัยถูกตีพิมพ์ในวารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 เดือนกรกฎาคม - ธันวาคม พ.ศ.2560
หัวข้อวิจัยมีชื่อว่า
" การวิเคราะห์ข้อความปาฐกถาธรรมทางศาสนาอิสลาม ในหนังสือคุตบะฮ์วันศุกร์ของ ยะกู๊บ ท้วมประถม "
นำเสนองานวิจัยโดย ดร.ซัลมาณ ดาราฉาย จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
งานวิจัยได้เจาะลึกหนังสือ " คุตบะฮ์วันศุกร์ " อย่างละเอียดยิบ จากหนังสือ 8 เล่ม ที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ ส.วงศ์เสงี่ยม คัดเลือกข้อความจากคุตบะฮ์วันศุกร์ทั้งหมด 136 บท
ผู้ทำวิจัย มีการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล นำเสนออย่างมืออาชีพ เช่น
1 - เปิดเรื่อง
2 - เนื้อเรื่อง
3 - ปิดเรื่อง
จากนั้น มีการพูดถึงผลการวิจัย มีการสรุป และอภิปรายผลการวิจัย
งานวิจัยชิ้นนี้ ไม่ได้เขียนสั้น ๆ เพียงแค่ 2 หรือ 3 หน้ากระดาษ แต่ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารถึง 26 หน้ากระดาษ
อาจารย์ยะกู๊บ ท้วมประถม ทำงานเสียสละให้กับสังคมมุสลิมไม่เพียงแค่เขียนหนังสือเท่านั้น แต่ท่านยังอุทิศชีวิตให้กับแวดวงการศึกษาด้วย
อาจารย์ยะกู๊บ ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องใส่ใจด้านการศึกษาอิสลามของเยาวชน
แล้วอาจารย์ยะกู๊บก็ได้แสดงออก โดยร่วมงานกับสมาคมคุรุสัมพันธ์อิสลามแห่งประเทศไทย
สมาคมคุรุสัมพันธ์ ก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.2497 ด้วยเป้าหมายหลักคือ ให้เยาวชนได้เรียนศาสนาอิสลาม
อาจารย์ยะกู๊บ ทุ่มเทให้กับสมาคม จนได้รับการยอมรับจากสมาชิกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคม ใน ปี พ.ศ.2528
ท่านดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 12 ปี จนถึงปี พ.ศ.2540
อาจารย์ยะกู๊บ จากโลกดุนยา กลับไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮ์ เมื่อปี พ.ศ.2549
ในวันนั้น ครอบครัวของท่าน ตลอดจนพี่น้องมุสลิมที่ทราบข่าวต่างเศร้าโศก และเสียใจกับอาญั้ลของท่าน
แม้นว่า ท่านจะโลกนี้ไปแล้ว 15 ปี สังคมมุสลิมยังไม่ลืมคุณงามความดีของท่าน
บุรุษผู้ปรากฏตัวในโลกดุนยาอย่างทรนง ช่วยเหลือครอบครัวท่ามกลางไฟสงคราม แต่ไม่ทิ้งการศึกษาศาสนา
มุมานะ ด้วยการจดบันทึกวิชาความรู้ จนสามารถนำความรู้ต่อยอด และถ่ายทอดสู่ผู้อื่นได้อย่างน่าอัศจรรย์
ท่านคือบุคคลตัวอย่าง ที่ไร้ข้อโต้แย้งสำหรับการจดบันทึก ในหน้าประวัติศาสตร์สังคมมุสลิมไทย
มรดกทางวิชาการที่ท่านทิ้งให้กับสังคมมุสลิมไทย ช่างล้ำค่า จนไม่อาจประเมินค่าได้
มรดกหนังสือ " คุตบะฮ์วันศุกร์ " ที่ท่านทิ้งไว้ พวกเราจะนำมาอ่าน และจะอยู่ในความทรงจำของพวกเราตลอดไป
โฆษณา