22 ต.ค. 2021 เวลา 11:50 • ธุรกิจ
เส้นทาง BTS จากบริษัทเกือบล้มละลาย สู่มหาอำนาจธุรกิจรถไฟฟ้า
1
เมื่อพูดถึงการเดินทางภายในกรุงเทพฯ เมืองที่ขึ้นชื่อว่าการจราจรติดขัดอันดับต้นของโลก
หนึ่งในทางเลือกของใครหลายคน คงไม่พ้น “รถไฟฟ้าบีทีเอส” เพราะสะดวก รวดเร็ว แล้วมีความปลอดภัยสูงอีกด้วย
2
แต่รู้หรือไม่ว่า ก่อนบีทีเอสจะกลายเป็นรูปแบบการเดินทางที่นิยมใช้กันเหมือนในปัจจุบัน
บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของสัมปทานรถไฟฟ้า ต้องเผชิญทั้งการต่อต้านจากประชาชน และมีผู้ใช้บริการเพียงน้อยราย จนเกือบทำให้ล้มละลาย
1
แล้วเรื่องราวของบริษัทรถไฟฟ้าแห่งนี้ น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของบีทีเอส เริ่มต้นขึ้นหลังจาก “คุณคีรี กาญจนพาสน์” ที่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่ฮ่องกงมากว่า 30 ปี และประสบความสำเร็จจากการทำธุรกิจที่นั่นมาแล้ว เกิดรู้สึกสนใจกลับมาทำธุรกิจที่ประเทศไทย
เนื่องจากเล็งเห็นว่าในสมัยนั้น ที่ดิน ยังมีราคาถูก คุณคีรี และพี่ชายอย่างคุณอนันต์ จึงได้สะสมที่ดินใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ ไว้
โดยต่อมา คุณอนันต์ ได้ก่อตั้งบริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BLAND
ซึ่งจะเน้นการดำเนินธุรกิจย่านชานเมือง โดยเฉพาะเมืองทองธานี
ขณะที่คุณคีรี ก็ได้ก่อตั้ง บริษัท ธนายง จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีโปรเจกต์ใหญ่คือการสร้างเมืองใหม่ ในชื่อโครงการธนาซิตี้ บนที่ดินเกือบ 1,700 ไร่ ย่านบางนา-ตราด ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ
1
ก็ต้องบอกว่าในช่วงเวลานั้น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยเติบโตอย่างมาก
ทำให้ปี 2534 บริษัทธนายง สามารถจดทะเบียนเข้าในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
มีชื่อย่อว่า TYONG หรือที่นักลงทุนสมัยนั้น รู้จักกันในชื่อ “ตี๋หย่ง”
โดยในตอนแรก ธนายงยังคงโฟกัสเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เท่านั้น
1
แต่เวลาถัดมาสมัยพลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เกิดแนวคิดที่จะสร้างรถไฟฟ้าขึ้นมา
ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ กรุงเทพฯ เริ่มมีปัญหาด้านการจราจรที่ติดขัด
3
คุณคีรีเห็นว่า ระบบการเดินทางแบบนี้ จะกลายเป็นที่นิยมในอนาคตอย่างแน่นอน
จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมประมูลโครงการ และก็เป็นผู้ชนะการประมูลไปได้สำเร็จ
1
ธนายง ได้รับสัมปทานสร้างและจัดการเดินรถไฟฟ้าเป็นเวลา 30 ปีนับจากวันที่เปิดให้บริการ
และได้รับการสนับสนุนจาก หน่วยงาน กทม. ที่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาที่ดินในการก่อสร้าง และไม่มีส่วนแบ่งผลประโยชน์ใด ๆ ในช่วงเวลาสัมปทาน
รวมถึงรัฐบาล ยังยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรและภาษีเงินได้ให้เป็นเวลา 8 ปีอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม บริษัทต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและวางระบบทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 54,925 ล้านบาท
เมื่อประมูลชนะแล้ว ธนายงจึงก่อตั้ง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือบีทีเอสซี เป็นบริษัทย่อย เพื่อเข้าลงนามในสัญญาสัมปทานในการสร้างและบริหารระบบรถไฟฟ้า
แม้ว่าปัจจุบันรถไฟฟ้าบีทีเอสจะเป็นที่นิยมของผู้คนที่เดินทางไปมาในกรุงเทพฯ
1
แต่ต้องบอกว่าช่วงแรกที่มีการวางแผนสร้างอู่ซ่อมบำรุง บริเวณพื้นที่สวนลุมพินีนั้น
ได้รับการต่อต้านจากประชาชนอย่างมาก เนื่องจากพวกเขามองว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ
นั่นจึงส่งผลให้บริษัทต้องเปลี่ยนแผนสถานที่ตั้งโรงซ่อมบำรุงใหม่หลายรอบ
4
จากเหตุการณ์เหล่านี้ ถือเป็นเรื่องที่เกินคาดของคุณคีรี และก็ได้ทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายสูงกว่างบที่ตั้งไว้ แต่ในท้ายสุดแล้ว บีทีเอสซีก็ได้สถานที่สำหรับเป็นอู่ซ่อมบำรุง คือ “สถานีหมอชิต”
1
แม้ปัญหาแรกจะหมดไป แต่ต่อมาคุณคีรีก็ยังเจอปัญหาและหนักหนากว่าเดิม หลายเท่าจนถึงขนาดที่เกือบจะล้มละลาย นั่นคือเหตุการณ์วิกฤติต้มยำกุ้ง
3
จากวิกฤติในปี 2540 ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงถึง 130% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
ทำให้ทั้งธนายง และบีทีเอสซี ที่กู้เงินดอลลาร์สหรัฐมาจำนวนมาก ได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ในช่วงเวลานั้นเอง คุณกวิน ลูกชายของคุณคีรี ในวัย 23 ปี ที่เพิ่งจบการศึกษามาจากอังกฤษพอดี ต้องเข้ามาช่วยงานที่บริษัท เช่นกัน
1
และแม้ว่าจะผ่านวิกฤติต้มยำกุ้งมาได้ แต่คุณคีรีก็ยังเจอปัญหาเข้ามาซ้ำอีกครั้ง
2
เพราะในปี 2542 แม้ว่ารถไฟฟ้าบีทีเอสจะสร้างเสร็จแล้ว โดยได้เริ่มการเดินรถสายสีเขียวเป็นเส้นทางระหว่างหมอชิตถึงอ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติถึงสะพานตากสิน
แต่เนื่องจากค่าใช้บริการที่ค่อนข้างสูงและรถไฟฟ้ายังเป็นสิ่งที่ถือว่าแปลกใหม่ ประชาชนส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยเข้ามาใช้บริการนัก
ช่วงปีแรก ๆ ที่เปิดให้บริการ บีทีเอสซีมีจำนวนผู้โดยสารเพียง 150,000 ต่อวัน
และเมื่อคนน้อย จึงทำให้ธุรกิจการปล่อยเช่าพื้นที่บนสถานีจึงน้อยลงตามไปด้วย
โดยบริษัท มีรายได้เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 4-5 ล้านบาท เท่านั้น
ซึ่งไม่เพียงพอต่อการหมุนเวียนกระแสเงินสดในบริษัท
1
ทำให้ในปี 2545 บริษัทต้องทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยสิ้นสุดกระบวนการในปลายปี 2549
2
การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ส่งผลให้ธนายงจำเป็นต้องขายหุ้นบีทีเอสซีให้แก่เจ้าหนี้
จนสุดท้าย ธนายงเหลือหุ้นที่ถือสัดส่วนน้อยกว่า 1% ของหุ้นทั้งหมด
1
แต่ด้วยเรื่องนี้เอง ก็ได้ทำให้บริษัทธนายงกลับเข้ามาซื้อขายหุ้น ได้ตามปกติอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามความนิยมลดลงไปอย่างมาก เพราะนักลงทุนไม่เชื่อมั่นว่าจะสามารถกลับมาได้เหมือนเดิม
2
แต่ต่อมา ในปี 2551 รายได้ของบีทีเอสซีเริ่มกลับมาได้ตรงตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้
และถัดไปอีกปีหนึ่ง ก็เปิดให้บริการส่วนต่อขยายสีลม จากสะพานตากสินถึงวงเวียนใหญ่
นั่นทำให้รายได้ของบีทีเอสซีสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
4
ส่วนเส้นทางส่วนต่อขยายนั้น ทางบีทีเอสซีจะไม่ได้เป็นผู้รับรู้รายได้โดยตรงจากค่าโดยสาร
เพราะโครงการเหล่านี้ บริษัทเป็นเพียงแค่ผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง ซึ่งถูกจ้างโดย กทม. อีกที
2
และเมื่อเริ่มตั้งตัวได้ บีทีเอสซีได้เริ่มขยายไปสู่ธุรกิจสื่อโฆษณาด้วย โดยการเข้าซื้อกิจการวีจีไอ 100% ซึ่งต่อมาธุรกิจนี้ ก็ได้เป็นอีกแหล่งรายได้สำคัญให้แก่บีทีเอสซี
1
และเมื่อคุณคีรีเห็นว่า บีทีเอสซีกำลังไปในทิศทางที่ดี ตรงกันข้ามกับธนายง
เขาจึงตัดสินใจนำธนายงเข้าควบรวบกิจการบีทีเอสซี ด้วยการ “Backdoor Listing”
หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่าวิธี “Reverse Takeover” ซึ่งจะเป็นการใช้กิจการขนาดเล็กเข้าซื้อกิจการที่มีขนาดใหญ่กว่าตนเอง เพื่อนำธุรกิจนั้น เข้าตลาดหลักทรัพย์โดยไม่ต้อง IPO
1
โดยแหล่งที่มาของเงินทุน ก็มาจาก 2 ส่วน นั่นก็คือ
1
- กู้เงินจากธนาคารมาชำระเงินสด จำนวน 20,655.7 ล้านบาท
- ออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท เพื่อชำระแทนเงินสด มูลค่า 19,378.8 ล้านบาท
3
ซึ่งก็ได้ทำให้ธนายง กลายมาเป็นเจ้าของบีทีเอสซี ในสัดส่วน 94.6%
และในที่สุด ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
หรือมีชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ที่เรารู้จักว่า BTS ที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน นั่นเอง
2
หลังจากดีลครั้งนี้ ส่งผลให้บริษัทเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
จากแต่เดิมที่บริษัทมีโครงสร้างรายได้หลักมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ก็เปลี่ยนมาเป็นธุรกิจขนส่งมวลชน ผลประกอบการของบริษัทจึงเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ซึ่งก็ได้ทำให้ฐานะการเงินจากที่มีหนี้ต่อทุนสูง ก็เริ่มฟื้นตัว
2
เหตุการณ์ต่อจากนี้เหมือนกับฟ้าหลังฝน
เพราะปีต่อ ๆ มาล้วนทำให้ธุรกิจบีทีเอสแข็งแกร่งขึ้น
2
เช่น ปี 2554 บีทีเอสเริ่มให้บริการเดินรถในส่วนต่อขยายของสายสุขุมวิท จากอ่อนนุชถึงแบริ่ง
1
ปีต่อมา บีทีเอสซีได้ลงนาม ในสัญญาการให้บริการเดินรถ และซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายของเส้นทาง เดินรถสายสีเขียว เป็นเวลา 30 ปี
1
รวมถึงขยายเวลาสัมปทานเส้นทางเดิมที่ตอนแรกครบกำหนด ภายในปี 2572 ก็ถูกเลื่อนเป็นปี 2585 แทน เรียกได้ว่า อยู่ยาวเลยทีเดียว
1
และปี 2556 บีทีเอสทำการขายสิทธิการรับรายได้ค่าโดยสาร ในอนาคตอีก 17 ปีข้างหน้าจากการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสสายหลัก ให้แก่กองทุน BTSGIF หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท
โดยบีทีเอส กรุ๊ป ก็ยังถือหน่วยลงทุนใน BTSGIF จำนวน 1 ใน 3 ของจำนวนหน่วยทั้งหมด
2
นับว่าในตอนนั้น BTSGIF เป็นหนึ่งใน IPO ที่มีมูลค่าสูงสุดในประเทศไทย โดยกองทุนมีมูลค่ากว่า 61,399 ล้านบาท
การเสนอขายกองทุนครั้งนี้ ส่งผลให้บีทีเอส กรุ๊ป มีเงินสดเพิ่มขึ้นในมืออย่างมหาศาล
ฐานะการเงินยิ่งแข็งแกร่งและมีเงินทุนเพียงพอสำหรับลงทุนโครงการใหม่ ๆ
1
ซึ่งทำให้ปัจจุบันบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ขยายธุรกิจ จนมีทั้งหมด 3 ส่วน
1. ธุรกิจ Move หรือผู้ให้บริการการเดินทางที่หลากหลาย
ซึ่งสามารถแบ่งย่อยได้อีก 2 แบบ คือ
- ธุรกิจระบบขนส่งมวลชนทางราง หรือรถไฟฟ้าบีทีเอสที่เราใช้กันปกตินั่นเอง
2
- ธุรกิจที่นอกเหนือจากระบบขนส่งมวลชนทางราง
เช่น ระบบโดยสารด่วนพิเศษ BRT สนามบินอู่ตะเภา และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง
2. ธุรกิจ Mix ประกอบด้วย ธุรกิจสื่อโฆษณา ธุรกิจบริการชำระเงิน และธุรกิจโลจิสติกส์ ซึ่งดำเนินผ่านบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน)
3. ธุรกิจ Match คือการลงทุนและร่วมมือกับเหล่าพันธมิตรทางธุรกิจ
เพื่อให้บริษัทต่าง ๆ สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากธุรกิจ Move และ Mix ได้
โดยที่บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป จะได้ผลประโยชน์จากการเข้าไปถือหุ้นบริษัทพันธมิตร ซึ่งไม่ตํ่ากว่า 5% แต่ไม่เกิน 10%
แล้วรายได้และกำไรของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เป็นอย่างไร ?
1
ผลประกอบการของบริษัทที่ผ่านมา
ปี 2562 รายได้ 48,618 ล้านบาท กำไร 2,873 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 38,681 ล้านบาท กำไร 8,162 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 42,379 ล้านบาท กำไร 4,576 ล้านบาท
(รอบปีการเงินของ BTS เริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 ถึง 31 มีนาคม 2564)
2
ปัจจุบัน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ มีมูลค่าบริษัท 127,025 ล้านบาท
1
ถึงตรงนี้ เราก็น่าจะได้รู้จักกับผู้พัฒนารถไฟฟ้าในประเทศไทยไปแล้ว ไม่มากก็น้อย
ก็ต้องบอกว่าบีทีเอส เป็นอีกหนึ่งบริษัท ที่ลุยมาแล้วทั้งวิกฤติต้มยำกุ้ง และการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ ก็น่าจะทำให้สามารถรับมือวิกฤติโรคระบาดในปัจจุบัน รวมถึงการฟื้นตัวและกลับมาสร้างการเติบโตจากทั้งการทำธุรกิจและการลงทุนต่อ ๆ ไป ในอนาคต..
3
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้ชี้นำให้ซื้อหุ้นตัวนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
โฆษณา