18 ต.ค. 2021 เวลา 23:50 • ประวัติศาสตร์
เรื่องเล่า ถนนสายต้นยาง 122 ปี เชียงใหม่ – ลำพูน
ต้นยางที่ยืนเรียงรายระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร จำนวนกว่า หนึ่งพันต้น ที่สูงสูงตระหง่านบนเส้นทางเชียงใหม่-ลำพูน ตั้งแต่ย่านตำบลหนองหอยอำเภอเมืองเชียงใหม่ถึงอำเภอสารภี เป็นความทรงจำที่มีมานานตั้งแต่เด็กของคนทั้งสองจังหวัด จนกลายเป็นถนนสายประวัติศาสตร์ที่พูดกันว่าเป็นถนนสายเดียวที่มีการปลูกต้นยางมากที่สุดในประเทศ
ที่มาของ “ต้นยางนา” ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่เป็นไม้สงวนประเภท ข เริ่มต้นปลูกบนถนนสายประวัติศาสตร์เชียงใหม่-สารภี เมื่อปี พ.ศ.2442ในรัชสมัย รัชกาลที่ 5 ซึ่งในสมัยนั้นได้มีการจัดการปรับเปลี่ยนจากประเทศราชมาเป็นรูปแบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล มีข้าหลวง จากรัฐบาลกรุงเทพฯ มาปกครอง ซึ่งเชียงใหม่ในเวลานั้นตรงกับช่วงปลายสมัยของเจ้าอินทวโรรส เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 8 โดยรัฐบาลส่วนกลางได้ยกเลิกอำนาจการปกครองของเจ้าหลวง ให้ข้าหลวงประจำเมืองทำหน้าที่แทน แต่ยังคงดำรงตำแหน่ง "เจ้าหลวง" เอาไว้เป็นประมุขของเชียงใหม่
โดยข้าหลวงสิทธิ์ขาดมณฑลพายัพ คนแรกคือ เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ซึ่งมีนโยบาย ที่เรียกว่า "น้ำต้อง กองต๋ำ" หมายถึงนโยบายในการพัฒนาคูคลองร่องน้ำและการตัดและปรับปรุงถนนหลวงใหม่โดยเพิ่มความร่มรื่นแก่ชาวบ้านที่เดินทางสัญจรไปมา ดังนั้นจึงให้ทางหลวงแต่ละสายปลูกต้นไม้ไม่ซ้ำกันคือ โดยถนนในตัวเมืองเชียงใหม่ ให้ปลูกต้นไม้เมืองหนาว ถนนรอบคูเมือง ให้ปลูกต้นสัก และต้นสน ถนนสายเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด ให้ปลูกต้นประดู่ ถนนสายเชียงใหม่-หางดง ให้ปลูกต้นขี้เหล็ก ถนนสายเชียงใหม่-สารภี ให้ปลูกต้นยาง และเมื่อเข้าเขตจังหวัดลำพูนให้ปลูกต้นขี้เหล็ก
โฆษณา