19 ต.ค. 2021 เวลา 05:34 • ธุรกิจ
เปิดวิสัยทัศน์ผู้บริหาร “The One Enterprise” ผู้นำด้านการสร้างสรรค์คอนเทนต์ ที่กำลังจะ IPO
1
ในวันที่อาณาจักรสื่อและความบันเทิงถูกกระแส Digital Disruption พลิกโฉมเข้าอย่างจัง
จากที่เคยเข้าถึงได้เพียงไม่กี่ช่องทาง กลายเป็นโลกใบใหม่ ที่ถูกย่อให้อยู่แค่ปลายนิ้ว
แถมยังเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา
ทำให้สื่อแบบเดิม ๆ โดยเฉพาะ ทีวี รวมทั้งผู้ผลิตคอนเทนต์ที่ปรับตัวไม่ทัน กำลังตกที่นั่งลำบาก
 
คำถาม คือ ถ้าวันนี้คุณต้องอยู่ในสมรภูมิธุรกิจ ที่ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป คุณจะรับมืออย่างไร ?
THE BRIEFCASE ชวนทุกคนไปหาคำตอบ ผ่านมุมมองสองผู้บริหารแห่งบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ONEE
นำทีมโดย คุณบอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และคุณระฟ้า ดำรงชัยธรรม ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด
คุณบอย เล่าถึงเส้นทางการเติบโตของกลุ่ม ONEE
ซึ่งไม่ได้เป็นแค่เจ้าของช่อง ONE31 แต่ยังเป็นธุรกิจสื่อและความบันเทิงแบบครบวงจร
เป็นทั้งผู้ผลิตและสร้างสรรค์คอนเทนต์ รวมทั้งเป็นเจ้าของช่องทางเผยแพร่รายการ ครอบคลุมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ นอกจากนี้ยังรับจ้างผลิต Original Content ให้แก่ OTT Platform ระดับโลกอย่าง Netflix, WeTV ฯลฯ
“ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ผมเริ่มจากการเป็นโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ จนได้มาร่วมกับ Grammy Entertainment ตั้งบริษัท EXACT ทำละคร ซิตคอม ไปจนถึงวาไรตี้โชว์ เกมโชว์ต่าง ๆ
อาศัยเช่าเวลาจากช่องทีวีต่าง ๆ เพื่อออกอากาศ ต่อมาจึงตั้งเป็นบริษัท Scenario
และเพิ่งจะมีช่องทีวีเป็นของตัวเอง ตอนที่ GMM ประมูลช่อง ONE31 ได้ และให้ผมมาดูแล​ ตอนปี 2014
เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจ ต้องบอกว่า รากฐานเรามาจากการเป็น Content Creator อย่างแท้จริง”
1
ข้อดีของการมีช่องเป็นของตัวเองในเวลานั้น คือ ช่วยให้มั่นใจว่า คอนเทนต์ที่ทำออกมา มีช่องทางออกอากาศแน่นอน
แต่ความท้าทายที่ตามมา คือ การแข่งขันที่ดุเดือด จากผู้เล่นที่มากขึ้น เพื่อหวังช่วงชิงเวลาของผู้ชมที่มีอยู่ 24 ชั่วโมงเท่าเดิม
ยังไม่รวมการเข้ามาของเทคโนโลยี ที่แจ้งเกิดช่องทางออนไลน์ และโซเชียลมีเดียต่าง ๆ
จนทำให้ตอนนั้น หลายคนมองว่า ใครที่ประมูลได้ช่องมา คือ “ภาระ” เพราะใคร ๆ ก็บอกว่าทีวีกำลังจะตาย
ซึ่งจุดนี้เอง ก็เป็นสิ่งที่แม้แต่คุณบอย ที่โลดแล่นอยู่ในวงการมานาน ก็ยอมรับว่า “กังวล” แต่ไม่ได้ “ยอมแพ้” นอกจากจะตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามา ยังทดลองทำหลายอย่าง เพื่อให้ธุรกิจไปรอด
“ตอนนั้น วงการบันเทิงเจอ Digital Disruption ก็จริง แต่ไม่ได้แปลว่า คนจะเลิกดูคอนเทนต์
เพียงแต่ผู้ชมมีทางเลือกมากขึ้นในการรับชมคอนเทนต์ผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ”
 
คำถามคือ จะทำอย่างไรเพื่อคว้าโอกาส เพิ่มมูลค่าให้คอนเทนต์ที่อยู่ในมือ ?
“ผมมองว่า คอนเทนต์ คือ ซอฟต์แวร์ ส่วนช่องทางในการนำเสนอ คือ ฮาร์ดแวร์
สองส่วนนี้ต้องไปด้วยกันก็จริง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องแยกให้ชัดเจน ว่าอะไรคือซอฟต์แวร์ อะไรคือฮาร์ดแวร์”
แทนที่จะมองว่า ไม่มีใครดูทีวีอีกต่อไป ต้องตั้งคำถามใหม่ว่าทำไมเราไม่ใช้ประโยชน์จากช่องทางในการเข้าถึงความบันเทิงที่หลากหลาย ไม่ได้มีแค่สื่อเดิม ๆ อีกต่อไป มาหารายได้
พอเปลี่ยนมุมคิด คุณบอยจึงนำคลังคอนเทนต์ที่มีอยู่หลากหลาย ออกมาจัดระเบียบ
ประเมินว่าคอนเทนต์ที่มีอยู่ ไปอยู่ตรงไหน แล้วจะลงตัวที่สุด
จากนั้นค่อยนำไปเสิร์ฟผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยไม่ยึดติดว่าต้องเป็นแค่ทีวี แต่รวมถึงโซเชียลมีเดีย และ OTT Platform ต่าง ๆ
มาถึงวันนี้ ต้องบอกว่าเป็นการเดินหมากที่ถูก เพราะถ้าให้มองย้อนกลับไป คุณบอยยอมรับอย่างเต็มภาคภูมิว่า การได้ช่องทีวีมาเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ถือว่าเป็น Big Move ที่ดี และการมีช่องก็ดีกว่าไม่มีเยอะมาก
เพราะไม่เช่นนั้น คุณบอยก็ยังไม่แน่ใจว่า​ คอนเทนต์มากมายที่ผลิตออกมาจะกระจายไปอยู่ตรงไหนบ้าง
1
ที่สำคัญกว่านั้น การที่กลุ่ม ONEE ได้แสดงฝีมือให้เห็นว่า สามารถบริหารคอนเทนต์ที่หลากหลาย โดยไม่ยึดติดว่าต้องเป็นช่องทางไหน​
ยิ่งเป็นการตอกย้ำบทบาทการเป็น Entertainment Software Provider หรือ ผู้นำในการสร้างความบันเทิงที่ “ครบเครื่อง” ให้โดดเด่นและน่าจับตามอง
 
อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นแล้วว่ากลุ่ม ONEE ไม่ได้เป็นเจ้าของแค่ช่อง ONE31 แต่มีธุรกิจที่ครบวงจร
โดยมีจุดแข็ง คือ เป็นแหล่งรวมบริษัทผู้ผลิตคอนเทนต์ชั้นนำของไทย ไม่ว่าจะเป็น
- GMMTV เชี่ยวชาญการผลิตคอนเทนต์สำหรับคนรุ่นใหม่ เช่น ซีรีส์เพราะเราคู่กัน
- GMM Media เชี่ยวชาญการผลิต Voice Content และเป็นเจ้าของรายการวิทยุ Greenwave และ EFM
- Change2561 เชี่ยวชาญการผลิตคอนเทนต์ดราม่า เช่น กระเช้าสีดา
- GMM Studios เชี่ยวชาญการผลิตคอนเทนต์เพื่อส่งออกไปเผยแพร่ในต่างประเทศ เช่น เด็กใหม่ ซีซัน 2
1
ที่น่าสนใจ คือ ไม่ต้องกลัวว่า พอรวมดาวเด่นแห่งสายคอนเทนต์มาไว้ที่เดียวกันแล้ว จะกลายเป็นแย่งซีนกันเอง เพราะคุณบอยตอบชัดว่า “อะไรที่ดีอยู่แล้ว จะไม่เข้าไปแตะ แต่อะไรที่จะมาต่อยอดกันได้ ก็อาจจะมาคุยกัน”
เนื่องจาก ผู้ผลิตคอนเทนต์แต่ละราย ล้วนมีลายเซ็นของตัวเอง และเป็น Top of Mind ของผู้ชมในสายที่เชี่ยวชาญอยู่แล้ว การรวมตัวกันครั้งนี้ จึงเป็นการเข้ามาเติมเต็มคอนเทนต์ในส่วนที่ช่อง ONE31 ยังขาด และไม่ถนัดที่จะทำให้สมบูรณ์ขึ้น
เห็นภาพรวมของวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ONEE ไปแล้ว
มาถึงอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ อย่างโมเดลการทำตลาดและสร้างรายได้
 
คุณระฟ้า บอกว่า หัวใจสำคัญของการทำตลาดธุรกิจสื่อและความบันเทิง คือ ไม่ได้ดูแค่ปลายทางในการหารายได้ แต่ต้องตั้งต้นตั้งแต่การผลิตคอนเทนต์และการออกอากาศ
“เราเน้น Product Centric คอนเทนต์ของเรามาจากการทำวิจัย ทั้งเชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณ
เพื่อนำ Data มาวิเคราะห์ แล้วผลิตออกมาเป็นคอนเทนต์ ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่เราแบ่งเป็นเซกเมนต์
ทำให้ง่ายต่อการนำไปต่อยอดว่า คอนเทนต์แบบนี้ เหมาะกับผู้ชมกลุ่มไหน ควรจะออกอากาศช่องทางใด
รวมไปถึง เวลาไปขายสปอนเซอร์ เราก็ตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบลูปที่ลูกค้าต้องการสื่อสาร สามารถใช้ทุกช่องทางที่เรามีให้เป็นประโยชน์”
ในแง่ของการหารายได้ของกลุ่ม ONEE ตอนนี้มี 3 ช่องทางหลัก คือ ทีวี ออนไลน์ และการส่งคอนเทนต์ไปตลาดต่างประเทศ
ในส่วนของออนไลน์นอกจากรายได้จากการขายโฆษณาผ่าน Social Network 50%
อีก 50% มาจาก OTT Platform ซึ่งเราเป็นพันธมิตรกับบริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น LINE TV, Netflix, WeTV, Viu, TRUE ID, AIS Play และ iQIYI
ทำให้ปัจจุบันคอนเทนต์ของกลุ่ม ONEE มีฐานผู้ชมอยู่กว่า 15 ประเทศทั่วโลก
โดยคอนเทนต์ที่ไปอยู่บน OTT Platform มีทั้งคอนเทนต์ที่ฉายหลังทีวีออนแอร์ 1-2 ชั่วโมง และ Original Content ที่ผลิตขึ้นใหม่เลย
ซึ่งโควตาในการผลิต ขึ้นอยู่กับเม็ดเงินของแต่ละแพลตฟอร์ม ซึ่งจะเกลี่ยตามความนิยมของคอนเทนต์ที่เราผลิตให้ ถ้ากระแสดี เขาก็มีแนวโน้มว่าจะซื้อคอนเทนต์ไปมากขึ้น
ส่วนโมเดลการสร้างรายได้จะมาจากการทำ Licensing และส่วนแบ่งการขายโฆษณา
ด้วยประสบการณ์และการอ่านเกมที่ขาดนี้เอง ทำให้ผลประกอบการของกลุ่ม ONEE เติบโตทั้งรายได้และกำไร
โดยกลุ่ม ONEE มีผลประกอบการ ในช่วง 3 ปีล่าสุด ดังนี้
ปี 2561 รายได้รวม 4,199 ล้านบาท กำไรสุทธิ 73 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้รวม 4,818 ล้านบาท กำไรสุทธิ 228 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้รวม 4,875 ล้านบาท กำไรสุทธิ 658 ล้านบาท
คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาถึง 201% ต่อปีเลยทีเดียว
ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะในภาวะที่วงการสื่อและบันเทิงไทย ต้องเผชิญความท้าทายรอบด้าน
ถามว่าอะไรคือ Key Success สำคัญที่ทำให้กลุ่ม ONEE ยังทำผลงานได้ดี มาจากหลายปัจจัย
นอกจากจุดแข็งของการเป็นตัวจริงในการปั้นคอนเทนต์ คือ การมีทีมผู้บริหารและบุคคลที่มีประสบการณ์ในวงการมากว่า 30 ปี
อย่าลืมว่า กลยุทธ์ที่แหลมคม ก็ยังต้องการคนที่มีประสบการณ์มาผนึกกำลังกับทีมงานรุ่นใหม่ไฟแรงในการลงมือทำ
โดยเฉพาะธุรกิจสื่อและความบันเทิงที่ คุณบอยใช้คำว่าเป็น Commercial Arts หรือ พาณิชย์ศิลป์
ต้องอาศัยชั่วโมงบินในการทำงานมาเป็นองค์ประกอบสำคัญ
 
“วงการนี้ไม่มีใครทำอะไรสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว ที่ผ่านมาจนถึงตรงนี้ ก็ไม่ใช่ผลงานของผมคนเดียว
เพราะฉะนั้น ผมเชื่อว่าการมีทีมงานที่มีประสบการณ์และวิธีคิด ที่พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด จะพาองค์กรเราไปต่อได้อีกไกล”
อีก Key Success คือ การฟังเสียงของผู้ชม
 
แม้กลุ่ม ONEE จะรวมยอดฝีมือไว้มากมาย แต่ถ้าจะให้คอนเทนต์ที่ออกมาครองใจมหาชนไม่เสื่อมคลาย
คุณบอย ย้ำว่าต้องไม่คิด เดาเอง แต่อาศัยการวิจัย
“วิจัยในที่นี้ ไม่ใช่ไปหาว่าทำคอนเทนต์แบบไหนแล้วดังนะ อันนั้นง่ายไป
แต่ต้องรู้ว่าผู้ชมของเราคือใคร แล้วค่อยไปดูว่า ผู้ชมที่มีไลฟ์สไตล์-วิธีคิดแบบนี้ สนใจคอนเทนต์แบบไหน
ไม่อย่างนั้น คนทำคอนเทนต์จะทำแต่ละครเนื้อหาเดิม ๆ ซ้ำซาก ไม่ได้ Explore อะไรใหม่ ๆ คนดูก็เบื่อ”
เพราะจุดขายของธุรกิจสื่อและความบันเทิง คือ ความสดใหม่ แต่ถ้าจะดีต้องผสมให้เข้ากับประสบการณ์ รากฐานวิถีคิดจนออกมาอย่างกลมกล่อม​
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ผู้เล่นในธุรกิจสื่อและความบันเทิงต้องปรับตัวอย่างหนัก ถามว่าสองผู้บริหารมองภาพ อนาคตจากนี้อย่างไร
ประเด็นนี้คุณบอย ยอมรับว่า ในแง่เทคโนโลยีที่จะเข้ามาเกิดขึ้น คงตอบไม่ได้
แต่ในฐานะ Content Creator หัวใจสำคัญ คือ ต้องพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา
“ผมว่าเป็นสิ่งที่พวกเราทำมาตลอด 30 ปี เพราะโลกคอนเทนต์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไปตามพฤติกรรมและความสนใจของผู้ชม
ที่เห็นได้ชัดคือ แครักเตอร์ของพระเอก-นางเอก สมัยก่อนต้องนิ่ง ๆ เป็นคนดี เป็นฝ่ายยอม
มาถึงยุคนี้ วิธีคิดคนเปลี่ยน พระเอก-นางเอก ต้องสู้คน เข้มแข็งมากขึ้น ดังนั้น เราต้อง Stay Fresh เสมอ”
สอดคล้องกับมุมมองของคุณระฟ้า ที่เห็นว่า คอนเทนต์เปลี่ยนไปตามยุคสมัย
จะเห็นว่า คอนเทนต์ประเภทซีรีส์วายเป็นที่นิยม เพราะคนรุ่นใหม่เปิดกว้างมากขึ้น
หรืออย่างซีรีส์เด็กใหม่ ก็กระแสตอบรับดี เพราะมีเนื้อหาสะท้อนสังคมในรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
ส่วนรูปแบบคอนเทนต์ คุณระฟ้ามองว่า มีเทรนด์ใหม่ ๆ ให้ศึกษาและต่อยอดอยู่ตลอด
อย่างตอนนี้ กระแส Short Clip มาแรง ก็ถือเป็นโอกาสที่เรานำมาต่อยอด
ด้วยการนำคอนเทนต์ละครที่มีอยู่แล้วมาตัดเฉพาะซีนไฮไลต์ หรือถ้าเป็นรายการที่ยาว 30-50 นาที ก็มาทำเป็นคลิปสั้นให้เหลือ 8-20 นาที
“ผมมองว่าพื้นฐานในการเล่าเรื่องยังไม่เปลี่ยน เพียงแต่รูปแบบในการเล่าอาจจะแตกต่าง”
 
สุดท้ายนี้ ถ้าถามว่าในฐานะซีอีโอของกลุ่ม ONEE คุณบอยวางอนาคตธุรกิจ 5 ปีจากนี้ไว้อย่างไร
คุณบอยบอกว่า อยากเห็นคอนเทนต์ที่มีเสน่ห์และจุดขายแบบไทย ๆ มีความหลากหลายและไปได้ไกลกว่านี้ ​
 
“กลุ่ม ONEE มีแผนจะนำเงินจากการระดมทุน มาใช้ในการพัฒนาคอนเทนต์ของคนไทยให้ไปตีตลาดโลก ต่อยอดแพลตฟอร์มของ ONE31 ให้เป็น OTT Platform ที่แข็งแกร่ง
ควบคู่ไปกับการลงทุนขยายธุรกิจ ACTS ที่เป็นเจ้าของสถานที่ถ่ายทำและให้บริการเช่าสถานที่ ให้รองรับการผลิตคอนเทนต์ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งพัฒนาบุคลากร”
จากมุมมองของทั้งสองผู้บริหาร ซึ่งถือเป็นตัวจริงในการปั้นคอนเทนต์ คงสะท้อนให้เห็นแล้วว่า
ไม่ว่าโลกธุรกิจจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ทักษะในการปรับตัวและแก่นของการทำธุรกิจสื่อและความบันเทิง
ที่ยังต้องการคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ยังเหมือนเดิม
ดังประโยคที่ว่า “Content is King, Platform is Queen”
หรือหมายความว่า ช่องทางในการนำเสนอคือราชินี แต่คอนเทนต์คือราชา..
Reference:
บทสัมภาษณ์ คุณถกลเกียรติ วีรวรรณ และคุณระฟ้า ดำรงชัยธรรม /โดย ลงทุนแมน
โฆษณา