20 ต.ค. 2021 เวลา 02:58 • ข่าว
📌 คนหนึ่งคน...ติดคุก (ตามกฎหมายไทย) ได้สูงสุดกี่ปี ???
อายุขัยของคนเราโดยทั่วไปนั้น ถ้าอยู่ได้ถึงอายุ 100 ปีก็เรียกได้ว่าอายุยืนมากแล้ว ดังนั้นตามกฎหมายไทยเมื่อจำเลยได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต ศาลจึงถือหลักเกณฑ์คำนวณโดยใช้เวลา 50 ปี มาใช้เป็นฐานคิด
อาทิ การลดโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 ในการลดโทษจำคุกตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการลดมาตราส่วนโทษ หรือลดโทษที่จะลง ให้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกห้าสิบปี เป็นต้น
ระยะเวลา 50 ปีจึงถือว่ายาวนานมากแล้วในสายตาของกฎหมาย ในกรณีที่บุคคลคนหนึ่งจะต้องโทษจำคุก
เช่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 วรรคสาม ในกรณีผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีได้กระทำความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ให้ถือว่าระวางโทษดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษจำคุกห้าสิบปี
หลักคิดดังกล่าวนี้ส่งผลถึงการคิดคำนวณโทษในกรณีอื่น ๆ อีก
โดยเฉพาะการลงโทษในความผิดหลายกรรมหรือหลายกระทง โดยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 บัญญัติว่า เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วน โทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้
(1) สิบปีสำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี
(2) ยี่สิบปีสำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี
(3) ห้าสิบปีสำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต
ดังนั้นหมายความว่า แม้จำเลยจะต้องอัตราโทษยาวนานเพียงเท่าใดก็ตาม ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยรวมโทษทุกกระทงแล้วเกินกำหนดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ได้ ซึ่งตัวอย่างคดีแบบนี้มีให้เห็นในอดีตจำนวนมาก เช่น
“คดีแชร์แม่ชม้อย” ที่ศาลพิพากษาให้นางชม้อยและพวกรวม 10 คน มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา ให้จำคุกเป็นเวลา 117,595 ปี (รวม 23,519 กระทง) และฐานฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 อีก 36,410 ปี (กระทงละ 10 ปี รวม 3,641 กระทง) รวมจำคุก คนละ 154,005 ปี แต่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ให้จำคุกได้ไม่เกิน 20 ปี ศาลจึงตัดสินให้แม่ชม้อยและพวกจำคุกคนละ 20 ปี เท่านั้น
ซึ่งคดีลักษณะเช่นนี้แม้จะมีการฟ้องแยกกันคนละคดีศาล ก็ถือว่าเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 91 ศาลพิพากษาจำคุกเกินที่กำหนดไว้ไม่ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2505/2532) และเราสามารถกล่าวได้ว่า หากความผิดมีลักษณะตามที่กำหนดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แล้วศาลย่อมต้องพิพากษาลงโทษตามที่ระบุไว้นั่นเอง จำเลยจึงอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดได้ไม่เกิน 50 ปีนั่นเอง
อย่างไรก็ตามในการนำระยะเวลาจำคุกตามกฎหมายไทย มีการนับระยะเวลาจำคุกอีกแบบหนึ่ง คือ การนับระยะเวลาจำคุกต่อจากโทษจำคุกในอีกคดีหนึ่ง ลองนึกเล่น ๆ ว่า สมมติจำเลยกระทำความผิดสองคดี คดีแรกศาลลงโทษจำคุกจำเลย 10 ปี อีก 3 เดือนต่อมา คดีที่สองศาลลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปี หากในคดีที่สอง โจทก์ไม่ได้มีการขอให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากคดีแรก กรณีนี้โทษจำคุกของจำเลยทั้งสองคดีจะ “ซ้อนกันอยู่ในเวลาเดียวกัน” ซึ่งหมายถึงจำเลยจะถูกลงโทษเท่ากับอัตราโทษในคดีแรกเท่านั้น เพราะอัตราโทษในคดีหลังสั้นกว่า
แต่หากคดีที่สอง โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากคดีแรก จำเลยจะต้องถูกลงโทษในคดีแรกจนครบ 10 ปี จากนั้นจึงจะมาลงโทษจำคุกจำเลยในคดีที่ 2 อีก 5 ปี ซึ่งเป็นการลงโทษตามลำดับคดีไป (หากกรณีมีการพระราชทานอภัยโทษ จะพ้นโทษตามที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษก็ต่อเมื่อศาลได้ออกหมายสั่งปล่อยตัว ดังนั้นเมื่อศาลออกหมายสั่งปล่อยให้มีผลในวันใด จึงต้องถือว่าวันนั้นเป็นวันที่นักโทษผู้นั้นพ้นโทษ หามีโทษที่จะนับต่อก็ต้องนับต่อจากวันที่ศาลออกหมายสั่งปล่อยดังกล่าว (เรื่องเสร็จที่ 103/2520) โดยโทษจำคุกทั้งสองคดี “จะไม่ซ้อนกัน” ดังนั้นการนับโทษต่อจึงมีผลต่อการโทษจำคุกของจำเลยเป็นอย่างมาก
การนับโทษต่อกันนั้น มีที่มาจากความตอนท้ายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 วรรคหนึ่ง ที่ว่า “เว้นแต่คำพิพากษานั้นจะกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น” หมายความว่า การขอให้นับโทษต่อเป็นการขอให้ศาลเริ่มนับโทษจำคุกเป็นอย่างอื่น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4656/2540) โดยไม่เป็นไปตามหลักสองประการคือ (1) ให้เริ่มนับโทษหรือลงโทษจำคุกตั้งแต่วันมีคำพิพากษา (2) ให้หักจำนวนวันที่ผู้ต้องคำพิพากษาถูกคุมขังมาก่อนคำพิพากษาออกจากระยะเวลาที่กำหนดให้จำคุกตามคำพิพากษา
ซึ่งศาลที่พิพากษาคดีนั้นจะต้องกล่าวไว้ในคำพิพากษา เช่น พิพากษาให้เริ่มโทษจำคุกจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีก่อน หรือให้เริ่มโทษจำคุกในคดีนี้ต่อเมื่อโทษกักขังในคดีก่อนสิ้นสุดลง เป็นต้น (หนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ อส.(สฝปผ.)0018/ว. 173 ลว 25 เมษายน 2548) ซึ่งการนับโทษต่อจากคดีเรื่องใดนั้น มีหลักเกณฑ์ว่า คดีที่ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลต้องมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกก่อนที่คดีหลักจะมีคำพิพากษา โดยไม่ต้องคำนึงว่าคดีนั้นถึงที่สุดแล้วหรือไม่ ดังนั้นตราบใดที่คดีหลักยังไม่ถึงที่สุด ศาลชอบที่จะนับโทษจำคุกของจำเลยต่อจากโทษในคดีที่ขอให้นับโทษต่อได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2373/2562)
การนับโทษต่อนี้ หากรวมแล้วมีระยะเวลาเกิน 50 ปี ถ้าปรากฏว่าคดีอื่นที่ขอให้นับโทษต่อนั้น ไม่เป็นการกระทำความผิดในลักษณะที่เกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันหรือรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันได้ (เช่น แต่ละคดีมีวันเวลาสถานที่เกิดเหตุและผู้เสียหายต่างกัน) กรณีนี้จึงสามารถนับโทษจำคุกจำเลยติดต่อกันเกิน 50 ปีได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2537 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5875/2537) กล่าวโดยสรุปแล้วจำเลยจึงอาจสามารถติดคุกเกิน 50 ปีได้โดยผลของการนับโทษต่อ ซึ่งกรณีนี้แน่นอนว่าไม่มีการกำหนดจำนวนสูงสุดไว้นั่นเอง
#เพนกวินพริษฐ์
โฆษณา