20 ต.ค. 2021 เวลา 04:33 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
รังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากอุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อร่างกายและสมองเราจริงหรือ ?
เรื่องโดย อรพินท์ วิภาสุรมณฑล เมนช
รังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ที่เราใช้ทุกวันมีอันตรายต่อร่างกายและสมองหรือไม่ ?
การทำกิจวัตรประจำวันในชีวิตของเราไม่วานจะที่บ้านหรือที่ทำงานเริ่มมีความทันสมัยสะดวกสบายตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบเมื่อเรามีไฟฟ้าใช้ รอบๆ ตัวเราไม่ว่าที่บ้านหรือที่ทำงานแวดล้อมไปด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้ามาช่วยอำนวยความสะดวก ตั้งแต่สายไฟฟ้า หลอดไฟฟ้า โคมไฟฟ้า หม้อแปลงไฟ พัดลม ตู้เย็น ทีวี วิทยุ โทรศัพท์ โดยเฉพาะโทรศัพท์ มีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันประชากรโลกส่วนใหญ่ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างก็ใช้โทรศัพท์มือถือแบบไร้สายหรือ แบบเซลล์โฟน หรือสมาร์ตโฟน
อุปกรณ์ทุกชนิดที่ทำงานโดยใช้กระแสไฟฟ้าสลับพวกนี้ ทุกครั้งที่เรากดสวิตช์เปิดใช้งานจะแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในช่วงความถี่ต่ำออกมารอบๆ รังสีที่เราได้รับเป็นประเภทไม่ก่อไอออน (non-ionizing radiation ดังแสดงใน-ภาพที่ 1) คือมีพลังงานอยู่ในย่านไม่สูงถึงขั้นทำให้อะตอมหรือโมเลกุลแตกตัวเป็นไอออน และไม่มีผลต่อเนื้อเยื่อในเชิงความร้อน นักวิจัยทั่วโลกเริ่มตั้งคำถามว่าพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าที่เราได้รับอยู่ทุกวัน วันแล้ววันเล่านั้นมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและมีอันตรายต่อสมองหรือไม่ มีการศึกษาวิจัยเพื่อตอบคำถามนี้อย่างกว้างขวางมาโดยตลอด
ในปี พ.ศ. 2535 รัฐสภาอเมริกาได้ออกกฎหมายจัดตั้งโปรแกรมเฉพาะกิจ นำโดยสถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ร่วมมือกับสถาบัน กระทรวง และอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีเป้าหมายให้ตั้งคณะทำงานรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ ประเมินผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ข้อสรุปเรื่องนี้มาเผยแพร่ต่อสาธารณชน
โปรแกรมนี้ได้พิมพ์สรุปผลกระทบจากการรับรังสีจากอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าตามบ้านและที่ทำงานโดยใช้กำลังไฟฟ้าจากปลั๊กไฟฟ้าความถี่ 50-60 เฮิรตซ์ ในรูปคำถามคำตอบ เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2545 (1)
สำหรับประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดทำมาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม และประกาศบังคับใช้มาตั้งแต่ วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2550
คณะผู้เชี่ยวชาญไทยได้วิเคราะห์ข้อมูลการศึกษาวิจัยที่ปรากฏในบทความที่ลงพิมพ์ในวารสารวิชาการน่าเชื่อถือเป็นจำนวนมาก และในปี พ.ศ. 2558 กสทช. ได้จัดพิมพ์เอกสารเพื่อตอบคำถามประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าในประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวาง (2)
จากเอกสารทั้งของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและไทยสรุปได้อย่างกว้างๆ ว่า จากผลงานศึกษาวิจัยเท่าที่ผ่านมาจนถึงปี พ.ศ. 2557 นั้น ยังไม่มีหลักฐานน่าเชื่อถือที่ส่อว่าการรับรังสีจากการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าดังกล่าวข้างต้น (ในสถานการณ์และระยะเวลาที่พิจารณา) มีอันตรายต่อสุขภาพกายและสมองของมนุษย์ในผู้ใหญ่ตลอดจนถึงเด็กเล็ก
อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2557 กลุ่มนักวิจัยนานาชาติ (สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม สหรัฐอเมริกา) เริ่มศึกษา ผลกระทบจากการรับรังสีจากการใช้เครื่องสื่อสารไร้สาย (โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์ไร้สาย แล็ปท็อป และแท็บเล็ต) ต่อการทำงานของสมองส่วนความจำภาพ (figured memory) และส่วนความจำคำ (verbal memory) ในกลุ่มเด็กวัยรุ่น (adolescents)
วิธีการศึกษาวิจัยนี้น่าเชื่อถือกว่าที่ผ่านๆ มา กลุ่มเด็กทอาสาสมัครในงานวิจัยนี้คือนักเรียนระดับมัธยมศึกษาถึงระดับเตรียมอุดมศึกษา (อายุ 12-17 ปี) ของโรงเรียนในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กลุ่มแรกเริ่มเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 จำนวน 24 โรงเรียน จำนวนนักเรียน 425 คน กลุ่มที่สองเริ่มเดือนเมษายน พ.ศ. 2557 จำนวน 22 โรงเรียน จำนวนนักเรียน 418 คน มีการติดตามผลต่อเนื่องทุกปีจนถึงเดือนเมษายน พศ. 2559
กลุ่มวิจัยนี้ใช้เครื่อง portable exposimeter วัดปริมาณรังสีสะสม (doze ที่ผู้ใช้ได้รับ) จากการใช้อุปกรณ์สื่อสารไร้สาย (โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์ไร้สาย แล็ปท็อป และแท็บเล็ต) ในกิจกรรมต่างๆ คือ ใช้เป็นโทรศัพท์ ใช้เล่นเกม ใช้ส่งข้อความ (texting) จากเครือข่ายบริการโทรคมนาคมสองเครือข่าย ได้แก่ GSM (global system for mobile communications) และ UTMS (universal mobile telecommunication system) (พบว่าระบบ GSM ปล่อยรังสีออกมามากกว่าระบบ UTMS 100-500 เท่า)
ข้อมูลเวลาที่ใช้อุปกรณ์สื่อสารไร้สายส่วนหนึ่งได้จากการให้นักเรียนตอบแบบสอบถาม อีกส่วนหนึ่งจากผู้บันทึกการใช้เครื่อง (operator data) จำนวนนักเรียน 322 คน ข้อมูลจากนักเรียนมักสูงกว่าเสมอ ต้องมีการปรับแก้ให้สมเหตุสมผลกัน
ข้อมูลความจำวัดโดยใช้แบบทดสอบความจำมาตรฐาน (standardized computerized testing system)ผลลัพธ์คือความแตกต่างของคะแนนก่อนกับหลังเข้าร่วมโปรแกรมทดลองในเวลาหนึ่งปี ถ้ามีค่าเป็นลบแสดงว่าความจำเสื่อมลง ถ้าเป็นบวกแสดงว่าความจำดีขึ้น
เนื่องจากสมองด้านซ้ายทำงานเกี่ยวกับคำพูด สมองด้านขวาเกี่ยวกับรูปภาพ ในการใช้เครื่องโทรศัพท์มือถือนั้น ข้อมูลจึงแยกย่อยเป็นกรณีถือเครื่องมือขวา-ฟังหูขวา และกรณีถือเครื่องมือซ้าย-ฟังหูซ้าย
- ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าโดยเฉลี่ยต่อวันต่อจำนวนนักเรียนทั้งหมด สมองได้รับรังสีเป็นปริมาณรังสีสะสมร้อยละ 82.3 มาจากการใช้โทรศัพท์ (ร้อยละ 66 หากคิดจากระยะเวลาที่ได้จากผู้บันทึกการใช้เครื่อง)
- ผลเปรียบเทียบความจำส่วนเกี่ยวกับรูป มีค่าเป็นลบ (มีผลกระทบในด้านลบ) แต่ตัวเลขผลต่างไม่มีนัยยะสำคัญทางสถิติถ้าคิดจากกลุ่มทดลองทั้งหมด แต่มีนัยยะสำคัญถ้าใช้ ข้อมูลจากเวลาบันทึกการใช้เครื่อง
- ผลของรังสีจากโทรศัพท์มือถือไร้สายต่อความจำส่วนรูปภาพมีค่าเป็นลบ เริ่มมีนัยยะสำคัญในกรณีที่มักใช้โทรศัพท์ด้านขวาของสมอง (ผลจากผู้ใช้ด้านซ้ายข้อมูลมีจำนวนน้อย สรุปผลไม่ได้)
- ผลเปรียบเทียบความจำส่วนเกี่ยวกับคำพูด มีค่าเป็นบวก แต่ไม่น่าเชื่อถือ
- รังสีจากเครื่องสื่อสารไร้สายในกิจกรรมอื่นๆ ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพแต่อย่างใด
สรุปการศึกษาขั้นพื้นฐานนี้ส่อว่า รังสีช่วงคลื่นวิทยุจากการใช้โทรศัพท์มือถือและโทรศัพท์ไร้สายมีผลต่อความจำส่วนที่เกี่ยวข้องกับรูปภาพ (ถือด้านขวาที่อยู่ใกล้สมองด้านขวาซึ่งจะได้รับรังสีกว่าบริเวณอื่นๆ) แต่ไม่อธิบายถึงสาเหตุ ไม่ได้อธิบายว่าเกี่ยวข้องกับกระบวนการอะไรในสมอง
ผู้วิจัยลงความเห็นว่าควรมีการศึกษาทดลองกับกลุ่มผู้ใช้อื่นๆ เพื่อให้ได้ผลแน่ชัดยิ่งขึ้น พร้อมแนะนำด้วยว่าความเสี่ยงต่อผลกระทบในระยะยาวจะลดลงได้ หากผู้ใช้โทรศัพท์ไร้สายหลีกเลี่ยงการได้รับรังสีปริมาณมากเกินไปโดยไม่ถือหูฟังใกล้หูเกินไป (3)
(3) Environmental Health Perspectives, 126(7) July 2018)
โฆษณา