20 ต.ค. 2021 เวลา 08:13 • ไลฟ์สไตล์
ชวนส่อง เรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับ "การดื่มกาแฟ" รอบโลก ตอนที่ 2
หลังจากในตอนแรกที่พวกเราได้พาเพื่อน ๆ ไปชวนส่องกัน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นกาแฟสัญชาติเอเชียซะเป็นส่วนใหญ่ อย่างเช่น ญี่ปุ่น เวียดนามและตุรกี
ถ้าอย่างนั้น ในตอนที่ 2 ตอนนี้
พวกเรา InfoStory ขอพาเพื่อน ๆ ไปส่องกับ เรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับ "การดื่มกาแฟ" ในประเทศทางยุโรปอย่าง ฝรั่งเศส อิตาลี และ สแกนดิเนเวีย (นอร์เวย์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์และสวีเดน) กันบ้างดีกว่า !
เดี๋ยวในตอนต่อไป พวกเราจะย่อยและรวบรวมเรื่องราวเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการดื่มกาแฟทางฝั่งทวีปอเมริกา ให้เพื่อน ๆ รับชมกันต่อนะ 🙂
มาเริ่มกันที่ เกร็ดความรู้เกี่ยวกับการดื่มกาแฟของชาวฝรั่งเศส
ถ้าพูดถึงการดื่มกาแฟของประเทศฝรั่งเศสแล้ว เราก็คงจะนึกถึงกาแฟดำเข้ม ๆ สักแก้ว ตามมาด้วยกลิ่นของขนมปังและครัวซองต์พร้อมบรรยากาศของคาเฟ่แนว Parisian ที่มีโต๊ะและเก้าอี้ให้นั่งทานได้ภายนอกร้าน
เพื่อน ๆ ทราบไหมว่า ไม่ใช่เพียงแค่กาแฟดำเข้ม ๆ
แต่ว่าชาวฝรั่งเศสเองก็ยังชอบดื่มกาแฟใส่นม (Café au lait) อีกด้วยนะ โดยมากจะดื่มกาแฟนมกันในมื้อเช้า อาจดื่มพร้อมกับครัวซองต์
แต่ว่าเราอาจจะไม่ได้เห็นพฤติกรรมการดื่มแบบนี้ กับการดื่มกาแฟดำของชาวฝรั่งเศส นั่นก็เพราะว่า เขาจะไม่นิยมดื่มกาแฟดำคู่กับของกินอย่างอื่นโดยเฉพาะกับมื้ออาหาร
ส่วนมากเท่าที่สังเกตก็จะเป็นการดื่มหลังมื้ออาหารหรือดื่มยามบ่ายไปเลยเสียมากกว่า
อีกสิ่งหนึ่งที่เราพอจะสังเกตและจากแหล่งข้อมูลที่รวบรวมมาก็คือ
วัฒนธรรมการนั่งดื่มกาแฟในร้านของชาวฝรั่งเศส (ทั้งนั่งและยืนดื่มที่บาร์) โดยส่วนใหญ่จะไม่ค่อยสั่งกาแฟกลับบ้านกัน
ก็คือถ้าหากเราต้องการจะสั่งกาแฟแบบเดินดื่มหรือสั่งแบบ Take out
ร้านกาแฟที่เป็นเชนใหญ่อย่าง Starbucks ก็อาจจะดูเหมาะสมมากกว่า นั่นเอง
Parisian Cafe ที่เหมาะกับการนั่งดื่มกาแฟ (ไม่ Take out)
เพิ่มเติมเรื่องราวที่น่าสนใจสักนิดนึง (ขอแชร์จากประสบการณ์ส่วนตัว)
พอดีเราเองเคยได้มีโอกาสร่วมงานกับหัวหน้าชาวฝรั่งเศสที่มาทำงานในไทย อยู่ท่านหนึ่ง
คือ เขามักจะดื่มกาแฟดำพร้อมกับสูบบุหรี่ไปด้วย
ซึ่งตัวเขาจะชอบเรียกเป็นชื่อที่คล้องจองที่คล้ายกับชื่อเพลงและภาพยนตร์ว่า “Coffee and cigarettes”
จากการสอบถามเพิ่มเติมก็พบว่า ตัวเขาจะมีพฤติกรรมการดื่มกาแฟดำเอสเปรสโซพร้อมสูบบุหรี่ไปด้วย (โดยเฉพาะเวลาเข้าห้องน้ำตอนเช้า)
เขาบอกว่า มันเป็นสิ่งที่ปกติม๊ากมากของชาวฝรั่งเศสโดยเฉพาะกับชาวปารีส (เพราะเขาชอบเรียกตัวเองว่า “Parisian”) และไม่มีอะไรที่จะดีไปกว่าการเริ่มต้นของวันด้วย 2 สิ่งที่คู่กันนี้
ซึ่งแน่นอนว่า ในตอนนั้น เราต้องออกงานคู่กับหัวหน้าชาวฝรั่งเศสท่านนี้แทบจะทุกวัน ซึ่งจุดที่น่าสนใจคือ ถึงแม้เช้าของวันไหนที่มีธุระแน่นเพียงใด แต่...ตัวเขาจะต้องเผื่อเวลาแบบรวดเร็วสำหรับ “Coffee and cigarettes” ในทุกเช้า ๆ อยู่เสมอ
ตรงจุดนี้ เราแอบเห็นว่ามันก็เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่ค่อนข้างเห็นได้ชัดเจนของชาวฝรั่งเศส ได้อีกเหมือนกัน
1
ขอสารภาพก่อนเลยว่า... ในตอนแรกพวกเราเองเข้าใจว่ามาจากทางฝั่งอเมริกัน (แห่ะ ๆ)
ในส่วนเรื่องของ Coffee and cigarettes กับชาวฝรั่งเศส
หากเพื่อน ๆ ท่านไหนที่พอทราบข้อมูลเพิ่มเติม ก็มาเพิ่มความรู้ให้พวกเราได้เช่นกันนะ เพราะแอบอยากรู้เรื่่องราวตรงนี้เหมือนกัน :):)
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับการดื่มกาแฟในประเทศอิตาลี (Italy)
เรียกได้ว่า ประเทศอิตาลี ไม่ได้มีดีแค่พิซซาและพาสต้า
แต่ว่า เรื่องราวของกาแฟ ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดกาแฟจนไปถึงวิธีการคั่วและวิธีการชง ล้วนแล้วแต่เป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมที่ชาวอิตาลีภาคภูมิใจ
สำหรับเรื่องราวของเมล็ดกาแฟแล้ว
หากไม่เริ่มจากชาวอิตาลี… ชาวยุโรปเองก็คงจะได้สัมผัสเรื่องราวของการดื่มกาแฟ ตามหลังชาติอื่น ๆ กันไปสักนิดนึง
โอเค ก็อาจต้องเรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแพร่วิธีการคั่ว ชงและดื่มกาแฟให้กับชาวยุโรปตะวันตกอย่างฝรั่งเศส เยอรมนีหรืออังกฤษ
แต่ถ้าเป็นเรื่องราวของเมล็ดกาแฟ ก็อาจจะเห็นบทบาทของพ่อค้าชาวตะวันออกกลางเสียมากกว่าชาวอิตาลี
(ซึ่งเราอาจพอสังเกตเห็นความคล้ายคลึงกันในเรื่องวัฒนธรรมการดื่มกาแฟของชาวฝรั่งเศสและชาวอิตาลี เช่น เมนูกาแฟนม หรือ การดื่มกาแฟนมสำหรับมื้อเช้า แต่ก็อาจจะยกเว้นในเรื่องของนั่งและยืนดื่มกาแฟ ที่อาจแตกต่างกันเนอะ)
โดยชาวยุโรปตะวันตกเริ่มรู้จักการดื่มกาแฟและเมล็ดกาแฟเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1570 โดยการนำเข้าเมล็ดกาแฟของชาวตุรกี(ชาวเติร์ก) ในเมือง Venice ประเทศอิตาลี
ซึ่งในสมัยนั้นเนี่ย ชาวอิตาลีจะมีความเชื่อกันว่า "กาแฟ กาแฟคือยาวิเศษ !" กันเลยละ
นั่นจึงทำให้ความนิยมของการดื่มกาแฟนั้น เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
ถึงแม้ว่าความนิยมในการดื่มกาแฟจะมากขนาดไหน แต่ว่าในช่วงแรก ๆ นั้น ประเทศอิตาลีเนี่ย ก็ยังไม่มีการปลูกต้นกาแฟเลยด้วยซ้ำ แต่จะเป็นการนำเข้าเมล็ดกาแฟจากเอธิโอเปียหรือทางแถบทวีปแอฟริกาแทน
ในทางกลับกัน ชาวอิตาลีกลับให้ความสนใจไปยังวิธีการคั่ว การชงกาแฟ วัฒนธรรมของการดื่มกาแฟเสียมากกว่า
คือชาวอิตาลีจะชื่นชอบกาแฟเอาเสียมาก ๆ จนมีอีกหลักฐานหนึ่งที่อ้างอิงสำหรับต้นกำเนิดของ Parisian cafés และวัฒนธรรมการดื่มกาแฟของชาวฝรั่งเศส บ้างก็ว่ามาจากการนำเข้าของชาวอิตาลี ที่มีชื่อว่า “Francesco Procopio dei Coltelli” จนได้สร้างร้านกาแฟแบบ Parisian cafés แห่งแรกในช่วงปี ค.ศ. 1686 กับร้านที่มีชื่อว่า "Café Procope"
ก่อนที่วัฒนธรรมของการดื่มกาแฟจากอิตาลีจะค่อย ๆ แพร่ขยายไปทั่วยุโรปตะวันตก
ยาวจนไปถึงทวีปอเมริกา ซึ่งก็ไม่พ้นการแพร่ขยายจากผู้อพยพชาวยุโรปนี้ละนะ
Cafe Florian ที่ว่ากันว่าเป็นร้านกาแฟแห่งแรกในประเทศอิตาลี ที่เมือง Venice
ปิดท้ายด้วยเรื่องราวของต้นกำเนิดเมนูกาแฟช้อตเอสเปรสโซ (Espresso)
เมนูนี้เรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในหัวใจของวัฒนธรรมการดื่มกาแฟของชาวอิตาลีเลยทีเดียว
แต่ว่าเมนูนี้ไม่ได้มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของกาแฟในอิตาลีนะ
ในทางกลับกัน เมนูเอสเปรสโซ มีต้นกำเนิดในช่วงศตวรรษที่ 20 (ประมาณปี ค.ศ. 1930) ซึ่งก็เกิดขึ้นพร้อมกับเครื่องชงกาแฟแบบ “Fast Coffee Machine” ของชาวอิตาลีจากเมืองมิลานอย่าง คุณลุยจิ เบเซร่า (Luigi Bezzera) ในปีค.ศ. 1905
Fast Coffee Machine หรือเครื่องชงกาแฟแบบเอสเปรสโซเครื่องแรกของโลก
คุณลุยจิ เบเซร่า บิดาแห่งเครื่องชงกาแฟ (อันนี้เราเรียกฉายาเขามาเองนะ แห่ะ ๆ)
อันที่จริงแล้ว ตามบันทึกในของต้นกำเนิดนี้ ก็มาจากการที่ชาวอิตาลีรู้สึกว่า การชงกาแฟในแบบฉบับดั้งเดิมของชาวตุรกี (ชาวเติร์ก) ในสมัยแรกเริ่มเนี่ย มันใช้เวลานานและต้องพิถีพิถันด้วยหม้อต้ม "Cezve"
Cezve & Turkish Coffee
จากเรื่องราวตรงนี้ละ เลยทำให้ชาวอิตาลีต้องการจะหาวิธีการชงกาแฟดำให้อร่อยและที่สำคัญคือ “รวดเร็ว”
ซึ่งนวัตกรรมเครื่องชงกาแฟนี้ ก็มาสำเร็จเสร็จสิ้นโดย คุณลุยจิ เบเซร่า ที่ได้กล่าวมานี่เองละ
และนี้ก็เป็นเรื่องราวของที่มาของชื่อ “เอสเปรสโซ Espresso” จากภาษาอิตาเลี่ยน แปลว่า เร่งด่วน นั่นเองจ้า
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับการดื่มกาแฟของประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย (Scandinavia)
ที่เราจะเห็นได้ชัดเลยคือผู้คนในประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียนี้ นิยมดื่มกาแฟกันมาก ๆ เลย
คือดื่มวันละ 2 - 4 แก้ว หรือ ดื่มหลังมื้ออาหารทุกมื้อ (รวมถึงช่วงเวลายามบ่าย) ก็ดูเป็นเรื่องปกติมาก ๆ เลยละ
จริง ๆ ต้องขอบอกว่าแต่ละประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียต่างมีวัฒนธรรมในการทานกาแฟที่โดดเด่น มากกว่าข้อมูลในภาพที่เราได้เลือกมานำเสนอเสียอีกนะ
ยกตัวอย่างเช่น วัฒนธรรม “FIKA” ของชาวสวีเดน
ซึ่งคำว่า FIKA ก็เป็นคำแสลง ที่เกิดจากการอ่านสลับพยางค์ของคำว่า 'Kaffi' โดยแปลตรงตัวคือ 'กาแฟ'
วัฒนธรรมนี้ก็สุดจะเรียบง่ายมาก ๆ ก็คือชาวสวีเดนจะจัดสรรช่วงเวลาการพักหยุดทำทุกสิ่ง เพื่อที่จะมานั่งดื่มกาแฟร่วมกับกลุ่มคนรอบตัวเพื่อนร่วมงาน
เพราะชาวสวีเดนเชื่อว่า เวลาแบบนี้คือเวลาคุณภาพที่จะสร้างความสุข ผ่อนคลายจากความเครียดและเป็นการเพิ่มเติมแรงใจในการทำงานต่อได้
โดยเฉพาะบริษัทสัญชาติสวีเดน ก็จะมีการสนับสนุนให้เหล่าพนักงานมีการพักผ่อนในช่วงเวลาแบบ “FIKA” และหลาย ๆ บริษัทก็มีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายของกาแฟอีกด้วยนะ !
หรือว่าจะเป็น วัฒนธรรมการดื่มกาแฟที่อาจมากถึง 4 แก้วต่อวันของชาวฟินแลนด์
ถึงแม้ว่าชาวฟินแลนด์จะไม่ได้มีชื่อเรียกช่วงเวลาพิเศษอย่างชาวสวีเดน แต่เอกลักษณ์ของวัฒนธรรมชาวฟินแลนด์ก็โดดเด่นไม่แพ้กัน
โดยว่ากันว่าใน 1 วันชาวฟินแลนด์อาจมีมื้อกาแฟที่มากถึง 5 ช่วงเวลาด้วยกันนะ !
ช่วงที่ 1 เรียกว่า “aamukahvi” หรือ ช่วงเวลาเริ่มต้นของวัน ซึ่งอาจจะเป็นในที่ทำงานในตอนเช้า
ช่วงที่ 2 เรียกว่า "päiväkahvi" คือ หลังอาหารเที่ยง ทันที
ช่วงที่ 3 คือ เวลา “Coffee Break” โดยจะดื่มกาแฟ และ พูดคุยกับเพื่อนรวมงาน หรือ ครอบครัว (ตรงนี้จะคล้ายๆ กับ วัฒนธรรม Fika ของชาวสวีเดน)
ช่วงที่ 4 คือ ช่วงเวลาเย็น หลังจากที่ กลับถึงบ้านแล้ว
ช่วงที่ 5 คือ ช่วงเวลาหัวค่ำ โดยชาวฟินแลนด์ที่สูงอายุ มีความเชื่อว่า การดื่มกาแฟในช่วงหัวค่ำ จะทำให้หลับสบาย...
นอกจากเรื่องราวของความถี่หรือช่วงเวลาของการดื่มกาแฟแล้ว
มีเมนูกาแฟหนึ่งที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศฟินแลนด์ที่หากไม่พูดถึงคงไม่ได้ นั่นคือ “กาแฟชีส (Kaffeost)”
“กาแฟชีส (Kaffeost)”
“กาแฟชีส (Kaffeost)”
ซึ่งก็ตรงตัวเลยคือ การตัดชีสนิ่มเป็นก้อนเล็ก ๆ ลงไปผสมในกาแฟดำ รอให้ชีสละลายกันสักนิด แล้วค่อยดื่มกาแฟ
หลังจากนั้นค่อยทำการตักชีสที่ละลายติดก้นแก้วมาทานปิดท้าย
ก็พอหอมปากหอมคอกันไปกับเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการดื่มกาแฟรอบโลก ในตอนที่ 2
งั้นพวกเรา InfoStory ก็ขอตัวไปดื่มกาแฟสักแก้วพร้อมลองใส่ชีสก่อนเลยก็แล้วกัน 🙂

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา