21 ต.ค. 2021 เวลา 02:18 • ธุรกิจ
สตาร์ทอัพไทย INSKRU กับภารกิจการทำงานกับครูเพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่ปลอดภัย มีความสุข และเปี่ยมความหมายสำหรับทุกคน
การแพร่ระบาดของโควิด-19 นับเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญของแวดวงการศึกษาไทย ในยามที่โรงเรียนในหลายพื้นที่ต้องปิดตัวลงและหันมาพึ่งพาการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เราได้เห็นถึงความท้าทายในหลากหลายมิติ นับตั้งแต่ปัญหาการเข้าถึงเครื่องมือดิจิทัล ทักษะความเข้าใจเกี่ยวกับโลกออนไลน์ ไปจนถึงการเรียนการสอนที่ต้องได้รับการปรับเปลี่ยนให้ตอบโจทย์กับยุคสมัย ซึ่งอาจยังคงเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับระบบการศึกษาไทยแม้ภายใต้สถานการณ์ที่ทุกอย่างกลับคืนสู่ภาวะปกติ
1
dtacblog จึงได้ชวน ชลิพา ดุลยากร ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพด้านการศึกษา INSKRU (อินสครู) และพาร์ทเนอร์โครงการ Safe Internet ของดีแทค มาบอกเล่ามุมมองต่อระบบการศึกษาไทยในยุคโควิด-19 ภารกิจการสร้างทักษะออนไลน์ให้กับเด็กและเยาวชน และการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ใหม่ผ่านการทำงานร่วมกับบุคลากรครู โดยปัจจุบัน สตาร์ทอัพแห่งนี้มีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนในห้องเรียนของเด็กและเยาวชนให้สนุกและมีความหมายยิ่งขึ้นแล้วกว่า 2 ล้านคน
1
ร่วมสร้างพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน
อินสครูนั้นมีจุดเริ่มต้น ในปี 2561 จากโครงการดีแทค พลิกไทย แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เฟ้นหาไอเดียจากบุคคลภายนอกที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในสังคม เพื่อมอบเงินทุนสนับสนุนก้อนแรกจำนวน 100,000 บาท และการต่อยอดโครงการผ่านการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ โดยชลิพาได้นำเงินทุนจำนวนดังกล่าวไปจัดเวิร์กช็อปเรื่องการคิดเชิงสร้างสรรค์ร่วมกับครู ซึ่งได้รับผลตอบรับดีเยี่ยม
1
ไม่นานหลังจากนั้น อินสครูได้รับการชักชวนจากดีแทค ให้เข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์โครงการ Safe Internet ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการสร้างทักษะภูมิคุ้มกันออนไลน์ (digital resilience) ให้กับเด็กและเยาวชน ผ่านการทำงานร่วมกับนักเรียน ครู ผู้ปกครอง หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งดีแทคนั้นอาศัยความเชี่ยวชาญของอินสครูในการเจาะฐานครูรุ่นใหม่จำนวนกว่า 200,000 คน ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการออกแบบการเรียนรู้และทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ในรั้วโรงเรียน
“ดีแทคมีเป้าหมายที่ดีมากในการเห็นช่วยสร้างทักษะภูมิคุ้มกันออนไลน์ให้กับเด็กและเยาวชนไทย หลายประเด็นที่ดีแทคทำงานอยู่ เช่น เรื่องไซเบอร์บูลลี่นั้น ครูมีบทบาทสำคัญมากในการช่วยผลักดัน ซึ่งอินสครูสามารถให้การสนับสนุนดีแทคได้ ผ่านชุมชนครูและคลังไอเดียของเรา เรามีบุคลากรครูจำนวนมากที่พร้อมปรับตัวและช่วยทำให้จุดมุ่งหมายนี้เกิดขึ้นจริงได้ในโรงเรียน” ชลิพากล่าว
ในปีนี้ ทางอินสครูยังได้ร่วมกับดีแทคในแคมเปญ #ให้ไซเบอร์บูลลี่หยุดที่รุ่นเรา ซึ่งชวนนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการระดมความคิดเห็นเพื่อออกแบบแนวทางการสร้างห้องเรียนปลอดบูลลี่ ก่อนขยายผลสู่แนวปฏิบัติในระดับบุคคลเพื่อนำไปใช้งานจริงในโรงเรียน และในเชิงโครงสร้างผ่านการทำงานกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้อง
ปลุกปั้น Master Teacher
ในมุมมองของดีแทค อินสครูมีศักยภาพในการช่วยยกระดับวิชาชีพครูและผลักดันให้ทักษะภูมิคุ้มกันออนไลน์ถูกบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอน ซึ่งที่ผ่านมา ชลิพามีการจัดเวิร์กช็อปร่วมกับครูอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้ไปต่อยอดพัฒนาสื่อการสอน ในขณะที่ดีแทคนั้นมีองค์ความรู้และทรัพยากร ในการทำงานและสื่อสารประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
ท้ายที่สุด ทั้งอินสครูและดีแทคมุ่งหวังว่าความร่วมมือดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้าง ‘Master Teacher’ หรือครูต้นแบบ เนื่องจากชลิพาเชื่อว่าในระยะยาวการขับเคลื่อนนั้นควรเกิดขึ้นระหว่างครูด้วยกันเอง
“ในอนาคต เราหวังว่าเราจะสามารถสร้าง Master Teacher เพื่อช่วยคิดหาวิธีใหม่ๆ ในการออกแบบการเรียนการสอนที่สร้างสรรค์ ขับเคลื่อนการบ่มเพาะภูมิคุ้มกันออนไลน์ และคอยทำหน้าที่สนับสนุนครูคนอื่นๆ ในคอมมูนิตี้ หากเราทำสำเร็จ เราจะสามารถสเกลการทำงานนี้ไปได้ไกลและกว้างยิ่งขึ้น เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้ ดีแทคกับ INSKRU จะเริ่มปั้น Master Teachers กว่า 150 คน ให้มีทักษะและความเข้าใจที่ถูกต้องในประเด็นการเคารพในความหลากหลายเพื่อหยุดไซเบอร์บูลลี่ด้วย เราหวังผลให้ครูสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่ทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่หลากหลายแห่งแรกของนักเรียน และเป็นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน” ชลิพากล่าว
3
ออกแบบการเรียนรู้ที่มีความหมาย
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องหันมาทบทวนจุดประสงค์ของการศึกษาและรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ ในความคิดเห็นของชลิพา ดูเหมือนว่าความท้าทายของบุคลากรครูส่วนใหญ่นั้น จะไม่ใช่ประเด็นเรื่องการเข้าถึงเครื่องมือการสอน มากเท่ากับการออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ให้ตอบโจทย์กับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป
“เมื่อก่อนผู้ปกครองอาจคาดหวังว่าลูกต้องเรียนเยอะๆ เน้นเกรด แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน หลายฝ่ายต้องเผชิญกับทั้งความตึงเครียดจากการเรียนออนไลน์และปัญหาสภาพเศรษฐกิจ เราต้องการตัวชี้วัดที่ไม่เยอะหรือยึดติดกับกรอบเวลาจนเกินไป เพื่อให้ครูสามารถมุ่งเน้นที่กระบวนการเรียนรู้และพัฒนาการของผู้เรียนจริงๆ ซึ่งแรงสนับสนุนของผู้ปกครองและการทำงานอย่างรวดเร็วของภาครัฐจะเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันในจุดนี้” เธอกล่าว
ปัจจุบัน ทางสภาการศึกษามีแนวคิดจะนำหลักสูตรฐานสมรรถนะ (competency base) มาใช้แทนหลักสูตรเดิม โดยจะมุ่งเน้นการวัดผลใน 6 ด้าน แทนการท่องจำเนื้อหาเพียงอย่างเดียว อันได้แก่ การจัดการตนเอง การสื่อสาร การรวมพลังทำงานเป็นทีม การคิดขั้นสูง การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนสามารถความรู้ทักษะที่ได้จากห้องเรียน ไปประยุกต์ใช้และแก้ปัญหาในบริบทสถานการณ์ต่างๆ ได้จริง
ท่ามกลางความท้าทายด้านการศึกษาที่รายล้อม ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพการศึกษาไทยรายนี้เล็งเห็นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นมีศักยภาพในการเปิดพรมแดนการเรียนรู้ สำหรับทั้งครูและนักเรียนอย่างไม่รู้จบ และการทำงานร่วมกับองค์กรอย่างดีแทคจะช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และเพิ่มโอกาสทางการเรียนรู้ที่เท่าเทียมยิ่งขึ้น
“พอการเรียนการสอนมันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในหนังสืออีกต่อไป ครูต้องมีทักษะในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ต้องหาข้อมูลเยอะขึ้น เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมายและไร้พรมแดน สุดท้ายแล้ว เราอยากเห็นทุกคนมีความสุขกับการเรียนรู้ และไม่ต้องมีเด็กคนไหนเลยรู้สึกว่าตัวเองโชคร้ายที่ต้องเจอครูแบบนี้ หรือต้องอยู่ในโรงเรียนแบบนี้ เราอยากให้มันเกิดความเท่าเทียม แม้แต่โรงเรียนใกล้บ้านก็ดีได้” ชลิพาทิ้งท้าย
ติดตามสิทธิประโยชน์ สาระความรู้เทคโนโลยี
ข่าวสารธุรกิจ เคล็ดลับดี ๆ จากทางดีแทค
โฆษณา