2 ธ.ค. 2021 เวลา 10:11 • การศึกษา
โลกตระการของคนเขลา
สรรพสิ่งทั้งปวงที่มีอยู่ในโลก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ต่างอยู่บนพื้นฐานของความจริงทั้งสิ้น คือ ไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสื่อมทุกวินาที และก็สูญสลายในที่สุด ทุกสิ่งล้วนเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง เราควรแสวงหาของจริงที่จะนำความสุขที่แท้จริงมาให้แก่เรา นั่นคือ ธรรมกายที่มีอยู่ในตัวของพวกเรา เป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ด้วยการเจริญสมาธิภาวนา
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า…
 
เอถ ปสฺสถิมํ โลกํ จิตฺตํ ราชรถูปมํ
ยตฺถ พาลา วิสีทนฺติ นตฺถิ สงฺโค วิชานตํ
 
ท่านทั้งหลาย จงมาดูโลกนี้อันตระการดุจราชรถ
ที่พวกคนเขลาหมกอยู่ แต่ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่
โลกใบนี้เหมือนละครโรงใหญ่ ที่มีนักแสดงมากมาย ทั้งเด็ก หนุ่มสาว และคนชรา บางครั้งในคนๆเดียวกันก็แสดงได้หลายบท เป็นทั้งคนดีและคนไม่ดี ขึ้นอยู่กับความชอบใจที่อยากจะเป็น แม้ตัวเราบางครั้งก็อยากทำความดี บางทีไม่อยากทำบาปอกุศล หรือบางทีก็อยากอยู่เฉยๆ
เราจะสังเกตได้ว่า ถ้ายามใดที่ใจเราใสสะอาดบริสุทธิ์ มีความคิด คำพูดและการกระทำที่ดีๆ ยามนั้นเราจะสวมบทบาทของฝ่ายกุศลธรรม เมื่อเราระลึกย้อนกลับมาดูภาพแห่งการสร้างความดี เราจะมีแต่ความปลื้มใจ แต่บางทีเมื่อมีบาปอกุศลเข้ามาแทรก ทำให้ใจเราขุ่นมัว แล้วเผลอไปแสดงบทบาทของฝ่ายอกุศล ทำในสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งกว่าจะรู้ตัวว่าผิดพลาด ก็อาจสายเกิดแก้แล้ว ต้องไปเสวยทุกขเวทนาแสนสาหัสในอบายภูมิ
นักปราชญ์บัณฑิต มองเห็นความเป็นจริงของโลกและชีวิตเช่นนี้ จึงไม่ติดข้องอยู่ในโลก โดยเฉพาะเมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ สามารถอาศัยโลกอันตระการนี้เป็นฐานที่ตั้ง สำหรับสั่งสมบุญ สร้างบารมี เพื่อพัฒนาคุณภาพของชีวิตให้สูงขึ้น แม้จะดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับชาวโลกทั่วไป แต่ก็ไม่หลงใหลเพลิดเพลิน ไม่ติดข้องอยู่กับโลกกับวัตถุ ไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต พยายามยกจิตใจให้สูงขึ้น จนกว่าจะบรรลุโลกุตตรธรรม มีชีวิตที่อยู่เหนือโลกเช่นเดียวกับพระอริยเจ้าและพระอรหันต์ ผู้พ้นแล้วทั้งหลาย
ดังเช่นเรื่องของ ยสกุลบุตร ผู้เบื่อหน่ายในชีวิตฆราวาส แม้จะมีชีวิตที่พรั่งพร้อมไปด้วยเบญจกามคุณ๕ มีปราสาทสวยงามใหญ่โตโอฬาร แต่กลับไม่ยินดีในสมบัติเหล่านั้น ท่านพิจารณาเห็นว่า นี่คือ โลกามิส เหยื่อล่อที่ทำให้หลงติดอยู่ในโลก เหมือนปลาที่ถูกล่อด้วยเหยื่อให้เข้าไปติดเบ็ด โดยไม่รู้ตัวว่ากำลังจะเข้าไปสู่ความตาย ยสกุลบุตรพิจารณาเห็นความเป็นจริงของชีวิต ถึงกับเปล่งอุทานรำพึงรำพันขึ้นมาว่า "ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ"
คืนหนึ่ง ท่านตื่นขึ้นมากลางดึก เห็นเหล่าข้าทาสบริวาร กำลังนอนหลับ เสื้อผ้าหลุดลุ่ยดูไม่งามตา บางคนนอนกรน บ้างก็ละเมอ ภาพต่างๆเหล่านี้ปรากฏต่อสายตาของยสกุลบุตร ประดุจป่าช้าผีดิบที่น่าเกลียดน่าขยะแขยง เพราะสัญญาเก่าที่ท่านเคยสั่งสมอสุภกัมมัฏฐานมาหลายภพหลายชาติ ทำให้ได้อสุภสัญญา ภาพที่ข้าทาสบริวารนอนระเกะระกะ หัวไปทาง เท้าไปทาง เป็นภาพนำมาซึ่งความสลดสังเวช ทำให้ท่านเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมา เมื่อเบื่อหน่ายจิตจึงคลายจากความกำหนัดยินดี ท่านจึงตัดสินใจออกจากคฤหาสน์ที่ใหญ่โตมโหฬารนั้นทันที
ก่อนรุ่งอรุณ ยสกุลบุตรเดินไปพลางก็รำพึงรำพันไปพลางว่า "ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ" อยากจะไปแสวงหาสถานที่ที่ไม่วุ่นวาย แต่ก็ไม่รู้จะไปทางไหน จึงเดินไปเรื่อยๆเข้าไปในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พวกเทวดา รู้ว่าท่านเป็นผู้มีบุญ อยากได้บุญใหญ่กับท่านผู้กำลังแสวงหาทางหลุดพ้น จึงช่วยกันป้องกันอันตรายต่างๆ ให้ท่านเดินทางโดยปลอดภัยจนกว่าจะไปถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า
เช้าวันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทอดพระเนตรเห็นยสกุลบุตรเข้ามาในข่ายพระญาณ ทรงรู้ว่าวันนี้ผู้มีบุญจะมาหาพระองค์ จึงเสด็จจงกรมอยู่ในป่าเพื่อรอคอยการมาของท่าน ขณะนั้นเองยสกุลบุตรเดินตรงเข้าไปในบริเวณนั้น พร้อมกับเปล่งอุทานให้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ยินว่า...
"ท่านผู้เจริญ ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ"
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า "ดูก่อนยสะ ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มาเถิดยสะ เราจักแสดงธรรมแก่เธอ"
ทันทีที่ยสกุลบุตรได้ยินว่า ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง ท่านร่าเริงบันเทิงใจ เหมือนปลาในหนองน้ำที่แห้งขอด ดีดตัวขึ้นรับสายฝนที่ตกลงมาให้ความชุ่มฉ่ำ ท่านถอดรองเท้าทองพลางเข้าไปถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วนั่งฟังธรรมจากพระองค์ด้วยความเคารพนอบน้อมอย่างยิ่ง
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอนุปุพพิกถา คือ ตรัสถึงการให้ทาน ว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะเป็นการขจัดความตระหนี่ออกจากใจ จะได้เป็นบุญกุศลติดตัวข้ามภพข้ามชาติ เกิดมากี่ภพกี่ชาติจะได้ไม่ต้องลำบากในการทำมาหากิน จะได้สร้างบารมีได้อย่างสะดวกสบาย แล้วจึงตรัสเรื่องการรักษาศีล ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งมวลที่จะทำให้มีความสุข ความบริสุทธิ์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
จากนั้นทรงตรัสว่า เมื่อเราให้ทาน รักษาศีลเป็นประจำแล้ว จะเป็นเหตุให้ไปสวรรค์ ซึ่งถ้ามีบุญมากก็เลือกเกิดได้ว่าจะไปอยู่สวรรค์ชั้นไหน ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิตา นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตตี เป็นสุขที่ยิ่งกว่าความสุขในโลกมนุษย์นี้มากมายหลายเท่านัก
ถึงกระนั้น พระองค์ยังชี้ให้เห็นว่า เหล่าเทวดาที่เสวยทิพยสมบัติในสวรรค์ ก็ยังตกอยู่ในอำนาจของกิเลส คือเบญจกามคุณเช่นกัน ยังพัวพันด้วยรูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัสต่างๆ มีโลภะ-โทสะ-โมหะ บีบบังคับอยู่ เมื่อถึงคราวหมดบุญก็ต้องจุติไปเกิดเป็นอย่างอื่นตามกำลังบุญ
เพราะฉะนั้นที่สรรพสัตว์พ้นทุกข์ไปไม่ได้ ก็เพราะมัวยึดติดอยู่กับเบญจกามคุณ ซึ่งเป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้า ที่ทำให้สรรพสัตว์หลงใหลเพลิดเพลินและประมาทในการแสวงหาหนทางพระนิพพาน
เมื่อยสกุลบุตร ส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ท่านเกิดปัญญา เห็นแจ้งไปตามความเป็นจริง เกิดความเบื่อหน่ายในกามทั้งหลาย พระพุทธองค์ทรงรู้ว่า ยสะมีใจผ่องแผ้วดีแล้ว จึงทรงชี้หนทางที่จะออกจากเบญจกามคุณว่า "บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง เป็นวิธีการที่จะทำให้ใจสงบจากกามคุณทั้งหลาย" เมื่อใจหยุดนิ่งย่อมไม่มีสิ่งใดที่จะมาทำให้ใจหวั่นไหว ใจจะมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
จากนั้น พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า พื้นฐานของมนุษย์ทุกคนมีทุกข์ทั้งนั้น สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ คือ ความอยาก ไม่ว่าจะเป็นกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา การจะดับตัณหาความทะยานอยากเหล่านั้นได้ ใจต้องหยุด ที่เรียกว่า นิโรธ แปลว่า ดับ...ก็ได้ แปลว่า หยุด...ก็ได้ เมื่อหยุดใจได้ถูกส่วน มรรคมีองค์แปด ประกอบกันเข้ารวมกันเป็นดวงใส บังเกิดเป็นดวงสว่างไสว เรียกว่า ปฐมมรรค เกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่๗ เป็นต้นทางที่จะไปสู่อายตนนิพพาน
ท่านยสะดำเนินจิตเข้าสู่ภายในเรื่อยไป ท่านรู้เองเห็นเองว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลย่อมมีความดับเป็นธรรมดา ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ต่อมาเมื่อได้ฟังธรรมซ้ำอีกครั้ง ในที่สุดก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
จะเห็นได้ว่า นักปราชญ์บัณฑิตต่างมีความคิดที่จะออกจากทุกข์กันเช่นนี้ คือ คิดว่าทำอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์ เข้าถึงความสุขที่แท้จริง แล้วจึงหาทางออกจากโลกามิส ซึ่งเป็นเหยื่อล่อของพญามาร ที่มาล่อให้ยึดติดกับสิ่งที่ไม่เป็นสาระ จนทำให้ละเลยที่จะทำพระนิพพานให้แจ้ง ละเลยการสร้างบารมี หรือไม่ใส่ใจที่จะทำความดี ให้ทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนา เพราะคิดเพียงว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็มีความสุขแล้ว แต่ความเป็นจริงมันเป็นเพียงแค่ความเพลินเท่านั้น ยังสุขไม่จริง ยังเต็มไปด้วยทุกข์ เพราะตราบใดที่ใจยังไม่หยุด ยังไม่ได้ที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง ชีวิตย่อมไม่ปลอดภัย เราจึงประมาทไม่ได้
ดังนั้น อย่าปล่อยให้วันคืนผ่านไปโดยไร้ประโยชน์ ไม่มีสาระแก่นสาร อย่ามัวหลงใหลเพลิดเพลินกับกระแสโลก ซึ่งนับวันจะมีเครื่องล่อตาล่อใจเพิ่มมากขึ้น ทำให้ใจหลุดจากศูนย์กลางกาย เราจะต้องทำชีวิตให้มีคุณค่า เพราะชีวิตของเรามีความสำคัญต่อโลก เรายังมีภารกิจที่จะต้องทำอีกมากมาย
ภารกิจหลัก คือ การทำใจให้บริสุทธิ์ ให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งมวล จะได้ไปแนะนำสั่งสอนให้มวลมนุษยชาติทุกคนเข้าถึงธรรมกาย และเผยแผ่วิชชาธรรมกายไปทั่วโลก ให้ทุกๆคนตั้งใจปฏิบัติธรรม ทุกวัน อย่าได้เกียจคร้านในการทำภารกิจหลักของตนเองให้สมบูรณ์ หมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง จนกว่าจะเข้าถึงพระธรรมกายกันทุกคน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๕ หน้า ๕๒๔ – ๕๓๑
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
ยสกุลบุตร เล่ม ๖ หน้า ๖๒
โฆษณา