7 ธ.ค. 2021 เวลา 01:05 • การศึกษา
เป็นผู้ประเสริฐด้วยการปฏิบัติ
วันเวลาที่ผ่านไป ย่อมไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ เหมือนดั่งสายน้ำที่ไหลผ่านไปแล้วไม่หวนกลับ ชีวิตเราย่างก้าวไปพร้อมกับกาลเวลาที่ล่วงไป เราจะต้องใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ สร้างความดีสร้างบารมีให้เต็มที่ เพื่อทำสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดให้เกิดขึ้นกับตัวเราเองและผู้อื่น ด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรม เราควรมีความปรารถนาดีและความจริงใจ ต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคน อีกทั้งต้องหมั่นฝึกฝนอบรมตนด้วยการทำใจให้หยุดนิ่ง เพราะเวลาที่ใจหยุดนิ่งเป็นเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเรา เพื่อจะได้บรรลุเป้าหมายชีวิตอันสูงสุด คือ การไปสู่อายตนนิพพาน
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ว่า...
น ชจฺจา วสโล โหติ น ชจฺจา โหติ พฺราหฺมโณ
กมฺมุนา วสโล โหติ กมฺมุนา โหติ พฺราหฺมโณ
 
บุคคลเป็นคนเลว เพราะชาติกำเนิดก็หาไม่
เป็นผู้ประเสริฐ เพราะชาติกำเนิดก็หาไม่
แต่เป็นคนเลว เพราะการกระทำ
เป็นผู้ประเสริฐ ก็เพราะการกระทำ
ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นลูกของมหาเศรษฐี แต่เป็นผู้มีผิวดำ หมู่ญาติจึงตั้งชื่อว่า กัณหกุมาร ท่านเป็นเด็กฉลาด มีสติปัญญาเฉียบแหลม อายุได้เพียง ๑๖ปี ก็สามารถศึกษาศิลปวิทยาจนแตกฉาน เมื่อบิดามารดาเสียชีวิต ท่านได้ครอบครองทรัพย์สมบัติทั้งหมดซึ่งมีอยู่มากมาย แทนที่ท่านจะดีใจ กลับรู้สึกสลดสังเวชว่า “หมู่ญาติของเราอุตส่าห์หาทรัพย์มาด้วยความยากลำบาก แต่ต้องทิ้งไว้ให้ผู้อื่นใช้ ตายไปแล้วก็ไม่มีผู้ใดสามารถนำทรัพย์สมบัติติดตัวไปในปรโลกได้ แม้เพียงน้อยนิดก็ตาม”
ในความเป็นจริงแล้ว ทรัพย์สมบัติล้วนเป็นของกลางของโลก ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลใดจะใช้ให้เกิดประโยชน์แค่ไหน ทรัพย์เป็นเพียงเครื่องสนับสนุนการสร้างบารมี ไม่ใช่สาระแก่นสารของชีวิต เพราะทรัพย์อาจสูญหายหรือพลัดพรากจากเราไปด้วยภัยต่างๆทั้ง อัคคีภัย โจรภัย ราชภัย อุทกภัย และภัยจากบุคคลอันไม่เป็นที่รัก ผู้มีปัญญาจึงนำทรัพย์ออกด้วยการให้ทาน เพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูลทั้งต่อตนเองและผู้อื่นด้วย
แม้ร่างกายของเราก็ไม่เป็นสาระ เพราะเป็นรังของโรคมากมาย การประพฤติปฏิบัติธรรม และการฟังธรรมจากสมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นสิ่งที่มีสาระ การประกอบความเพียรพิจารณาความไม่เที่ยงของสังขาร ยกใจขึ้นสู่ไตรลักษณ์ เป็นสิ่งที่มีสาระ เพราะฉะนั้น ควรให้ทานเพื่อให้ได้สิ่งอันเป็นสาระจากสิ่งที่ไม่เป็นสาระ
กัณหกุมารจึงตัดสินใจบำเพ็ญมหาทานบารมี ด้วยการบริจาคทรัพย์สมบัติทั้งหมด โดยทำทานต่อเนื่องตลอด ๗วัน แต่สมบัติที่มีอยู่ก็ยังไม่พร่องไป ท่านเตือนตนเองว่า “ในขณะที่เรามัวให้ทานอยู่นี้ อายุสังขารได้เสื่อมถอยลงไปทุกขณะ เราควรสงวนเวลาอันน้อยนิดนี้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด” จากนั้นท่านได้ป่าวประกาศว่า "ผู้ใดปรารถนาจะได้สิ่งใด ขอให้มาขนเอาไปตามใจชอบ" แล้วท่านก็ทิ้งสมบัติทั้งหมดออกบวชทันที โดยไม่อาลัยอาวรณ์ในสมบัติทั้งหมด
กัณหกุมารเดินทางเข้าป่า บวชเป็นฤๅษีอยู่ในป่าหิมพานต์ ท่านอธิษฐานจิตบำเพ็ญพรต ด้วยการอยู่ป่าเป็นวัตร ไม่สร้างบรรณศาลาแต่อยู่กลางแจ้งเป็นวัตร ถือการไม่นอนเป็นวัตร บริโภคอาหารวันละ ๑มื้อเท่านั้น ไม่นานท่านก็ได้อภิญญาสมาบัติ มีความสุขอยู่ในฌาน ถึงคราวจะฉันอาหารก็ไม่ไปแสวงหาไกล หากต้นไม้มีผล ท่านก็ฉันผลไม้ มีดอกก็ฉันดอก หากเหลือแต่ใบก็ฉันใบ ท่านจึงเป็นผู้มักน้อยสันโดษอย่างยิ่ง ปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าตามลำพังเป็นเวลายาวนาน
ด้วยเดชแห่งศีลของท่าน ทำให้บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของพระอินทร์เกิดอาการร้อนขึ้นมา พระอินทร์ทรงรำพึงว่า "ใครหนอจะมาแทนที่เรา" ทรงทอดพระเนตรเห็นกัณหฤๅษีกำลังบำเพ็ญตบะอยู่กลางป่า พระองค์รู้ทันทีว่าพระฤๅษีนี้มีตบะแก่กล้า จึงประสงค์จะไปทดสอบว่า ฤๅษีบำเพ็ญตบะเพื่อประสงค์จะเป็นพระอินทร์ หรือปรารถนาสิ่งใด พระองค์ได้เสด็จจากเทวโลกมายังมนุษยโลก ทรงทดสอบพระฤๅษีด้วยการกล่าวโทษว่า "นักพรตรูปนี้มีกายดำ บริโภคโภชนะก็สีดำ แม้ที่อยู่ก็ยังสีดำ ไม่รู้ว่าใจจะดำด้วยหรือไม่ เราไม่ชอบใจคนดำเลย"
1
กัณหฤๅษีได้ฟังคำเช่นนั้น ตรวจญาณดูก็รู้ว่าเป็นพระอินทร์จึงตอบว่า "ผู้ประกอบด้วยตบะไม่ชื่อว่าเป็นคนดำ เพราะคนที่ใช้ชีวิตอย่างมีสาระแก่นสาร ประกอบด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เป็นคนสะอาดบริสุทธิ์ที่แท้จริง บุคคลใดทำกรรมชั่วช้า จึงจะเรียกว่าเป็นคนดำและมีใจมืดบอด เพราะทำบาปอกุศลไว้ ฉะนั้น บุคคลเช่นนั้น ไม่ว่าจะไปเกิดในตระกูลใด จะมีผิวพรรณเช่นใดก็ตาม ล้วนชื่อว่าเป็นคนดำทั้งนั้น"
ครั้นพระฤๅษีแสดงธรรมเช่นนี้แล้ว พระอินทร์ทรงมีพระทัยเบิกบาน เกิดความปีติโสมนัส จึงให้พระฤๅษีขอพรตามที่ต้องการ กัณหฤๅษีคิดว่า “เมื่อพระอินทร์มาถึงก็ทดสอบเราด้วยการดูหมิ่นว่าเป็นคนดำ ครั้นเราไม่โกรธ จึงทรงให้พรเรา พระองค์คงสำคัญว่า เราประพฤติพรหมจรรย์เพื่อปรารถนาจะเป็นจอมเทพในสวรรค์เป็นแน่ จึงคิดมาขัดขวางเรา”
พระฤๅษีประสงค์จะให้พระอินทร์หมดข้อสงสัย จึงทูลขอพร ๔ประการ คือ
๑.ขออย่าได้โกรธเคืองบุคคลอื่นไปจนตลอดชีวิต
๒.ขออย่าให้โทสะบังเกิดขึ้นในจิตใจแม้แต่น้อย
๓.ขอให้อย่าได้มีความโลภในทรัพย์สมบัติของผู้อื่น
และประการสุดท้าย ขออย่าให้เกิดความสิเน่หา คือ กำหนัดยินดีในเบญจกามคุณ
พระอินทร์ฟังคำขอพรดังกล่าว ยิ่งเกิดความสงสัยว่า "ทำไมพระฤๅษีจึงขอพรเช่นนี้ ท่านเห็นโทษในสิ่งเหล่านั้นอย่างไร"
พระฤๅษีจึงอธิบายว่า "คนมักโกรธเป็นผู้ไม่มีความอดทนในใจ ทำให้ไม่สามารถบังคับใจตนเองได้ ความโกรธจะเผาผลาญจิตใจของผู้โกรธ และเป็นเหตุให้ประทุษร้ายคนอื่น ความโกรธทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท มีความคับแค้นใจ เพราะฉะนั้น อาตมาจึงไม่ชอบใจความโกรธ
พระฤๅษีได้อธิบายพรข้อที่๒...ว่า "วาจาของผู้ที่ประกอบด้วยโทสะ เป็นวาจาหยาบคาย ไม่เป็นคำที่เป็นสาระ หาประโยชน์เกื้อกูลไม่ได้ ทำให้เกิดการลบหลู่ดูหมิ่นซึ่งกันและกัน จะส่งผลให้เกิดการรบราฆ่าฟันทำสงครามทำลายล้างกันในที่สุด ดังนั้นอาตมาจึงไม่ชอบโทสะ"
พรประการที่ ๓ พระฤๅษีอธิบายว่า "อาตมาไม่ชอบใจความโลภ เพราะความโลภก่อให้เกิดความเสียหายนานัปการ เป็นเหตุให้มีการปล้น การลักขโมย การปลอมแปลงเปลี่ยนของของคนอื่น ต้องหาอุบายล่อลวงเพื่อเอาทรัพย์สินของคนอื่นมาเป็นของตน บาปกรรมหลายอย่างล้วนมาจากความโลภเป็นเหตุ"
ส่วนพรข้อสุดท้ายนั้น พระฤๅษีอธิบายว่า "อาตมาไม่ชอบใจความกำหนัดยินดี ความสิเน่หาในเพศตรงข้าม เพราะกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย เมื่อถูกความสิเน่หาผูกมัดไว้ ทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นออกจากภพสามไปได้ เป็นเหตุให้ต้องเดือดร้อนเวียนวนอยู่ในวัฏสงสารไม่มีที่สิ้นสุด"
พระอินทร์ได้ฟังคำอธิบายเช่นนั้น ทรงหายสงสัยในการบำเพ็ญตบะของพระฤๅษี ด้วยตระหนักชัดแล้วว่า ท่านไม่ได้ปรารถนาตำแหน่งท้าวสักกะ หรือความเป็นพระราชา มหาเศรษฐี...เลย หากท่านมีความปรารถนาที่ยิ่งใหญ่ คือ ปรารถนา อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ อันประเสริฐ ซึ่งยากที่มนุษย์ธรรมดาจะกล้าคิดกล้าทำ พระองค์จึงทรงประทานพรทั้ง ๔ประการนั้น และยังบันดาลให้ต้นไม้ในป่ามีผลรสหวานอร่อย จากนั้นพระองค์เสด็จกลับเทวโลก
ดังนั้น ความประเสริฐของชีวิต จึงไม่ได้วัดกันที่รูปร่างหน้าตาเท่านั้น แต่วัดกันที่คุณธรรมภายใน ดูที่ความสูงส่งของจิตใจว่า จะเป็นผู้ประเสริฐหรือด้อยค่า ก็ขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติตน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชาติหรือวงศ์ตระกูล
ฉะนั้น ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานภาพใดก็ตาม ควรทำตัวให้มีคุณค่า ด้วยการสร้างบารมีอย่างต่อเนื่อง และให้หมั่นทำใจหยุดนิ่งเพื่อเข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ ไม่ว่าบุคคลจะมีเชื้อชาติ ภาษา หรือเผ่าพันธุ์ใดก็ตาม หากทำใจหยุดนิ่งเข้าถึงพระธรรมกายได้เมื่อไร บุคคลนั้นย่อมจะเป็นผู้สะอาดบริสุทธิ์เมื่อนั้น แม้แต่เทวดาก็ยังอนุโมทนา และให้ความเคารพยำเกรง ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจฝึกฝนอบรมจิตใจให้หยุดนิ่งตลอดเวลากันทุกคน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๕ หน้า ๕๓๒ – ๕๔๐
1
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
กัณหชาดก เล่ม ๕๙ หน้า ๗๗๓
โฆษณา