8 ธ.ค. 2021 เวลา 09:25 • การศึกษา
ประพฤติพรหมจรรย์
การดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้แสนสั้น ชีวิตหลังความตายนั้นยาวไกล เรามีชีวิตอยู่ไม่ถึง ๑๐๐ ปี ต่างต้องหลับตาลาโลกไป การเสวยสุขในสุคติสวรรค์ หรือเสวยผลกรรมในอบายภูมิ เป็นช่วงเวลาที่ยาวนานมาก ความตายเป็นเรื่องที่น่ากลัวของผู้ที่ยังไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจ ไม่ได้สั่งสมบุญไว้ แต่เป็นเรื่องปกติธรรมดาของผู้ไม่ประมาท ที่ได้สั่งสมบุญไว้ดีแล้ว เป็นเพียงการเปลี่ยนภพภูมิ เปลี่ยนที่อยู่ใหม่เท่านั้นเอง นอกจากนี้ ผู้ที่ไม่ประมาทยังจะต้องปฏิบัติธรรม เพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง จะได้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น ในการเดินทางไปสู่สัมปรายภพ เพราะพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งอันประเสริฐ ที่ปลอดภัยที่สุด ที่จะนำไปสู่สุคติอย่างแน่นอน
มีวาระพระบาลีใน มฆเทวัมพสูตร ว่า...
"บุคคลย่อมเข้าถึงความเป็นกษัตริย์ด้วยพรหมจรรย์ชั้นต่ำ ย่อมเข้าถึงความเป็นเทพด้วยพรหมจรรย์ชั้นกลาง ย่อมหมดจดจากอาสวกิเลสด้วยพรหมจรรย์ชั้นสูง"
การสร้างบารมีด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ เป็นหนทางที่นักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลาย ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน เพราะเป็นทางมาแห่งบารมีและความบริสุทธิ์ เป็นวิธีการที่จะชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ที่สุด และเป็นหนทางลัดสู่อายตนนิพพาน ผู้ได้ประพฤติพรหมจรรย์ ถือได้ว่าประพฤติวัตรอันประเสริฐเช่นเดียวกับพระอริยเจ้าทั้งหลาย เป็นการบำเพ็ญตบะเพื่อป้องกันไม่ให้กิเลสฟูขึ้นมาอีก
การที่เรารู้สึกว่ามีความสุขความสบายนั้น อันที่จริงแล้ว เรายังมีความทุกข์ระคนอยู่ เช่น มีลูกมีครอบครัวคิดว่าน่าจะมีความสุข พอมีจริงๆเข้าก็มีแต่เรื่องกลุ้มใจให้ปวดหัวอยู่ทุกวัน ฤดูร้อนก็หงุดหงิด คิดว่าฤดูฝนจะสุขสบาย เมื่อถึงฤดูฝนน้ำท่วมอีกแล้ว เป็นทุกข์อีก หวังว่าฤดูหนาวจะสบาย สรุปคือ ไม่รู้ว่าสุขที่แท้จริงอยู่ที่ไหน เพราะจะฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว ก็ไม่เป็นสุขทั้งนั้น ผู้รู้เปรียบความสุขทางโลกว่า เหมือนพยับแดดในหน้าร้อน เวลาเรามองไปบนถนนไกลๆ จะเห็นพยับแดดระยิบระยับ ครั้นเข้าไปใกล้ๆกลับมีแต่ความว่างเปล่า
สุขทางโลกที่เป็นสุขจริงๆนั้นไม่มี ผู้รู้ทั้งหลายจึงได้ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อมุ่งหาสุขที่แท้จริง จนกระทั่งถึงเอกันตบรมสุข โดยการตั้งใจรักษาศีล ๘ ศีล ๑๐ หรือศีล ๒๒๗ และหมั่นปฏิบัติตามหลัก ศีล สมาธิ ปัญญา อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ดำเนินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ออกประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ว่าจะเป็นช่วงสั้นหรือช่วงยาว ก็ต้องหาโอกาสเอง บางท่านตัดเครื่องกังวลใจได้ ก็ประพฤติพรหมจรรย์ไปตลอดชีวิต มีความตั้งใจประพฤติธรรมกันจริงๆ อานิสงส์ย่อมเกิดขึ้นมากมาย
ดังเช่นในสมัยหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานะเที่ยวจาริกไปในเทวโลก ท่านได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เห็นเทพบุตรองค์หนึ่งมีรัศมีกายสว่างไสวเป็นพิเศษ จึงถามว่า "การที่ท่านเทพบุตรแวดล้อมไปด้วยเทพอัปสร มีวิมานที่สว่างไสวเป็นที่ระงับความกระวนกระวายและความโศก บันเทิงอยู่ดุจท้าวสุนิมมิตเทวราช ที่ไม่มีใครเสมอเหมือน หมู่ทวยเทพชั้นไตรทศทั้งหมดชุมนุมกันแล้วไหว้ท่าน ดุจเทพเจ้าที่มนุษย์ทั้งหลายกราบไหว้ และเทพอัปสรเหล่านี้ต่างฟ้อนรำขับร้องทำความบันเทิงใจอยู่รอบๆท่าน ท่านเป็นผู้บรรลุเทวฤทธิ์ มีอานุภาพมาก ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ ท่านได้ทำบุญอะไรไว้ เพราะบุญกรรมอะไร ท่านจึงเป็นผู้มีอานุภาพรุ่งเรืองเช่นนี้"
เทพบุตรได้เล่าบุพกรรมของตนให้พระเถระฟังว่า "ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ นับถอยหลังจากนี้ไป ๓๐,๐๐๐ กัป เมื่อก่อนข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระสุเมธพุทธเจ้า ข้าพเจ้าเคยบวชประพฤติพรหมจรรย์อยู่ ๗พรรษา พยายามรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ และเจริญสมาธิทำความเพียรไม่เคยขาด แต่ยังเป็นเพียงสมมติสงฆ์ เมื่อครบ ๗ พรรษาแล้ว กิเลสในตัวฟุ้งขึ้น ทำให้จิตใจหวั่นไหว ไม่ยินดีที่จะประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป และเนื่องจากขาดกัลยาณมิตร จึงได้ลาสิกขาไป
เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ข้าพเจ้าได้ไหว้รัตนเจดีย์ที่คลุมด้วยข่ายทอง ทำจิตให้เลื่อมใสในพระเจดีย์ ข้าพเจ้ามิได้ให้ทาน เพราะไม่มีวัตถุทานที่จะให้ แต่ข้าพเจ้าได้ชักชวนคนอื่นๆว่า "ท่านทั้งหลายจงบูชาพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าเถิด เพราะการได้บูชาพระพุทธเจ้า จะเป็นเหตุให้ได้ไปสวรรค์" ข้าพเจ้าชักชวนคนทำความดีอยู่อย่างนี้จนตลอดชีวิต ด้วยกุศลผลบุญนั้น จึงได้เสวยสุขอันเป็นทิพย์ และบันเทิงอยู่ในท่ามกลางหมู่เทพชั้นไตรทศ
ด้วยอานิสงส์ที่ข้าพเจ้าตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ แม้เป็นช่วงสั้นๆเพียง ๗ ปี ทำให้ข้าพเจ้าเป็นเทพบุตรผู้มีศักดิ์ใหญ่ มีอานุภาพมาก เป็นผู้ที่เทวดาทั้งหลายมีท้าวสักกะ เป็นต้น สักการบูชา ดำรงอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์จนหมดอายุขัย ครั้นจุติจากดาวดึงส์ก็ท่องเที่ยวไปๆมาๆ อยู่ในระหว่างเทวโลกและมนุษยโลก แม้ในยุคสมัยพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน บุญนั้นก็ยังตามส่งผลให้ข้าพเจ้าได้บังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อีก เหล่าทวยเทพทั้งหลายต่างรู้จักข้าพเจ้าว่า อเนกวรรณเทพบุตร คือ เทพบุตรผู้มีวรรณะเกินกว่าจะบรรยาย"
จะเห็นได้ว่า เพียงตัดสินใจออกบวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์แค่ไม่กี่ปี ยังเป็นเหตุให้ท่านได้ทิพยสมบัติมากมาย และได้ครอบครองยาวนานถึงเพียงนี้ การประพฤติพรหมจรรย์ คือ การประพฤติอันประเสริฐ ไม่ใช่ต้องออกบวชเพียงอย่างเดียวเท่านั้น พรหมจรรย์มีอยู่หลายระดับด้วยกัน แล้วแต่ใครจะสะดวกประพฤติพรหมจรรย์ในระดับไหน ตั้งแต่พรหมจรรย์ขั้นต้นสำหรับผู้ครองเรือน ก็ให้พอใจเฉพาะคู่ครองของตนเท่านั้น ไม่ให้นอกใจภรรยาหรือสามี มีศีล ๕ เป็นปกติ
พรหมจรรย์ชั้นกลางสำหรับผู้ครองเรือน คือ นอกจากรักษาศีล ๕ ก็ให้รักษาศีล ๘ เป็นคราวๆไป เช่น ในวันพระขึ้น ๗ ค่ำ ๘ ค่ำ หรือ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และฝึกให้มีพรหมวิหารธรรม คือ รักษาใจให้เป็นผู้ประกอบด้วยความเมตตา กรุณา มุทิตาและอุเบกขา ละโลกไปแล้วก็จะเป็นเหตุให้ได้ไปบังเกิดในสุคติภูมิ
พรหมจรรย์ชั้นสูง ท่านกำหนดไว้เพื่อผู้ไม่ปรารถนาจะครองเรือน ถ้าเป็นฆราวาสให้รักษาศีลอย่างน้อยศีล ๘ ตลอดชีวิต หรือถ้าเป็นชายก็ออกบวชเป็นพระภิกษุ และตั้งใจปฏิบัติธรรมทำพระนิพพานให้แจ้ง
พรหมจรรย์ทุกชั้นจะตั้งมั่นอยู่ได้ ต้องอาศัยการฝึกสมาธิเป็นหลัก เพราะจะทำให้ใจของเรามั่นคง ไม่หวั่นไหวไปกับกระแสกิเลสที่ผ่านเข้ามาในใจ และหมั่นฝึกฝนตนเองให้บารมีทุกอย่างเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ เมื่อไรที่รู้สึกว่ากำลังใจตก ให้นึกถึงมโนปณิธานที่ตั้งไว้ แล้วมุ่งทำความปรารถนาของตนให้สำเร็จ
ในเรื่องการออกบวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์นั้น หลวงพ่ออยากเชิญชวนเยาวชนอายุระหว่าง ๑๒-๒๐ ปี มาบรรพชาเป็นสามเณรสักช่วงหนึ่ง เพราะวัยนี้ภาระยังน้อย หรือควรหาเวลาที่เหมาะสมบวชเป็นพระเมื่ออายุ ๒๐-๒๕ ปี หรือหลังจากที่จบการศึกษาแล้ว เพราะถ้าจะรอให้บวชเมื่อแก่ สังขารจะไม่อำนวย จะนั่งทำภาวนาก็ไม่สะดวก ทำกิจกรรมก็ลำบาก ควรจะบวชเมื่อยังหนุ่มนี่แหละ ระยะเวลาที่บวชอย่าให้น้อยกว่า ๑ เดือน จะได้มีเวลาศึกษาพระธรรมวินัยพอสมควร ส่วนท่านใดตัดสินใจจะมาบวชตลอดชีวิตก็ยิ่งดี
อานิสงส์การออกบวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ จะทำให้เราปลอดโปร่งใจ ไม่ต้องกังวลในเรื่องการทำมาหากิน ทำให้ชีวิตเป็นอิสระเหมือนนกในอากาศ มีเวลาในการสร้างบารมีได้เต็มที่ หลวงพ่ออยากจะให้มาเอาบุญใหญ่ในการบำเพ็ญเนกขัมมบารมี ประพฤติพรหมจรรย์ระยะสั้น หรือบวชตลอดชีวิตก็ยิ่งดี บุญใหญ่นี้จะได้ติดตัวเราไปทุกภพทุกชาติ ตราบกระทั่งเข้าสู่นิพพานกันทุกคน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖ หน้า ๑๒ – ๑๗
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
อเนกวัณณวิมาน เล่ม ๔๘ หน้า ๖๑๙
โฆษณา