21 ต.ค. 2021 เวลา 03:56 • ปรัชญา
การพัฒนาตนเอง
คิดบวกและมองโลกในแง่ดี ส่งต่อความคิดในแง่ดีให้คนอื่นๆ
สมองมนุษย์มีความเอนเอียงที่จะคิดบวก ทำให้เรามองและก้าวไปข้างหน้าได้ ถึงแม้จะรู้ว่าชีวิตนี้มีจุดจบ สุดท้ายทุกคนก็ต้องตายจากกันไป ถึงแม้รู้ว่าจะต้องตายสักวัน แต่เราก็ยังมองไปข้างหน้า คิดบวกและวางแผนไว้สำหรับอนาคต ความสามารถที่จะมองไปยังอนาคตและมองย้อนกลับไปยังอดีต เป็นความสามารถพิเศษของเราทุกคน เป็นสิ่งที่ช่วยให้เรามองเห็นวิถีทางในการดำเนินชีวิต ช่วยให้ผ่านพ้นอุปสรรคและมองโลกในแง่บวก
ไม่ว่าใครก็ต้องเคยทำผิดพลาดบ้าง ความผิดพลาดส่งผลกระทบกับเราไม่เหมือนกัน สำหรับคนที่ไม่ท้อแท้ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ  มักจะมองความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ว่าเป็นเหตุการณ์ชั่วคราว แต่สำหรับคนที่ท้อแท้ยอมแพ้ง่ายๆ จะคิดตรงกันข้าม จะมองว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้น มันจะติดตัวเราไปอีกนาน ไม่สามารถแยกความผิดพลาดออกจากคนทำผิดพลาดได้ คิดว่าตัวเองนั่นแหล่ะคือความผิดพลาด จนทำให้หมดกำลังใจ และอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้
การที่เราให้ความสนใจกับเรื่องร้ายๆ ช่วยให้เราระวังตัวและป้องกันภัย ทำให้เราเอาตัวรอดจากสถานการณ์เลวร้ายได้ ถ้ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นแล้วไม่มีใครเตือน ถ้าเราพลาดข่าวสารมันก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่เรื่องดีๆ ถ้าเราไม่รู้ มันก็ไม่ได้ส่งผลกระทบกับเราถึงชีวิต
สมองเราให้ความสำคัญกับความอยู่รอดเป็นอันดับแรก ในสมองจะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับความกลัว มากกว่าส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้รางวัล และสมองก็สนใจเรื่องร้ายมากกว่าเรื่องดี
มนุษย์ยุคแรกๆ ต่างก็ต้องเผชิญกับภัยอันตราย สัตว์นักล่า หรือสภาพแวดล้อม สภาพอากาศ แต่ในปัจจุบัน สภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น เราไม่จำเป็นต้องคอยหลบภัย ไม่ต้องเจอปัญหา ถึงแม้ว่าบางคนยังต้องเจอกับปัญหาที่ทำให้ต้องคิดในแง่ร้าย ทำให้ติดนิสัย กลายเป็นคนขี้บ่น แต่ก็ไม่ใช่ว่าเค้าเป็นคนไม่ดี แต่คนเหล่านี้ต้องรู้จักเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลง รื้อสมอง ตบแต่งสมองใหม่
ในโลกที่เต็มไปด้วยข่าวร้าย เราก็ไม่จำเป็นต้องรับรู้มันทุกเรื่อง ไม่จำเป็นต้องจมไปกับความทุกข์ของคนอื่นๆ การที่เราเลือกสนใจเฉพาะสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต จะช่วยให้ปรับปรุงคุณภาพงาน คุณภาพชีวิต ทำให้มีสุขภาพที่ดี อารมณ์ดี
สมองเราเปลี่ยนแปลงได้ตลอด
เราอาจจะยังยึดติดและคิดว่าพัฒนาการสมองจะเกิดขึ้นเฉพาะตอนเด็ก แต่ความจริงคือเรายังสามารถพัฒนาสมองได้เรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะโตเป็นผู้ใหญ่ สมองก็ยังเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้เราเรียนรู้และเชี่ยวชาญทักษะใหม่ๆ ได้ เช่น ถึงแม้ว่าเราจะเคยเป็นคนคิดและมองโลกในแง่ร้าย แต่เราก็ยังสามารถเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลง คิดและมองโลกในแง่ดีได้ โดยใช้วิธีฝึกฝนการมีสติ ทำให้เราหลุดออกจากวังวนของการคิดเรื่องร้ายๆ ฝึกฝนจนชิน ทำบ่อยๆ จนเกิดเป็นนิสัย และกลายเป็นคนคิดในแง่ดี
การเปลี่ยนแปลงคือสัญญาณอันตราย
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น สมองจะตอบสนองและทำให้เรามองว่ามันคือปัญหาหรืออุปสรรค ทำให้เราคิดในแง่ร้าย เพราะสิ่งที่เปลี่ยนแปลงมันมักจะทำให้เราต้องตอบสนองต่อสิ่งนั้นต่างจากเดิม ทำให้เราหยุดใช้ระบบการตอบสนองแบบอัตโนมัติ ทำให้สมองต้องคิดและต้องใช้พลังงานมากขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่มันมักจะทำให้เกิดความยากลำบาก ทำให้เกิดความเสี่ยง
เราอาจจะต้องฝึกและควบคุมตนเองเพื่อที่จะมองการเปลี่ยนแปลงด้วยทัศนคติเชิงบวก สมองที่เราได้รับมาไม่เหมือนกัน สภาพแวดล้อมที่เราโตมาแตกต่างกัน ทำให้แต่ละคนมีระดับความสามารถในการมองโลกในแง่ดีได้ต่างกัน แต่เราก็สามารถฝึกสมอง และตีกรอบวิธีคิดวิธีมองปัญหา ตบแต่งสมองให้หันไปมองโลกในแง่ดีได้
ความถนัดของแต่ละคน
สมองเริ่มมีการปรับเปลี่ยนตั้งแต่ตอนเด็กๆ สมองส่วนที่เราใช้งานน้อยๆ นิวรอนที่ไม่ถูกใช้งานบ่อยมันก็จะกระจัดกระจาย และค่อยๆ หายไป แต่ส่วนที่ใช้งานบ่อยๆ มันจะติดต่อกัน ยึดแน่นและอยู่กับเราไปจนโต ทำให้เกิดความถนัดในทักษะด้านต่างๆ
จนเมื่อเราโตเป็นผู้ใหญ่ ความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนของสมองก็ลดน้อยลง แต่ละคนถนัดในบางเรื่องและสูญเสียความคิดยืดหยุ่นแบบเด็กๆ ไป แต่สมองเราเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และเราก็ยังสามารถสร้างการเชื่อมต่อของนิวรอนและเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้
เราจะตั้งใจทำงานเมื่อได้ทำสิ่งที่เราชอบและทำได้ดี ดังนั้นการค้นหาว่าเราถนัดเรื่องอะไรจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันจะทำให้เพิ่มคุณค่าของเรา สำหรับบางคน จะเห็นได้ชัดว่าเค้าถนัดเรื่องอะไร แต่ก็มีบางคนที่มองยาก ต้องพยายามค้นหาความถนัดของตัวเองที่ซ่อนอยู่ เครื่องมือที่ช่วยให้เราค้นพบความถนัดเช่น แบบประเมิน StrengthsFinder อาจช่วยให้เราค้นพบความสามารถพิเศษที่ไม่เคยรู้มาก่อน ความสามารถที่จะทำให้เราเพิ่มคุณค่า ทำให้เราตั้งใจทำงานมากขึ้น เกิดความพึงพอใจมากขึ้น มีความสุขมากขึ้น
Flow ในการทำงาน
ตอนที่เราทำงานด้วยความสนุกและยุ่งอยู่กับมัน นั่นแหล่ะที่เรียกว่า Flow เราทำงานจนลืมเวลาที่ผ่านไป เราทำงานโดยมีจุดมุ่งหมาย บางคนมีความภูมิใจที่ทำงานได้ดี มีความสุขที่งานออกมาดี หรือมันเป็นงานที่ทำเพื่อสังคม งานที่มันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น อาจจะเป็นงานในบริษัทที่มีส่วนช่วยลดโลกร้อน บริษัทที่มีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ บริษัทที่มุ่งมั่นลดปริมาณขยะ บริษัทที่นึกถึงส่วนรวมและมีวิธีกำจัดของเสียก่อนปล่อยออกสู่ภายนอก
ความเสี่ยงของการเชื่อใจ
เราต่างก็ต้องการทำงานกับคนที่เชื่อใจได้ บริษัทที่เราไว้วางใจได้ แต่ความเชื่อใจเป็นสิ่งละเอียดอ่อน เมื่อเราวางใจในมือของคนอื่น มันจะมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นที่คนนั้นจะทำให้เราผิดหวัง เสี่ยงที่จะทำให้ความสัมพันธ์พังทลายลง ความเชื่อใจการไว้วางใจมีความเสี่ยง แต่มันก็ทำให้เกิดผลประโยชน์ในระยะยาว
เมื่อเรามีความเชื่อใจ สมองจะหลั่งสารสื่อประสาท หรือสารสื่อความสุขออกซิโทซิน เมื่อเราเชื่อใจและไม่ผิดหวัง เราก็จะยิ่งมีความสุขมากขึ้น สมองก็ยิ่งผูกพันทำให้เราเชื่อใจมากยิ่งขึ้น ความเชื่อใจจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรารู้ความเสี่ยงและเริ่มต้นไว้วางใจคนอื่น
คิดให้ดีก่อนที่จะเสี่ยงไว้วางใจใคร แต่เมื่อตัดสินให้ใจไปแล้วก็ขอให้เชื่อมั่นและอย่ากังวลอีก
คิดบวกและมองโลกในแง่ดี
คนที่มองโลกในแง่ร้ายมักจะเชื่อว่าเรื่องร้ายๆ มันจะเกิดขึ้นตลอดเวลา และมันจะเป็นแบบนี้เสมอ คนที่มองแง่ร้ายจะพูดว่า “เค้าไม่เคยคุยกับเราเลย” ตรงข้ามกับคนที่มองโลกในแง่ดี ที่จะพูดว่า “หลังๆ เค้าไม่คุยกับเราเลย” คนที่มองโลกในแง่ดีสามารถแยกแยะได้ และมักจะมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่ามันเกิดขึ้นแค่ชั่วคราว
คนที่มองโลกในแง่ดีมักจะเชื่อว่าเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้น มันจะเกิดขึ้นตลอดเวลา และเชื่อว่าเรื่องร้ายๆ มันเกิดขึ้นแค่ชั่วคราว ถ้าถูกหวย คนที่มองแง่ดีจะพูดว่า “เราเป็นคนโชคดี” ในขณะที่คนทั่วไปอาจจะพูดว่า “วันนี้เราโชคดี”
โทษตัวเองหรือโทษคนอื่น
การโทษตัวเองจะนำไปสู่การสูญเสียความมั่นใจ คนที่มองโลกในแง่ดี จะมองว่าเรื่องดีๆ มันเกิดจากปัจจัยภายใน คิดว่าความสำเร็จเกิดจากตัวเราเอง และมองเรื่องร้ายหรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้น มันเกิดจากปัจจัยภายนอก หรือเกิดจากคนอื่น
คนที่มองโลกในแง่ร้าย จะมองว่าเรื่องร้ายๆ มันเกิดจากปัจจัยภายใน คิดว่าตนเองเป็นสาเหตุของความผิดพลาด และมองเรื่องดีเป็นสิ่งที่คนอื่นๆ ทำให้เกิดขึ้น
ความคาดหวัง
ถ้าก่อนที่เราจะทำผิด มีคนชมว่าเป็นคนฉลาด สมองจะเพิ่มระดับการตอบสนองต่อความผิดพลาดนั้น ทำให้เราคิดมาก แต่ถ้ามีคนบอกว่าเราโง่ ก่อนที่เราจะทำผิดพลาด ระดับการตอบสนองจะไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเราคาดหวังไว้อยู่แล้วว่าผลจะออกมาไม่ดี ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ
ถ้าเราคาดหวังว่าเจ้านายจะเลื่อนตำแหน่งงานให้ แต่สรุปว่าไม่ใช่ สมองเราก็จะพยายามหาสาเหตุว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าเราไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เลื่อนตำแหน่ง และเมื่อรู้ผลว่าไม่ได้ เราก็จะไม่แปลกใจ และกิจกรรมที่เกิดขึ้นในสมองก็จะไม่เพิ่มขึ้น เราจะไม่คิดมาก
หลีกเลี่ยงความทุกข์
เวลามีความสุข เราก็อยากจะให้มันค่อยๆ เพิ่มขึ้น มีความสุขนานๆ กลับกันเวลามีทุกข์ เราอยากจะโดนหนักๆ แค่ครั้งเดียว แล้วหวังให้ความรู้สึกนั้นหายไปอย่างรวดเร็ว เราต่างก็อยากหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คนที่รู้ตัวว่าอาจจะต้องตกงาน มักจะกังวลเครียดและสุขภาพแย่ลง แต่เมื่อมันเกิดขึ้นจริงๆ ก็จะพยายามหางานใหม่ ไม่กลัว ไม่ท้อแท้ ไม่สิ้นหวัง และกลับมาเข้มแข็งมีสุขภาพดีได้อีกครั้ง
ยิ่งเรามีรายได้เพิ่มมากขึ้น เราก็จะใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน กลับกันถ้าเป็นช่วงยากลำบาก ช่วงตกงาน มันจะทำให้เราพยายามลดค่าใช้จ่าย อดออม และเชื่อมั่นว่าอีกไม่นานสถานการณ์มันจะดีขึ้น ทำให้เราหาหนทางที่จะเพิ่มรายได้
ประโยชน์ของการให้รางวัลและชื่นชม
หลายครั้งที่เรามุ่งมั่นที่จะทำงานให้มีประสิทธิภาพ พยายามลดความผิดพลาด พยายามแก้ไขความผิดพลาด พยายามปรับปรุงให้ดีขึ้น ทำให้เรามองเห็นและพูดถึงแต่เรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้น ย้ำเตือน ตอกย้ำจนทำให้เราหมดกำลังใจได้
แทนที่จะมุ่งมั่นและสนใจปรับปรุงการทำงาน เราควรหันมาใส่ใจเรื่องการชื่นชม การยกย่องคนในทีม พูดถึงความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ
การให้รางวัลและชื่นชมพนักงาน มีส่วนช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในที่ทำงานได้ ผลการวิเคราะห์ของ Gallup จากการสำรวจพนักงานทั่วโลกมากกว่า 4 ล้านคน (ในธุรกิจมากกว่า 30 ประเภท และมากกว่า 1 หมื่นหน่วยงาน) พบว่า
-ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของแต่ละคน
-ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมและทำงานร่วมกันของพนักงาน
-ช่วยให้พนักงานอยู่กับบริษัทนานๆ
-ช่วยให้ลูกค้าติดและเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า
-ช่วยให้เกิดความปลอดภัย ช่วยลดอุบัติเหตุในระหว่างการทำงาน
-ใช้ความเครียดให้เป็นประโยชน์
เรามักจะมองความเครียดเป็นเรื่องไม่ดี มองโลกในแง่ร้าย เป็นสิ่งที่เราพยายายามหลีกเลี่ยงหรือลดความเครียดให้น้อยลง เราสามารถมองความเครียดในแง่บวกได้ เราสามารถฝึกและเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อความเครียด แล้วใช้มันให้เกิดประโยชน์ กระตุ้นทำให้เราทำงานได้สำเร็จ
ในบทความ ถ้าเราเชื่อว่าความเครียดเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อร่างกาย มันก็จะเป็นผลร้ายต่อเรา งานวิจัยพบว่า ความเครียดมันจะส่งผลร้ายกับเราได้เฉพาะกรณีที่เราเชื่ออย่างนั้น ดังนั้นเราควรเปลี่ยนมุมมองต่อความเครียดใหม่ มองว่าความเครียดมันเป็นเรื่องดี เราต้องเชื่อว่าร่างกายเราถูกสร้างและวิวัฒนาการเพื่อให้รองรับสถานการณ์ที่กดดัน ทำให้เราเข้าสังคม เข้าหาคนอื่นเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ในบทความ จัดการความเครียดที่เกิดขึ้น จากความต้องการที่มีมากกว่าความสามารถในการรองรับ เราไม่มองความเครียดว่ามันดีหรือไม่ดี ความเครียดคือสิ่งที่เกิดขึ้น จากความต้องการที่มีมากกว่าความสามารถในการรองรับ ความเครียดเป็นสัญญาณให้เราปรับเปลี่ยนเพื่อทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
ใช้ความเครียดเป็นพลัง อย่าปล่อยให้ความเครียดสะสมย้อนกลับมาทำร้ายเรา เราต้องรู้จักใช้มันให้เกิดประโยชน์ ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น กำจัดฮอร์โมนส์ความเครียดออกไปจากร่างกาย เพราะถ้าเราไม่จัดการกับมัน มันก็จะยังอยู่ในร่างกาย และถ้าปล่อยมันไว้ในร่างกายเรา มันก็จะย้อนกลับมาทำร้ายเรา
ตราบใดที่เรายังเชื่อว่าเรายังหาทางออกได้ หาทางแก้ไขได้ เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้ ก็จะทำให้เรามีพลัง ทำให้เราเปลี่ยนความเครียดให้เป็นพลังได้  ให้ทำเราขยับ ปรับตัวและเปลี่ยนแปลง
ความเครียดเป็นตัวบอกให้เราลดความต้องการลง หรือเพิ่มความสามารถในการรองรับของเราให้มากขึ้น เพื่อทำให้ทุกอย่างกลับมาอยู่ในภาวะปกติ ช่วยให้เราสามารถควบคุมสถานการณ์ได้
อยู่กับคนมองโลกในแง่ร้าย
ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นกับหลายคนคือการที่ต้องทำงาน ต้องอยู่กับคนที่มองโลกในแง่ร้าย คนที่เอาแต่ใจเชื่อว่าตัวเองจะรู้สึกและแสดงออกมายังไงก็ได้ คนที่มักจะโทษคนอื่นๆ จนทำให้เพื่อนร่วมงานเสียสุขภาพจิต ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวม นอกจากนั้นยังเป็นเหตุผลของการลาออกด้วย
พลังงานด้านลบแผ่ขยายออกไป ลุกลามได้เร็วเหมือนไฟ ทำลายความรู้สึกของผู้คน เป็นตัวการทำให้เกิดความกังวล เป็นทางลัดที่นำเราไปสู่ความห่างเหิน
บันไดสู่การมองโลกในแง่ดี
สภาพแวดล้อมมีผลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจของเรา เพราะการควบคุมตนเองอาจไม่มีประสิทธิภาพดีพอ ถึงแม้ว่าเราตั้งใจจะไม่คิดในแง่ร้าย ถึงแม้ว่าเราพยายามใช้เหตุผล แต่ถ้าสถานการณ์ที่ทำให้เราเกิดความกังวล เครียด ตอนนั้นเราก็ปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล เชื่อมโยงประสบการณ์ร้ายๆ ในอดีต ทำให้มีผลต่อการตัดสินใจ และมองโลกในแง่ร้ายได้
สภาพแวดล้อมส่งผลต่อความคิดของเรา พยายามอยู่ให้ห่างจากคนมองโลกในแง่ร้าย อยู่ให้ห่างจากความคิดหรือเหตุการณ์ร้ายๆ หยุดเสพข่าวร้าย
แต่ถึงเราจะพยายามแค่ไหน ยังไงเราก็หลีกเลี่ยงการมองโลกในแง่ร้ายไม่ได้ สมองของเราหรือของคนอื่นๆ ต่างก็ต้องการอยู่รอด เราจะเลิกและทิ้งการมองโลกในแง่ร้ายไปไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือ ไม่ยอมให้มันกลืนกินเรา ไม่ยอมให้มันส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม และไม่ยอมให้คนคิดแง่ร้ายขัดขวางเราจากการส่งต่อความคิดในแง่ดีให้คนอื่นๆ
โฆษณา