21 ต.ค. 2021 เวลา 08:45 • สิ่งแวดล้อม
ป่าต้นน้ำ มีความสำคัญอย่างไร ?
จากการที่ประเทศไทยประสบปัญหา ป่าไม้ถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการใช้ป่าเป็นปัจจัยสำคัญในเชิงพาณิชย์ ด้วยการกระทำเช่นนี้ จึงก่อให้เกิดภาวะแห้งแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำก็ท่วมฉับพลัน อีกทั้งยังมีการพังทลายของดินอย่างรุนแรง เพราะไม่มีต้นไม้คอยดูดซับ ไม่มีรากคอยยึดเกาะ จนก่อเกิดปัญหาทางการเกษตร ทำให้หน่วยงานต่างๆตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องป่าไม้ ทำให้จัดตั้งโครงการช่วยเหลือป่าขึ้นมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ โครงการ ‘ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ’
ป่าต้นน้ำ คือ คำเรียกป่าที่มีความเป็นธรรมชาติ ซึ่งปรากฏอยู่บริเวณต้นน้ำลำธาร ตามปกติทั่วไปแล้ว จะอยู่ในพื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 700 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ลาดชันมากกว่า 35% ขึ้นไป ประเภทของป่าที่มักมีในพื้นที่ต้นน้ำ ก็คือ ป่าดิบเขา , ป่าดิบชื้น , ป่าดิบแล้ง , ป่าเบญจพรรณ รวมทั้งป่าเต็งรัง โดยพื้นที่ป่าต้นน้ำ สามารถถูกปกคลุมได้ด้วยป่าไม้เพียงชนิดเดียว หรือหลายชนิดก็ได้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อุณหภูมิ , ปริมาณน้ำฝน , ลักษณะภูมิประเทศ , ชนิดของดิน เป็นต้น จึงทำให้ระบบนิเวศของป่าต้นน้ำ มีความหลากหลายไปตามแต่ล่ะชนิด หากแต่มีสิ่งหนึ่งเหมือนกัน คือ ‘คุณค่า’ อันทำหน้าที่ดูดซับและเก็บกักน้ำฝนตามธรรมชาติ รวมทั้งควบคุมการพังทลายของดิน , ช่วยบรรเทาความร้อนจากแสงอาทิตย์ รวมทั้งช่วยดูด CO₂ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น
โดยปกติแล้วธรรมชาติการดำรงอยู่ของดิน น้ำ และป่าไม้ จะเป็นไปในลักษณะที่สมดุลและเกื้อกูลกันตลอด หากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งจะถูกทำลายลงไปในจำนวนที่ไม่มากนัก ปัจจัยที่เหลืออยู่จะช่วยกันฟื้นฟูปัจจัยที่ถูกทำลาย ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมอย่างรวดเร็ว อาทิ เมื่อต้นไม้ถูกลมพายุพัดล้มลงไปหนึ่งต้น ดินที่สมบูรณ์และน้ำที่ชุ่มชื้นจะช่วยให้ต้นไม้ที่อยู่ข้างเคียง เจริญเติบโตขึ้นมาแทนที่อย่างรวดเร็ว
ในทางตรงกันข้าม หากป่าไม้ถูกทำลายลงไปเป็นบริเวณกว้างอย่างต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลายาวนาน จะส่งผลให้ปัจจัยอื่นๆ ที่เหลืออยู่เสื่อมสภาพลงตามไปด้วย
กล่าวคือ การทำลายป่าไม้ เป็นการเปิดโล่งของผิวดิน ทำให้ผิวดินถูกอัดแน่นขึ้น ความสามารถในการดูดซับน้ำฝนจึงมีน้อยลง เมื่อดินดูดซับน้ำฝนได้น้อย น้ำฝนที่ตกลงมาส่วนใหญ่จึงเอ่อนองตามผิวดิน และไหลลงสู่ที่ต่ำอย่างรวดเร็ว ซึ่งการไหลอย่างรวดเร็วที่ผิวดินนี้ ทำให้เกิดการกัดชะและพัดพาเอาผิวหน้าดินที่อุดมไปด้วยธาตุอาหารไปด้วย เมื่อฝนหยุดตก น้ำฝนที่ซึมลงไปในดินน้อย ทำให้ไม่มีน้ำเอื้ออำนวยให้กระบวนการระเหยน้ำ
พลังงานจากรังสีดวงอาทิตย์ส่วนใหญ่จึงเพิ่มความร้อนในดินและอากาศ ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น อากาศจะขยายตัวและรองรับไอน้ำมากขึ้น โอกาสที่ฝนตกจึงมีน้อยลง เป็นวงจรที่เชื่อมโยงและส่งผลกระทบถึงกันทั้งหมด ทั้งนี้พื้นที่ต้นน้ำแห่งหนึ่งอาจถูกปกคลุมไปด้วยป่าไม้เพียงชนิดเดียว หรือหลายชนิดปะปนกันไป ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ลักษณะภูมิประเทศ ชนิดของดิน เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้ระบบนิเวศของป่าต้นน้ำมีความหลากหลายแตกต่างกันไปตามชนิด ปริมาณ และประเภทของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในผืนป่า
การดูแลป่าต้นน้ำ จึงมิได้มีความหมายเพียงการดูแลต้นไม้เท่านั้น แต่ถือเป็นการดูแลอ่างเก็บน้ำตามธรรมชาติ ที่คอยปลดปล่อยน้ำให้ใช้อย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปี เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลดินให้ยังคงความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่พักพิงอิงอาศัยของสิ่งมีชีวิตใหญ่น้อย ทั้งยังเป็นการดูแลความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสรรพชีวิตอีกด้วย
ป่าต้นน้ำ มากคุณประโยชน์ต่อโลก อีกทั้งยังมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง
โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ลงลึกศึกษาก่อนจะพบกว่า ป่าต้นน้ำ เป็นป่าที่ความพิเศษ เพราะมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง อันประกอบไปด้วย
พืชชั้นสูงหายากถึง 18,000 ชนิด
ต้นไม้ขนาดใหญ่ 500 ชนิด
กล้วยไม้ 1,000 ชนิด
รา-เห็ด 2,000 ชนิด
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 350 ชนิด
นก 950 ชนิด
แมลงประมาณ 60,000 ชนิด
โดยความหลากหลายทางชีวภาพเหล่านี้ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันอย่างธรรมชาติ ของสังคมพืชและสัตว์ ซึ่งเอื้อต่อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าจะในเรื่องของ อาหาร , เครื่องนุ่งห่ม , ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค นอกจากนี้ ความหลากหลายทางชีวภาพ ยังมีบทบาททางด้านการให้บริการทางนิเวศวิทยาอีกด้วย เช่น เชื้อจุลินทรีย์และแบคทีเรียในป่า ช่วยย่อยสลายขยะให้กลายเป็นสารอาหารสำคัญต่อพืช หรือ แมลงช่วยผสมเกสรให้พืชผลทางการเกษตร เป็นต้น โดยสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ที่มนุษย์ได้รับจากธรรมชาติ
**ติดตามสาระกาแฟไทย 〜
โฆษณา