22 ต.ค. 2021 เวลา 13:00 • ไลฟ์สไตล์
มองโลกในแง่ดี อาจไม่ดีอย่างที่คิด!
‘Positive Illusions’ ภาพลวงตาที่หลอกตัวเองว่าโลกยังสวยงาม
เรามักจะถูกปลูกฝังมาว่า “อย่ามองโลกในแง่ร้าย” เพราะมันจะทำให้เราไม่มีความสุข นั่นหมายความว่า การมองโลกในแง่ดีเป็นความวิธีที่ทำให้เรามีความสุขได้อย่างแท้จริงใช่หรือไม่?
ว่ากันว่า มุมมองที่เรามีต่อโลกจะเป็นตัวกำหนดคุณภาพชีวิตและความสำเร็จของเรา อีกทั้งยังมีอิทธิพลต่อคนรอบข้างอีกด้วย
หลายคนคิดว่าการมองโลกในแง่ดีเป็นทัศนคติที่เราควรมี เป็นพลังบวกที่ใครๆ ต่างต้องการ แต่การมองโลกในแง่ดีมากเกินไปใช่ว่าจะดี เพราะมันเป็นการ ‘สร้างภาพมายา’ เพื่อหลอกตัวเองอยู่กลายๆ ว่า “เราไม่เป็นไร” ซึ่งเป็นการปิดบังและเพิกเฉยต่อปัญหา และเราจะคิดว่าทนๆ ไปก่อน “เดี๋ยวสักวันมันต้องดีขึ้น”
1
อย่างที่ Shelley E. Tayloroy ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียและ Jonathon D. Brown ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ให้คำนิยามการมองโลกในแง่ดีไว้อย่างน่าสนใจ โดยพวกเขาคิดว่า การมองโลกในแง่ดีมากเกินไปเป็น ‘Positive Illusions’ หรือภาพลวงตาเชิงบวก
‘Positive Illusions’ คืออะไร?
คือการคิดบวกที่ไม่คำนึงถึงความเป็นจริง เป็นการหลอกลวงตัวเองว่าสิ่งต่างๆ จะต้องเป็นไปในทิศทางที่ดี หรือเข้าข้างตนเองเพื่อทำให้ตนเองรู้สึกดี มีความมั่นใจ และไม่วิตกกังวล ความคิดเช่นนี้ จึงเป็นเหมือนภาพมายาที่ปิดบังและหลอกเราให้หนีห่างจากความเป็นจริง
1
นอกจากนี้ Taylor และ Brown ยังได้จำแนก ‘Positive Illusions’ ออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน
1) Illusory Superiority: การคิดว่าตนเองเหนือกว่าคนอื่น เก่งกว่าคนอื่น
2) Optimism Bias: การคิดว่าโลกนี้มีแต่สิ่งดีๆ มันจะมอบสิ่งดีๆ ให้เราเสมอ
3) Illusion Of Control: การคิดว่าตนเองสามารถควบคุมทุกสิ่งอย่าง อะไรๆ ก็สามารถเป็นแบบในทิศทางที่ตนเองอยากให้เป็นได้
จากที่กล่าวมาทั้ง 3 ประเภทนี้ เราสามารถเป็นได้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเป็นได้ทั้ง 3 ประเภทพร้อมกัน
‘Positive Illusions’ ส่งผลเสียต่อเราอย่างไร?
เมื่อเราค้นพบว่า ฝันที่เราวาดไว้ไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง พบว่าตัวเองไม่ได้เก่งอย่างที่คิด เราจะรู้สึกผิดหวังอย่างรุนแรง รับความจริงไม่ได้ และอาจทำให้เราเสียความมั่นใจในตนเอง ความฝันที่สวยหรูเกินไป เมื่อมันแตกสลาย เหมือนกับการที่เราไม่มีอะไรยึดเหนี่ยวจิตใจ จนทำให้เรารู้สึกไม่มีคุณค่าในตัวเอง ด้อยค่าตัวเอง และโทษตัวเองในที่สุด
ข้อเสียต่อมาของ Positive Illusions คือ มันจะทำให้เรากำหนดเป้าหมายและดำเนินการไปในทิศทางที่มีแนวโน้มว่าจะล้มเหลวมากกว่าประสบความสำเร็จ เพราะเราคิดว่าตนเองมีความสามารถ และเชื่อว่ามันต้องออกมาดี เราจึงปิดกั้นที่จะพัฒนาตัวเอง ไม่กังวลที่จะหาแผนรับมือ สิ่งนี้จึงเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เราพลาดไปอย่างน่าเสียดาย เพราะเราดัน ‘มั่นใจในตัวเองเกินไป’
จากการวิจัยพบว่า การสร้างภาพมายาเชิงบวกส่งผลต่อความมั่นคงของความสัมพันธ์ในคู่รักอย่างมีนัยสำคัญ เพราะพวกเขารู้สึกผิดหวังเมื่อคนรักไม่เหมือนภาพในอุดมคติที่วาดไว้ นอกจากนี้ Swami Viren ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Anglia Ruskin และ Furnham Adrian ศาตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ให้ความเห็นว่า คนที่มีความคิดแบบ Positive Illusions จะรู้สึกไม่มั่นคง ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ อย่างการมองว่าคนรักของเรามีเสน่ห์มากกว่าตนเอง จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเองได้ เพราะรู้สึกว่าตนเองคู่ควร แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้เรารู้สึกไม่มั่นคง เพราะเสน่ห์นี้ทำให้เรารู้สึกหึงหวงคนรัก เป็นต้น
จากที่กล่าวไป เราคงเห็นภาพแล้วว่า Positive Illusions ส่งผลเสียต่อเราอย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม มันก็มีข้อดีอยู่บ้างเหมือนกันนะ มาดูกันว่า ข้อดีของการคิดแบบ Positive Illusions มีอะไรบ้าง
ความคิดที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง จะเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เราเกิดความพยายามและมีความมั่นใจมากขึ้น รวมถึงยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอีกด้วย เราจะคิดว่าตัวเองมีความสามารถพอที่จะจัดการสิ่งต่างๆ ได้ ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่จะปรับตัวได้ดี มีความภูมิใจในตัวเอง และมีทัศนคติเชิงบวกเมื่อเผชิญสถานการณ์ที่ตึงเครียด การมองโลกในแง่ดี จะทำให้เรามีเกราะป้องกันตัวเองจากสิ่งเลวร้าย ไม่ให้มันมาปะทะกับเราโดยตรง เราจึงไม่รู้สึกโศกเศร้าและกังวลกับมันมากนัก
สำหรับในแง่ของความสัมพันธ์ การคิดแบบ Positive Illusions สามารถเพิ่มความพึงพอใจระหว่างกัน ลดความขัดแย้ง และลดความสงสัยในความสัมพันธ์ได้ จากการศึกษา Sandra L. Murray ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Buffalo และ John G. Holmes ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Waterloo ให้ความเห็นเกี่ยวกับความคิดแบบ Positive Illusions ไว้ว่า การคิดเช่นนี้สามารถทำให้ความสัมพันธ์ในคู่สมรสและคู่เดตยืนยาวมากขึ้น เพราะเราจะเน้นไปที่ข้อดีของคนรัก และมองข้ามข้อเสียของคนรัก
นอกจากนี้ การมองข้ามข้อเสียของคนรักอาจทำนายความมั่นคงของความสัมพันธ์ได้ เพราะเราเชื่อว่าคนรักของเรามีคุณค่า เราจึงทุ่มเทเวลาและความพยายามในการรักษาความสัมพันธ์ แม้ว่าเราจะเห็นข้อบกพร่องของเขา แต่เราก็มักจะให้ความสำคัญกับจุดแข็งของเขาเช่นกัน ซึ่งมุมมองที่มีต่อคนรักเช่นนี้ก็เป็นที่มาของประโยคยอดฮิต ‘ความรักทำให้คนตาบอด’ อย่างไรล่ะ!
แม้ว่า Positive Illusions จะมีข้อดีหลายข้อก็ตาม แต่อีกนัยหนึ่ง มันย่อมส่งผลเสียเช่นกัน เพราะ “อะไรที่มากเกินไป (หรือน้อยเกินไป) ล้วนส่งผลเสียต่อเราทั้งสิ้น” ฉะนั้น ลองชั่งน้ำหนักดูว่าสิ่งที่เราทำมีข้อเสียหรือข้อดีมากกว่ากัน
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- Toxic Positivity พิษของการสั่งให้คิดแต่เรื่องบวก โดยไม่ดูความเป็นจริง >> https://bit.ly/3lUPqeT
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology
โฆษณา