23 ต.ค. 2021 เวลา 02:00 • บ้าน & สวน
บ้านโครงเหล็กใต้ถุนสูงหลังนี้นับว่าที่เป็นบ้านที่เหมาะกับคนไทย เพราะตอบสนองการใช้งานที่เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่และเอื้อให้เกิดการต่อเติมได้อย่างสะดวก
แนวคิดเรื่อง “การพึ่งพาตัวเอง” นั้นนำไปปรับใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิต  รวมถึงการทำบ้านเองสักหลังด้วย  คุณฐิ- ฐิติวุฒิ  ชัยสวัสดิ์อารี ผู้เป็นทั้งอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  สถาปนิก  และเจ้าของ
บ้านหลังนี้ ได้สร้างบ้านภายใต้ข้อจำกัด โดยคิดออกแบบจากสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์เต็มที่ ภายใต้สภาพแวดล้อมน่าสบาย ใช้พลังงานน้อย
“คุณพ่อคุณแม่ต้องการปรับปรุงอาคารเก็บของด้านหลังบ้านของท่านเป็นพื้นที่พักผ่อนและห้องสำหรับรับรองแขกหรือญาติ ซึ่งการปรับปรุงครั้งนี้มีการรื้อถอนวัสดุที่ไม่ได้ใช้ เช่น ประตู หน้าต่างเหล็กดัด นอกจากนี้ยังมีวัสดุก่อสร้างที่เหลือจากโครงการอื่นๆ ที่ผมทำ อย่างพวกแผ่นพื้นปูทางเท้า อิฐช่องลม กระเบื้องเคลือบ สวิตช์ ปลั๊กไฟ สีทาอาคาร เหล็กรูปพรรณ บันไดเวียน รั้วลูกกรงเหล็ก
ทั้งหมดนี้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (reuse) ได้”
บ้านสไตล์โมเดิร์นขนาดไม่ใหญ่นักแฝงตัวอยู่ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ ตัวบ้านยกพื้นสูงขึ้นมาอีก 3 - 4 ขั้น เพื่อป้องกันความชื้นและช่วยถ่ายเทความร้อน ได้อารมณ์บ้านไทยที่มีใต้ถุน นอกจากนี้พื้นชั้นล่างยังปูไม้แผ่นใหญ่ที่หาดูได้ยากและไม่ค่อยเห็นในบ้านสมัยใหม่ คุณฐิเล่าว่าซื้อไม้เก่า หน้า 20 นิ้ว หนา 2 นิ้ว ยาว 5 เมตรจำนวน 21 แผ่น เก็บไว้ประมาณ 8 ปีแล้ว และตั้งใจนำมาใช้กับบ้านหลังนี้  โดยมีเงื่อนไขว่าห้ามตัด ข้อดีของไม้เก่าคือมีความชื้นน้อยและมีความแข็งพอที จะไม่ถูกแมลงกิน
“ส่วนนั่งเล่นชั้นล่างออกแบบให้เปิดโล่ง แต่ความสูงของส่วนนี้จะต่ำกว่าปกติคือสูงประมาณ 2.30 เมตร ตามความสูงของบันไดวน ส่วนนี้ดูเหมือนใต้ถุนบ้านไทย จริงๆ แล้วลักษณะแบบไทยๆ ของบ้านนี้มาจากการออกแบบพื้นที่ว่างและการเชื่อมต่อกับสภาพแวดล้อมมากกว่าการประดับตกแต่ง ดังนั้นบ้านแบบกล่องกระจกก็สามารถมีสเปซแบบไทยได้”
ส่วนชั้นบนสามารถเดินขึ้นได้สองทาง ทั้งจากโถงชั้นล่างและด้านข้างบ้านโดยไม่ต้องผ่านใต้ถุน ในชั้นนี้ออกแบบให้มีเพียงห้องนอนห้องเดียว แต่ภายในห้องก็จัดให้มีมุมทำงาน มุมนั่งเล่น-พักผ่อน และห้องน้ำด้วย
ในฐานะสถาปนิก คุณฐิให้ความเห็นเกี่ยวกับการทำบ้านในเมืองว่า “ผมสังเกตว่าบ้านในปัจจุบันโดยเฉพาะในเมืองจะมีข้อจำกัดเรื่องการพึ่งพาประโยชน์จากสภาพ
แวดล้อมที่จะทำให้เกิดสภาวะน่าสบาย เราหันไปใช้ระบบที่ใช้พลังงานมากขึ้น เช่น ระบบปรับอากาศ รวมถึงใช้วัสดุก่อสร้างที่สะสมความร้อนง่าย แต่ระบายความร้อนออกยาก ทั้งยังสนใจเรื่องความสวยงามภายนอกมากกว่าการเน้นที่ประโยชน์ใช้สอยของพื้นที่และการป้องกันแดดฝนที่มีประสิทธิภาพ ท้ายที่สุดเมื่ออยู่ไปแล้วก็พบว่าบ้านนั้นไม่เหมาะสมกับการใช้งาน ก็ต้องต่อเติมกันอีก ซึ่งก็อาจทำให้รูปลักษณ์ของบ้านไม่สวยงาม
“บ้านที่เหมาะกับคนไทยจึงควรเป็นบ้านที่ตอบสนองการใช้งานที่เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่และเอื้อให้เกิดการต่อเติมได้อย่างสะดวก อีกเรื่องคือ สภาพอากาศร้อนชื้นของประเทศไทยก็ทำให้เราจำเป็นต้องออกแบบบ้านให้พึ่งพาสภาพแวดล้อมบ้าง การสร้างบ้านจึงควรคำนึงตั้งแต่การจัดวางผังอาคาร การระบายอากาศ การป้องกันแดดฝน การเลือกใช้วัสดุที่ไม่สะสมความร้อน เพื่อ
ให้เกิดความสบายในการอยู่อาศัย”
เจ้าของ-สถาปัตยกรรม : คุณฐิติวุฒิชัยสวัสดิ์อารี
อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ >> https://bit.ly/3b7N9Xm
เรื่อง : รนภา นิตย์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์: ภควดีพะหุโล
คลังสาระความรู้เรื่องบ้านและพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย
อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com
โฆษณา