24 ต.ค. 2021 เวลา 06:00 • กีฬา
ทำไมบ๊อบ เพสลีย์ ผู้จัดการทีมชาวอังกฤษที่ได้แชมป์ยุโรปมากที่สุดของลิเวอร์พูล แต่กลับไม่ได้ยศอัศวิน "เซอร์" เราจะไปหาคำตอบพร้อมๆ กัน
3
สิ่งที่ค้างคาใจแฟนลิเวอร์พูลมาโดยตลอด คือทำไมบ๊อบ เพสลีย์ อดีตผู้จัดการทีมหงส์แดง ที่ได้แชมป์ยุโรป 3 สมัย แชมป์ลีกสูงสุดอังกฤษ 6 สมัย แต่ไม่ได้รับการพระราชทานยศอัศวิน หรือพูดง่ายๆ คือไม่ถูกแต่งตั้งเป็น "เซอร์"
ในประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอล มีโค้ชแค่ 3 คนเท่านั้น ที่ได้แชมป์ยุโรป 3 สมัย คือคาร์โล อันเชล็อตติ, ซีเนอดีน ซีดาน และ อีกคนก็คือบ๊อบ เพสลีย์
คือสำหรับโค้ชทั่วไป แชมป์ยุโรป 1 สมัยก็ยากสุดๆ แล้ว แต่เพสลีย์ได้ถึง "3 ครั้ง"
มันน่าแปลกเพราะเกียรติประวัติขนาดนี้ ยังไม่ยิ่งใหญ่พออีกหรือ ที่จะได้รับการเชิดชูให้เป็นเซอร์
แฟนลิเวอร์พูลอดไม่ได้ ที่จะไปเปรียบเทียบกับอเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ผู้จัดการทีมของแมนฯ ยูไนเต็ด ที่ได้รับยศเซอร์ ในปี 1999 ซึ่ง ณ เวลานั้น เฟอร์กี้ได้แชมป์พรีเมียร์ลีก 5 สมัย และแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก 1 สมัย คือนับแล้ว น้อยกว่าที่เพสลีย์ได้เสียอีก
2
เช่นเดียวกับแมตต์ บัสบี้ อีกหนึ่งตำนานของแมนฯ ยูไนเต็ด เขาได้รับพระราชทานยศเซอร์ จากควีนเอลิซาเบ็ธ ในปี 1968 ณ เวลานั้น บัสบี้ ได้แชมป์ลีก 5 สมัย และแชมป์ยุโรป 1 สมัย นับแล้วก็ยังน้อยกว่าเพสลีย์อยู่ดี
1
มันจึงกลายเป็นดีเบทว่า ทำไมฝั่งแมนฯ ยูไนเต็ดถึงได้รับเกียรติยศนี้ แต่ฝั่งลิเวอร์พูลไม่ได้เลย ไม่ใช่แค่เพสลีย์ แต่บิลล์ แชงคลีย์ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้เป็นเซอร์
ถามว่าบ๊อบ เพสลีย์อยากได้ยศอัศวินไหม คำตอบคือ "อยากได้" เคนนี่ ดัลกลิชเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า "บ๊อบคงรู้สึกภูมิใจมากที่สุดในชีวิตถ้าเขาได้ยศอัศวิน เวลามีคนเรียกเขาว่า เซอร์บ๊อบ เพสลีย์ คงฟังดูดีมาก ถ้ามองในแง่ว่ารางวัลนี้จะมอบให้คนที่เป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นหลัง ผมคิดว่า ไม่มีใครเหมาะสมมากไปกว่าบ๊อบอีกแล้ว เขาเป็นคนมุ่งมั่นจริงจัง และเป็นคนคิดดีทำดีเสมอ"
เป็นประจำทุกปี ที่ราชวงศ์อังกฤษ จะมอบยศศักดิ์ ให้กับคนที่ทำคุณงามความดี โดยระดับของยศ จะแบ่งออกเป็น 5 เลเวลคือ
- First Class (GBE)
- Second Class (KBE)
- Third Class (CBE)
- Fourth Class (OBE)
- Fifth Class (MBE)
1
หากใครก็ตามที่ได้รับยศในระดับ GBE กับ KBE ขึ้นไป ถ้าเป็นผู้ชายจะสามารถใช้คำว่า "เซอร์" (Sir) อยู่หน้าชื่อได้ ส่วนผู้หญิงจะใช้คำว่า "เดม" (Dame) หน้าชื่อ เป็นการประกาศเกียรติยศให้สังคมได้รับรู้
นอกจาก GBE และ KBE แล้ว บางคนที่ได้ยศ CBE สามารถได้เป็น Knighthood ถ้าถูกเสนอชื่อ ก็สามารถได้ยศ Sir ได้ในบางกรณีอีกด้วย
เอาล่ะ สมมุติว่าเราอยากได้ยศอัศวินบ้าง เราต้องทำอย่างไร
1- คุณไม่สามารถส่งชื่อตัวเอง เข้ารับยศอัศวินได้ แต่คนรอบตัว ที่เห็นผลงานของคุณ สามารถส่งรายชื่อ พร้อมเกียรติประวัติทั้งหมด เข้ามาให้คณะรัฐมนตรี เพื่อเป็น Nominations ว่าคู่ควรกับการได้ยศหรือไม่
2- คณะรัฐมนตรีเป็นคนคัดเลือกจากรายชื่อทั้งหมด แล้วทูลเกล้าให้พระราชินีเอลิซาเบ็ธรับทราบ และพิจารณาคุณงามความดีของแต่ละคนว่า ถ้าจะได้ยศ ต้องได้ในเลเวลเท่าไหร่
3- คนที่ไม่ถูกคัดเลือก จะไม่สามารถส่งรายชื่อเข้ามาได้อีก จนกว่าจะมีผลงานใหม่ ที่แตกต่างจากครั้งล่าสุด ที่ส่งชื่อเข้ามา
4- คนทุกชาติสามารถส่งรายชื่อได้หมด แต่คนที่จะถูกเรียกว่า Sir หรือ Dame ต้องเป็นคนสหราชอาณาจักรเท่านั้น (อังกฤษ, สกอตแลนด์, เวลส์, ไอร์แลนด์เหนือ) อย่าง บิล เกตส์ (อเมริกัน), เปเล่ (บราซิล), อานันท์ ปันยารชุน (ไทย) หรือ โบโน่ (ไอร์แลนด์) ทั้งหมดได้ยศอัศวิน แต่ไม่สามารถถูกเรียกว่าเซอร์ได้ เพราะเป็นคนต่างชาติ
1
โดยยศที่คนต่างชาติได้รับ จะถูกเรียกว่า Honorary Knighthood
5- พระราชินีเอลิซาเบ็ธ ติดยศอัศวินให้ ตามรายชื่อที่คณะรัฐมนตรีทูลเกล้าขึ้นมา
1
ถ้าเราทำความเข้าใจในขั้นตอนเหล่านี้ จะรู้ว่าคนที่คัดเลือกจริงๆ ว่าใครควรได้ยศอัศวิน ไม่ใช่ราชวงศ์ แต่เป็นรัฐบาลต่างหาก ดังนั้นสิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้เลย คือการเมืองมีส่วนสำคัญมากในเรื่องนี้
ถ้ารัฐบาลชอบคุณ คุณก็ได้เป็นอัศวิน แต่ถ้ารัฐบาลไม่ชอบคุณ การเสนอชื่อของคุณก็โดนปัดทิ้ง หรือไม่ก็ให้ยศในระดับรองๆ ลงไปแทน
ในเคสของแมตต์ บัสบี้ หลังจากพาแมนฯ ยูไนเต็ด คว้าแชมป์ยุโรปสมัยแรกในปี 1968 สโมสรส่งชื่อเขาเป็น Nominations ขอยศอัศวิน และผลลัพธ์คือ รัฐบาลเห็นชอบด้วย แมตต์ บัสบี้ จึงกลายเป็น "เซอร์แมตต์" นับจากนั้น
จากนั้นในปี 1974 หลังจากบิลล์ แชงคลีย์ ผู้จัดการทีมลิเวอร์พูล ประกาศรีไทร์ สโมสรส่งเขาเป็น Nominations แต่รัฐบาลมอบยศให้แค่ชั้น OBE เท่านั้น ไม่ไปถึงขั้น "เซอร์"
จุดนี้แฟนลิเวอร์พูลหลายคนก็ไม่พอใจ แต่ก็ยังพอยอมรับได้ เพราะในยุคนั้นผู้จัดการทีมที่ได้ยศเซอร์ ต้องได้แชมป์เมเจอร์จริงๆ นอกจากเซอร์แมตต์ บัสบี้แล้ว ก็มีเซอร์อัลฟ์ แรมซีย์ ที่พาอังกฤษคว้าแชมป์โลก 1966
แชงคลีย์พาลิเวอร์พูลได้แชมป์ลีกสูงสุดก็จริง แต่ถ้วยยูโรเปี้ยน คัพ เขาไม่เคยไปถึง ดังนั้นการไม่มอบยศเซอร์ ให้ ก็อยู่ในวิสัยที่เข้าใจได้
อย่างไรก็ตาม เคสของบ๊อบ เพสลีย์ ต่างหาก ที่น่าจะมีคำถามมากกว่า เพราะในปี 1983 หลังจากเพสลีย์รีไทร์ สโมสรส่งชื่อเขาให้รัฐบาลอังกฤษพิจารณามอบยศอัศวิน ซึ่งถ้าคิดตามคอมม่อนเซนส์แล้ว เพสลีย์ได้แชมป์ลีก 6 ครั้ง บวกกับแชมป์ยูโรเปี้ยนคัพ 3 ครั้ง ยังไม่นับ ลีกคัพ (4 สมัย), ยูฟ่า คัพ (1 สมัย) และเกียรติประวัติส่วนตัวอีกยาวเป็นหางว่าว
1
แต่สุดท้ายรัฐบาลอังกฤษ ให้ยศเพียงแค่ OBE เท่านั้น ทำให้เกิดคำถามว่า ต้องให้เพสลีย์ทำอย่างไรอีก ถึงจะได้รับการยอมรับ นี่เขาทำทีมได้แชมป์มากมายขนาดนี้แล้ว ได้โทรฟี่มากกว่าแมตต์ บัสบี้เสียอีก แล้วทำไมถึงไม่ได้รับยศเซอร์ อย่างที่ควรจะเป็นล่ะ
เรื่องนี้เป็นดีเบทที่ถกเถียงกันมานาน จนถึงปัจจุบันนี้ ว่าเหตุผลเป็นเพราะอะไร แต่คำอธิบายที่ดูสมเหตุสมผลมากที่สุด ที่คนอังกฤษวิเคราะห์กัน คือมีเรื่องการเมืองในยุคนั้นมาเกี่ยวข้องด้วย
แบ็กกราวน์การเมืองของอังกฤษในยุค 70-80 "สหภาพแรงงาน" ขององค์กรต่างๆ จะมีพาวเวอร์อย่างมาก ตัวอย่างเช่น ถ้าหากคนงานไม่พอใจเรื่องรายได้หรือสวัสดิการใดๆ พวกเขาก็จะรวมตัวกันเพื่อ Strike หยุดงานพร้อมกัน
ท้ายที่สุดเจ้าของบริษัท หรือภาครัฐก็ต้องยอมเพราะไม่มีคนทำงาน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเจ้าหน้าที่รถไฟไม่ทำงาน ผู้คนจะเดินทางยังไง หรือ ถ้าหนุ่มสาวโรงงานไม่ยอมเข้ากะ แล้วโรงงานจะผลิตสินค้าออกมาได้อย่างไร เป็นต้น
มีนายกฯ หลายคนในอังกฤษที่พ่ายแพ้ต่อสหภาพแรงงาน จนเสียความนิยม และต้องยุบสภากันไป แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปในปี 1979 เมื่ออังกฤษมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ชื่อมาร์กาเร็ธ แธตเชอร์ จากพรรคอนุรักษ์นิยม
แธตเชอร์ มองว่าถ้าเอะอะก็ Strike หยุดงานกันง่ายๆ แบบนี้ แล้วประเทศจะเดินหน้ากันได้ยังไง เธอจึงออกกฎหมายลดอำนาจสหภาพแรงงาน ตัดสวัสดิการของแรงงานที่หยุดงานทิ้งให้หมด
ในช่วงปี 1979-1985 จึงเป็นการต่อสู้กันระหว่างรัฐบาลนำโดยแธตเชอร์ กับกลุ่มสหภาพแรงงาน
1
ศัตรูเบอร์ 1 ของแธตเชอร์ คือกลุ่มคนงานเหมืองถ่านหิน ที่ขู่จะหยุดงานถ้าไม่ได้รับสวัสดิการที่น่าพอใจ เป็นสงครามภายในประเทศที่ยืดเยื้อกันยาวนานมาก
1
ประเด็นคือการยื่นขอยศอัศวินของบ๊อบ เพสลีย์ เกิดขึ้นในปี 1983 มันอยู่ในช่วงกึ่งกลางของการต่อสู้ทางการเมืองพอดี ดังนั้นการให้เพสลีย์ ที่มีแบ็กกราวน์เป็นลูกชายคนงานเหมืองถ่านหิน ได้เกียรติยศถึงขั้นอัศวิน แปลว่าเป็นการไปยกย่องชนชั้นแรงงานว่าเป็นฮีโร่
1
แบบนั้นยิ่งจะทำให้ภาพลักษณ์ของฝั่งสหภาพแรงงานเหมืองถ่านหินดูเข้มแข็งมากขึ้นกว่าเดิม และการปฏิรูปของแธตเชอร์จะทำได้ยากขึ้นเข้าไปใหญ่
ดังนั้นคณะรัฐมนตรีจึงเสนอยศให้เพสลีย์เพียงแค่ชั้น OBE เท่านั้น และไม่ได้ยศเซอร์ ทั้งๆที่เกียรติประวัติของเพสลีย์ดีเกินพอ
เรื่องนี้มันไม่เกี่ยวกับผลงานในสนาม แต่เพียงแค่เพสลีย์มาอยู่ตรงกลางระหว่างที่เขากำลังต่อสู้กันทางการเมืองอยู่พอดี ถ้าหากมาเสนอชื่อในภายหลัง สักปี 1990 เป็นต้นไป ตำแหน่งเซอร์คงไม่หนีไปไหนแล้วจริงๆ
บ๊อบ เพสลีย์ เสียชีวิตในปี 1996 จากโรคอัลไซเมอร์ หลังจากเขาเสียชีวิต แฟนบอลลิเวอร์พูล 45,000 ได้ยื่นคำขอถึงรัฐบาลยุคโทนี่ แบลร์ ว่าเพสลีย์สมควรได้รับยศที่สูงกว่า OBE
โทนี่ แบลร์ นายกฯ จากพรรคแรงงานก็เห็นด้วย แต่ปัญหาคือยศอัศวินจะสามารถมอบให้ได้ กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น ไม่สามารถให้ยศย้อนหลังกับคนที่เสียชีวิตไปแล้วได้
2
สุดท้ายบ๊อบ เพสลีย์ ก็เลยมียศแค่ OBE เท่านั้น ไม่สามารถไปถึงยศเซอร์ได้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นอะไรที่น่าเสียดายจริงๆ
เคนนี่ ดัลกลิชที่ได้รับยศเซอร์ในภายหลัง กล่าวว่า "สำหรับตัวผม ผมไม่ได้สนใจหากไม่ได้รับเกียรติยศใดๆ จากประเทศตัวเอง แต่สิ่งที่ผมคิดมาตลอดคือคนอย่างบ๊อบ เขาควรได้รับการสรรเสริญมากกว่านี้"
ในประวัติศาสตร์ของฟุตบอลในสหราชอาณาจักรจนถึง ณ เวลานี้ มีผู้จัดการทีมเพียง 6 คนเท่านั้น ที่ได้ยศเซอร์ ได้แก่
- เซอร์ วอลเตอร์ วินเตอร์บอทท่อม (อังกฤษ)
- เซอร์ อัลฟ์ แรมซีย์ (อังกฤษ)
- เซอร์ แมตต์ บัสบี้ (สกอตแลนด์)
- เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน (สกอตแลนด์)
- เซอร์ บ๊อบบี้ ร็อบสัน (อังกฤษ)
- เซอร์ เคนนี่ ดัลกลิช (สกอตแลนด์)
1
จากกรณีของบ๊อบ เพสลีย์ ทำให้ได้เห็นว่า การที่เราจะได้รางวัลหรือเกียรติยศอะไรสักอย่าง บางครั้งมีปัจจัยอย่างอื่นมากมาย นอกเหนือจากความสามารถ
บางคนทำดีที่สุด จนไม่รู้จะดีกว่านี้ได้ยังไงแล้ว แต่ก็ไม่ได้รางวัล แบบนี้ก็มีเยอะ
เมื่ออำนาจการตัดสินใจอยู่ในมือของคนอื่น สิ่งเดียวที่เราทำได้ คือทำในส่วนของเราให้ดี ก่อน และจากนั้นก็หวังว่าโชคจะเข้าข้างเราบ้างสักครั้ง
#KNIGHTHOOD
ป.ล. ปิดท้ายด้วยเรื่อง ของมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ที่กล่าวค้างไว้ในบทความ การต่อสู้กันระหว่างรัฐบาลของเธอ กับสหภาพแรงงาน ผลสุดท้ายแธตเชอร์เป็นฝ่ายชนะ
1
ในยุคนั้น ระบบพลังงาน 70% ของอังกฤษ มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน วิธีการคือ คนงานเหมืองจะขุดถ่านหิน แล้วขนส่งมาให้โรงงานเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไป
ดังนั้นสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งที่สุด คือคนงานเหมืองถ่านหิน เพราะพวกเขารู้ว่า ถ้าตัวเองไม่ยอมขุดถ่านหินให้เสียอย่าง ประเทศก็ไม่สามารถมีไฟฟ้าใช้ได้ ยิ่งถ้าเป็นในหน้าหนาว แล้วไม่มีไฟฟ้า ฮีตเตอร์ก็จะไม่ทำงาน ผู้คนก็จะหนาวเหน็บจนอยู่ไม่ได้
การปฏิรูปเรื่องสวัสดิการแรงงาน ทำให้คนงานเหมืองถ่านหินไม่พอใจ เดือนมีนาคม 1984 คนงานเหมืองนัดหยุดงาน และลากยาวไปเรื่อยๆ จนถึงปลายปี เป้าหมายคือไปให้ถึงหน้าหนาว ถ้าประชาชนไม่มีไฟฟ้าใช้ ก็ต้องรุมด่าจนรัฐบาลยอมแพ้ไปเอง
แต่แธตเชอร์ไม่เหมือนนายกฯ 2 คนก่อนหน้านี้ (เอ็ดเวิร์ด ฮีธ และ เจมส์ คัลลาแกน) ที่ยอมแพ้จนเสียความนิยม และต้องยุบสภา เพราะเธอวางแผนล่วงหน้าเอาไว้แล้ว นั่นคือแอบเก็บสะสมถ่านหินไว้ใช้งานอย่างน้อย 1 ปี ดังนั้นต่อให้คนงานเหมืองไม่ยอมขุด โรงงานก็ยังผลิตไฟฟ้าได้โดยไม่มีปัญหาเป็นเวลา 1 ปี
ดังนั้นพอเข้าช่วงฤดูหนาว ไฟฟ้าก็มีใช้เป็นปกติ เพราะโรงงานไฟฟ้า เก็บสะสมถ่านหินสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าเอาไว้เพียงพอแล้ว
 
ประชาชนทุกคนอยู่กันสุขสบายตามปกติ แต่คนที่ลำบากคือครอบครัวของคนงานเหมือง เพราะเมื่อหยุดงานมาประท้วงรายได้ก็ไม่มี คนไม่มาทำงานก็ไม่มีสวัสดิการช่วยเหลือใดๆ จากรัฐทั้งสิ้น
สุดท้ายเดือนกุมภาพันธ์ 1985 คนงานเหมืองก็ยอมแพ้ และจากนั้นมาก็ไม่มีสหภาพแรงงานไหน กล้าขึ้นมาต่อสู้กับรัฐบาลอังกฤษได้อีกต่อไป
สงครามครั้งนี้แธตเชอร์เป็นฝ่ายชนะ ซึ่งชนชั้นกลางไปจนถึงกลุ่มนายทุน จะชอบแธตเชอร์มากที่สามารถจัดการปัญหาได้ดี ตรงข้ามกับชนชั้นแรงงานที่จะเกลียดแธตเชอร์ เพราะมองว่าทำทุกอย่างเพื่อกดขี่คนจน และเอาใจคนรวย
ไว้อนาคต แอดมินจะมาเล่าเรื่องความแค้นของแฟนลิเวอร์พูลกับแธตเชอร์ให้ละเอียดขึ้นนะครับ
ในวันที่แธตเชอร์เสียชีวิต ในปี 2013 ที่สนามแอนฟิลด์ แฟนลิเวอร์พูลทำป้ายแสดงความยินดี ที่แธตเชอร์ตาย แค้นนี้ฝังลึกนักจริงๆ
โฆษณา