24 ต.ค. 2021 เวลา 10:21 • ไลฟ์สไตล์
ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome)
เป็นภาวะหมดพลัง เหนื่อยล้า เบื่อหน่าย ท้อแท้ ไม่อยากทำอะไร ไร้ความสุขและหมดความสนุกสนาน ทั้งในชีวิตและการทำงาน
ภาวะนี้เป็นภาวะที่เกิดกับผู้ที่เคยขยันขันแข็ง หรือเป็นคนแอคทีฟ (active) มาก่อน อาจจะทำงานหนักและหักโหมมาก จนเกิดความเครียดและภาวะหมดไฟขึ้น
แต่ไม่ได้รวมถึงคนที่ขี้เกียจ เฉยชา ไม่ขยันและไม่ชอบทำงาน หรือไม่ชอบทำอะไรเลย จนเคยชินตลอดชีวิต ซึ่งเป็นคนละภาวะกัน เพราะภาวะเช่นนี้ไม่ได้มีไฟมาตั้งแต่ต้นแล้ว
ภาวะหมดไฟในการทำงาน มักมีสาเหตุใหญ่จากความเครียดมากเรื้อรังและสะสมแบบยาวนาน ซึ่งเกิดจากการขาดความสมดุลย์ในการทำงานและการดำเนินชีวิต (work and life balance) ความเครียดระยะสั้นแบบชั่วคราว (เช่น จะต้องทำงานให้ทันเส้นตาย แต่พอทำเสร็จก็หายเครียด) เป็นตัวกระตุ้นให้รีบเร่งทำงานชั่วคราว ไม่ใช่สาเหตุของภาวะหมดไฟ
ภาวะหมดไฟในการทำงาน มักจะใช้เวลาค่อยๆ สะสมที่จะเกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วจึงยากที่จะแก้ไข ซึ่งจะต้องใช้เวลานานในการแก้ไขเช่นกัน จึงควรจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น มากกว่าจะแก้ไขในภายหลัง
วิธีป้องกัน (และแก้ไข) ไม่ให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน
1. ออกกำลังทุกๆ วัน อย่างน้อย 30 นาที ช่วยให้ผ่อนคลายจากความเครียด สุขภาพดี และมีความสุข
2. ฝึกเจริญสติ กำหนดรู้ลมหายใจทุกๆ วัน ในท่านั่งหรือท่านอน วันละ 15-30 นาที (จะทำนานขึ้นก็ได้) อาจจะทำเมื่อตื่นอนตอนเช้าหรือก่อนเข้านอนตอนกลางคืน ในระหว่างทำงานก็ฝึกให้รู้ตัวในปัจจุบันบ้าง หากทำได้บ่อยๆ ก็ยิ่งดี จะทำให้จิตสงบ มีสติ สมาธิ ลดความวิตกกังวล ความฟุ้งซ่าน ความเครียด มีความสันติสุขและเกิดปัญญา
การเจริญสติโดยกำหนดลมหายใจ จะต้องรู้ลมหายใจและรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ทิ้งความรู้ตัว เพราะจะทำให้เกิดแต่สมาธิ ไม่เกิดสติ การหายใจจะต้องไม่บังคับ แต่ปล่อยให้ร่างกายหายใจเอง และตามรู้ลมแบบปล่อยวางการบังคับ
3. สร้างความสมดุลย์ในการทำงานและการใช้ชีวิต (work and life balance) ไม่ให้ตึงหรือหย่อนเกินไป
4. กิน อยู่ หลับนอน พักผ่อนให้ปกติ และเพียงพอ มีงานอดิเรก หรือสิ่งที่ชอบและผ่อนคลายทำเป็นประจำ ละเว้นการดื่มสุราและการใช้สารเสพติด
5. สื่อสารและสร้างสัมพันธภาพอันดีกับคนอื่นๆ ภายในครอบครัว ที่ทำงานและสังคมภายนอก
6. มีเพื่อนคุย เพื่อนคู่คิดหรือมิตรคู่ใจที่เป็นคนดี มีความคิดดี มีความจริงใจ ความคิดสร้างสรรค์ และแนะนำในสิ่งที่มีประโยชน์
7. ทำงานเสียสละ ช่วยเหลือผู้อื่น และงานจิตอาสาบ้าง เป็นครั้งคราวหรือเป็นประจำ เพื่อสร้างประโยชน์แก่ผู้อื่นและคุณค่าแก่ชีวิต
8. หยุดพักการทำงานและเดินทางไปท่องเที่ยว ภายในประเทศหรือต่างประเทศบ้าง เป็นครั้งคราว เพื่อให้เห็นสถานที่ใหม่ๆ เกิดประสบการณ์ ได้ความรู้ พบคนอื่นและเพื่อนใหม่
9. อ่านหนังสือ ศึกษาหาความรู้ (อาจจะดูคลิปที่ให้ความรู้) ฝึกทักษะใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ สร้างความเจริญก้าวหน้าในชีวิต การทำงาน อาชีพของตนเอง หมู่คณะ หน่วยงาน และองค์กร
10. การหาสถานที่เงียบสงบเข้าฝึกเจริญสติ (mindfulness meditation retreat) เป็นกิจกรรมที่ควรทำ เพราะมีประโยชน์ต่อชีวิตมาก หากทำได้ปีละหนึ่งหรือสองครั้งก็จะดี โดยหาสถานที่เงียบสงบเข้าฝึกเจริญสติที่มีอาจารย์หรือวิทยากรผู้มีประสบการณ์สูงเป็นผู้สอน ใช้เวลา 7 วัน 10 วัน หรือ 15 วัน เป็นการฝึกเจริญสติ เพื่อให้อยู่กับปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง แต่จะต้องทำอย่างผ่อนคลาย ไม่เคร่งเครียดเกินไป จะมีเวลาอยู่กับตนเองแบบมีเพื่อนที่ต่างคนต่างฝึกเจริญสติ เป็นวิธีที่มีประสิทธิและได้ผลดีในการเอาความเครียดที่สะสมมานานออกจากจิตส่วนลึก ทำให้เกิดทักษะและความชำนาญในการเจริญสติและอยู่กับปัจจุบัน ทำให้มีเครื่องมือป้องกันจิตไม่ให้วิตก หงุดหงิด ฟุ้งซ่าน เกิดความทุกข์
แต่จะสร้างสุขภาวะ พลังหรือไฟในการทำงานและการใช้ชีวิตให้กลับคืนมาไดั แต่จะต้องเลือกสถานที่ให้ถูกว่าเป็นการฝึกเจริญสติ ไม่ใช่ฝึกทำสมาธิ เพราะผู้ที่มีความเครียดมาก หากไปทำแต่สมาธิไม่ได้เจริญสติอาจจะยิ่งเครียดมากยิ่งขึ้นได้
แม้จะขยันและทำงานหนัก ก็จะต้องทำงานด้วยความสุข มีความสนุกสนานและผ่อนคลาย รักษาสมดุลย์ของการทำงานและการใช้ชีวิตให้เหมาะสมและพอดี อย่ากดดัน บีบคั้น เคร่งเครียด เร่งรัด และบีบบังคับตัวเองมากจนเกินไป
โฆษณา