25 ต.ค. 2021 เวลา 10:34 • ประวัติศาสตร์
10 อันดับ พระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก
1
เกริ่นนำ
ตลอดประวัติศาสตร์โลกยาวนานกว่า 5 พันปี มีอารยธรรม อาณาจักร จักรวรรดิ เกิดขึ้นมากมายหลายแห่งบนโลก ไม่ว่าจะเป็นอารยธรรมเริ่มแรกของโลก เช่น อียิปต์ เมโสโปเตเมีย จีน อินเดีย อาณาจักรที่เจริญขึ้นมาในยุคต่อๆมาอีกนับร้อยนับพันแห่ง เช่น ไบแซนไทน์ ออตโตมัน รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส อีกทั้งในยุคที่มีความเป็นรัฐชาติ แต่ทุกๆอาณาจักร อารยรรม จักรวรรดิในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทั้งหมดนั้น จะมีสิ่งหนึ่งที่ทุกแห่งมีเหมือนกัน นั่นก็คือ "ผู้ปกครอง" นั่นเอง
1
ผู้ปกครองรัฐ เป็นผู้นำและผู้บริหารกิจการในอาณาจักรแห่งนั้นๆ ผู้ปกครองถือว่าเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลอย่างสูงในอาณาจักรหรือดินแดนนั้นๆ มีอำนาจสูงสุดในการกำหนดชีวิตราษฎร ควบคุมกิจการงานเมือง การที่อาณาจักรๆหนึ่ง จะเจริญรุ่งเรืองจนมีชื่อเสียงและมีอิทธิพลต่อโลกขึ้นมาได้ ก็มักขึนอยู่กับตัวผู้ปกครอง ถ้าผู้ปกครองดี เก่ง ประเทศ/อาณาจักร/ดินแดนนั้นๆก็เจริญ
3
ทั้งนี้ระยะเวลาของการเป็นผู้ปกครองก็มีส่วนสำคัญต่ออาณาจักร/รัฐ/ประเทศนั้นๆ ด้วยเป็นอย่างมาก เพราะการปกครองเป็นเวลานานควบคู่กับความเก่งและความดีด้วย ก็เป็นการสร้างและสะสมบารมี รวมถึงชื่อเสียงให้มากขึ้นด้วย ยิ่งปกครองนาน แถมเก่งและดีด้วย ผู้อยู่ใต้การปกครองก็ย่อมชื่นชอบและเคารพนับถือมาก
ในบล็อกนี้เราจะพูดถึงผู้ปกครองที่เป็น "พระมหากษัตริย์" ทั้งพระราชาและพระราชินีนาถ ที่อยู่ในราชสมบัติยาวนานที่สุดในโลกทั้งสิ้น 10 อันดับ จะมีพระองค์ใดบ้าง ไปอ่านกันต่อเลย
ทำความเข้าใจกับคำที่เป็น keyword ก่อนนะครับ
พระราชา -----> พระมหากษัตริย์ที่เป็นเพศชาย
พระราชินีนาถ ----> พระมหากษัตริย์ที่เป็นเพศหญิง ซึ่งเป็นทายาทที่ได้รับสิทธิ์สืบทอดราชสมบัติโดยตรงจากพระมหากษัตริย์องค์ก่อนหน้า
พระราชินี -----> พระมเหสี/ภรรยาของพระราชา ซึ่งไม่มีอำนาจบริหาร
รัชทายาท -----> ทายาทของพระมหากษัตริย์ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ครองราชย์สืบราชสมบัติต่อจากตน สามารถเป็นได้ทั้งชายและหญิง ไม่จำเป็นจะต้องเป็นลูกคนโตเสมอไป ขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์ของแต่ละที่ ว่าจะให้ใครเป็น แต่ส่วนมากจะนิยมแต่งตั้งลูกคนโต
ราชวงศ์ -----> แบ่งได้ 2 ประเภท
ฝั่งเอเชีย หมายถึง ตระกูล/ครอบครัว ที่ขึ้นมามีอำนาจปกครองดินแดนนั้นๆ แล้วสืบราชสมบัติต่อมาเรื่อยๆ ในตระกูลเดียวกัน มีสถานะเป็นองค์กร ซึ่งต่างจากฝั่งยุโรป การเปลี่ยนชื่อราชวงศ์ขึ้นอยู่กับตัวพระมหากษัตริย์ว่าจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน แต่ส่วนมากเมื่อมีพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ที่ไม่ได้สืบสายตระกูลมาจากองค์ก่อนหน้า ก็จะนิยมเปลี่ยน เช่น สมัยพระนารายณ์มหาราช อยู่ในราชวงศ์ปราสาททอง แต่เมื่อพระเพทราชาทำรัฐประหารแล้วขึ้นครองราชย์ พระองค์จึงเปลี่ยนชื่อราชวงศ์เป็นบ้านพลูหลวง หรือบางครั้งก็ไม่เปลี่ยน รัชกาลที่8 อยู่ในสายตระกูลมหิดล ซึ่งเป็นคนละสายตระกูลกับรัชกาลที่ 5 6 7 แต่พระองค์ก็ไม่เปลี่ยนชื่อราชวงศ์ เป็นต้น
1
ฝั่งยุโรป หมายถึง นามสกุลของพระมหากษัตริย์ จะสังเกตเห็นว่า ราชวงศ์ยุโรปจะเปลี่ยนชื่อบ่อยมาก เช่น สมัยควีนวิกตอเรีย เป็นราชวงศ์ฮันโนเวอร์ แต่เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่7 ซึ่งเป็นพระโอรสของควีนวิกตอเรียขึ้นครองราชย์ ก็เปลี่ยนชื่อราชวงศ์เป็น ซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา เพราะพระองค์ใช้นามสกุลนี้ตามพระบิดา
1
OK เกริ่นนำและอธิบายมาเยอะแล้ว รอบนี้เข้าเนื้อหาจริงๆแล้วนะ
ขอนำเสนอเป็นมุมมองบุคคลที่ 1 เลยนะครับ
1
อันดับ 10 พระเจ้าไชเมที่ 1
ราชอาณาจักรอารากอน
ครองราชย์ 12 กันยายน 1213
สวรรคต 27 กรกฎาคม 1276
รวมเวลาทั้งสิ้น 62 ปี 319 วัน
พระราชสมภพ 2 กุมภาพันธ์ 1208
พระราชบิดา พระเจ้าเปโดรที่ 2 แห่งอารากอน
พระราชมารดา มารีแห่งมงเปอลีเย
พระมเหสี เลโอนอร์แห่งกัสติยา
โยลานแห่งฮังการี
ก่อนครองราชย์
ข้ามีชีวิตอยู่ในยุคกลางที่ยังไม่มีการรวมประเทศ อาณาจักรที่ข้าปกครองก็เป็นแค่แคว้นๆหนึ่งในดินแดนประเทศสเปนในปัจจุบัน
การครองราชย์
เมื่อข้าอายุได้ 5 ปี พระบิดาของข้า ก็คือพระเจ้าเปโดรที่2แห่งอารากอนสวรรคตในสงครามครูเสด ข้าจึงได้รับการดูแลโดย ซีมง เดอ มงฟอร์ ผู้นำกลุ่มอัศวินครูเสดซึ่งเป็นฝ่ายศัตรูของพ่อข้าจนมาถึงปี 1214 ข้าก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรอารากอนและกาตาลุญญา แต่เพราะข้ายังเด็กเกินไป ยังไม่พร้อมที่จะบริหารบ้านเมือง เสด็จลุงของข้าจึงดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน จนกระทั่งถึงปี 1218 มีการก่อกบฏขึ้น ทำให้ข้าต้องเผชิญอันตรายหลายครั้ง ข้าต้องเรียนรู้ที่จะเอาชีวิตรอดและเอาชนะความกลัว ซึ่งหล่อหลอมให้ข้าเป็นคนกล้าหาญ ไม่กลัวใคร
1
วีรกรรมสำคัญ
เมื่อข้าได้ครองราชย์และสามารถบริหารบ้านเมืองได้เต็มรูปแบบแล้ว ข้าเริ่มทำสงครามพิชิตดินแดนกับพวกมุสลิมที่ยึดครองดินแดนสเปนให้กลับมาอยู่ใต้การปกครองของข้า ผลสรุปก็คือข้าสามารถปราบปรามและขับไล่พวกมุสลิมออกไปได้ แต่ยังมีพวกมัวร์ ซึ่งก็เป็นชาวมุสลิมเหมือนกัน แต่คนละพวก ยอมแพ้สงคราม และยอมสยบอยู่ใต้อำนาจของข้า และข้าก็ปกครองอาณาจักรของข้าต่อไปจวบจนสวรรคตในปี 1276 รวมอายุได้ 68 ปี
1
อันดับ 9 สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย
สหราชอาณาจักร
ครองราชย์ 20 มิถุนายน 1837
สวรรคต 22 มกราคม 1901
รวมเวลาทั้งสิ้น 63 ปี 216 วัน
พระราชสมภพ 24 พฤษภาคม 1819
พระราชบิดา เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเคนต์และสแตรธเอิร์น
พระราชมารดา เจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งซัคเซิน-โคบวร์ค-ซาลเฟลด์
พระราชสวามี เจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา
ก่อนครองราชย์
ย้อนเวลากลับไปในยุคของพระเจ้าจอร์จที่4 แห่งสหราชอาณาจักร ผู้เป็นลุงของฉัน ท่านได้แต่งตั้งรัชทายาทไว้แล้ว ก็คือ เจ้าหญิงชาร์ล็อตแห่งเวลส์ พระธิดาองค์โตของท่าน แต่ยังไม่ทันที่เสด็จลุงจะสวรรคต เจ้าหญิงองค์รัชทายาทกลับสิ้นพระชนม์ไปก่อน ทำให้ตำแหน่งรัชทายาทต้องตกมาที่พระอนุชาของท่าน ซึ่งต่อมาก็คือพระเจ้าวิลเลียมที่4 ผู้เป็นลุงของฉันอีกพระองค์ แต่เสด็จลุงท่านนี้ทรงมีปัญหาเรื่องทายาท เพราะพระองค์ไม่มีลูกกับพระราชินีเลย แต่กลับมีลูกกับนางสนมมากถึง10คน ซึ่งในสมัยนั้นกฎหมายการสืบราชสันตติวงศ์ รัชทายาทต้องเป็นลูกของพระราชากับพระราชินีเท่านั้น ลูกนอกสมรสที่เกิดกับนางสนมไม่มีสิทธิครองราชย์ ข่าวนี้แพร่ออกไปทั่วประเทศกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวของราชวงศ์ที่ไม่น่าพูดถึงเอาซะเลย ในเมื่อไม่มีใครเหมาะสม เสด็จลุงวิลเลียมที่4 จึงแต่งตั้งฉันเป็นรัชทายาทในที่สุด
1
การครองราชย์
ในเวลาเช้ามืดของวันที่ 20 มิถุนายน 1837 ฉันถูกปลุกให้ตื่นกลางดึก ฉันตกใจและน้ำตาไหลพรากเมื่อทราบว่าเสด็จลุงของฉัน พระเจ้าวิลเลียมที่4 สวรรคตแล้ว ทำให้ฉันได้เป็นพระมหากษัตริย์ทันทีในวันนั้น ไม่คาดคิดเลยว่าพระองค์จะจากไปเร็วขนาดนี้ ขณะนั้นฉันมีอายุได้ 18 ปี เมื่อครองราชย์ต่อไปอีก 1 ปี ฉันก็เข้าทำพิธีราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีเมื่อ 28 มิถุนายน 1838 กลายเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ อย่างเป็นพิธีการตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
ควีนวิกตอเรียขณะมีพระชนมายุ 18 พรรษา
คู่รักชั่วนิรันดร์
ผู้ชายที่ฉันหลงรักและปรารถนาจะอยู่กับเขาไปตลอดชีวิตชั่วนิจนิรันดรก็ได้เข้ามาในชีวิตของฉัน เขาคนนั้นคือ "เจ้าชายอัลเบิร์ต" ต่อมาเราสองคนก็ได้อภิเษกสมรส เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 1840 ฉันปรารถนาจะให้เขาเป็นที่พึ่งและซื่อสัตย์ต่อฉันตลอดชีพ และฉันก็ไม่ผิดหวังแม้แต่นิดเดียว เขาเป็นมากกว่าสามีและคู่ชีวิต ความรักที่ฉันมีต่อเขานั้นมันมากเกินกว่าจะพรรณนา ชีวิตคู่ของเราสองคนเต็มไปด้วยความสุข ความสวยงามที่โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างไม่มีวันหมด และฉันก็หวังจะอยู่กับเขาตลอดไปชั่วฟ้าดินสลาย
3
ความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่
แต่แล้วความหวังของฉันก็ต้องดับสลาย เมื่อ 14 ธันวาคม 1861
"เจ้าชายอัลเบิร์ด" สามีอันเป็นที่รักก็สิ้นพระชนม์ลงด้วยอาการป่วย ทำให้ฉันโศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างมาก ฉันตกอยู่ในความทุกข์ระกำใจและตรอมตรมอยู่กับความเศร้าเป็นเวลานานหลายปี ความเศร้าทำให้ฉันรู้สึกไม่อยากเป็นราชินีของอังกฤษอีกต่อไปแล้ว ฉันถึงกับละทิ้งประชาชนและไม่สนใจงานเมืองไปนาน จนประชาชนรวมตัวกันขับไล่ให้ฉันสละราชสมบัติ แต่สุดท้ายฉันก็ทำใจยอมรับความจริงและกลับไปทำหน้าที่พระราชินีตามเดิม
แต่ถึงอย่างไร ฉันจะไม่มีวันลืมเขาอย่างแน่นอน ฉันครองความเป็นหม้ายตลอดชีวิตและตัดสินใจใส่ชุดสีดำตลอดชีวิตจวบจนสวรรคต เพื่อไว้ทุกข์แด่สามีที่ฉันรักเท่าชีวิต ถึงแม้จะมีงานพิธีต่างๆที่ฉันต้องเข้าร่วม ฉันก็ยืนหยัดที่จะใส่ชุดดำตลอดทุกครั้งตราบจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของฉัน แต่หลังจากฉันจากโลกนี้ไปแล้ว โลงศพของฉันก็ถูกฝังไว้เคียงข้างกับโลงศพของสามี เราได้พบกับอีกครั้งและอยู่ด้วยกันตลอดไปชั่วนิรันดร์บนสวรรค์
2
หลังจากเจ้าชายอัลเบิร์ดสิ้นพระชนม์ ควีนวิกตอเรียก็ใส่ชุดดำตลอดชีวิต
จักรวรรดิอังกฤษอันยิ่งใหญ่ : ดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน
ตลอดยุคสมัยที่ฉันครองราชย์ ประเทศอังกฤษของฉันได้ยกระดับความยิ่งใหญ่กลายเป็นจักรวรรดิอังกฤษ ซึ่งออกล่าอาณานิคมและยึดครองดินแดนหลายแห่งทั่วโลก รวมๆแล้วคิดเป็น 1 ใน 4 ของโลก ครอบคลุมตั้งแต่ฝั่งตะวันตกสุดอย่างแคนาดา ไปจนถึงตะวันออกสุดอย่างออสเตรเลีย แต่อย่างเพิ่งคิดว่าฉันเป็นคนทำให้เกิด ฉันขอชี้แจงว่า ในยุคสมัยของฉัน สถานบันพระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญโดยสมบูรณ์แล้ว เท่ากับว่าเป็นความสำเร็จในระบอบประชาธิปไตย ทำให้ฉันไม่มีสิทธิบริหารและยุ่งเกี่ยวการเมือง
ดังนั้นความยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นเป็นผลงานของเหล่ารัฐบาลและกองทัพอังกฤษต่างหาก แต่ถึงอย่างไร ด้วยวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดกันมานาน ทำให้ชาวอังกฤษต่างยกย่องเชิดชู สรรเสริญฉันว่าเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งจักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน อีกทั้งยังจดจำและจารึกประวัติศาสตร์เอาไว้ว่า ฉันเป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ของอังกฤษตลอดกาล ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ชื่อของฉันก็ยังคงถูกกล่าวถึงอยู่เสมอ
3
จักรวรรดิอังกฤษ จักรวรรดิที่มีพื้นที่มากที่สุดในโลกอันดับ 1
สมเด็จย่าแห่งยุโรป
ด้วยความรักที่ฉันมีต่อสามีอย่างหาที่สุดมิได้ ทำให้เราสองคนมีลูกด้วยกันมากถึง 9 คน และตามธรรมเนียมของราชวงศ์ในยุโรป ราชวงศ์ของแต่ละประเทศต้องส่งบุตรหลานไปแต่งงานกับบุตรหลานราชวงศ์อื่น เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้พระโอรสพระธิดาของฉันต่างมีลูกหลานไว้สืบต่อสกุลมาเรื่อยๆ จนทำให้หลายราชวงศ์ในยุโรปมีทายาทไว้สืบราชสมบัติ ซึ่งช่วยให้ราชวงศ์ไม่ล่มสลาย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ฉันได้รับสมญานามนี้นั่นเอง
บั้นปลายพระชนม์ชีพและการสวรรคต
ฉันไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าฉันจะมีอายุยืนยาวเช่นนี้ จนสามารถปกครองจักรวรรดิอังกฤษได้ยาวนานเกือบ 64 ปี ฉันมักใช้เวลาในวันคริสต์มาสที่ ตำหนักออสบอร์น บนเกาะไวท์ทางตอนใต้ของอังกฤษ ซึ่งสามีของฉันเป็นผู้ออกแบบเอง เวลาล่วงเลยไปจนถึงวันที่พระเจ้าได้มารับฉันไปสู่สวรรค์ ที่ตำหนักบนเกาะนี้นี่เอง เมื่อ 22 มกราคม 1901 สิริอายุ 81 ปี หลังจากนั้น พระโอรสองค์แรกของฉัน "เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลล์" ได้ขึ้นสืบราชสมบัติต่อมา เป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 นั่นเอง
1
อันดับ 8 พระเจ้าเฟอร์ดินานที่ 3
ราชอาณาจักรซิซิลี
ครองราชย์ 6 ตุลาคม 1759
สวรรคต 4 มกราคม 1825
รวมเวลาทั้งสิ้น 65 ปี 90 วัน
พระราชสมภพ 12 มกราคม 1751
พระราชบิดา พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสเปน
พระราชมารดา สมเด็จพระราชินีมาเรีย อมาเรีย แห่งเซกโซนี
พระมเหสี แคโรรีนแห่งออสเตรีย
ก่อนครองราชย์
ข้าเกิดและโตที่สเปน แต่ภายหลังข้าต้องโยกย้ายที่อยู่มายังอาณาจักรซิซิลี ซึ่งเป็นอาณาจักรแห่งหนึ่งในประเทศอิตาลีตอนล่างในยุคที่ยังไม่รวมประเทศ ในตอนนั้นราชบังลังก์ว่างอยู่ ทางอาณาจักรซิซิลีจึงต้องสัญหาผู้ที่จะมาเป็นพระมหากษัตริย์ โดย "จักรพรรดินีมาเรียเทเรซาแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์" ซึ่งก็คือสมเด็จยายของข้าเอง ทรงเป็นผู้มีอิทธิพลในดินแดนยุโรปตอนกลาง ทำหน้าที่สรรหาและคัดเลือกผู้ที่จะมาปกครองอาณาจักรแห่งนี้
การครองราชย์
ในที่สุดสมเด็จยายของข้าก็ได้เลือกข้าให้ขึ้นปกครองอาณาจักรซิซิลี เมื่อ
6 ตุลาคม 1759 ในขณะที่ข้ามีอายุเพียง 8 ปี ชีวิตพระราชาของข้านั้นไม่ได้ราบลื่นเอาเสียเลย ข้าอยู่อย่างลำบาก ต้องอดทนและปรับตัวให้เข้ากับอาณาจักรของอิตาลีนี้ให้ได้ ถึงแม้ข้าจะเป็นคนสเปนก็ตาม นอกจากเรื่องการปรับตัวแล้ว ข้าต้องเผชิญกับอันตรายที่เยือนตัวข้าอีกสามครั้ง
1
อันตรายที่ต้องเผชิญและเอาตัวรอด
ตลอดการครองราชย์ ข้าต้องเผชิญอันตรายที่ชี้ชะตาการอยู่รอดของราชวงศ์ถึง 3 ครั้ง
ครั้งที่ 1 ตอนที่เกิดสงครามนโปเลียน ข้าจำเป็นต้องเอาตัวรอดด้วยการลี้ภัยไปอยู่ที่ออสเตรีย
ครั้งที่ 2 การคิดล้มล้างราชบังลังก์โดยพวกที่ต้องการเปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐ ข้าจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือไปยังออสเตรียเพื่อให้ส่งทหารมาปราบปราม
ครั้งที่ 3 เกิดการปฏิวัติในปี 1820 ข้าต้องขอกองทัพจากออสเตรียมาช่วยปราบปรามจนได้รับชัยชนะ และข้าก็เจรจาต่อรองกับพวกฝ่ายปฏิวัติ จนสุดท้ายก็ตกลงที่จะจัดตั้งรัฐสภา และข้าก็ปกครองต่อไปจนถึงกาลสวรรคตในปี 1825 อายุ 74 ปี
อันดับ 7 จักรพรรดิเบซิลที่ 2
จักรวรรดิไบแซนไทน์ (โรมันตะวันออก)
สถาปนา 22 เมษายน 960
ครองราชย์ 10 มกราคม 976
สวรรคต 15 ธันวาคม 1025
รวมเวลาทั้งสิ้น 65 ปี 237 วัน
พระราชสมภพ ค.ศ.958
พระราชบิดา จักรพรรดิโรมานอสที่ 2
พระราชมารดา เทรโอปาโน
ระบอบการปกครองของจักรวรรดิไบแซนไทน์
ก่อนที่ข้าจะเล่าเรื่องชีวิตของข้า ข้าจำเป็นต้องอธิบายระบอบการปกครองให้ทุกๆคนเข้าใจตรงกันก่อนว่า จักรวรรดิไบแซนไทน์ เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน ซึ่งโรมันตะวันตกได้ล่มสลายไปแล้วตั้งแต่ก่อนยุคกลาง คงเหลือแค่ฝั่งตะวันออก ซึ่งต่อมาก็ใช้ชื่อว่า ไบแซนไทน์ ระบอบการปกครองของที่นี่ยึดแบบมาจากโรมันตะวันตก คือ องค์จักรพรรดิมาจากการเลือกตั้งโดยสภาซีเนต ซึ่งข้าก็มาจากเลือกตั้งเช่นกัน แต่ในยุคสมัยของข้า ประชาชนต่างนิยมชมชอบราชวงศ์มาซีโดเนีย ซึ่งเป็นราชวงศ์ของข้าเอง ทำให้ตลอดเวลาที่ราชวงศ์นี้ปกครอง จะมีผู้ปกครองจักรวรรดิ 2 คน เรียกว่า ผู้ปกครองร่วม เพื่อคานอำนาจระหว่างกัน แต่ในกรณีของข้า ข้าได้รับการสถาปนาเป็นผู้ปกครองร่วมเมื่อปี 960 แต่ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิอาวุโสที่ปกครองจริงๆ ในปี 976 ดังนั้นอย่าสับสนเลขปีล่ะ
ก่อนครองราชย์และตำแหน่งผู้ปกครองร่วม
ก่อนที่ข้าจะเป็นจักรพรรดิโดยสมบูรณ์ ในยุคสมัยของจักรพรรดิโรมานอสที่2 พระบิดาของข้าเอง ข้าได้เข้าพิธีราชาภิเษกเพื่อรับการสถาปนาเป็นรองจักรพรรดิ เมื่อปี 960 ในขณะที่มีอายุแค่2ขวบ และอีก2ปีต่อมา ในปี 962 น้องชายของข้าคอนแสตนตินก็ได้เป็นรองจักรพรรดิเช่นเดียวกัน ดังนั้นข้าและคอนสแตนตินมีสถานะเป็นผู้ปกครองร่วม จนกระทั่งปี 963 พระบิดาสวรรคต ข้าและคอนสแตนตินก็ได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิโดยชอบธรรม แต่ก็เป็นแค่ในนาม เพราะเราทั้งสองยังเด็กเกินไปที่จะเป็นจักรพรรดิโดยสมบูรณ์ ทำให้หน้าที่บริหารงานบ้านเมืองเป็นของแม่ทัพนายพล 2 นาย ซึ่งได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิปกครองร่วมกัน แต่ก็ไม่ได้ยึดอำนาจข้าและคอนสแตนตินแต่อย่างใด
คำว่าจักรพรรดิก็เป็นแค่ชื่อตำแหน่ง ดังนั้นประวัติศาสตร์จึงเริ่มนับปีที่ข้าตั้งแต่ราชาภิเษกเป็นผู้ปกครองร่วม จนถึงวันสวรรคต ไม่ได้นับตั้งแต่ข้าเป็นจักรพรรดิอาวุโส
การครองราชย์เป็นจักรพรรดิโดยสมบูรณ์
ตั้งแต่พิธีราชาภิเษกของข้าเมื่อปี 960 ถือว่าข้าเป็นผู้ปกครองร่วมตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา แต่เป็นเพียงแค่ชื่อ ไม่ได้ปกครองโดยตรง ส่วนตำแหน่งจักรพรรดิอย่างเป็นทางการ หรือจักรพรรดิอาวุโส ข้าได้เป็นจริงๆในปี 976 และเป็นร่วมกับน้องชายของข้าตามธรรมเนียม ตลอดยุคสมัยของข้าถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองสูงสุดของไบแซนไทน์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบรรพบุรุษของข้าได้สร้างไว้ก่อนแล้ว ข้าต้องการยกระดับไบแซนไทน์ให้ยิ่งใหญ่มากขึ้นไปอีก ด้วยการทำสงครามขยายดินแดน ซึ่งข้าสามารถยึดครองเซอร์เบีย โครเอเชียและบัลแกเรีย เข้าเป็นส่วนหนึ่งของไบแซนไทน์ได้สำเร็จ
ผู้สืบต่อราชบัลลังก์
หลังจากที่ข้าเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์อันยิ่งใหญ่ร่วมกับน้องชายมานานกว่า 65 ปี ข้าก็หมดลมหายใจลงในปี 1025 ในขณะที่มีอายุ 67 ปี ผู้สืบทอดตำแหน่งจักรพรรดิอาวุโสคนต่อมาก็จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก....
อันดับ 6 จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 8
1
จักรวรรดิไบแซนไทน์ (โรมันตะวันออก)
ครองราชย์ 15 ธันวาคม 1025
สวรรคต 11 พฤศจิกายน 1028
รวมเวลาทั้งสิ้น 66 ปี 226 วัน
พระราชสมภพ ค.ศ.960
พระราชบิดา จักรพรรดิโรมานอสที่ 2
พระราชมารดา เทรโอปาโน
ก่อนครองราชย์ในช่วงที่เป็นรองจักรพรรดิ
ในปี 962 ข้าได้รับการสถาปนาเป็นรองจักรพรรดิ ในขณะที่มีอายุได้ 2 พรรษา แต่เมื่อพระบิดาของข้าสวรรคตลงในปี 963 พี่ชายของข้าก็ได้ขึ้นจักรพรรดิเบซิลที่ 2 มีสถานะเป็นจักรพรรดิในนาม ส่วนข้าก็ได้เป็นรองจักรพรรดิ แต่สถานะของข้าและพี่ชายคือสถานะเดียวกัน ซึ่งก็คือ "ผู้ปกครองร่วม" ต่างกันเพียงแค่ชื่อตำแหน่งเท่านั้น ส่วนอำนาจการบริหารบ้านเมืองเป็นของนายพล2คน ที่ขึ้นมาเป็นจักรพรรดิอาวุโส ส่วนข้าและพี่ชายก็เป็นผู้ปกครองร่วมอยู่เช่นเดิม แต่หลังจากที่นายพลสองคนนี้สิ้นชีวิตลง พี่ชายของข้าก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิอาวุโส ซึ่งมีอำนาจบริหารอย่างเป็นทางการ ส่วนข้าก็เป็นรองจักรพรรดิอยู่เช่นเดิม จนถึงวันที่พี่สวรรคต
การครองราชย์เป็นจักรพรรดิอาวุโส
ข้าโชคดีที่มีพี่ชายเป็นผู้ทรงพระปรีชาสามารถ ทำให้บ้านเมืองสงบสุข และขยายดินแดนไปรอบๆ ซึ่งก็เป็นการฟื้นฟูความยิ่งใหญ่และความรุ่งเรืองของจักรวรรดิไบแซนไทน์อีกครั้งหนึ่ง ตลอดยุคของพระองค์ ถือว่าเป็นหนึ่งในสามยุครุ่งเรืองสูงสุดของไบแซนไทน์ ภายหลังการสวรรคต ข้าได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิอาวุโสต่อจากพี่ชายของข้า เมื่อปี 1025 ทำให้ข้ามีอำนาจสูงสุดในการบริหารบ้านเมือง หลังจากที่ต้องช่วยพี่ชายบริหารในฐานะรองจักรพรรดิมาเกือบ50ปี
ความโชคดีตลอดการครองราชย์
ดังที่ข้าได้เล่าไปแล้วว่า พี่ชายของข้าเป็นผู้ที่เก่งกาจมากขนาดไหน ดังนั้นเมื่อข้าขึ้นเป็นจักรพรรดิอาวุโส ข้าแทบไม่ต้องลงทุนอะไรมากเลย แค่อาศัยบารมีที่พี่ได้สร้างสมเอาไว้ ข้าก็อยู่ได้แล้ว บางครั้งข้าก็อาจหลงระเริงไปกับความสุขสบายบนบัลลังก์จักรพรรดิที่ชีวิตนี้เกือบจะไม่ได้เป็นแล้ว แต่ถึงอย่างไร พลังแห่งบารมีที่พี่ข้าได้สร้างสมไว้มันก็ช่างเห็นผลได้นานเหลือเกิน ถึงแม้ข้าจะไม่สนใจงานบ้านงานเมืองประชาชนก็ต่างอยู่ดีกินดี บ้านเมืองสงบสุข ความเจริญก็ยังอยู่ไม่ได้หายไปไหน ข้าช่างโชคดีเหลือเกิน
วาระสุดท้ายแห่งชีวิต
ข้าขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิอาวุโสได้แค่ 3 ปี ข้าก็สิ้นลม ในปี 1028 รวมอายุได้ 68 ปี เท่ากับว่า ตลอด3ปีที่ข้าครองราชย์ ข้าอยู่ได้เพราะบารมีพี่ชายข้าล้วนๆ แต่หลังจากที่ข้าจากไปแล้วนั้น จักรวรรดิไบแซนไทน์ก็เริ่มตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ชื่อของข้าก็ได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์ร่วมกับพี่ชายของข้าว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานติดท๊อป10ของโลก ถึงแม้ข้าจะเป็นจักรพรรดิอาวุโสแค่ 3 ปี แต่อย่าลืมว่า สำหรับจักรวรรดิไบแซนไทน์แล้ว จักรพรรดิเป็นแค่ชื่อตำแหน่ง คำที่ถูกต้องคือ "ผู้ปกครองร่วม" ดังนั้นข้าเป็นผู้ปกครองร่วมตั้งแต่ปี 962 เพราะฉะนั้นข้าจึงครองราชย์รวมทั้งสิ้น 66 ปี นานกว่าพี่ชายข้าเสียอีก
อันดับ 5 จักรวรรดิฟรันทซ์ โยเซฟ ที่ 1
จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี
ครองราชย์ 2 ธันวาคม 1848
สวรรคต 21 พฤศจิกายน 1916
รวมเวลาทั้งสิ้น 67 ปี 355 วัน
พระราชสมภพ 18 สิงหาคม 1830
พระราชบิดา อาร์ชดยุกฟรันทซ์ คาร์ลแห่งออสเตรีย
พระราชมารดา เจ้าหญิงโซฟี แห่งบาวาเรีย
พระมเหสี เอลีซาเบ็ทแห่งบาวาเรีย
1
ก่อนครองราชย์และการปฏิวัติเวียนนา 1848
เมื่อข้ายังเด็ก ข้าอาศัยอยู่ในจักรวรรดิออสเตรีย ซึ่งยังไม่ได้ขยายเป็นออสเตรีย - ฮังการี ดังที่หลายๆคนคุ้นหู แต่เมื่อข้าอายุได้ 18 ปี ก็เกิดการปฏิวัติเวียนนาขึ้น เมื่อปี 1848 ซึ่งทำให้เกิดการจัดตั้งรัฐสภา และลดทอนพระราชอำนาจของพระจักรพรรดิลง แต่เมื่อข้าขึ้นครองราชย์ ข้าก็อดทนดูสภาพการบริหารบ้านเมืองของรัฐสภาที่ไร้เสถียรภาพไม่ได้ ข้าจึงจำเป็นต้องแทรกแซงและใช้อำนาจบริหารด้วย ก่อนที่จักรวรรดิออสเตรียของข้าจะวุ่นวายไปมากกว่านี้
การครองราชย์
เมื่อเกิดการปฏิวัติขึ้น ทำให้สมเด็จลุงของข้า "จักรพรรดิเฟอร์ดินานที่ 1" ต้องสละราชสมบัติอย่างกะทันหัน พระบิดาของข้าก็ไม่ปรารถนาจะรับราชสมบัติ ในที่สุดทุกสิ่งทุกอย่างก็มาลงเอยที่ข้า ทำให้ข้าได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิแห่งออสเตรีย เมื่อปี 1848 เมื่อมีอายุได้ 18 ปี
จักรพรรดิฟรันทซ์ โยเซฟ วัยหนุ่ม
ปัญหาทางการเมืองและการรวมฮังการี
นอกจากข้าจะต้องยอมรับและใช้อำนาจอย่างระมัดระวังในระบอบใหม่ที่ข้าอยู่ใต้กฎหมายแล้ว ข้ายังต้องเผชิญกับแรงต่อต้านของกลุ่มชนที่ไม่ชอบขี้หน้าข้าอีก ด้วยการที่สมัยนั้นยังไม่มีการรวมประเทศเฉกเช่นปัจจุบัน จักรวรรดิออสเตรียก็เป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆของอาณาจักรย่อยในดินแดนแห่งนี้ ซึ่งพวกเขาต่างปกครองตนเองและมีรัฐบาลเป็นของตัวเอง เพียงแต่มีพระจักรพรรดิคนเดียวกันเท่านั้นเอง แต่ปัญหาก็คือพวกเขาต่อต้านข้า หนึ่งในอาณาจักรที่ก่อกบฎโดยหวังจะประกาศเอกราช จนข้าต้องรีบเร่งแก้ปัญหา นั่นก็คือ "ฮังการี" แต่ภายหลังที่ข้าเจรจา เพื่อให้พวกเขามั่นใจในระบอบใหม่ของข้า ในที่สุดพวกเขาก็ยอมล้มเลิกขบวนการและยอมรับข้าในที่สุด
ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา จักรวรรดิออสเตรียจึงได้ขยายเป็นออสเตรีย - ฮังการี และต่อมาข้าก็ได้ทำภารกิจต่างๆนานา เพื่อสะสางปัญหาความขัดแย้งของอาณาจักรย่อยๆภายในจักรวรรดิออสเตรีย ทำให้ในภายหลังข้าได้มีตำแหน่งเพิ่มขึ้นอีกรวมเป็น 3 ตำแหน่ง ได้แก่
1.จักรพรรดิแห่งออสเตรีย
2.พระมหากษัตริย์แห่งฮังการี โครเอเชีย โบฮีเมีย และลอมบาร์เดีย-เวนิส
3.ประธานแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี
รอดชีวิตจากการถูกลอบปลงพระชนม์
เมื่อปี 1853 ข้าถูกลอบปลงพระชนม์โดยชาวฮังการีชาตินิยมคนหนึ่ง ชื่อว่า "ลีเบนยี" เขาวิ่งตรงเข้าหาข้า แล้วใช้มีดแทงข้างหลังและคอของข้า แต่เพราะความโชคดีของข้าที่ใส่ชุดราชการตามกฎ ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ โดยบริเวณปกคอเสื้อทำมาจากวัสดุที่เหนียวและหนา ดังนั้นคมมีดจึงไม่อาจทำร้ายข้าได้ ส่วนลีเบนยีผู้เป็นฆาตกรนั้นก็ถูกประหารชีวิตในเวลาต่อมา
ภาพจำลองการลอบสังหาร
เปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 1
หลายคนคงรู้จักข้าก็ตอนนี้นี่แหละ แต่ข้าขอย้อนความก่อน ในปี 1889
อาร์ชดยุกรูดอล์ฟ ผู้เป็นองค์รัชทายาทได้ปลิดชีพตัวเองพร้อมพระชายา ความสูญเสียครั้งนี้ทำให้ข้าต้องเร่งสรรหาบุคคลในราชวงศ์ที่จะมารับตำแหน่งรัชทายาท จนสุดท้ายข้าก็ได้เลือก "ฟรานซ์ เฟอร์ดินาน" หลายๆคนพออ่านมาถึงตรงนี้ก็จะเริ่มรู้เรื่องราวที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้แล้ว แน่นอนว่า หลังจากที่ฟรานซ์ เฟอร์ดินาน ได้เป็นรัชทายาทแล้ว ก็ต้องมีการเสด็จออกวังไปเยี่ยมเยียนประชาชนบ้างเป็นปกติ แต่เมื่อเขาเดินทางไปที่บอสเนีย ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ซึ่งเป็นชนวนเหตุให้เกิดสงครามโลก นั่นก็คือ เขาถูกลอบสังหารพร้อมกับภรรยา เมื่อข้าทราบเรื่องก็ถึงกับโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ จนสุดท้ายข้าก็ประกาศสงครามกับบอสเนียทันที ซึ่งนำพาไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 นั่นเอง
การลอบสังหารมกุฎราชกุมาร "ฟรานซ์ เฟอร์ดินาน"
ความโชคดีที่ไม่ได้เกิดกับคนอื่น
ชะตาชีวิตเป็นสิ่งที่เรากำหนดไม่ได้ เมื่อถึงเวลาเราก็ไป และข้าก็เป็นหนึ่งในนั้น หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ดำเนินมาได้ 2 ปี ข้าก็จากโลกนี้ไปด้วยอายุ 86 ปี ในขณะที่สงครามยังไม่จบ ทิ้งภาระและความโชคร้ายไว้ให้ลูกหลานต้องแบกรับ เพราะหลังจากสงครามจบลง ฝ่ายมหาอำนาจกลางพ่ายแพ้ ทำให้จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีล่มสลาย จักรพรรดิคนต่อมาและเชื้อพระวงศ์ต้องถูกขับไล่และถูกจับกุมดำเนินคดี เหล่าอาณาจักรย่อยภายใต้การปกครองของจักรวรรดิ ก็ต่างแยกตัวพร้อมกับประกาศเอกราชเป็นประเทศเกิดใหม่หลายชาติ ช่างน่าเสียดายและน่าอัปยศจริงๆ
1
อันดับ 4 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
สหราชอาณาจักร
เครือจักรภพแห่งประชาชาติ
ครองราชย์ 6 กุมภาพันธ์ 1952
ครองราชย์มาแล้ว 69 ปี (2021)
พระราชสมภพ 21 เมษายน 1926
พระราชบิดา พระเจ้าจอร์จที่ 6
พระราชมารดา สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี (Queen mum)
พระสวามี เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ
1
ก่อนครองราชย์
ฉันเกิดมาในยุคตรงกลางระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ในขณะนั้นพระเจ้าปู่ของฉัน พระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงคุณค่าต่อราชวงศ์และประเทศอังกฤษทั้งประเทศ เพราะพระองค์สามารถนำพาประเทศให้รอดพ้นและชนะสงครามได้ รวมถึงพยายามประคับประคองให้ราชวงศ์สามารถอยู่รอดต่อไปได้ ซึ่งถ้าไม่มีพระเจ้าปู่องค์นี้ ฉันก็อาจไม่ได้เป็นกษัตริย์มาจนถึงทุกวันนี้ หรืออาจจะล่มสลายทั้งราชวงศ์เลยก็ได้
พระเจ้าจอร์จที่ 5 พระอัยกาของควีนเอลิซาเบธ
แต่เมื่อพระเจ้าปู่สวรรคต ในปี 1936 ประชาชนชาวอังกฤษต่างผิดหวังกับพระราชาองค์ใหม่ ซึ่งก็คือสมเด็จลุงแท้ๆของฉันเอง "พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8" พระองค์ครองราชย์ได้แค่ 1 ปี ก็สละราชสมบัติ เพียงเพราะต้องการอยู่กับผู้หญิงที่พระองค์ทรงรัก ทำให้เสด็จพ่อต้องขึ้นครองราชย์ต่อจากพี่ชายของท่าน เป็นพระเจ้าจอร์จที่ 6 ทั้งๆที่ทรงไม่มีความพร้อมในหลายๆด้าน ท่านพ่อทรงป่วยเป็นโรคติดอ่าง ซึ่งเป็นอุปสรรคในการพูดแต่ละครั้ง ทำให้ฉันได้มีโอกาสช่วยงานพ่ออยู่บ่อยๆ ตั้งแต่เด็ก เป็นการฝึกประสบการณ์และเตรียมพร้อมที่จะเป็นกษัตริย์ในอนาคต
1
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 สละราชสมบัติเพื่อแต่งงานกับหญิงสามัญชน ท่ามกลางการคัดค้านของรัฐสภาและสมาชิกราชวงศ์
พระเจ้าจอร์จที่ 6 - เจ้าหญิงเอลิซาเบธ - พระราชินีเอลิซาเบธ - เจ้าหญิงมาร์กาเร็ต
ขึ้นครองราชย์
เวลาล่วงเลยมาจนถึงปี 1952 เสด็จพ่อก็สวรรคตอย่างกะทันหัน โดยไม่มีใครคาดคิดว่าพระองค์จะจากไปเร็วขนาดนี้ ทำให้ฉันซึ่งอยู่ที่ประเทศเคนยาในขณะนั้น ต้องรีบเดินทางกลับทันที และในวันนั้นเอง ฉันก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินาถ ท่ามกลางการต้อนรับอย่างปลื้มปีติของประชาชนชาวอังกฤษนับหมื่นนับแสนคน
พิธีราชาภิเษกอันแสนยิ่งใหญ่
ในปีต่อมาพิธีราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีก็ถูกจัดขึ้นที่มหาวิหาร
เวสต์มินเตอร์ ในวันที่ 2 มิถุนายน ปี 1953 นับว่าเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ตระการตาและน่าตื่นตาตื่นใจ มีการถ่ายทอดสดพิธีผ่านโทรทัศน์ไปทั่วแผ่นดินอังกฤษ ทำให้ประชาชนต่างแห่กันซื้อโทรทัศน์เพื่อดูพิธีนี้โดยเฉพาะ ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปด้วยในตัว ทั้งโรงภาพยนตร์และโรงแสดงคอนเสิร์ตต่างเต็มไปด้วยผู้คนที่เฝ้ารอการถ่ายทอดสดครั้งนี้อย่างหนาแน่น นอกจากพิธีในวิหารแล้ว ก็มีการจัดขบวนแห่และการสวนสนามของกองทหารที่สวยงาม รายล้อมไปด้วยประชาชนชาวอังกฤษนับพันนับหมื่นคน ที่ยืนนั่งอยู่ริมถนนเป็นแนวยาว เฝ้ารอการเสด็จโดยรถม้าพร้อมๆกับทหารกองเกียรติยศ รวมเวลาการถ่ายทอดสดตลอดพิธีทั้งหมด 11 ชั่วโมง
เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกสู่อังกฤษยุคใหม่และเป็นการเริ่มต้นสู่ยุคที่สดใสเบ่งบานและรุ่งเรือง หลังจากที่อังกฤษตกอยู่ในความบอบช้ำหลังสงครามที่จบลงแล้วเกือบสิบปี
พิธีราชาภิเษกในมหาวิหารเวสมินเตอร์
ประมุขแห่งเครือจักรภพ
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง อังกฤษได้สูญเสียความเป็นมหาอำนาจให้แก่สหรัฐอเมริกา และหลายๆดินแดนที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษก็ต่างประกาศเอกราชแยกตัวเป็นอิสระ ทำให้อังกฤษสูญเสียดินแดนไปมาก ทำให้มีการก่อตั้งเครือจักรภพแห่งประชาชาติขึ้นในปี 1931 ซึ่งก็คือการรวมดินแดนที่เคยเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษที่เหลืออยู่ ซึ่งองค์กรนี้ก่อตั้งมาก่อนที่ฉันจะครองราชย์ ดังนั้นเมื่อฉันได้ครองราชย์แล้ว ตำแหน่งประมุขในประเทศต่างๆภายใต้เครือจักรภพก็ได้รับการสถาปนาไปโดยอัตโนมัติ ทำให้ฉันต้องเสด็จเยือนประเทศนั้นๆอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อผูกสัมพันธ์กับรัฐบาลและประชาชน ในปัจจุบันมีประเทศสมาชิกในเครือจักรภพแห่งประชาชาติทั้งสิ้น 54 ประเทศ ประกอบด้วย รัฐเอกราช 16 ประเทศ
สาธารณรัฐ 33 ประเทศ
ราชอาณาจักรที่มีราชวงศ์เป็นของตนเอง 5 ประเทศ
ฉันดำรงตำแหน่งเป็นประมุขแห่งเครือจักรภพ ซึ่งครอบคลุมทั้ง 54 ชาติสมาชิก แต่เป็นประมุขแห่งรัฐหรือจะเรียกว่าพระมหากษัตริย์ก็ได้ เพียงแค่ 16 ประเทศในนี้ เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ส่วนประเทศอื่นอีก 38 ประเทศ ฉันไม่ได้เป็น แต่เป็นแค่หัวหน้าองค์กรนี้เฉยๆ
เจ้าหญิงมาร์กาเร็ต เคาน์เตสแห่งสโนว์ดอน - ซุปสตาร์แห่งราชวงศ์
เธอเป็นน้องสาวคนเดียวของฉัน มาร์กาเร็ตคือบุคคลที่เปรียบเสมือนซุปสตาร์ในราชวงศ์ เพราะชีวิตที่มีสีสันของเธอ ทั้งเรื่องดีและไม่ดี ฉันยอมรับว่ามาร์กาเร็ตเป็นคนเดียวในราชวงศ์ที่กล้าทำในสิ่งที่แตกต่างและเป็นตัวของตัวเอง ในยุคที่สังคมยังมีความอนุรักษ์นิยมสูง ทั้งการใส่เสื้อผ้าแฟชั่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งมีความสมัยใหม่ เป็นไอดอลให้กับใครหลายคนในยุคนั้น รวมถึงมีความสามารถพิเศษที่ไม่มีใครในราชวงศ์ทำได้ นั่นก็คือ ร้องเพลง เต้นรำ และเล่นดนตรี ซึ่งฉันภูมิใจในส่วนนี้ ส่วนข้อด้อยของเธอก็มีหลายเรื่องเช่นกัน ทั้งนอกกรอบเกินไป มีสีสันเกินความเหมาะสม จนทำให้ตัวเองเดือดร้อนอยู่บ่อยครั้ง การหย่าร้างถึงสองครั้ง จนกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวที่ลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ รวมถึงสูบบุหรี่ต่อหน้าสาธารณชน แต่ถึงอย่างไร ฉันก็รักและห่วงใยน้องคนนี้มาก
เจ้าหญิงมาร์กาเร็ต เจ้าหญิงผู้เปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์แห่งศิลปะและมีสีสัน
หลายๆคนไม่ค่อยได้ยินได้ฟังเรื่องราวของมาร์กาเร็ตมากนัก มักจะได้ยินแต่เรื่องของฉันในฐานะราชินี แต่ถ้าได้ฟังเรื่องราวของมาร์กาเร็ตแล้ว เชื่อว่าคนรุ่นใหม่หลายคนชื่นชอบแน่นอน แต่น่าเสียดายที่เรื่องราวของเธอแทบไม่ได้ถูกกล่าวถึงเลย ตั้งแต่เข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 21 เพราะมาร์กาเร็ตได้จากโลกนี้ไปแล้วตั้งแต่ปี 2002 ขณะอายุแค่ 72 ปี นี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอไม่ค่อยถูกพูดถึงในยุคนี้ก็เป็นได้ แต่ถึงอย่างไร ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน เรื่องราวของเธอก็ยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ที่ชอบความเป็นตัวเองได้ไม่น้อย
ค.ศ.1992 ปีแห่งหายนะของราชวงศ์วินเซอร์
ในปี 1992 เป็นที่สูญเสียและเจอกับเหตุการณ์ร้ายๆมากมาย โดยเฉพาะเรื่องอื้อฉาวในราชวงศ์ที่เล่นงานฉันอย่างหนักหน่วง
1.เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์กหย่าร้างกับภรรยา
ลูกชายคนที่สามของฉันได้ทำเรื่องเสียๆหายๆ ซึ่งเป็นการฉีกหน้าคริสตจักรครั้งสำคัญในยุคที่สมาชิกราชวงศ์ห้ามหย่าร้าง
2.เจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารีหย่าร้างกับสามี
ถึงคู่นี้จะไม่เป็นประเด็นร้อนแรงเท่าคู่ที่แล้ว แต่ก็ถือเป็นความล้มเหลวในชีวิตคู่ของบุคคลในราชวงศ์
3.ชีวิตรักอันขมขื่นของเจ้าชายชาร์ลส์และไดอานา
หลังจากที่หนังสือ Diana and Her True Story ได้ออกวางขายสู่สาธารณะ ก็เป็นที่จับตามองและให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง ปัญหาชีวิตรักและการใช้ชีวิตในราชวงศ์ของไดอานา ที่ทำให้หลายคนรู้ความจริงว่า เธอเครียดและทุกข์มากขนาดไหน จนถึงกับเป็นโรคซึมเศร้า รวมถึงการคบชู้ของเจ้าชายชาร์ส์กับคามิลลา ที่ทำให้ไดอานาเครียดหนักขึ้นไปอีก
1
ภาพที่ปรากฏสู่ภายนอกตรงข้ามกับความจริงทั้งหมด
4.ไฟไหม้พระราชวังวินเซอร์
พระราชวังถูกไฟโหมกระหน่ำนานกว่า 9 ชั่วโมง ถึงจะดับไฟได้ โดย 100 ห้องในวังเสียหายและถูกทำลาย รวมถึงทรัพย์สินมีค่าหลายอย่าง ต้องใช้เวลานานถึง 5 ปีในการบูรณะ ด้วยเงินมูลค่าสูงถึง 36.5 ล้านปอนด์
เหตุการณ์ไฟไหม้พระราชวังวินเซอร์ในปี 1992
พระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์นานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ
ฉันเป็นคนเดียวใน 10 อันดับนี้ ที่ยังมีชีวิตอยู่และยังไม่ลงจากบัลลังก์ด้วย ในปีหน้าฉันจะครองราชย์ครบ 70 ปี แล้ว ซึ่งจะทำให้ฉันขึ้นแท่นอันดับ 2 ส่วนการจะครองราชย์ต่อหรือสละราชสมบัติก็ต้องติดตามรอการประกาศต่อไป แต่ถ้าให้ผู้เขียนเดา ขอเดาว่าจะครองราชย์ต่อไปเรื่อยๆ จนสวรรคตหรือไม่ก็ครองราชย์ต่อจนกว่าจะอยากหยุด แต่ถ้าทรงครองราชย์ต่อจนสวรรคต ก็คาดว่าพระองค์จะสามารถทำลายสถิติการครองราชย์นานที่สุดอันดับ 1 ไปได้อย่างแน่นอน เพราะพระองค์มีพันธุกรรมที่ได้จากพระมารดา ซึ่งสิ้นพระชนม์ตอนอายุมากถึง 101 ปี ก็คาดว่าองค์ราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 นี้ จะสามารถครองราชย์ได้นานจนถึง 80 ปี เลยทีเดียว ถ้าพระองค์ยังทรงแข็งแรงดีเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
The Queen Mother ผู้มีอายุยืนนานถึง 101 ปี
อันดับ 3 โยฮันน์ที่ 2 เจ้าชายแห่งลิกเตนสไตน์
ลิกเตนสไตน์
ครองราชย์ 12 พฤศจิกายน 1858
สวรรคต 11 กุมภาพันธ์ 1929
รวมเวลาทั้งสิ้น 70 ปี 91 วัน
พระราชสมภพ 5 ตุลาคม 1840
พระราชบิดา เจ้าชายอลอยส์ที่ 2 เจ้าชายแห่งลิกเตนสไตน์
พระราชมารดา เคาน์เตสฟรานซิสก้าคินสกีแห่ง Wchinitz และ Tettau
พระมเหสี ไม่ได้อภิเษกสมรส
1
ราชรัฐลิกเตนสไตน์
ประเทศของข้าเป็นรัฐเอกราชเล็กๆ ที่อยู่ระหว่างสวิตเซอร์แลนด์กับออสเตรีย ซึ่งมีขนาดเล็กเป็นอันดับ 6 ของโลก ย้อนกลับไปในปี 1719 ในสมัยโยฮันน์ที่ 1 ท่านได้ซื้อดินแดนส่วนนี้มาจากจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และตั้งชื่อใหม่ว่า
"ลิกเตนสไตน์" ต่อมาในปี 1815 ก็ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ "สมาพันธรัฐเยอรมัน" และแยกตัวเป็นอิสระในปี ค.ศ. 1866 ทำให้มีสถานะเป็นประเทศเอกราช ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ส่วนตำแหน่งพระมหากษัตริย์ของที่นี่ ไม่ได้ใช้คำว่า พระราชาหรือพระราชาธิบดี แต่ใช้คำว่า เจ้าชายแห่งลิกเตนสไตน์
การครองราชย์
หลังจากการสวรรคตของพระเจ้าพ่อ "อลอยที่ 2 เจ้าชายแห่งลิกเตนสไตน์" ในปี 1858 ทำให้ข้าได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งลิกเตนสไตน์ เมื่ออายุได้ 18 ปี
เจ้าชายโยฮันน์ในวัยหนุ่ม
การปฏิรูปกฏหมาย
ในปี 1862 ข้าประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของลิกเตนสไตน์ ซึ่งทำให้ข้าสูญเสียอำนาจไปส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่ดีกว่าและเป็นคุณต่อบ้านเมือง นั่นก็คือ ทำให้ลิกเตนสไตน์สามารถแยกตัวออกจากสมาพันธรัฐเยอรมันได้สำเร็จ เมื่อปี 1866 ถือว่าเป็นวันเอกราชของประเทศ
แรงผลักดันสู่สันติภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
ระหว่างเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศลิกเตนสไตน์วางตัวเป็นกลางและพยายามเข้าหากับสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นพันธมิตรและเป็นกลางเช่นกัน ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง ข้าได้ผลักดันให้ทั่วโลกรับรองกฏหมายระหว่างประเทศ ว่าด้วย "หลักประกันความเป็นกลางทางการเมืองและสงครามระหว่างรัฐ" ซึ่งหมายถึง จะไม่มีประเทศไหนถูกบังคับให้เข้าร่วมสงครามโดยไม่เต็มใจ ซึ่งประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา
บั้นปลายพระชนม์ชีพและการสวรรคต
ภายหลังจากการครองราชย์มานานถึง 70 ปี กับ 3 เดือนเศษๆ ก็สวรรคตเมื่อปี 1929 ขณะมีพระชนมายุ 88 ปี ซึ่งข้าไม่ได้อภิเษกสมรส จึงไม่มีทายาท ดังนั้นผู้สืบต่อราชสมบัติคนต่อมาก็คือน้องชายของข้า "เจ้าชายฟรานซ์ที่ 1"
อันดับ 2 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ราชอาณาจักรไทย
ครองราชย์ 9 มิถุนายน 1946
สวรรคต 13 ตุลาคม 2016
รวมเวลาทั้งสิ้น 70 ปี 126 วัน
พระราชสมภพ 5 ธันวาคม 1927
พระราชบิดา สมเด็จพระมหิตลาธิเบตร อดุลยเดชวิกรม บรมราชชนก
พระราชมารดา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
พระมเหสี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ
ครอบครัวมหิดล
ผมโชคดีและภูมิใจที่เกิดมาในครอบครัวที่อบอุ่นและเป็นที่รักของประชาชน พ่อของผมเป็นเจ้านายที่มีความคิดสมัยใหม่และฝักใฝ่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ท่านเป็นหมอที่มีความสามารถและมีจิตใจเมตตากรุณาต่อมนุษย์ทุกคนทุกชนชั้น ถึงกับสละความสบายที่ควรได้รับในฐานะเจ้านาย เดินทางขึ้นเหนือไปรักษาผู้ป่วยบนดอย ตลอดชีวิตของท่าน ได้เสียสละและอุทิศตนเพื่อชีวิตประชาชนล้วนๆ จนได้รับยกย่องจากยูเนสโกและเป็นพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย ด้วยความเป็นเจ้านายที่มีความเป็นประชาธิปไตย ทำให้ครอบครัวมหิดลของเราได้รับความเคารพนับถือจากประชาชนเป็นอย่างมาก ทำให้คณะรัฐบาลในสมัยนั้นตัดสินใจเลือกให้ครอบครัวมหิดล ได้ขึ้นครองราชบัลลังก์ หลังจากการสละราชสมบัติของในหลวงรัชกาลที่ 7
1
สมเด็จพระมหิตลาธิเบตร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และหม่อมสังวาลย์ ทรงเป็นเจ้านายสมัยใหม่ที่ยึดมั่นประชาธิปไตยและความเท่าเทียม เห็นได้ชัดจากการแต่งงานกับสามัญชน
ก่อนครองราชย์
หลังจากผมเกิดมาแค่ปีเดียว ท่านพ่อก็ล้มป่วยและจากไป ตั้งแต่ผมอายุแค่หนึ่งขวบ หลังจากนี้เป็นต้นไป ครอบครัวของเราก็จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่กำลังมาเยือน เนื่องจากราชบัลลังก์ได้ถูกกำหนดไว้สำหรับท่านพ่อ แต่ท่านพ่อกลับสิ้นไปก่อนที่จะได้ขึ้นครองราชย์ ทำให้พี่ชายของผมต้องขึ้นครองราชย์ทันที เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 ในขณะที่มีอายุได้เพียง 9 ปี แต่ด้วยวัยที่ยังเด็ก ทำให้ท่านพี่ต้องเสด็จกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จนถึงปี 2488 ท่านพี่ก็ได้เสด็จกลับประเทศไทยพร้อมครอบครัว ในวันที่ 5 ธันวาคม 2488 เรียกว่า "การเสด็จนิวัติพระนคร ครั้งที่ 2"
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลครองราชย์ในขณะมีพระชนมายุ 9 พรรษา
การเสด็จนิวัติพระนครครั้งที่ 2 เมื่อปี 2488
การสูญเสียพี่ชายอันเป็นที่รักเป็นเหตุให้ต้องขึ้นครองราชย์
ระหว่างการเสด็จนิวัติพระนครและประทับชั่วคราวในประเทศไทย โดยมี
กำหนดกลับสวิตเซอร์แลนด์วันที่ 13 มิถุนายน 2489 ก็ได้เหตุไม่คาดฝันและเป็นความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของคนไทยทั้งชาติ เมื่อเช้าวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ท่านพี่ถูกลอบปลงพระชนม์และสวรรคตในห้องบรรทม เมื่อข่าวการสวรรคตได้เผยแพร่ออกไป คนไทยทั่วทั้งแผ่นดินก็ต่างเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างมาก ที่ได้สูญเสียพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งและเป็นความหวังของประเทศชาติโดยกะทันหันและไม่มีใครคาดคิดมาก่อน คดีการลอบปลงพระชนม์ยังคงลึกลับและไม่มีใครรู้ว่าความจริงคืออะไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นความจริงอย่างแน่นอนก็คือ ผมได้ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา อะไรมันจะรวดเร็วขนาดนี้
2
เป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องความรักให้แก่คนรุ่นใหม่
หลังจากผมขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ในขณะนั้นมีอายุ 19 ปี ยังไม่บรรลุนิติภาวะและยังเรียนไม่จบ ผมจึงต้องเสด็จกลับไปศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างนั้น ผมได้พบรักกับหญิงคนหนึ่ง เธอเป็นลูกสาวของเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศอังกฤษ เธอคนนั้นคือ "ม.ร.ว.สิริกิตติ์ กิติยากร" นั่นเอง เราได้คบกันและออกเดทเป็นช่วงๆ จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเราสองคนใกล้ชิดกันมากขึ้น วันหนึ่งผมประสบอุบัติเหตุรถชนจนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเธอก็ดูแลผมอย่างดี ทำให้เราสองคนยิ่งรักกันมากขึ้นไปอีก ในที่สุดเราก็แต่งงานกันเป็นสามีภรรยา อยู่ด้วยกันไปตลอดชีวิต จะเห็นได้ว่าในรัชกาลนี้ ไม่มีนางสนมหรือพระภรรยารองเหมือนที่กษัตริย์องค์ก่อนๆมี แสดงให้เห็นถึงความมีใจรักเดียวใจเดียว ซึ่งทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่ เป็นแบบอย่างให้แก่คนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี
เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม
เมื่อผมสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยแล้ว ก็ถึงคราวที่ต้องเสด็จกลับดินแดนมาตุภูมิ กลับมาทำหน้าที่ร่มโพธิ์ร่มไทรให้แก่ราษฎรอีกครั้ง และได้ทำพิธีราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีอย่างยิ่งใหญ่ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 สวมมงกุฎพร้อมรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์อันศักดิ์สิทธิ์ พร้อมทั้งพิธีขบวนพยุหยาตราทางสถลมารถ เสด็จเลียบพระนครตามประเพณี ท่ามกลางประชาชนชาวไทยนับหมื่นคนที่นั่งรอดูการเสด็จอยู่เต็มสองข้างทางอย่างหนาแน่นด้วยความยินดีและสดใส โดยผมตั้งมั่นว่าตราบใดที่ผมยังครองราชย์อยู่ ชีวิตนี้ผมอุทิศเพื่อคนไทยทั้งชาติ ผมจะเสด็จไปเยี่ยมเยียนและแก้ไขปัญหาต่างๆเท่าที่จะทำได้ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ทั่วทุกพื้นที่และทุกจังหวัดของประเทศ
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกและการเสด็จเลียบพระนคร
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อชีวิตดีมีสุข
ผมได้เห็นและสัมผัสถึงปัญหาความยากจนและชีวิตที่ลำบากยากเข็ญของประชาชนหลายค ในฐานะพระมหากษัตริย์จะในปล่อยละเลยไม่สนใจเรื่องนี้ได้อย่างไร ผมจึงใช้ความรู้ที่มีอยู่คิดค้น ค้นคว้าข้อมูล รวมถึงศึกษาวิธีการของต่างประเทศ และจัดระเบียบความคิดว่า อยู่อย่างไรให้มีกินมีใช้ อยู่อย่างไรให้มีความสุขและพอใจในสิ่งที่มี ในที่สุดผมได้คิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นมา ว่าด้วยการชี้แนะแนวทางการดำรงชีวิตของประชาชนทุกระดับให้อยู่ทางสายกลาง พอดีๆ ไม่มากไม่น้อยเกินไป ซึ่งผมได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับปรัชญานี้ครั้งแรกในปี 2517 มีการสอนและปลูกฝังแนวคิดความรู้หลักการนี้มาตลอดจนถึงปัจจุบัน ซึ่งประสบความสำเร็จและสามารถช่วยให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นได้จริง
1
4000 โครงการพระราชดำริ ความปรารถนาดีต่อบ้านเมือง
ตลอดการครองราชย์ของผม 70 ปี ผมได้ทำหน้าที่ตามที่ตั้งมั่นไว้ตั้งแต่วันราชาภิเษกเป็นการสำเร็จแล้ว นั่นก็คือการเสด็จไปเยี่ยมเยียนความเป็นอยู่ของประชาชนและแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องธรรมชาติ มนุษยธรรม วัฒนธรรม การศึกษา การแพทย์ และอื่นๆอีกมากมาย เมื่อใดที่ผมเสด็จไปที่นั่น โครงการในพระราชดำริก็จะเกิดขึ้นที่นั่น ซึ่งมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบและดำเนินการอยู่ที่นั่น รวมๆทุกโครงการทั่วประเทศประมาณ 4000 แห่ง ทุกๆแห่งมีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะด้าน ตัวอย่างโครงการที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เช่น โครงการฝนหลวง หรือฝนเทียม ซึ่งเป็นการปล่อยสารบางอย่างบนอากาศเพื่อสร้างปฏิกิริยาให้เมฆมารวมตัวกันมากๆ จนเกิดเป็นฝนที่ตกลงมา ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล และอื่นๆอีกมากมาย
งานออกแบบโปสเตอร์โครงการพระราชดำริ ขอบคุณรูปภาพจาก https://stock2morrow.com/article-detail.php?id=1270
พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชน
อย่างที่กล่าวมาตั้งแต่เกริ่นนำว่า พระมหากษัตริย์ที่ปกครองด้วยความดีและความเก่งจะสามารถครองใจประชาราษฎร์ได้มาก แต่เมื่อครองราชย์นานเข้าๆ ก็เป็นการสะสมบารมีและชื่อเสียงไปด้วย ทำให้เพิ่มความรักความผูกพันระหว่างประชาชนกับกษัตริย์ได้มากขึ้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็เช่นกัน โดยมีการจัดพระราชพิธีเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ในปี 2549 เนื่องในวาระครองราชย์ครบ 60 ปี ซึ่งมีพระมหากษัตริย์และพระราชินีจาก 25 ราชวงศ์ทั่วโลกเข้าร่วมพิธีครั้งนี้
พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
บั้นปลายพระชนม์ชีพและการสวรรคต
วัฏจักรเกิดแก่เจ็บตาย เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนต้องเจอ ไม่มีใครหนีพ้น เมื่อผมอายุได้ 86 ปี ผมก็ล้มป่วยลงด้วยโรคต่างๆที่รุมเร้าไปตามวัย ประกอบกับร่างกายที่ผ่านการใช้งานมามากและภูมิต้านทานโรคที่ยิ่งมีน้อยลงไปตามอายุที่มากขึ้น ในที่สุดผมก็สิ้นลมหายใจเสด็จสู่สวรรคาลัย เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 เวลา 15.52 น. ในขณะมีพระชนมายุ 89 ปี นำความโศกเศร้าเสียใจมาสู่ประชาชนชาวไทยทั่วหล้า น้ำตานองทั่วแผ่นดิน หลังจากนั้นพระโอรสองค์เดียวของผม ก็ได้ขึ้นครองราชย์ต่อมาเป็นพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 นั่นเอง
งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ 26 ตุลาคม 2560
อันดับ 1 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14
ราชอาณาจักรฝรั่งเศส
ครองราชย์ 14 พฤษภาคม 1643
สวรรคต 1 กันยายน 1715
รวมเวลาทั้งสิ้น 72 ปี 110 วัน
พระราชสมภพ 5 กันยายน 1638
พระราชบิดา พระเจ้าหลุยส์ที่ 13 แห่งฝรั่งเศส
พระราชมารดา อานาแห่งออสเตรีย
พระมเหสี มาเรีย เทเลส แห่งสเปน
ฟร็องซวซ โดบีเญ
การครองราชย์และเผชิญหน้ากับกบฎฟรองด์
ข้าเป็นยุวกษัตริย์อีกคนหนึ่งที่ครองราชย์ตั้งแต่อายุ 4 ขวบ หลังจากพระบิดาสวรรคตในปีเดียวกัน การครองราชย์ของข้าในช่วงแรกเต็มไปด้วยความวุ่นวายโกลาหลที่ผู้คนต่างลุกฮือขึ้นมาก่อกบฎต่อต้านเพื่อล้มล้างข้า เรียกว่ากบฏฟรองด์ ซึ่งพวกเขาเข้าควบคุมราชสำนักและกำหนดให้ข้ามีอำนาจควบคุมรัฐบาลอย่างเดียว ในตอนนั้นข้ายังเด็ก ไม่สามารถทำอะไรได้ ก็ต้องยอมทำตามที่เขาสั่งเพื่อความปลอดภัยของชีวิต แต่สุดท้ายกองทัพที่จงรักภักดีต่อข้าก็สามารถปราบปรามและขับไล่กบฎออกไปได้สำเร็จในปี 1652
ลัทธิเทวสิทธิราชย์ อำนาจของกษัตริย์ยิ่งใหญ่ที่สุด
หลังจากปราบกบฎได้แล้ว ข้าก็ได้รับการศึกษาจากพระอาจารย์ที่เป็นนายกรัฐมนตรีและสังฆราช ชื่อว่า "คาร์ดินาล มาซาแร็ง" ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกและปลูกฝังแนวคิดเทวสิทธิราชย์ให้แก่ข้า จนเขาเสียชีวิตในปี 1661 ข้าก็ไม่แต่งตั้งใครเป็นนายกอีก ข้าจะปกครองประเทศนี้ด้วยตัวเอง ทำให้ประเทศฝรั่งเศสเข้าสู่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์และใช้หลักเทวสิทธิ์ในการปกครอง หมายถึง พระมหากษัตริย์ได้รับบัญชาจากพระเจ้าบนสวรรค์ให้ลงมาปกครองบนโลกมนุษย์ ซึ่งทำให้กษัตริย์มีอำนาจสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว อำนาจของกษัตริย์ก็คืออำนาจของพระเจ้าซึ่งไม่อาจท้าทายได้ ทำให้ง่ายต่อการปกครองและไม่มีประชาชนคนไหนกล้าท้าทายอำนาจของข้า
พระราชวังแวร์ซายอันใหญ่โตมโหฬาร
ตลอดการครองราชย์ ข้าต้องการประกาศให้โลกรู้ว่าฝรั่งเศสยิ่งใหญ่ขนาดไหน แทนที่จะทำสงครามขยายดินแดนประกาศแสนยานุภาพตามที่หลายๆอาณาจักรชอบทำกัน แต่ข้าไม่ใช่ ข้ารู้ว่า ถ้าทำสงครามประเทศฝรั่งเศสต้องล่มจมเป็นแน่ ดังนั้นข้าจึงดลบันดาลให้เกิดพระราชวังอันใหญ่โตมโหฬาร ที่สร้างด้วยหินอ่อนสีขาว อันเป็นสถาปัตยกรรมที่งดงาม ภายในแบ่งออกเป็นห้องหลายห้อง เช่น ห้องบรรทม ห้องเสวย ห้องสำราญ ฯลฯ ทุกห้องล้วนมีเครื่องประดับที่สวยงามตระการตาและภาพเขียนที่มีชื่อเสียง ที่นี่คือ พระราชวังแวร์ซาย นั่นเอง ซึ่งข้าได้ทุ่มเงินสร้างมากถึง 500 ล้าน โดยใช้แรงงานคนทั้งหมด 30000 คน เริ่มสร้างในปี 1661 ใช้เวลาสร้างอยู่นานถึง 30 ปี จนเสร็จสมบูรณ์ในปี 1688
1
ทำให้พระราชวังแห่งนี้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศส ที่เมื่อใครๆมาเยือนดินแดนของข้า ก็ต่างเกรงกลัวและยอมศิโรราบต่อความยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศส ทำให้ไม่มีประเทศไหนอยากเป็นศัตรูกับฝรั่งเศส ทำให้บ้านเมืองสงบสุขไร้สงคราม แต่การสร้างพระราชวังที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้ก็ต้องแลกมาด้วยความเสื่อมโทรมของฝรั่งเศส ที่ข้าได้ขูดรีดภาษีประชาชนและใช้จ่ายเงินในท้องพระคลังไปอย่างมากมาย จนทำให้ฝรั่งเศสเกือบล่มจม แต่เมื่อเวลาผ่านมาจนถึงยุคปัจจุบัน พระราชวังแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงโด่งดังและสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นอย่างมาก ทุกๆปีมีคนจากทั่วโลกมาเที่ยวที่นี่เป็นล้านคน
พระราชวังแวร์ซายในปัจจุบัน
ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาน็องต์ เปิดศึกศาสนานองเลือด
ด้วยการที่ข้ามีอำนาจมากล้นฟ้า ทำให้ข้าเริ่มลุ่มหลงในอำนาจขึ้นมา และเริ่มใช้อำนาจในทางที่ผิด จนทำให้บ้านเมืองวุ่นวายแทบลุกเป็นไฟ ครั้งหนึ่งข้าได้ประกาศยกเลิกพระราชกฤษฎีกาน็องต์ ที่พระเจ้าปู่ของข้าได้ตราขึ้น เพื่อให้ชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์สามารถอยู่ร่วมกับชาวคาทอลิกได้อย่างสันติ โดยให้สิทธิพิเศษบางอย่างต่อชาวโปรเตสแตนท์ด้วย แต่ข้าเห็นต่างจากท่านปู่ ฝรั่งเศสเป็นดินแดนคาทอลิกมาแต่โบราณ แถมอยู่ใกล้วาติกันในอิตาลีซึ่งเป็นศูนย์กลางของคาทอลิกอีกด้วย จะให้โปรเตสแตนท์มาอยู่กับคาทอลิก แล้วได้สิทธิพิเศษกว่าคาทอลิกได้อย่างไร มันไม่ยุติธรรม ข้ารับไม่ได้ ดังนั้นข้าจึงประกาศยกเลิก
ซึ่งทำให้ชาวโปรเตสแตนท์ต้องอพยพออกนอกประเทศเป็นการใหญ่ และข้าก็เริ่มการกวาดล้างสังหารหมู่ชาวโปรเตสแตนท์ทั่วแผ่นดิน จนเกิดการนองเลือดขึ้น มีผู้เสียชีวิตมากมาย แต่ประชาชนก็ไม่สามารถทำอะไรข้าได้ ข้าจึงใช้อำนาจต่อไปเรื่อยๆ นับว่าเป็นการทิ้งรอยบอบช้ำไว้ให้กับฝรั่งเศส ซึ่งจะนำพาความพินาศมาสู่ประเทศในภายหลัง
การกวาดล้างชาวโปรเตสแตนท์ครั้งใหญ่ หลังการยกเลิกพระราชกฤษฎีกาน็องต์
ก้าวสู่มหาอำนาจโลก
ในยุคที่ข้าปกครอง ฝรั่งเศสกลายเป็นประเทศมหาอำนาจในยุโรปและแผ่อิทธิพลไปไกลถึงเอเชีย ทำให้ในยุคนั้น ภาษาฝรั่งเศสกลายเป็นภาษาสากลที่ทุกอาณาจักรทั่วโลกต้องใช้เป็นภาษากลางในการสื่อสารระหว่างประเทศ ถ้าใครจำได้ ในยุคของพระเจ้าหลุยส์ที่14 ตรงกับยุคของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยาของเรานี้เอง ถ้าใครเคยดูละครเรื่องบุพเพสันนิวาส จะจำได้ว่า พระองค์มอบหมายให้ พระยาโกษาปานเป็นทูตเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส จะเห็นได้ว่า ก่อนที่ท่านจะไป ท่านต้องเรียนภาษาฝรั่งเศสก่อน เพื่อจะได้สื่อสารเข้าใจ เมื่อมาถึงแล้วก็ได้หมอบคลานตั้งแต่ประตูวังแวร์ซายเข้าไปจนถึงบัลลังก์ ทำให้พระเจ้าหลุยส์ปลื้มใจเป็นอย่างมาก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงสิ้นยุคพระนารายณ์ กรุงศรีอยุธยาก็ค้าขายกับฝรั่งเศสเรื่อยมา นับว่าในยุคของข้านั้นเป็นยุครุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศสจริงๆ
พระยาโกษาปานเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
หลุยส์ เลอ กร็อง หลุยส์ผู้ยิ่งใหญ่ กษัตริย์แห่งดวงอาทิตย์
ด้วยการที่ข้าใช้หลักเทวสิทธิ์ปกครอง ทำให้ข้ามีอำนาจสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว ข้าจึงใช้ชื่อเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ว่า "หลุยส์ เลอ กร็อง" แปลว่า หลุยส์ผู้ยิ่งใหญ่ เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 1643 จนสวรรคต หลังจากข้าสวรรคตได้ 1 เดือน ก็ได้มีการสถาปนาชื่อใหม่ของข้า ที่กษัตริย์องค์ต่อมายกย่องข้าในฐานะกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ว่า "เลอ รัว-โซเลย" แปลว่า สุริยกษัตริย์ หรือกษัตริย์แห่งดวงอาทิตย์ แสดงให้เห็นว่าข้ามีอำนาจมากดั่งดวงอาทิตย์
บั้นปลายพระชนม์ชีพและการสวรรค
ข้าไม่คาดคิดว่า ข้าจะอายุยืนยาวและสามารถปกครองฝรั่งเศสได้นานถึง 72 ปี แต่ก็ถือว่าข้าภูมิใจมาก ที่ข้าขึ้นแท่นอันดับ 1 ของพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก จนกระทั่งสวรรคตในปี 1715 ทำให้มีปัญหาเรื่องทายาท เพราะลูกชายคนโตซึ่งเป็นองค์รัชทายาทก็สิ้นพระชนม์ไปก่อนข้า 4 ปี หลานชายของข้าก็สิ้นตามไปด้วยอีกคนหลังจากพ่อของเขาเพียง 1 ปี ทำให้สิทธิ์การครองราชย์ตกเป็นของ "เจ้าชายหลุยส์ ดยุกแห่งอ็องฌู" ซึ่งเป็นเหลนแท้ๆของข้า ต่อมาก็ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 15
พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 เป็นเหลนของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพราะการครองราชย์นานถึง 72 ปี ทำให้ทายาทรุ่นลูกรุ่นหลานของหลุยส์ที่ 14 ต่างทะยอยเสียชีวิตไปหมด
เป็นทั้งมหาราชและทรราช และจุดเริ่มต้นที่ทำให้ฝรั่งเศสเสื่อมโทรม
ตลอดการครองราชย์ของข้าถือเป็นยุคแห่งความรุ่งเรืองของฝรั่งเศส บ้านเมืองสงบสุข เพราะข้าปกครองอย่างเด็ดขาดและเข้มงวด ส่วนปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชนก็ยังคงมีน้อย ไม่ถึงขั้นลุกฮือขึ้นมา และด้วยอำนาจที่มีมากล้นฟ้าทำให้ข้าสามารถสั่งให้ทำอะไรในประเทศนี้ก็ได้ บางครั้งข้าก็สั่งด้วยความเหลิงอำนาจ จนทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย สร้างรอยบอบช้ำและรอยความแค้นให้แก่ประชาชนชาวฝรั่งเศสไม่น้อย หลังจากข้าสวรรคต ฝรั่งเศสก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ จนเสื่อมถอยถึงขีดสุดในยุคของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จนทำให้เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสในที่สุด เรียกได้ว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เป็นกษัตริย์ที่ได้รับความซวย ด้วยการเป็นแพะรับบาปที่ต้องมารับกรรมจากที่กษัตริย์รุ่นก่อนๆได้ทำไว้
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ประสบความล้มเหลวในการแก้ปัญหาปากท้อง ความเป็นอยู่ของประชาชน ปัญหาเกษตร และอื่นๆอีกหลายอย่าง โดยรวมแล้วปัญหาหลายอย่างมาจากการกระทำของกษัตริย์รุ่นบรรพบุรุษทั้งสิ้น รวมถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ด้วย
โฆษณา