25 ต.ค. 2021 เวลา 12:45 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
สาวเรืองแสง!!! ด้านมืดแห่งสารเรืองแสงที่ฆ่าพวกเธอทั้งเป็น
1
ในต้นศตวรรษที่ผ่านมาการใช้สารเรืองแสงบนสิ่งของต่างๆ เช่น หน้าปัดนาฬิกา ไปจนถึงเครื่องยนต์กลไก ช่วยยกระดับการใช้ชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามภายใต้การผลิตสินค้าดังกล่าว ผ่านประวัติศาสตร์อันดำมืดที่พนักงานสาวต้องสังเวยชีวิตไม่มากก็น้อย เรามาเรียนรู้เรื่องราวของสาวเรืองแสง (Radium Girls) และโศกนาฏกรรมของพวกเธอครับ
1
เรเดียม ธาตุแห่งอนาคต
เรเดียม (Radium) เป็นธาตุสำคัญที่มีเลขอะตอมอยู่ที่ 88 และมีสัญลักษณ์ Ra ครับ เรเดียมถูกค้นพบโดยคุณ Marie Curie และ Pierre Curie ผู้เป็นสามีของเธอในปี 1898 โดยการสกัดสารประกอบเรเดียม (Radium Compound) จากแร่ Uranite ครับ ทั้งคู่ได้ตีพิมพ์การค้นพบอันยิ่งใหญ่ผ่านทางสภาวิทยาศาสตร์แห่งฝรั่งเศส (French Academy of Science) ครับ
เรเดียมเป็นธาตุกัมมันตรังสีดังนั้นการสลายตัวของธาตุและการแผ่รังสีจึงเป็นอันตรายอย่างมากต่อสิ่งรอบข้างครับ ทำให้การใช้ประโยชน์ของเรเดียมส่วนใหญ่ถูกใช้กับการแพทย์ เช่น เครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้รักษามะเร็ง เป็นต้น แต่ในอดีตก็มีการนำเรเดียมมาใช้ในการผลิตแสงสว่างพรายน้ำโดยใช้สีเรืองแสงจากสารกัมมันตรังสี (Radio Luminescent Paint) ครับ โดยเฉพาะหน้าปัดนาฬิกาไปจนถึงหน้าปัดเครื่องยนต์ครับ อย่างไรก็ตามด้วยความรู้ของผู้คนสมัยนั้นยังไม่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้เรื่องอันตรายของสารกัมมันตรังสี สิ่งที่พวกเขาเข้าใจในตอนนั้นคือเรเดียมปลดปล่อยพลังงานออกมา แต่ไม่ทราบถึงภัยอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ ทำให้ขบวนการผลิตแสงสว่างพรายน้ำไม่ได้มีการป้องกันที่ดีนักครับ
1
จากสถาณที่ทำงานอันน่าภูมิใจกลายเป็นโรงงานแห่งความตาย
เมื่อมีการค้นพบเรเดียม เหล่านักคิดก็พยายามหาประโยชน์จากการปล่อยรังสีออกมาครับ ในปี 1917 บริษัทชื่อดังแห่งยุค U.S. Radium Corporation ได้นำเรเดียมมาผลิตสีเรืองแสงโดยมีชื่อทางการค้าว่า Undark (ไร้ความมืด) ครับ โดยมีการทำเหมืองอยู่ที่ Colorado และ Utah ครับ เมื่อเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตและล้ำยุคในสมัยนั้น ทำให้ผู้คนมีความสนใจและยินดีสมัครทำงานกับบริษัท U.S. Radium Corporation เป็นจำนวนมากครับ
2
ในเบื้องต้นบริษัท U.S. Radium Corporation ได้มีการจ้างงานพนักงานในส่วนการผลิตสี Undark และการทาสี Undark ลงไปในอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้เกิดพรายน้ำเรืองแสงในที่มืดครับ โดยพนักงานทาสีส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและมีชื่อเรียกอย่างภูมิใจว่า “Radium Girls” (ในที่นี้ผู้เขียนขอใช้คำว่าสาวเรืองแสงเพื่อความเข้าใจในบริบทครับ) ทั้งหมดเหมือนจะดูเป็นงานอันน่าภาคภูมิใจเพียงแต่การดูแลพนักงานทาสีและพนักงานในการผลิตต่างกันราวฟ้ากับเหวครับ
1
พนักงานที่ผลิตสารเคมี เช่น นักเคมี รวมไปถึงเจ้าของโรงงานทราบดีถึงภัยอันตรายจากรังสีจึงมีกสรสวมหน้ากาก ใส่อุปกรณ์ที่รัดกุม และทำงานภายใต้กำแพงตะกั่วเพื่อกันรังสี แต่พนักงานสาวเรืองแสงกลับทำงานในสภาวะปกติโดยไม่มีเครื่องป้องกันแต่อย่างใด และการทาสีลงบนอุปกรณ์ต่างๆ ใช้เพียงพู่กันหรือแปรงทำจากขนอูฐระบายเท่านั้น หากต้องระบายในจุดเล็กหรือต้องการความละเอียดอ่อน สาวเรืองแสงต้องใช้ปากของตนอมปลายแปรงที่ปนเปื้อนสาร Undark เพื่อให้แปรงแหลมพอจะทำงานละเอียดได้ครับ เรียกได้ว่ารับสารเคมีอันตรายเข้าไปอย่างต่อเนื่องครับ
การขยายกำลังการผลิตและความตายที่คืบคลานเข้ามา
ต่อมาสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็เริ่มขึ้นทำให้ความต้องการในการผลิตอาวุธและรถถังเพิ่มเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ความต้องการหน้าปัดรถถังเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ทำให้ U.S. Radium Corporation ได้เร่งกำลังการผลิตเป็นอย่างมากและจ้างสาวเรืองแสงเพื่อให้สามารถผลิตสินค้าได้ทันความต้องการ แต่ความปลอดภัยยังไม่มี
เหตุการณ์แห่งความตายเริ่มขึ้นหลังจากที่พนักงานสาวเรืองแสงเริ่มมีปัญหาทางทันตกรรมเพราะพวกเธอได้รับสาร Undark ผ่านทางปากโดยตรง บางคนมีอาการปวดกราม เริ่มสูญเสียฟัน ไปจนถึงขากรรไกรเน่าเปื่อยหลุดออกมาซึ่งเป็นผลมาจากการทำลายเซลล์ของสารเรเดียม บางคนมีปัญหาเรื่องระบบสืบพันธ์ไปจนถึงเป็นหมันครับ เริ่มมีการเรียกร้องค่าเสียหายทางด้านสุขภาพที่เกิดจากเรเดียมกับบริษัท U.S. Radium แต่ทางบริษัทก็ปฏิเสธไปครับ
ในปี 1923 สาวเรืองแสงรายแรกเริ่มเสียชีวิต และในปี 1924 มีสาวเรืองแสงจำนวนมากเจ็บป่วยและอย่างน้อย 12 คนเสียชีวิต ทางบริษัทได้ชี้แจงว่าการเสียชีวิตดังกล่าวอาจมาจากโรคซิฟิลิสหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ครับ การฟ้องร้องมีกันอย่างยาวนานจนถึง 1928 กว่าที่จะตัดสินได้ โดยสาวเรืองแสงจะได้เงินชดเชยประมาณ 10,000 ดอลลาร์ในเวลานั้น (ประมาณ 5 ล้านบาท) และ 600 ดอลลาร์ต่อปีในเวลานั้น (ประมาณ 3 แสนบาทต่อปี) รวมทั้งค่ารักษาอื่นๆ ด้วยครับ
แม้ว่าเงินที่ได้จะไม่คุ้มค่ากับสุขภาพและชีวิตที่สูญเสียไป แต่อย่างน้อยชัยชนะของสาวเรืองแสงสุดท้ายก็ทำให้สภาพการทำงานของผู้คนดีขึ้นมาก ไม่ต้องมีใครใช้ปากปรับแปรงอีกต่อไป และเกิดบรรทัดฐานใหม่ที่ลูกจ้างสามารถได้รับการดูแลที่ดีขึ้นหากได้รับบาดเจ็บจากการทำงานครับ
1
ขอฝากติดตาม กด like กด share ข้อมูลดีๆ ได้ทาง https://www.facebook.com/Unboxthinking
หรือ https://www.blockdit.com/pages/5f4b6519e807060cb777cdbf ด้วยนะครับ ขอบคุณมากครับ
ท้ายที่สุด ผมขอฝาก Sticker line "Qubit The Cat" ด้วยนะครับ\
ขอโอกาสให้น้อง Qubit ได้เป็นเพื่อนของทุกท่านนะครับ สามารถสนับสนุนน้องได้ที่ link https://store.line.me/stickershop/product/15887113 ด้วยนะครับ ขอบคุณมากครับ
โฆษณา