26 ต.ค. 2021 เวลา 00:07 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไม ราคาน้ำมันถึงแพงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา?
2
ราคาน้ำมันแตะระดับสูงสุดในรอบหลายปีในช่วงไม่กี่วันมานี้ เนื่องจากมีความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้นมากทั่วโลกหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง และได้แรงหนุนจากโรงงานไฟฟ้าหลายแห่งที่เปลี่ยนจากการใช้ก๊าซและถ่านหินที่มีราคาแพงมาเป็นน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ในขณะที่ปัญหาขาดแคลนพลังงานยังคงมีอยู่ทั่วโลก
12
ราคาน้ำมันในปัจจุบัน
เมื่อวันพุธที่ 20 ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบ Brent สร้างสถิติสูงสุดที่ 85.82 ดอลลาร์สหรัฐฯ สูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2561 ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ West Texas Intermediate (WTI) ของสหรัฐฯ แตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี ที่ 83.87 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยถ้าหากนับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาราคา Brent สูงขึ้นมาแล้วกว่า 20% ในขณะที่ราคา WTI ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 22%
1
ด้านอุปสงค์ เหตุผลหลักของราคาที่เพิ่มสูงขึ้น คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกทำให้อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกเร่งตัวขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้สต็อกน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ลดลง 431,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว มาอยู่ที่ 426.5 ล้านบาร์เรลซึ่งเหลือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปี ประมาณ 6% ในขณะที่ Bloomberg Survey คาดการณ์ว่าสต็อกน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ก่อน
4
นอกจากนี้ วิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้นในเอเชียและยุโรปยังเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอีกด้วย ตลาดน้ำมันตึงตัวอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากการขาดแคลนถ่านหินและก๊าซธรรมชาติส่งผลให้ความต้องการน้ำมันดิบเพิ่มมากขึ้น โดย International Energy Agency (IEA) คาดการณ์ว่าการขาดแคลนพลังงานทั่วโลกจะส่งผลทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น 500,000 บาร์เรลต่อวันจากระดับปกติ
1
แม้ว่าอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกจะฟื้นตัวแล้ว แต่อุปทานกลับไม่สามารถตอบสนองกับการเติบโตของอุปสงค์ได้ พายุเฮอริเคนไอดาสร้างความเสียหายให้กับการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ในอ่าวเม็กซิโกตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมจนถึงต้นเดือนกันยายน ความเสียหายต่อแท่นขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่งส่งผลให้กำลังการผลิตลดลงเกือบ 1.75 ล้านบาร์เรลต่อวันหลังจากเกิดพายุไม่นาน และยังคงลดลงต่อเนื่อง 0.25 – 0.30 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงสิ้นเดือนกันยายน
10
ในขณะเดียวกัน Organization of Petroleum Exporting Countries (OPEC) และพันธมิตรยังคงรักษาราคาตลาดโดยการเพิ่มอุปทานทั้งหมดเพียง 400,000 บาร์เรลต่อวันในแต่ละเดือน โดยไม่สนใจคำขอของผู้บริโภคที่ต้องการให้เพิ่มกำลังการผลิต เพื่อลดความร้อนแรงของราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก
5
รายงานโดย S&P Global Platts ชี้ให้เห็นว่าสมาชิก 13 รายของ OPEC ได้ผลิต 27.29 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 320,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือนสิงหาคม ในขณะที่รัสเซียและสมาชิกอีก 8 ราย ผลิตได้ 13.44 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 150,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม 19 ประเทศที่มีโควตาการผลิตภายใต้ข้อตกลงการจัดหาของ OPEC+ ยังคงผลิตได้เพียง 570,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าปริมาณที่ตกลงกันไว้ต่อเดือน
5
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปีนี้ แต่ถ้า OPEC+ ยังคงเพิ่มปริมาณการผลิตตามที่ตกลงกันไว้ อุปทานคาดว่าจะเกินความต้องการในปี 2565 ทั้งนี้ EIA, IEA และ OPEC คาดการณ์ว่าจะผลิตน้ำมันได้มากกว่าความต้องการในปีหน้า ซึ่งเป็นเหตุให้ OPEC+ ลังเลที่จะเพิ่มการผลิตมากกว่าที่วางแผนไว้ที่ 400,000 บาร์เรลต่อวัน ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 ต.ค.
1
ทางญี่ปุ่นได้ร้องขอให้สมาชิกโอเปกและพันธมิตร OPEC+ เพิ่มการผลิต เนื่องจากญี่ปุ่นพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเป็นจำนวนมาก และราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นได้ชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นหวังว่าคำร้องขอนี้จะทำให้ OPEC+ ยอมตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิตในการประชุมวันที่ 4 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่ม OPEC+ ยังไม่มีท่าทีที่จะตอบรับต่อคำร้องขอดังกล่าว
1
ในระยะข้างหน้า Morgan Stanley ได้ปรับเพิ่มการประมาณราคาน้ำมันดิบ Brent และน้ำมันดิบ WTI ในไตรมาสแรกของปี 2565 จาก 87.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ และ 85 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาเป็น 95 ดอลลาร์สหรัฐฯ และ 92.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการน้ำมันดิบทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นและภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัว อีกด้านหนึ่ง Bank of America คาดการณ์ว่าหากฤดูหนาวปีนี้มีความหนาวกว่าปกติ จะส่งผลทำให้สถานการณ์การขาดแคลนน้ำมันทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอีกและราคาน้ำมันอาจจะสูงกว่าพุ่งขึ้นเหนือ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
3
สุดท้ายนี้ ทางเรามองว่าราคาพลังงานจะยังคงอยู่ในระดับที่สูงเช่นนี้ไปอีกสักพัก และในที่สุดหากจำนวนการผลิตและความต้องการพลังงานที่มีอยู่ในตลาดสอดรับกัน ราคาก็อาจจะปรับลดลงได้ในที่สุด สำหรับสิ่งที่น่าจับตามองต่อไปคือ ข้อตกลงจากการประชุม COP-26 ที่จะจัดขึ้นตอนสิ้นเดือนนี้ ซึ่งหลายประเทศจะมาประชุมกันเพื่อหาทางลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อให้เกิดมลภาวะอย่างมาก ในขณะที่เศรษฐกิจโลกยังคงต้องพึ่งพาพลังงานเหล่านี้อยู่ไปอีกนาน
4
#น้ำมันแพง #น้ำมันขึ้นราคา #เศรษฐกิจโลก #ราคาน้ำมัน
#Bnomics #GlobalEconomicUpdate #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
2
ผู้เขียน :
ธีระภูมิ วุฒิปราโมทย์ Economist, Bnomics
ศศิชา เป่าแตรสังข์ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ :
จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา