26 ต.ค. 2021 เวลา 00:01 • ท่องเที่ยว
ใบไม้เริงระบำ ที่คันไซ (2) .. Kinkaku – Ji วัดคิงคะคุจิ (金閣寺) วัดปราสาททอง
วัด Kinkaku Ji หรือ Golden Pavilion ที่คนไทยนิยมเรียกว่า “วัดปราสาททอง” .. มีอีกชื่อหนึ่งว่า วัดโระคุออนจิ ตั้งอยู่ทางเหนือของเมืองเกียวโต เป็นวัดที่โดดเด่น ที่คนที่มาเที่ยวญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดจะต้องพยายามไม่พลาดในการมาเยี่ยมชมให้ได้สักครั้ง
ฉันชอบซุ้มไม้ประตูทางเข้าของวัดญี่ปุ่น .. ดูขรึมขลังดี และมักจะสร้างด้วยสถาปัตยกรรมที่เรียบง่าย สไตล์เหมือนๆกัน มีกำแพงต่อเนื่องจากซุ้มประตูโอบกอดพื้นที่บริเวณวัดทั้งหมด
ซุ้มประตูปกติจะทำเป็น 2 ชั้น ... ชั้นแรกสามารถเข้ามาเดินชมได้โดยไม่ต้องจ่ายตังค์
ชั้นที่ 2 จะต้องจ่ายค่าผ่านประตู ... เป็นสถานที่ตั้งของอาคารหลักของวัด ซึ่งปกติจะมีความสวยงาม หรือเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์
แค่เดินพ้นทางเข้าชั้นแรกมาเล็กน้อย ... ก็ต้องกร๊ีดดดดด กับใบไม้ที่เปลี่ยนเป็นสีส้มเหลืองแดงคละกัน ... สายลมอ่อนที่โบกโบยไปกระทบใบไม้ ให้บรรยากาศเหมือนใบไม้กำลังโบกมือต้อนรับผู้มาเยือนด้วยความกระตือรือร้น
ก่อนจะผ่านซุ้มประตูด้านใน ... จะมีป้ายแผนที่ซึ่งทางวัดจัดไว้เป็นไกด์และข้อมูลเบื้องต้น ... มีรายละเอียด พอจะบอกให้ผู้มาเยือนรู้ว่าควรจะเดินอย่างไร
อย่างไรก็ตามเมื่อเดินเข้าสู่ประตูชั้นในไปแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่คอยจัดระเบียบ (อย่างนิ่มนวล) และอำนวยความสะดวกในการเดินอีกครั้ง
บริเวณด้านในส่วนแรก เป็นลานที่เปิดโล่ง มีต้นไม้ใหญ่น้อยรายรอบสระน้ำที่อยู่ตรงกลาง ... ที่นี่ เป็นจุดที่มหาชนหลายร้อยคนมาเลือกเป็นทำเลในการเก็บภาพเพื่อให้รู้ว่า ครั้งหนึ่งเราก็ได้มาเยือนสถานที่นี้
… คนมากมายขนาดนี้ ทำให้บรรยากาศโดยรอบดูจะเอิกเกริกมากมาย เหมือนเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มากกว่าจะเป็นวัด ซึ่งเป็นดินแดนแห่งความสงบ
ตัววิหารใหญ่ หรือปราสาททอง ก็ตั้งอยู่กลางน้ำ ไม่ได้เปิดให้คนเข้าไปเยี่ยมชม สวดมนต์ภาวนา ขอพร … จึงทำให้ดูเหมือนว่า คนจะเข้ามาเพื่อถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกเสียมากกว่าที่จะมาค้นหาความสงบเหมือนวัดอื่นๆ
เรื่องราวของปราสาททองเริ่มต้นในช่วงเวลาหลายร้อยปีมาแล้วในสมัยโมรูมาขิ หรือก่อนสมัยท่านโชกุน อิเอะยะซึ (ซึ่งจะมีเรื่องเล่าให้ฟังในช่วงที่พาเดินชมวัง Ninomaru – Goten Palace) ..
.. เดิมปราสาทแห่งนี้เคยเป็นบ้านพักตากอากาศของรัฐบุรุษนาม “ไซออนจิ คึทซึเน” (Sionji Kitsune) บ้านหลังนี้เดินเรียกว่า “คิตะยะมะได” (Kitayama=dai)
จนกระทั่งในปี 1397 โชกุน อาชิคางะ โยชิมิสุ (Ashikaga Yoshimisu) ได้ซื้อที่นี่ และเปลี่ยนเป็นที่พำนัก รวมถึงการรับรองแขกสำคัญๆ และเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า “คิตะยะมะโดโนะ” .. โชกุนอาชิคางะ ถือเป็นโชกุนของตระกูลอชิคางะ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในยุคนั้น สร้างความเจริญให้บ้านเมืองมากมาย พอท่านจะรีไทม์ ท่านก็อยากจะสร้างสถานที่ที่ท่านสามารถพักผ่อนในบั้นปลายของชีวิตในที่ที่สงบสวยงาม เหมือนสวนแบบเซน … ปราสาททองก็เลยถูกสร้างขึ้นที่นี่ในปี 1408
ภายหลังที่ท่านโชกุนเสียชีวิต บุตรชายของท่านได้มีปรับเปลี่ยน และยกปราสาทแห่งนี้ให้เป็นวัดในนิกายเซน ในปี คศ. 1419 ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น วัดคินคะคุจิ ในปัจจุบันนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม วัดทองที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้มิใช่วัดทองหลังดั้งเดิม เนื่องจากวัดแห่งนี้ถูกเผาทำลายทั้งหมดในช่วงสงครามโอนิน (Onin) ในปี คศ. 1950
.. ต่อมาได้มีการบูรณะวัดแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ให้สวยงามดังเดิมในปี 1955
ภายในวัดแห่งนี้มี ศาลาทองเป็นไฮไลต์ ตั้งโดดเด่นอยู่กลางสระน้ำที่มีชื่อว่า Kyiko (สระกระจก) โดยลักษณะของสวนจะมีทัศนียภาพเป็นแบบฉบับของสวนเซน .. ภายนอกศาลา(ยกเว้นชั้นล่าง) ถูกตกแต่งด้วยแผ่นทองคำบริสุทธิ์เหลืองอร่าม มีภาพสะท้อนเงาของปราสาทในน้ำอย่างสวยงามเหมาะเจาะมาก
ฉันอดที่จะชื่นชมความชาญฉลาดของสถาปนิกที่ออกแบบปราสาททองและสระน้ำไม่ได้ … ขนาดของปราสาททอง และตำแหน่งที่ตั้งวาง เมื่อบวกกับขนาดของสระน้ำ ช่างเหมาะเจาะที่จะทำให้ผืนน้ำสะท้อนให้เห็นเงาของปราสาทได้ครบถ้วนพอดิบพอดี ไม่กว้างหรือคับแคบเกินไปจนเก็บภาพๆได้ไม่ครบหรือไม่สวย
อีกทั้งตัวปราสาทเองที่ด้านบนสองชั้นห่อหุ้มด้วยสีทอง ขณะที่ปล่อยให้ชั้นล่างสุดยังคงความเป็นเนื้อไม้ตามธรรมชาติ เมื่อตั้งอยู่กลางน้ำ ชั้นล่างที่เป็นเนื้อไม้จะเห็นได้ไม่ชัดนัก แต่ชั้นที่สองและสามที่เป็นสีทองจะสะท้อนโดดเด่นบนผิวน้ำ ทำให้ตัวปราสาทเหมือนลอยล่องอยู่กลางสระ และมีภาพของนกฟีนิกซ์สยายปีกอยู่บนหลังคา
นกฟีนิกซ์สไตล์ญี่ปุ่น … ส่วนหัวของนกจะเหมือนงู หางคล้ายหางปลา บริเวณหลังเหมือนเต่า แต่คอกลับเหมือนนกนางนวล จะงอยปากเหมือนไก่ .. แปลกดีค่ะ เสียดายที่ไม่มีความรู้พอที่จะอธิบายความเป็นมา หรือความหมายให้ฟัง
คิงคะคุจิ เดิมมีชื่อว่า ชาริเดน คืออาคารที่ประกอบด้วยสถาปัตยกรรม 3 แบบเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน
… ชั้นแรก เป็นโครงสร้างไม้ เป็นสถาปัตยกรรมแบบชินเด็น (Shinden-Tsukuri) แบบเดียวกับที่ใช้สร้างพระราชวังในสมันเฮอัน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และรูปปั้นของโชกุน โยชิมิซึ เดิมใช้เป็นที่รับรองแขกของโชกุน
.. ชั้นที่สอง เป็นสถาปัตยกรรมแบบบุกกะ (Buke-tsukuri) สร้างตามแบบฉบับของบ้านซามูไร
1
.. ชั้นที่สาม เป็นแบบศาลาในสถาปัตกรรมสไตล์ วัดเซน (Kikkyo-cho) ใช้เป็นที่จัดพิธีชงชา และพบปะกับบรรดาสหายของท่านโชกุน
.. ยอดบนสุด ประดับด้วยรูปปั้นของนกฟินิกซ์
ที่นี่ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของสถานที่ท่องเที่ยวของเมืองเกียวโต และด้วยสถาปัตยกรรมที่งดงามนี้เอง จึงได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นมรดกโลกเมื่อปี คศ. 1994
ภายในสวนแบบญี่ปุ่นรอบวัดนั้น พื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งเป็นบ่อน้ำ Kyokochi (鏡湖池) หรือ Miror ond ที่สามารถมองเห็นภาพสะท้อนเงาของตัววิหารสีทองอร่าม จนดูเหมือนปราสาททองที่ส่องประกายระยิบระยับนั้นลอยอยู่ในน้ำ
… ความงดงามไร้ที่ติ ทั้งผลงานอันวิจิตรที่มนุษย์สร้างขึ้น และฝีมือของธรรมชาติที่แต่งแต้มปราสาทโบราณให้ตระการตา ที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า ทำให้ฉันต้องกดชัตเตอร์กล้องรัวๆ เพื่อเก็บภาพปราสาททองและใบไม้สีสวยๆเอาไว้เป็นความทรงจำที่ดีตลอดไป
หากคุณเป็นเด็กเมื่อหลายสิบปีก่อน คงจะจำได้ถึงนิทานซีรีย์ญี่ปุ่นที่เป็นเวอร์ชั่นการ์ตูนน่ารักที่เด็กๆ (รมถึงผู้ใหญ่อย่างเรา) ติดกันงอมแงม เรื่อง “อิกคิวซุง” เณรน้อยเจ้าปัญญา
ที่นี่ คือวัดของอิกคิวซัง และซามูไรใจดี “ซินนามอนซัง” ที่เป็นผู้ช่วยเณรน้อยน่ารัก .. นั่นเองค่ะ และเมื่อมาถึงที่นี่ก็อดจะจินตนาการไม่ได้ว่า อิ๊กคิวซัง กำลังมาประลองฝีปากกับท่านโชกุนโยชิมิสุ โดยมีซินนามอนซัง ผู้ช่วยรูปหล่อยืนอยู่ใกล้ๆ
ทางเดินชมสวนรอบบ่อน้ำธรรมชาติที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละฤดูกาล อีกทั้งยังสามารถชมวิวภูเขา Kinugasa ได้อีกด้วย เป็นหนึ่งในทัศนียภาพที่ต้องมาสัมผัสด้วยตาตัวเองสักครั้งให้ได้
ทางด้านซ้ายของ คิงคะคุจิ จะเห็นพื้นที่สวนเล็กๆ ซึ่งแต่ก่อนเป็นสวนที่โชกุนอาชิกาก้า ใช้ในการปลูกเลี้ยงพันธุ์ไม้งามต่างๆในยามว่าง … หลังจากที่ท่านโชกุนเสียชีวิต ชาวเมืองเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นสถานที่ที่โปรดของท่านโชกุน จึงฝังร้างของท่านไว้ที่สวนแห่งนี้ และจัดตกแต่งสวนใหม่ ให้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ตามความเชื่อทางศาสนาที่หันศพของผู้ตายไปในทิศทางดังกล่าว
สวนของวัดทองเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในการชมใบไม้เปลี่ยนสีในกรุงเกียวโต
เมื่อเดินขึ้นไปบนเนินเขา จะพบกับศาลเทพารักษ์ Shin-un และสระ An-min-taku ที่มีเจดีย์หิน Hakuja-no-tsuka หรือ Classic Tea Ceremony House ที่มีหลังคามุงจากแบบพื้นเมือง
อนุสรณ์งูขาว
เดินเข้าไปด้านใน .. จะมี Fudodo Shrine ที่มีหินเทพเจ้าแห่งไฟสถิตอยู่
… มีซุ่มขายของที่ระลึกและโอมาโมริ หรือเครื่องรางหลากชนิดของญี่ปุ่น … ใครอยากมีโชคดีด้านไหนก็สามารถเลือกได้ตามความต้องการ
… เครื่องรางอันเป็นที่นิยมก็คงเดาได้ไม่ยาก คือ แผ่นไม้พระเอกเณรน้อยอิกคิวซัง นั่นเองค่ะ แผ่นไม้นี้มีไว้ให้เขียนขอพร และว่ากันว่า พรยอดนิยมได้แก่ ขอให้มีสติปัญญาหลักแหลม หรือฉลาดแบบอิคิวซัง นั่นเองค่ะ
ทางเดินขึ้นเนิน เป็นร้านน้ำชาเล็กๆท่ามกลางต้นสน สามารถมานั่งจิบชาในบรรยากาศเงียบๆ และส่งสายตาออกไปชื่นชมบรรยากาศและความสวยงามของการเปลี่ยนผ่านฤดูที่มีเพียงช่วงสั้นๆในแต่ละปี
ฤดูกาล .. ซึ่งอาจจะมากความหมาย แต่แตกต่างกันไปในความรู้สึกและประสบการณ์ของเจ้าของสายตาที่มอง แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นสัจจะธรรม คือ ... ฤดูกาล เป็นสิ่งสวยงาม เป็นการเริ่มต้นของสรรพสิ่ง แล้วเคลื่อนไหวเข้าสู่การเติบโต งดงาม เป็นช่วงสูงสุด ก่อนจะเตรียมตัวรับกับความร่วงโรย และร่วงหล่นไปในที่สุด
... ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ หรือคงอยู่ตลอดไป ...
เดินชมความงดงามของวัดและสวนสวยที่เปี่ยมสีสันแล้ว .. เมื่อออกมาด้านนอก จะมีซุ้มขายสินค้าญี่ปุ่นน่ารักๆ เรียงรายตามทางที่เราเดินผ่าน
ขนมหวานของญี่ปุ่นอร่อยแทบทุกอย่าง และมีวางขายตามทางเดิน ที่เห็นว่ามีเยอะ คือ ขนมโมจิ หน้าตาและรสชาติมีหลายๆรูปแบบ นอกจากนี้ มีชาเขียว สาเก เครื่องหอม และสินค้าอีกหลายอย่าง ก็มีวางขายให้เลือกซื้อ
ไอศครีม ... มีหลายรสชาติ ทั้งไอศกรีมรำข้าว ไอศครีมงาดำ และรสชาติอื่นๆ แต่ที่ฮ๊อตฮิต คือ มัทฉะ ไอซ์ หรือไอศครีมชาเขียว...
... เราก็ไม่ตกเทรนค่ะ ... อืมมมมม อร่อยมาก
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
1
โฆษณา