26 ต.ค. 2021 เวลา 09:23 • ไลฟ์สไตล์
อะไรที่ทำให้มีความสุขที่สุด?
คำถามนี้น่าสนใจ แม้คำถามจะสั้นแต่คำตอบนั้นเป็นไปได้หลากหลาย
และหลายครั้งผู้คนเมื่อเผชิญหน้ากับคำถามนี้แล้ว อาจจะสับสนระหว่างเป้าหมายกับวิธีการในการแสวงหาความสุข
ถ้ามองในเชิงเศรษฐศาสตร์ ความสุขถูกลดทอนลงให้เหลือเพียงความพึงพอใจ ดื่มน้ำอัดลม 1 กระป๋อง ได้ความพอใจ 5 ยูทิล (หน่วยสมมติความพึงพอใจทางเศรษฐศาสตร์) กินซูชิ 1 คำ ได้ความพอใจ 15 ยูทิล ถ้าเราอยากให้ชีวิตเรามีความพอใจสูงสุด ก็ดูงบที่เรามี แล้วจัดการสัดส่วนในการบริโภคเอาให้เราได้ความพึงพอใจมากที่สุด
ขณะเดียวกันต้องพึงระวังด้วย ว่าความพอใจนั้นอยู่ภายใต้กฎที่เรียกว่ากาลดน้อยถอยลง หมายความว่า ซูชิคำที่สอง ความพึงพอใจอาจจะเริ่มลง คำที่สาม สี่ ห้า จนไปถึงจุดอิ่มตัว ที่เมื่อกินชูชิเข้าไปอีกก็ไม่รู้สึกพอใจอีกแล้ว
ดังนั้นแล้วการบริโภค(ไม่ใช่แค่การกินรวมไปถึงการทำกิจกรรม)ในเชิงเศรษฐศาสตร์คือหนทางนำไปสู่ความพอใจและมองกลายๆว่านั่นคือความสุข ถ้าอยากสุขมากที่สุด ก็บริโภคสิ่งที่เราชอบให้มากที่สุด ในตลอดช่วงชีวิตของเรา
แต่ในเชิงเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่ผสมผสานเศรษฐศาสตร์เข้ากับจิตวิทยา พบว่าความสุขนั้นมีรูปแบบที่แตกต่างกันสองรูปแบบ รูปแบบแรกเรียกว่า ความสุขจากประสบการณ์ (experience) แบบที่สองเรียกว่าความสุขจากความทรงจำ (memory)
ความสุขจากประสบการณ์คือความสุขที่ได้จากการทำสิ่งต่างๆ เหมือนที่ได้อธิบายไปแล้วในเชิงเศรษฐศาสตร์ การกิน การดูหนัง การเล่นกีฬา การพักผ่อน แต่สิ่งที่นักวิจัยค้นพบคือ ความสุขแบบนี้อยู่กับเราเพียง 3 วินาที!!! ทันทีที่ชซูชิถูกกลืนลงคือไป ความสุขแบบนี้จะหายไปอย่างรวดเร็ว
ความสุขจากประสบการณ์ คือความสุขที่เราจดจำสิ่งเหล่านั้นได้ หลังจากกินชูชิร้านนี้แล้ว จำได้ว่าอร่อยมาก คุ้มค่าเงินที่จ่ายไป บรรยากาศดี เพื่อนก็คุยสนุก นี่คือสิ่งที่จดจำได้หลังจากออกจากร้านนี้ และเมื่อนึกอยากกินชูชิอีกเมื่อไหร่ ก็จะสามารถนึกถึงร้านนี้ได้ นี่คือความสุขที่อยู่กับเรานานกว่าความสุขประเภทแรก
ดูผิวเผินเหมือนความสุขทั้งสองนั้นเป็นกระบวนการที่สอดคล้องกัน แต่เอาเข้าจริงแล้วมันสามารถขัดแย้งกันได้
ลองจินตนาการว่าเรากินชูชิอย่างเอร็ดอร่อยไปแล้ว 8 คำ เท่ากับว่าเรามีความสุขแบบประสบการณ์ไปแล้วจากซูชิทั้ง 8 คำ แต่พอเรากินคำที่ 9 เราพบว่าเนื้อปลานั้นเสียแล้ว กลิ่นไม่สู้ดีจนเราไม่สามารถกลืนได้ต้องคายทิ้ง!!!
ลองจินตนาการว่าความสุขจากความทรงจำของเราจะตอบสนองอย่างไร
แน่นอนว่าใครเจอแบบนี้ก็แทบจำต้องบอกลาร้านนี้ไปเลย เพราะอะไรนะหรือ ก็เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนท้ายจะส่งผลกับความสุขจากความทรงจำของเรามากที่สุด
ต่อให้จุดเริ่มต้นดีหรือตอนกลางดีแค่ไหนแต่ถ้าตอนจบไม่น่าอภิรมย์ เราก็พร้อมจะจดจำว่าสิ่งเหล่านั้นแย่
ไม่ว่าจะเป็นการดูหนัง อ่านหนังสือ การกิน การเที่ยว หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ของคน ตอนท้ายคือจุดตัดสินว่าเราจะจดจำมันอย่างไร
ถ้ามองในมุมเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ความสุขจากความทรงจำคือคำตอบ การสร้างความทรงจำที่ดีให้มาก จึงจะส่งผลให้เรารู้สึกดี หรือมีความสุขในชีวิตของเรา
ดังนั้นแล้วเรื่องของความสุขมันยังมีมิติมองที่หลากหลาย
เลือกรูปแบบความสุขและเข้าใจลักษณะของความสุขนั้นๆให้ชัดเจน
และคิดให้ดีเพราะสุขบางอันอาจมาพร้อมความทุกข์
เพื่อที่เราจะได้แสวงหาหนทางแห่งความสุขด้วยตนเอง และอย่าลืมว่าความสุขอาจไม่ใช่สิ่งเดียวที่เราต้องคำนึงถึง เพราะความทุกข์ก็มีผลต่อชีวิตเช่นกัน
หรือเป้าหมายขีวิตอาจไม่จำเป็นต้องมุ่งไปหาความสุขเท่านั้น
ความสงบ หรือความรู้ ก็สามารถเป็นเป้าหมายของชีวิตได้เช่นกัน
หากตอนนี้ท่านใดมีความสุขเป็นเป้าหมายของชีวิต ก็ขอให้ค้นพบทางแห่งความสุขในแบบฉบับของตัวเอง
โฆษณา