27 ต.ค. 2021 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สาส์นจาก IMF ในภาวะที่ผู้คนหวาดกลัวเงินเฟ้อ
เงินเฟ้อถือได้ว่าเป็นหนึ่งในศัตรูตัวฉกาจของเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน วิกฤติหลายครั้งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ก็มีสาเหตุมาจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงจนเกินไป และในช่วงที่ผ่านมาไม่นานนี้ ภาวะเงินเฟ้อก็กลับมาเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันอย่างมากอีกครั้งหนึ่ง เมื่อผู้คนเริ่มกังวลกับสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ร้อนแรงในหลายประเทศ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ น้ำมัน ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก และภาวะอุปทานด้านการผลิตที่ขาดแคลน (Supply Shortage) ว่าเหตุการณ์เหล่านี้อาจจะทำให้เกิดวิกฤติจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงจนเกินไปอีกครั้งหนึ่ง
รายงาน IMF WEO ฉบับล่าสุด (ตุลาคม 2021) ก็มีการกล่าวถึงประเด็นความหวาดกลัวในเงินเฟ้อของผู้คนเช่นกัน ในบทความนี้ทาง Bnomics จึงจะพาผู้อ่านทุกท่านไปดูว่า มีสาส์นสำคัญอะไรจากทาง IMF ที่ส่งออกมาบ้าง และทาง IMF มีความกังวลกับเรื่องเงินเฟ้อมากขนาดไหน
📌 เข้าใจกรอบแนวคิดนโยบายการเงินเบื้องต้น
ก่อนจะเข้าไปเจาะรายละเอียดเกี่ยวกับการคาดการณ์เงินเฟ้อจาก IMF เราอยากแนะนำแนวคิดของกรอบการดำเนินนโยบายการเงินโดยเฉพาะการกำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบคร่าวๆ เสียก่อน เพราะนโยบายการเงินที่ดำเนินงานผ่านธนาคารกลาง มีบทบาทที่สำคัญมากในการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ
1
กรอบแนวคิดที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการดำเนินนโยบายการเงินถูกเรียกกันว่า “Phillip Curve” ซึ่งเป็นทฤษฎีที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการว่างงงาน (ที่เราอยากให้มันต่ำ) กับภาวะเงินเฟ้อ (ที่เราก็มักจะอยากให้มันอยู่ระดับค่อนข้างต่ำเช่นกัน) ที่มันจะมีความสัมพันธ์ในเชิงลบต่อกัน ยกตัวอย่างเช่น อัตราการว่างงานที่สูงก็เกิดจากสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งก็จะส่งผลให้ร้านค้าหรือธุรกิจอาจจะต้องลดราคา ซึ่งก็คือ ภาวะที่เงินเฟ้อติดลบหรือลดลงนั่นเอง
แนวคิดนี้มีความสำคัญต่อนโยบายการเงินอย่างน้อย 2 ประการ
1) อธิบายว่า ในหลายครั้งผู้ดำเนินนโยบายการเงินจำเป็นต้องเลือกระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจ (อัตราการว่างงานต่ำ) กับการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ เช่น ในภาวะที่อัตราการว่างงานสูงและภาวะเงินเฟ้อสูงด้วย (Stagflation) หากขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็จะช่วยลดเงินเฟ้อได้ แต่ก็อาจจจะส่งผลให้อัตราการว่างงานที่สูงอยู่แล้วสูงขึ้นไปอีก
2) อธิบายถึงผลของเศรษฐกิจที่ร้อนแรงว่าจะส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อมากขนาดไหน
การทำความเข้าใจทั้งสองข้อข้างต้น มีความสำคัญต่อการจะเข้าใจสิ่งที่ IMF สื่อสารออกมาเกี่ยวกับความกังวลเรื่องเงินเฟ้อนี้
📌 สาเหตุที่ 1 ของเงินเฟ้อ : การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ร้อนแรง
สาเหตุแรกที่ IMF ได้เน้นว่าอาจจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่สูงเกินไปได้ก็คือ เรื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ร้อนแรง โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วที่สามารถจัดการกับการระบาดของโควิดได้ดี อย่างไรก็ตาม IMF ก็คาดการณ์ผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนี้จะส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อในระยะสั้นถึงกลางเท่านั้น โดยเหตุผลส่วนหนึ่งมาจาก “ความสัมพันธ์ของ Phillips Curve” ที่ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อมีขนาดติดลบน้อยลง ดังที่แสดงในแผนภูมิที่ 1
จากแผนภูมิที่ 1 ในการคำนวณของ IMF จะพบว่าในปีที่ผ่านมาที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผลของอัตราการว่างงานจะส่งผลทางลบต่ออัตราเงินเฟ้อน้อยลง เช่น ในกรณีของประเทศกำลังพัฒนา (สองเส้นขวาสุด) ที่ก่อนหน้าปี 2020 การเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงาน 1% จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงประมาณ 0.5% แต่เมื่อรวมปี 2020 ไปด้วยแล้ว 1% ที่เพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงาน ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงแค่ประมาณ 0.3% เท่านั้น
การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อน้อยลงในช่วงโควิด
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในตอนนี้จะเป็นทิศทางตรงข้ามกับที่อธิบาย กล่าวคือ เศรษฐกิจกำลังเริ่มฟื้นตัวแปลว่า “อัตราการว่างงานกำลังลดต่ำลง ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น” โดยยกกรณีของประเทศพัฒนาที่เล่าไป ก่อนโควิดอัตราการว่างงานลดลง 1% ก็จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นประมาณ 0.5% แต่จากผลของปีที่ผ่านมา เงินเฟ้อก็เลยเพิ่มขึ้นแค่ประมาณ 0.3% เท่านั้น และเมื่อผ่านไปในระยะเวลาหนึ่งผลของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวก็จะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นสาเหตุที่ 1 ก็ดูจะยังไม่ใช่ความกังวลหลักของ IMF
📌 สาเหตุที่ 2 ของเงินเฟ้อ : ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นและการขาดแคลนทางด้านอุปทาน (Supply Shortage)
สาเหตุนี้ประกอบไปด้วยราคาของสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันมีราคาสูงขึ้นมาก (ซึ่งทาง Bnomics ก็เขียนเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน) การขาดแคลนทางด้านอุปทาน และรวมถึงการฟื้นตัวของภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างรุนแรง เช่น ภาคการขนส่ง อาหาร ที่เริ่มกดดันภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ
สาเหตุที่ 2 นี้ ทาง IMF ก็ยังมองว่าจะส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อและการคาดการณ์ของผู้คนให้ปรับตัวสูงขึ้นแค่ในระยะสั้นๆ เท่านั้นในกรณีฐาน ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อขึ้นไปสู่จุดสูงสุดในปลายปี 2021 นี้ (เงินเฟ้อทั่วไป 3.6% เมื่อทำการเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักในประเทศพัฒนาแล้ว และประมาณ 8% เมื่อเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักในประเทศกำลังพัฒนา) และก็ค่อยๆ ปรับตัวลดลงมาสู่ระดับเงินเฟ้อทั่วไปเติบโตปกติ (Trend Headline Inflation) ในช่วงกลางปี 2022 (ประมาณ 2% เมื่อทำการเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักในประเทศพัฒนาแล้ว และ ประมาณ 4% เมื่อเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักในประเทศกำลังพัฒนา) ดังที่แสดงในแผนภูมิที่ 2.1
1
แม้แต่ในกรณีที่ผลจากราคาของสินค้าในสาเหตุที่ 2 นี้ เพิ่มสูงขึ้นมากเป็นระยะเวลานานถึง 12 เดือนข้างหน้า ทาง IMF ก็ยังมองว่าระดับเงินเฟ้อจะกลับสู่ระดับปกติในระยะกลาง ดังที่แสดงในแผนภูมิที่ 2.2
การที่ภาวะเงินเฟ้อจะกลับสู่ระดับปกติได้อย่างที่ IMF คาดการณ์ ก็ยังต้องอาศัยอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีบทบาทในการทำนโยบายการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ “การถ่วงดุลการคาดการณ์ของคนเกี่ยวกับการคาดการณ์เงินเฟ้อด้วย (Inflation Anchoring)”
IMF คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและการคาดการณ์เงินเฟ้อ จะปรับตัวเข้าสู่ระดับเติบโตปกติในระยะยาว
📌 สาเหตุที่ 3 ของเงินเฟ้อ : การคาดการณ์เงินเฟ้อ
การคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้คนในระบบเศรษฐกิจถือเป็นส่วนสำคัญในกลไกการตั้งราคา ถ้าผู้คนเชื่อว่าของจะแพงขึ้นในระยะข้างหน้า พวกเขาก็จะตั้งราคาสินค้าของตัวเองแพงขึ้นหรือเรียกร้องค่าจ้างสูงขึ้นด้วย แต่ในทางตรงข้าม ถ้าผู้คนมองว่าเศรษฐกิจกำลังซบเซาก็อาจจะคาดการณ์ว่าควรลดราคาสินค้าหรือยังไม่ขอค่าจ้างสูงขึ้นเช่นกัน
ในแนวคิดของการดำเนินนโยบายการเงินยุคใหม่ ก็มองเห็นถึงเรื่องนี้เช่นกัน และพยายามใช้ประโยชน์จากมัน ผ่านการสื่อสารให้กับประชาชนเข้าใจไปเลยว่า ทางธนาคารกลางอยากให้เงินเฟ้อเป็นเท่าใด เพื่อเป็นการถ่วงดุลการคาดการณ์ของคน ซึ่งในกรณีสุดโต่ง ถ้าทุกคนในระบบเศรษฐกิจปรับราคาตามที่ธนาคารกลางต้องการ ธนาคารกลางก็อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือนโยบายการเงินอย่างอื่นเลยก็ได้
1
ในทางตรงข้าม ถ้าผู้คนไม่เชื่อถือในธนาคารกลางเลย เครื่องมือทางการเงินที่ต้องนำมาใช้ก็ต้องมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างมาก และอย่างที่เราเห็นไปตอนสาเหตุที่ 1 ว่าความสัมพันธ์ของอัตราการว่างงานและเงินเฟ้อมีขนาดติดลบน้อยลงในช่วงนี้อีก ก็ยิ่งหมายความว่า ขนาดของเครื่องมือที่ใช้ในกรณีที่ผู้คนไม่เชื่อถือในธนาคารกลางจะต้องยิ่งมากตามไป
อย่างไรก็ดี การศึกษาของ IMF ชี้ว่าความสามารถในการถ่วงดุลการคาดการณ์ของธนาคารกลางโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2000 ที่นโยบายเป้าหมายเงินเฟ้อถูกนำมาใช้มากขึ้น ดังที่แสดงแผนภูมิที่ 3 แต่ IMF ก็ยังมีการเตือนบอกว่า แม้โดยค่าเฉลี่ยแล้วค่าการถ่วงดุลการคาดการณ์มีขนาดสูงขึ้น แต่ก็ยังมีความแตกต่างกันระหว่างประเทศอยู่
การถ่วงดุลการคาดการณ์ของธนาคารกลางทำได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
3 สาเหตุข้างต้น เป็นเพียงแค่บางส่วนที่อาจจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่สูงจนเกินไปได้ โดยแม้ว่า IMF จะยังไม่มีความกังวลมากนักว่า ภาวะเงินเฟ้อที่สูงจะคงอยู่ไปอย่างยาวนาน แต่ก็ยอมรับว่ามีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างๆ อยู่ ที่บางอย่างก็นอกเหนือจาก 3 สาเหตุข้างต้นด้วย เช่น การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างตลาดแรงงานที่ค่าจ้างปรับตัวสูงขึ้น หรือความเสี่ยงจากการอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศกำลังพัฒนาที่อาจจะไม่สามารถปรับนโยบายการเงินตามประเทศมหาอำนาจได้หากภาวะเศรษฐกิจยังซบเซา ซึ่งความไม่แน่นอนเหล่านี้ ก็มีโอกาสที่กลายเป็นภาวะเงินเฟ้อที่ยาวนานกว่าที่คาดในปัจจุบันได้ และก็เป็นความท้าทายอีกครั้งของผู้ดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรวดเร็ว
#IMF #internationalmonetaryfund #worldeconomy
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนกานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
1
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
โฆษณา