27 ต.ค. 2021 เวลา 07:49 • ข่าว
#explainer เรื่องการแบกเสลี่ยงพระเกี้ยวใน งานบอลจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ แม้จะเป็นเรื่องภายในรั้วมหาวิทยาลัย แต่กลายเป็นประเด็นสำคัญ จนถึงขั้นนายกรัฐมนตรีต้องออกมาพูดถึง
เรื่องนี้ ในสายตาของศิษย์เก่า กับ ศิษย์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัยก็มองเห็นไม่ตรงกัน เหตุการณ์ทั้งหมด workpointTODAY จะสรุปทุกมิติให้เข้าใจง่ายใน 14 ข้อ
1) งานฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ เป็นการแข่งขันประจำปีระหว่าง 2 มหาวิทยาลัย เริ่มต้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2477 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการสร้างความปรองดองกัน ระหว่าง 2 สถาบัน คล้ายคลึงกับ การแข่งเรือพายประเพณีของ มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ของประเทศอังกฤษ
3
2) ในปี พ.ศ.2507 มีการจัดกิจกรรมเพิ่มเติมก่อนฟุตบอลเตะ คือใส่พิธีการ "อัญเชิญพระเกี้ยวจำลอง" ลงในขบวนพาเหรดของฝั่งจุฬาฯ โดยจะให้ตัวแทนนิสิตอัญเชิญพระเกี้ยวเข้ามาในสนาม ซึ่งในแต่ละปี การอัญเชิญพระเกี้ยวจะได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นอย่างมาก
โดยวิธีการก็คือ ฝั่งจุฬาฯ จะนำพระเกี้ยวจำลองที่จัดทำขึ้น บวกกับนำนิสิตที่คัดเลือกมา ชาย 1 คน หญิง 1 คน ขึ้นไปอยู่ใน "เสลี่ยง" ขนาดใหญ่ โดยเสลี่ยงบวกคน คาดกันว่า มีน้ำหนักรวมประมาณ 250-300 กิโลกรัม
3
ในแต่ละปี ผู้คนก็จะเฝ้าดูว่า นิสิตชาย-หญิงคนไหน ที่จะได้รับคัดเลือกให้อัญเชิญพระเกี้ยว โดยหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า "ในงานฟุตบอลประเพณี ไม่สามารถให้นิสิตจุฬาฯ ทุกคนอัญเชิญพระเกี้ยวได้หมด ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคัดเลือกนิสิตที่มีความเหมาะสม มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งรูปร่าง หน้าตา บุคลิคภาพ การวางตัว กิริยามารยาท ผลการเรียน ... ซึ่งนิสิตที่ทำหน้าที่อัญเชิญพระเกี้ยวนี้ ถือได้ว่าเป็นภาพลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย"
2
คำแปลง่ายๆ ของหอประวัติฯ คือคนที่จะถูกคัดเลือกมาอัญเชิญพระเกี้ยวได้ ต้องหน้าตาดี และมีความเพียบพร้อม ในอดีต เราจึงเห็นดาราดังอย่าง แอฟ-ทักษอร และ แต้ว-ณฐพร ได้รับหน้าที่อัญเชิญมาแล้วในครั้งที่ผ่านๆ มา
2
3) ในขณะที่สายตาของประชาชนจะโฟกัสไปที่ตัวพระเกี้ยวและคนอัญเชิญพระเกี้ยว แต่องค์ประกอบที่สำคัญเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้รับความสนใจมากนัก คือ "คนแบกเสลี่ยง" กล่าวคือ การแบกพระเกี้ยว และนิสิต 2 คน คาดว่ามีน้ำหนักรวม 250-300 กิโลกรัม ดังนั้น ต้องใช้คนจำนวน 50-60 คน เป็นอย่างน้อย ในการแบกเสลี่ยงเข้ามาในสนาม
1
4) ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการแบกเสลี่ยงมาตลอดหลายปีหลัง คือ "หาคนอยากแบกไม่ได้" กล่าวคือ นี่เป็นงานที่หนักมาก ต้องใช้พลังแบกของหนัก 250 กิโลกรัม ยาวนานกว่า 2 ชั่วโมงท่ามกลางแดดร้อน และไม่ใช่แค่แบกในวันแข่งจริงเท่านั้น ยังต้องใช้เวลากับการฝึกซ้อมอีกหลายวัน
2
ความหนักหนาในการแบกก็ประเด็นหนึ่ง แต่คนที่เคยแบกเสลี่ยงพระเกี้ยวมาแล้ว อธิบายว่า คนแบกเหมือนเป็นแค่แรงงาน ทำหน้าที่เสร็จก็ได้สิ่งตอบแทน แค่ข้าว 1 กล่อง ทีมคนแบก ไม่ได้รับการเชิดชูหรือถูกจดจำใดๆ แม้แต่รูปถ่ายก็มีไม่มาก เพราะคนอื่นๆ ในสนามไปสนใจคนที่ทำหน้าที่อัญเชิญกันหมด และเมื่อเกิดความรู้สึกไม่เท่าเทียม และไม่เห็นคุณค่าในงานที่ทำ นั่นทำให้นิสิตในรุ่นใหม่ๆ หาคนแบกเสลี่ยงยากขึ้นเรื่อยๆ
1
5) วันที่ 23 ตุลาคม 2564 องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ (อบจ.) ออกแถลงการณ์ว่า "รูปแบบกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว เป็นภาพแทนของวัฒนธรรมแบบศักดินา ที่ยกกลุ่มคนหนึ่งสูงกว่าอีกกลุ่ม พร้อมสัญลักษณ์ของศักดินาคือ 'พระเกี้ยว' บนเสลี่ยง"
พร้อมทั้งตั้งคำถามว่า กระบวนการคัดเลือกผู้อัญเชิญ มองไปแต่มาตรฐานความสวยหรือเปล่า ในยุคที่สังคมกำลังต่อต้าน Beauty Privilage เช่นเดียวกับประเด็น "คนแบก" ที่มีการบังคับโดยใช้เหตุผลเรื่องการให้คะแนนมากดดัน
2
ดังนั้นอบจ. จึงมีมติ 29-0 เสียง ให้ยกเลิกกิจกรรม คัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยว และการแบกเสลี่ยงในฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ ครั้งต่อไป
2
6) สำหรับอบจ. เป็นการรวมตัวกันของ นิสิตที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง รวมกับตัวแทนนิสิตจาก 18 คณะของมหาวิทยาลัย โดยปัจจุบัน นายกฯ อบจ. คือนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล จากคณะรัฐศาสตร์
1
การตัดสินใจของอบจ. จึงมีลักษณะคล้ายระบบการเมือง กล่าวคือ นักศึกษาปัจจุบัน เลือกตัวแทนมาเป็นอบจ. และจากนั้นก็ให้อบจ. ตัดสินใจในเรื่องสำคัญแทนตัวเอง และในครั้งนี้ อบจ. ตัดสินใจยกเลิกการแบกเสลี่ยง ด้วยมติเอกฉันท์
7) สำหรับดราม่าในเรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะความเห็นแบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกคือ ฝ่ายสนับสนุนอบจ. กล่าวคือ เคารพในระบอบประชาธิปไตย ในเมื่อเป็นมติของคณะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งของนิสิต เมื่อการโหวตเป็นแบบนี้ ก็ควรจะยอมรับผลไป ถ้าหากในอนาคตนิสิตรุ่นใหม่เห็นต่าง แล้วโหวตให้กลับมาแห่พระเกี้ยวอีกรอบ ถึงตรงนั้นค่อยนำพระเกี้ยวกลับมาแห่ก็ได้
1
😎 แต่อีกฝ่ายคือ ฝ่ายต่อต้านอบจ. โดยวิจารณ์ว่า การไม่ยอมอัญเชิญพระเกี้ยวเข้าสู่สนามในงานบอลประเพณี คือการลดคุณค่าของพระเกี้ยวลง นอกจากนั้นยังรับไม่ได้ กับแถลงของอบจ. ที่กล่าวว่า "สัญลักษณ์ของศักดินาคือพระเกี้ยวบนเสลี่ยง"
1
วินทร์ เลียววารินทร์ นักเขียนซีไรต์ ที่เป็นนิสิตเก่าจุฬาฯ เขียนโพสต์ว่า "พระเกี้ยวไม่ใช่ และไม่เคยเป็นสัญลักษณ์ของความไม่เสมอภาค ตรงกันข้าม มันเป็นสัญลักษณ์ของความเสมอภาคทางการศึกษา ไม่ว่าคนในฐานะใดก็ได้เล่าเรียนเท่ากัน"
5
กล่าวคือในอดีตประเทศไทยยังไม่มีสถาบันอุดมศึกษาสำหรับพลเรือน แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันแรกที่ประชาชนสามารถเล่าเรียนได้แล้วเอาไปประกอบอาชีพของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเรียนแล้วรับราชการเท่านั้น
1
9) สำหรับ "พระเกี้ยว" นั้น นี่คือเครื่องประดับศีรษะของพระราชโอรส และพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ และเป็นสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ 5 โดยตามประวัติศาสตร์แล้ว รัชกาลที่ 6 ได้มอบพระเกี้ยวให้ใช้เป็นตรามหาวิทยาลัย ซึ่งทางจุฬาฯ ก็ได้ปลูกฝังค่านิยมให้นิสิตในทุกยุคสมัยว่า ให้มีความเคารพพระบรมราชสัญลักษณ์ที่ได้รับพระราชทานมา
1
เมื่อพระเกี้ยว มีคุณค่าที่เชื่อมโยงกับรัชกาลที่ 5 ดังนั้นการที่ลดความสำคัญของพระเกี้ยวลง ไม่ยอมนำไปเทิดทูนไว้ในงานบอล ทำให้กลุ่มศิษย์เก่าส่วนหนึ่งจึงมองว่าเป็นการลดทอนคุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อมหาวิทยาลัยด้วย
5
10) นอกจากนั้นยังมีข้อสังเกตว่า การแถลงของอบจ. ยังเลือกประกาศในวันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันปิยมหาราช หรือวันคล้ายวันสวรรคตของรัชกาลที่ 5 อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ในปีหน้า (2565) ก็ยังไม่มีการจัดแข่งขันฟุตบอลประเพณี เนื่องจากต้องเลื่อนไปเพราะเหตุโควิด ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลอะไรเลย ที่ต้องมาประกาศในวันที่ 23 ตุลาคมของปี 2564
2
11) ดังนั้นในเรื่องนี้ จำเป็นต้องแยกเป็น 3 ประเด็น ประเด็นแรกคือเรื่อง "การยกเสลี่ยงพระเกี้ยว" ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ในยุคที่เด็กนักศึกษายุคใหม่ มองว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่ก่อประโยชน์ใดๆ ให้พวกเขา เรื่องนี้สามารถหาทางแก้ไขอย่างอื่นเช่น นำพระเกี้ยว หรือและคนอัญเชิญ ขึ้นรถยนต์ได้หรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องหาคนมาแบกหาม
3
และถ้าคำตอบคือ "จำเป็นต้องแบก" จะมีวิธีการใดๆ ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระใช้แรงงานของนักศึกษาได้หรือไม่
1
ชนินทร์ พรมอยู่ อดีตนิสิตที่เคยทำหน้าที่จัดหาคนแบกเสลี่ยงในงานบอลประเพณีครั้งที่ 72 อธิบายกับ workpointTODAY ว่า "ตามธรรมเนียมเดิมแล้ว คนแบกเสลี่ยงจะเป็นเด็กปี 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ แต่ในช่วงหลังเด็กก็ไม่อยากทำแล้ว เพราะเขาไม่เห็นคุณค่า เราไปหาเด็กวิศวะมาได้ 30 คน ซึ่งไม่พอ จากนั้นก็เลยประกาศเปิดให้คณะไหนก็ได้ ปีไหนก็ได้ มาอาสาแบกเสลี่ยง แต่ก็มีคนสมัครเพิ่มแค่ 5-6 คน จากนิสิตเป็นหมื่นๆ คน ดังนั้นเราเลยเข้าใจว่า ไม่ใช่แค่เด็กวิศวะนะ แต่ใครๆ ก็ไม่อยากทำหน้าที่นี้ทั้งนั้น"
12) ประเด็นที่ 2 คือ "รูปแบบของแบกเสลี่ยง" เป็นวัฒนธรรมที่มองคนไม่เท่ากันจริงหรือไม่ กับภาพของคนที่ได้รับเลือก 2 คนอยู่ด้านบนสุด ได้ทั้งชื่อเสียง และเกียรติยศ แต่ต้องมีคนอีกจำนวนหนึ่งแบกหามพวกเขาไว้ โดยที่ไม่ได้รับอะไรตอบแทนกลับมาเลย
ฝ่ายที่คิดว่าควรกำจัดการแบกเสลี่ยงทิ้งก็มี แต่ฝ่ายที่บอกว่าควรเก็บไว้ก็มี เพราะมันเป็นสตอรี่ เป็นเรื่องราว หลายๆ ประเทศก็มีกิจกรรมลักษณะนี้ อย่างในประเทศญี่ปุ่น ก็มีการแบก "มิโคชิ" ซุ้มประทับของเทพเจ้าในงานเทศกาลฤดูร้อน ซึ่งเป็นงานที่ใช้แรงเช่นกัน
2
คำถามคือ ประเพณีที่ทำกันมาอย่างยาวนาน ควรรักษาไว้ต่อไป หรือควรเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าหากคนรุ่นใหม่มองว่ามันล้าสมัยไปแล้ว
2
13) และประเด็นที่ 3 คือ "พระเกี้ยว" เป็นเครื่องหมายของศักดินา จริงหรือไม่ กล่าวคือพระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย ควรจะถูกให้คุณค่าไว้ตามเดิมหรือเปล่า
ศ.ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ นายกราชบัณฑิตยสภา อธิบายว่า ในอดีตรัชกาลที่ 5 ยกเลิกระบบไพร่ทาส ขัดใจผลประโยชน์ขุนนางทั้งแผ่นดิน ก็แต่เลือกจะทำ แม้จะเสี่ยงต่อเสถียรภาพในการครองบัลลังก์ก็ตาม รวมถึงยกเลิกวัฒนธรรมการหมอบคลาน ดังนั้นพระเกี้ยวที่เป็นวัตถุตัวแทนของรัชกาลที่ 5 ไม่ได้สื่อถึงความเป็นศักดินา แต่เป็นสัญลักษณ์ของความเสมอภาค และเสรีภาพของคนไทยต่างหาก
4
14) นี่คือดราม่าสำคัญที่ต้องถกเถียงกันต่อไปเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ตอนนี้ทั้งศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน ต่างเห็นแย้งกันไปคนละทิศละทาง
ในเบื้องหน้าอาจจะเป็นแค่ "แบกหรือไม่แบก" พระเกี้ยว แต่ในเบื้่องหลัง มันเป็นการต่อสู้ของอนุรักษ์นิยม ปะทะฝ่ายหัวก้าวหน้า รวมถึงเป็นการโต้แย้งในเรื่องการให้คุณค่าของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่แตกต่างกันของคนทั้ง 2 เจเนเรชั่นด้วย
3
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
ติดตามรายการของ workpointTODAY
ทาง YouTube https://bit.ly/2YDfyiK
ขอบคุณภาพประกอบจาก @IPix
โฆษณา