10 ธ.ค. 2021 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
ความสับสนในที่มาของชื่อ “นางเลิ้ง”
1
บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
เรือมอญบ้านศาลาแดงเหนือรุ่นที่ ๒ จอดขายโอ่งราชบุรีในคลองชลประทานสะพานอำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี  เรือของนางสุนทร เรืองเพชรถ่ายในราว พ.ศ. ๒๕๑๒ หรือ ๒๕๑๗
จากคำบอกเล่าของย่าแห  แก้วหยก ชาวมอญค้าขายทางเรือแห่งบ้านศาลาแดงเหนือ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานีผู้ล่วงลับไปแล้วเล่าว่า ครอบครัวคนค้าขายทางเรือใช้เรือกระแชงลำใหญ่รับเอาสินค้าเครื่องปั้นดินเผาจากเกาะเกร็ด  และบางส่วนจากราชบุรีขึ้นล่องไปขายในระหว่างพื้นที่ภาคกลาง ตั้งแต่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นไปจนถึงจังหวัดอุตรดิตถ์และพิษณุโลก
ของที่ขายส่วนใหญ่จะเป็นพวกเครื่องปั้นดินเผาและถ้วยชาม สินค้าอื่นๆ ก็มีปูนแดง เกลือ กะปิ น้ำปลา ปูเค็ม ปลาเค็ม เต้าเจี้ยว ไตปลา ของแห้งต่างๆ ที่ใช้ในครัวเรือน ใส่เรือกระแชงชักใบล่องเรือไปขายคราวละไม่ต่ำกว่า ๓-๔ เดือน ปีละ ๒-๓ ครั้ง
เมื่อคราวคนรุ่นย่ายายยังสาว พวกเครื่องปั้นดินเผาจะไปรับของที่เกาะเกร็ดและบ้านหม้อที่คลองบางตะนาวศรีใกล้ๆ เมืองนนท์ฯ ส่วนสินค้าของแห้งจะไปจอดเรือแถบสามเสนหรือซังฮี้ แล้วว่าเรือเล็กเข้าไปซื้อแถวคลองบางหลวง ตลาดพลู หรือทางคลองโอ่งอ่างตามแต่แหล่งสินค้าขึ้นชื่อจะมีที่ใด  นำไปขายตามรายทางจนถึงปากน้ำโพ  เข้าแม่น้ำน่านไปแถวบางโพท่าอิฐที่อุตรดิตถ์ก็มี
ส่วนแม่น้ำปิงท้องน้ำที่เต็มไปด้วยหาดทรายทำให้เดินเรือไม่สะดวกจึงไม่ขึ้นไป บางลำก็แยกที่อยุธยาเข้าไปทางป่าสักขึ้นไปจนถึงแก่งคอยและท่าลานบางรายแยกไปทางลำน้ำลพบุรีเข้าบางปะหัน  มหาราช  บ้านแพรก  บ้านตลุง  ลพบุรี วิธีการค้าขายก็จะใช้สินค้าเหล่านี้แลกข้าวเปลือกเป็นหลัก ขากลับจะบรรทุกข้าวเปลือกมาเต็มลำเอาไปขายโรงสีแถวกรุงเทพฯ ในคลองผดุงกรุงเกษมที่มีอยู่หลายเจ้า
การค้าขายเช่นนี้เองที่ทำให้ย่านริมน้ำบริเวณคลองผดุงกรุงเกษม แถบปากคลองเปรมประชากรที่เดินทางออกไปยังพื้นที่นอกเมืองได้สะดวกและอยู่ฝั่งตรงข้ามกับปากคลองวัดโสมนัสฯ และปากคลองจุลนาค ที่ใช้เส้นทางน้ำไปออกคลองมหานาค ย่านเส้นทางเดินทางสำคัญเพื่อออกนอกเมืองทางฟากตะวันออกได้และเรื่อยมาจนถึงเชิงสะพานเทวกรรมฯ
สาวงามและการถ่ายแบบกับตุ่ม “อีเลิ้ง
ตุ่มอีเลิ้งคนในพระนครยังเรียกว่าตุ่มนครสวรรค์ น่าจะมาจากชื่อถนนนครสวรรค์ที่ต่อจากสะพานเทวกรรมฯ ไปยังประตูพฤฒิบาศที่กลายเป็นสะพานผ่านฟ้าฯ ในปัจจุบัน บริเวณนี้น่าจะเป็นย่านค้าขายเพราะมีปากคลองใหญ่น้อยที่พักจอดเรือและเป็นตลาดขึ้นสินค้าหรือจะหาสินค้าพวก “ตุ่มสามโคก” หรือ “อีเลิ้ง” ที่คนมอญ (พิศาล บุญผูก) กล่าวว่าไม่ใช่ภาษามอญ เพราะคนมอญเรียกโอ่งว่า “ฮะรี”
1
ชุมชนแถบนี้เคยเป็นย่านที่อยู่ใหญ่ ทั้งตึกชั้นเดียว บ้านชั้นเดียว ผู้คนย้ายมาจากหลายแห่งทั้งภายในพระนครและคนจากเรือมาขึ้นบกก็มีบ้างและมาจากต่างจังหวัดที่ใช้เรือค้าขายรอนแรมมาจากท้องถิ่นอื่นๆ และบอกเล่าสืบกันมาว่าบ้างมีเชื้อสายมอญที่เคยมาค้าขายภาชนะต่างๆ
ย่านนี้คือฝั่งด้าน ‘ตรอกกระดาน’ ต่อเนื่องมาจากริมคลองผดุงกรุงเกษมและอยู่ทางฝั่งเหนือตลาดนางเลิ้งและบริเวณตรงข้ามกับแถบตลาดนางเลิ้งบนถนนศุภมิตรแต่หลังจากการไล่ที่เพราะเจ้าของต้องการขายที่ไปเมื่อราว พ.ศ. ๒๕๐๐ ผู้คนจากฟากย่านนางเลิ้งฝั่งที่ดินมีเจ้าของของเหนือถนนศุภมิตรแตกสานซ่านกระเซ็นไปจนหมดแล้วจึงสร้างตึกขึ้นมาภายหลัง
“ตุ่มสามโคก” หรือ “ตุ่มอีเลิ้ง” ลักษณะปากและก้นแคบ ป่องกลาง เนื้อดินสีแดงใบไม่ใหญ่นักและมีขนาดเล็กใหญ่ต่างๆ กัน เพราะเคยปรากฏข้อความถึงการทำอาหารพวกน้ำยาเลี้ยงคนจำนวนมากก็ใส่อีเลิ้งหลายใบด้วยกัน เป็นของรุ่นเก่าที่เล่ากันว่าผลิตแถวสามโคกซึ่งยังหาร่องรอยไม่ได้ว่าผลิตขึ้นที่ใดและเลิกทำกันไปตั้งแต่เมื่อไหร่และแม้แต่เตาสามโคกที่วัดสิงห์ ก็ยังไม่พบร่องรอยการผลิตนั้น
จะมีเลียนแบบตุ่มสามโคกที่รู้จักแหล่งผลิตก็คือตุ่มปากเกร็ดที่รูปร่างคล้าย แต่คุณภาพและเนื้อดินแตกต่างและด้อยกว่าผู้คุ้นเคยกับตุ่มสามโคกมองๆ ดูก็รู้  ตุ่มปากเกร็ดหรือโอ่งแดงเหล่านี้ปั้นขายกันแพร่หลายและก็เรียกกันต่อมาอย่างเข้าใจผิดว่าเป็นตุ่มสามโคกเช่นเดียวกัน
เรือมอญบ้านศาลาแดงเหนือรุ่นที่ ๓ ไปซื้อโอ่งราชบุรีที่โรงงาน บ้านท่าเสา จังหวัดราชบุรี ถ่ายภาพโดย : มาณพ แก้วหยก พ.ศ. ๒๕๓๘
ส่วนโอ่งมังกรที่เป็นแบบเคลือบและเนื้อแกร่งกว่า “อีเลิ้ง” น่าจะมีการผลิตขึ้นก่อนแถบริมคลองผดุงกรุงเกษม โอ่งรุ่นแรกจะเป็นแบบเรียบๆ ไม่มีลวดลาย ต่อมาจึงใส่ลายมังกรเข้าไปภายหลังที่วัดศาลาแดงเหนือมีโอ่งมังกรลายหมูป่าฝีมือดีอยู่ใบหนึ่งเขียนข้อความเป็นภาษาไทยตัวใหญ่ว่า “อยู่เย็นเป็นสุข” เขียนแหล่งผลิตเป็นภาษาไทยว่า “คลองขุดใหม่” และยี่ห้อภาษาจีน
สันนิษฐานว่าเป็นโอ่งเคลือบแบบโอ่งมังกรรุ่นแรกๆ  ที่ผลิตในประเทศไทยและศูนย์กลางแหล่งผลิตและย่านการค้าโอ่งมังกรแต่แรกคือแถบคลองผดุงกรุงเกษมหรือที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า คลองขุดใหม่ส่วนโอ่งมังกรของราชบุรี ทำโดยช่างชาวจีนที่เลียนแบบโอ่งจากเมืองจีนน่าจะผลิตเมื่อราว ๗๐-๘๐ ปีมาแล้วนี่เอง
1
ต่อมาเมื่อมีการสร้างเขื่อนภูมิพลแล้ว บางรายยังคงใช้เรือบรรทุกเฉพาะโอ่ง หม้อ ครก กระถางไปขายตามลำคลองแถบคลองรังสิต คลองบางซื่อ คลองผดุงกรุงเกษม คลองเปรมประชากร คลองแสนแสบเป็นพ่อค้าเร่ทางเรือที่ไม่ไกลบ้านเหมือนในอดีต ซึ่งคนรุ่นพ่อแม่ของชาวบ้านศาลาแดงเหนือที่อายุราว ๕๐ ปีขึ้นไป  วิ่งเรือไปเอาโอ่งมังกรโดยใช้เส้นทางคลองภาษีเจริญผ่านท่าจีน
เข้าคลองดำเนินสะดวกออกแม่กลองที่บางนกแขวก แล้วล่องไปรับโอ่งมังกรที่ราชบุรีแต่ขากลับเรือที่เพียบแประต้องการพื้นน้ำที่ไม่วุ่นวายเหมือนเส้นทางที่ผ่านมาก็จะเข้าทางแม่น้ำท่าจีนขึ้นไปทางสุพรรณบุรี ผ่านประตูน้ำบางยี่หน ผ่านบางปลาหมอ มาออกบ้านแพน แล้วล่องแม่น้ำน้อยมาออกแม่น้ำเจ้าพระยาแถวลานเท
การค้าหม้อค้าโอ่งทางเรือค่อยๆ เลิกรา เพราะคลองเริ่มเดินเรือไม่สะดวกและตลาดหรือที่ชุมชนไม่ใช่พื้นที่ริมฝั่งคลองอีกต่อไป  เริ่มมีการเปลี่ยนจากเรือมาเป็นรถกันตั้งแต่ราวปี พ.ศ. ๒๕๑๗
สมมติฐานเรื่องการค้าขายภาชนะ เช่น ตุ่มสามโคกหรือ “อีเลิ้ง” ของชาวเรือมอญจากแถบสามโคกก็พ้องกันกับเรื่องราวของชื่อ “นางเลิ้ง” ที่เปลี่ยนตามสมัยนิยมของคนมีการศึกษาในเมืองไทยที่ไปเข้าใจคำว่า “อี” ที่ใช้มาแต่เดิมแต่โบราณนั้นเป็นคำไม่สุภาพ
จากคำเรียกภาชนะแบบทับศัพท์ภาษามอญที่ใช้มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาที่บันทึกว่าในย่านคลองสระบัว แหล่งทำภาชนะใช้ในครัวเรือนสำหรับชีวิตประจำวันก็มีการทำภาชนะใส่น้ำแบบอีเลิ้งด้วย และคงมีการปั้นโอ่งหรือตุ่มรูปทรงนี้ต่อมาจนเข้าสู่สมัยกรุงเทพฯ จากภาชนะที่เรียกว่า อีเลิ้ง และเรียกย่านนั้นว่าอีเลิ้ง ก็กลายมาเป็นย่านนางเลิ้งตามจริตคนไทยให้ฟังดูสุภาพเสีย
เพราะมีการเปลี่ยนชื่อเช่นนี้เสมอ เช่น หอยอีรมเป็นหอยนางรม, นกอีแอ่นเป็นนกนางแอ่น หนังสือพิมพ์บางกอกสมัยฉบับวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๒  กล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเปิดตลาดนางเลิ้งรวมทั้งงานรื่นเริงต่างๆ นั้น  ก็เขียนถึงตลาดนี้ในชื่อว่า “ตลาดนางเลิ้ง” มาตั้งแต่ครั้งเริ่มทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการแล้ว
คำว่า นางเลิ้ง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๕ และ พ.ศ. ๒๕๒๕ ว่า “นางเลิ้ง” และ “อีเลิ้ง” เป็นคำนามหมายเรียกตุ่มหรือโอ่งใหญ่ว่าตุ่มอีเลิ้งหรือนางเลิ้งหรือ “โอ่งนครสวรรค์” ก็เรียก และยังหมายเป็นนัยถึงใหญ่เทอะทะ
ปัจจุบันพบว่ามีความสับสนที่มาของชื่อ “นางเลิ้ง” ว่าเป็นชื่อมีที่มาอย่างไร สืบเนื่องจากมีการศึกษาชุมชนและตลาดนางเลิ้งในราว ๑๐ ปีหลังมานี้เป็นจำนวนมาก และอ้างอิงผลิตซ้ำคำอธิบายจาก “คำให้การผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมท้องถิ่น” ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม  โดยอ้างอิงมาจากศูนย์วัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร  และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล  วิทยาเขตพาณิชยการพระนคร
ประวัติของชุมชนแต่เดิมในบริเวณนี้ก่อนการสร้างตลาดนางเลิ้ง ในสมัยรัชกาลที่ ๕  โดยเสนอสมมติฐานว่าเป็นคำที่สืบเนื่องจากภาษาถิ่นที่ใกล้เคียงกับภาษาเขมร ซึ่งเป็นชุมชนเขมรในพระนครที่เข้ามาพร้อมกับเชื้อพระวงศ์กษัตริย์เขมรเมื่อต้นรัชกาลที่ ๑
ข้อมูลเหล่านี้ปรากฏทั้งในอินเทอร์เน็ตและการคัดลอกผ่านงานศึกษาวิจัยต่างๆ ว่าสมมติฐานหนึ่งมาจากคำว่า “ฉนัง”  และคำว่า “เฬิง” ในภาษาเขมร โดยแปลรวมกันว่าเป็นภาชนะขนาดใหญ่ แม้จะกล่าวว่าทั้งคำว่า “ฉนัง” และ “เฬิง” นั้นปกติในภาษาเขมรก็ไม่ได้นำมารวมกัน
แม้จะมีหลักฐานว่าแต่เดิมเจ้านายเขมรนั้นพระราชทานที่ดินให้อยู่แถบตำบลคอกกระบือหรือแถบวัดยานนาวา ต่อมาราว พ.ศ. ๒๓๒๙ จึงสร้างวังพระราชทานให้ที่ริมคลองเมืองเยื้องปากคลองหลอดวัดราชนัดดา ฝั่งตรงข้ามวัดสระเกศซึ่งอยู่ภายในพระนครที่เรียกว่า “วังเจ้าเขมร”
ส่วนครัวเขมรเข้ารีตราว ๔๐๐-๕๐๐ คนให้สร้างบ้านเรือนอยู่รวมกับชาวบ้านเชื้อสายโปรตุเกสที่มีศูนย์กลางของชุมชนคือวัดคอนเซ็ปชัญและบ้านญวนสามเสน ที่มีวัดเซนต์ฟรังซีสเซเวียร์ซึ่งเป็นกลุ่มอพยพเข้ามาภายหลังในราวรัชกาลที่ ๓
บริเวณนี้เป็นที่รวมของผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกหรือชาวคริสต์ตังและอยู่ต่อเนื่องสืบมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้วจากนั้นมาบ้านโปรตุเกสที่นี่จึงถูกเรียกอีกชื่อว่าบ้านเขมร และวัดคอนเซ็ปชัญก็ถูกเรียกว่า “วัดเขมร” ชุมชนบ้านเขมรริมแม่น้ำเจ้าพระยาแถบวัดคอนเซ็ปชัญนี้
มีนายแก้วที่เป็นผู้ชำนาญการวิชาปืนใหญ่ เนื่องจากเคยได้เรียนกับชาวโปรตุเกส ต่อมาได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็นที่พระยาวิเศษสงคราม รามภักดี จางวางกรมทหารฝรั่งแม่นปืนใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายแก้วเขมรนี้เป็นหัวหน้าดูแลชาวหมู่บ้านคอนเซ็ปชัญด้วย ต่อมาบุตรหลานได้รับราชการสืบต่อมาเป็นลำดับ เชื้อสายสกุลพระยาวิเศษสงครามภักดี (แก้ว) ปรากฏอยู่คือ “วิเศษรัตน์” และ “วงศ์ภักดี”
ในระหว่างรัชกาลที่ ๓ มีศึกสงครามรบกับญวนอยู่หลายปีมีชาวญวนเข้ารีตคริสต์ตังแถบ “เมืองเจาดก” ขอเข้ามาอยู่ในเมืองสยาม จึงนำมาอยู่เหนือบริเวณบ้านเขมร ภายหลังผู้คนในบ้านเขมรมีมากขึ้นดังจากเหตุดังกล่าว จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานขยายเขตหมู่บ้านเขมรออกไปอีก ทิศเหนือจรดวัดราชผาติการาม (วัดส้มเกลี้ยง) ทิศใต้จรดวัดราชาธิวาส(วัดสมอราย) ทิศตะวันออกติดถนนสามเสน ทิศตะวันตกจรดแม่น้ำเจ้าพระยา
ส่วนพวกญวนขยับจากที่เดิมไปบ้านเรือนทางด้านเหนือและสร้างโบสถ์เซนต์ฟรังซีสเซเวียร์เป็นศูนย์กลางของชุมชนอีกแห่งหนึ่งเมื่อราว พ.ศ. ๒๓๙๖ ในภายหลัง (ประวัติวัดและหมู่บ้านคอนเซ็ปชัญ, รวบรวมจากหนังสือที่ระลึกงานฉลองวัดคอนเซ็ปชัญครบ ๒๕๐ ปี, ห้องเอกสาร อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ, คัดลอกจากอินเทอร์เน็ต ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๘)
จะเห็นได้ว่าไม่มีข้อมูลใดๆ ที่เกี่ยวกับชุมชนเดิมที่นางเลิ้งสามารถเชื่อมโยงไปถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวเขมรบริเวณใกล้กับโบสถ์คอนเซ็ปชัญซึ่งเป็นชุมชนเขมรคริสต์ตังใหญ่ปนเปกับผู้มีเชื้อสายโปรตุเกส ส่วนที่เป็นเชื้อพระวงศ์และได้รับที่ดินและวังพระราชทานบริเวณเยื้องปากคลองหลอดวัดราชนัดดา
วังพระราชทานนั้นหมดสิ้นไปแล้วเมื่อมีการบันทึกสารบาญชีของกรมไปรษณีย์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ และอาจเป็นเพียงการเข้าใจผิดในชื่อสถานที่แรกตั้งถิ่นฐานที่มีชื่อ “คอกกระบือ” แถบวัดยานนาวาที่อยู่นอกพระนครทางด้านใต้ พ้องกันกับแถบสนามกระบือทางด้านตะวันออกของพระนคร และการนำคำที่ปรากฏลากเข้าหาสมมติฐานที่ตนเองต้องการคือ “ฉนัง-เฬิง” ให้กลายเป็น “นางเลิ้ง” ดังกล่าว
ขอบคุณ
มาณพ แก้วหยก, บ้านศาลาแดงเหนือ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี
พระนครบันทึก : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๐๗ (ก.ค.-ก.ย.๒๕๕๘)
อัพเดทล่าสุด ต.ค. 2561
โฆษณา