27 ต.ค. 2021 เวลา 11:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไม ราคาน้ำมันแพงขึ้น กระทบเศรษฐกิจไทย ทั้งระบบ
5
เศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวในปัจจุบัน
ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างเริ่มกลับมาคึกคัก
ความต้องการพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันนั้นจึงปรับเพิ่มขึ้น
และเรื่องนี้ทำให้ราคาน้ำมันนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก นับจากต้นปีที่ผ่านมา
6
คำถามที่หลายคนอยากรู้ต่อมาก็คือ
ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ในแง่มุมไหนบ้าง ?
ลงทุนแมนจะมาวิเคราะห์ให้ฟัง
ลองมาดูกันก่อนว่านับจากต้นปี ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทย เปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน
2
- สิ้นปี 2020 ราคาน้ำมันดิบดูไบ เท่ากับ 49.81 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- ปัจจุบัน ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ราว ๆ 81.81 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับเพิ่มขึ้นมาประมาณ 64%
5
เนื่องจากน้ำมันดิบที่ไทยนำเข้ามาส่วนใหญ่มาจากประเทศในตะวันออกกลาง
ดังนั้นประเทศไทย จึงใช้น้ำมันดิบดูไบเป็นราคาอ้างอิง ราคาน้ำมันสำเร็จรูป และสินค้าปลายน้ำ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอื่น ๆ
5
ทีนี้โดยกลไกตลาดแล้ว เมื่อวัตถุดิบอย่างราคาน้ำมันดิบมีราคาเพิ่มขึ้น น้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทย จึงมีราคาแพงขึ้นตามไปด้วย
- สิ้นปี 2020 ราคาน้ำมันดีเซล (B7) เท่ากับ 24.19 บาทต่อลิตร
- ปัจจุบัน ราคาน้ำมันดีเซล (B7) อยู่ที่ราว ๆ 29.29 บาทต่อลิตร
หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นประมาณ 21%
2
- สิ้นปี 2020 ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เท่ากับ 22.75 บาทต่อลิตร
- ปัจจุบัน ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ราว ๆ 31.55 บาทต่อลิตร
ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้น 39%
8
คำถามคือ แล้วราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อประเทศไทย อย่างไรบ้าง ?
เรื่องที่ 1: ค่าใช้จ่ายในการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้น
8 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบเท่ากับ 346,531 ล้านบาท
8 เดือนแรกของปี 2564 มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบเท่ากับ 499,815 ล้านบาท
1
ค่าใช้จ่ายในการนำเข้าน้ำมันดิบ เพิ่มขึ้นประมาณ 44% ทำให้ 8 เดือนแรกของปีนี้ ค่าใช้จ่ายในการนำเข้าน้ำมันดิบมีมูลค่ามากที่สุดในบรรดาสินค้านำเข้าอื่น ๆ ทั้งหมด
และเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ในช่วงมกราคม-กันยายน ปี 2564 ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า 24,600 ล้านบาท
3
เมื่อเร็ว ๆ นี้ Goldman Sachs วาณิชธนกิจชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา ประเมินว่า มีโอกาสที่ราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) จะปรับตัวสูงเรื่อย ๆ จนแตะระดับ 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ภายในสิ้นปีนี้ (จากตอนนี้ที่ประมาณ 82 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล)
5
ประเด็นคือว่า ถ้าราคาน้ำมันยังปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่องจนถึงปลายปี เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวและหลายประเทศที่กำลังเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวจะมีความต้องการพลังงานมากขึ้น
เรื่องนี้อาจทำให้ประเทศไทยขาดดุลการค้ามากขึ้น จนอาจส่งผลทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้นตาม
4
ทั้งนี้ในช่วง 8 เดือนแรกที่ผ่านมา ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดกว่า 320,000 ล้านบาท ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ การติดลบของดุลบัญชีเดินสะพัดจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อน
ที่แม้จะเป็นเรื่องดีต่อผู้ส่งออก แต่ก็จะทำให้ต้นทุนของผู้นำเข้าแพงขึ้นด้วยเช่นกัน
4
เรื่องที่ 2: ผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่มีน้ำมันเป็นต้นทุนในการผลิตหรือบริการ
1
เมื่อราคาน้ำมันแพงขึ้น ภาคที่ได้รับผลกระทบโดยตรงนั่นคือ ธุรกิจขนส่งและธุรกิจโลจิสติกส์
3
ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานระบุว่า
พลังงานขั้นสุดท้ายที่ประเทศไทยใช้ นั้นประกอบไปด้วย
- น้ำมันสำเร็จรูป 53%
- ไฟฟ้า 23%
- ถ่านหิน 13%
- ก๊าซธรรมชาติและอื่น ๆ 11%
3
ในปี 2563 ประเทศไทยบริโภคน้ำมันสำเร็จรูปทั้งหมด 127.3 ล้านลิตร
โดยมากกว่าครึ่ง เป็นการใช้น้ำมันดีเซล
8
ซึ่งน้ำมันดีเซล ไม่ใช่แค่ใช้ในรถยนต์ รถกระบะ และรถบรรทุกเท่านั้น
แต่ยังถูกนำมาใช้ในเครื่องปั่นไฟ และเครื่องยนต์ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต
ดังนั้น 2 ภาคอุตสาหกรรมนี้ ก็น่าจะได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ จากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น
ปี 2563 ภาคการขนส่งและภาคอุตสาหกรรมการผลิต สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกันกว่า 30% ของมูลค่า GDP ประเทศไทย
2
เราจึงเริ่มเห็นคนจากภาคอุตสาหกรรมขนส่งออกมาเคลื่อนไหวกันบ่อยขึ้น เช่น ม็อบรถบรรทุกที่ปิดถนนและชุมนุมเรียกร้องกดดันรัฐบาลให้คุมราคา​น้ำมันดีเซล
2
ถึงขนาดมีการยกระดับมาตรการกดดัน ว่าจะหยุดวิ่งรถบรรทุกขนส่งสินค้า จำนวนกว่า 100,000 คัน หรือประมาณ 10% ของจำนวนรถบรรทุกในประเทศ
ซึ่งสุดท้ายถ้าปัญหาเรื่องนี้บานปลาย ก็อาจส่งผลกระทบต่อระบบ Supply Chain เนื่องจากรถบรรทุกนั้นถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการขนส่งสินค้าทั่วประเทศของไทยในปัจจุบัน
ยังไม่รวมอุตสาหกรรมการบินที่บอบช้ำอย่างหนักตั้งแต่ช่วงโควิด 19 และทำท่าจะฟื้นตัวเมื่อการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาคึกคัก แต่ถ้าต้องมาเจอภาวะที่น้ำมันแพง ซึ่งน้ำมันเป็นต้นทุนหลักในการดำเนินงาน ก็อาจทำให้สายการบินหลายแห่งต้องเหนื่อยต่อไปในช่วงนี้
1
เรื่องที่ 3: ค่าไฟฟ้า มีโอกาสแพงขึ้นได้
1
หนึ่งในต้นทุนหลักของการผลิตไฟฟ้าคือ เชื้อเพลิง ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของราคาเชื้อเพลิงจึงส่งผลโดยตรงต่อราคาค่าไฟฟ้า
ในประเทศไทย แม้ว่าน้ำมันจะไม่ใช่แหล่งเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าเหมือนในอดีต
เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก โดยมีสัดส่วนประมาณ 58% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า
1
แต่ราคาน้ำมันที่เพิ่ม ส่งผลทำให้ราคาก๊าซธรรมชาตินั้นปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งรู้ไหมว่า นับจากต้นปีราคาก๊าซธรรมชาติ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแล้วกว่า 30%
ปัจจุบัน คณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน มีการนํางบประมาณมาบริหาร และอุดหนุนค่าไฟฟ้าเพื่อเยียวยาให้กับประชาชนในช่วงโควิด 19 ตามนโยบายของรัฐบาล
1
อย่างไรก็ตาม ถ้าราคาเชื้อเพลิงทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ก็อาจทำให้คณะกรรมการกํากับกิจการพลังงานต้องใช้งบมากขึ้นเพื่อมาตรึงราคาส่วนนี้
3
หรือไม่ก็ต้องปรับอัตราการคิดคำนวณค่าไฟฟ้าใหม่ เพื่อสะท้อนต้นทุนที่เหมาะสมมากขึ้น ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นได้เหมือนกัน
เรื่องที่ 4: ราคาน้ำมันแพงทำให้เงินเฟ้อ และเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น จะเร่งให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น
2
ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นมีผลโดยตรงต่ออัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากน้ำมันเป็นต้นทุนหลักในการขนส่ง การผลิตสินค้าต่าง ๆ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น จนนำไปสู่เงินเฟ้อ
5
เงินเฟ้อของไทยเดือนกันยายนล่าสุดเพิ่มขึ้น 1.68% จากติดลบ 0.02% ในเดือนสิงหาคม ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจาก ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และถ้าราคาน้ำมันยังเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อก็มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นไปอีก
5
สุดท้าย ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะต้องขึ้นดอกเบี้ย
ซึ่งจะบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภค เพิ่มภาระแก่ภาคครัวเรือนที่ปัจจุบันมีหนี้สูงมากอยู่แล้ว จนนำไปสู่หนี้เสียที่เพิ่มขึ้น และกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในที่สุด
6
อ่านมาถึงตรงนี้ เราจะเห็นได้ว่า ผลกระทบจากน้ำมันแพงนั้น ส่งผลหลายด้านต่อเศรษฐกิจไทย
ซึ่งก็น่าจะเป็นอีกเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องจับตาต่อจากนี้ ซึ่งถ้าเศรษฐกิจถดถอยในขณะที่ประเทศเจอกับภาวะเงินเฟ้อเพราะราคาน้ำมัน เราจะเรียกช่วงเวลานี้ว่า Stagflation ซึ่งมันน่าจะเป็นช่วงเวลาอันน่าสะพรึงกลัว ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น..
3
โฆษณา