27 ต.ค. 2021 เวลา 13:55 • ดนตรี เพลง
Hey Jude
The Beatles
เพลงนี้ออกมาในปี คศ. 1967 ประพันธ์โดย Paul McCartney ในเครดิต Lennon & McCartney มีความยาวถึง 7.11 นาที โดยเฉพาะท่อน Na na na……. หากเป็นการเล่นบนเวทีคอนเสริต์ ผู้ชมก็จะร่วมร้องตามกันอย่างกึกก้อง
พอล แม็คคาร์ทนีย์ ให้สัมภาษณ์ในตอนหลังว่า เขาแต่งเพลงนี้ให้กับ จูเลียน บุตรชายของ จอห์น เลนนอน ที่เกิดกับ ซินเธีย ภรรยาคนแรก ซึ่งต่อมาได้แยกทางกัน หันไปคบหากับ โยโกะ โอโนะ สาวญี่ปุ่น เนื้อหาของเพลงเป็นการปลอบประโลม แปรเปลี่ยนความเศร้าหมองให้เป็นพลังในการดำเนินชีวิตต่อไป แต่ด้วยความเป็นเพื่อนร่วมวง พอลจึงใช้ถ้อยคำที่กำกวม ไม่เน้นไปที่ใครเป็นพิเศษและเปลี่ยนชื่อเพลงจากเดิม Hey Jules ซึ่งใกล้เคียงกับ Julian มาเป็น Hey Jude แทน จอห์นเองก็เข้าใจว่าพอลแต่งเพลงนี้ให้เขาเพื่อสานรักครองคู่กับคนใหม่อย่างไม่หวั่นเกรงใคร ( เมื่อจอห์นแยกทางกับซินเธียและหันไปมีสัมพันธ์กับโยโกะนั้น ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์มากมายถึงความไม่เหมาะสมต่างๆนานา ) ฝ่ายซินเธียเมื่อรู้ว่า เพลงนี้พอลตั้งใจแต่งให้ลูกชาย จึงทุ่มเงิน 25,000 ปอนด์ ซื้อลิขสิทธิ์เพลงนี้มาเก็บไว้
ความเห็นส่วนตัวของลุงชาลี คิดว่าการที่พอลเขียนเนื้อหาแบบกำกวม รวมทั้งเปลี่ยนชื่อเพลง ก็คงเพราะเกรงว่า จะไม่ได้รับความร่วมมือจากจอห์นในการอัดเสียงทำเพลงนี้ในสตูดิโอ และอาจโดนเพื่อนตำหนิว่าก้าวก่ายเรื่องส่วนตัว เพราะในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ทั้งคู่เริ่มมีอาการระหองระแหงกันแล้ว
The Beatles แยกวงกันในปี คศ. 1970 จำนวนอัลบั้มที่พวกเขาร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นมานั้น ในอังกฤษและอเมริกามีตัวเลขที่แตกต่างกัน เป็นเหตุผลด้านการตลาดที่มีการคัดเอาเพลงแต่ละอัลบั้มมารวมกัน ประเภทรวมฮิต หรือรวมเพลงรัก ( Love Songs ) แต่ทางอังกฤษไม่มีอัลบั้มประเภทนี้
ในยุคแรก แผ่นเสียงผลิตมาจากวัสดุธรรมชาติชนิดหนึ่ง เรียกว่า “ ครั่ง “ ตัวแม่ครั่งมีขนาดเล็กจิ๋วเล็กกว่าตัวหมัด รวมตัวกันอยู่ตามกิ่งไม้ ( ส่วนใหญ่เป็นต้นฉำฉา ) ถ่ายมูลรวมกันเป็นก้อนสีแดงคล้ำ เพิ่มจำนวนมากขึ้นจนหุ้มรอบกิ่งไม้ นอกจากจะมาทำเป็นแผ่นเสียงแล้วก็ยังนำมาใช้เป็นพื้นปิดผนึกสำหรับประทับตราเอกสารสำคัญและเป็นความลับ ถ้าเป็นระดับชาวบ้านก็จะใช้ครั่งเป็นตัวยึดด้ามกับตัวมีดเข้าด้วยกัน ก่อนที่จะรัดรอบนอกด้วยปลอกโลหะอีกครั้ง
แผ่นเสียงครั่งในยุคแรกบรรจุได้หน้าละ1เพลง อัตราการหมุน 78 รอบต่อนาที ที่เห็นส่วนใหญ่จะเป็นตรากระต่ายของห้าง ต.เง็กชวน และบริษัทแผ่นเสียงศรีกรุง
ครั่งเป็นวัสดุที่เปราะและแตกหักง่าย แผ่นเสียงจึงพัฒนามาใช้พลาสติคแทน ( ปัจจุบันเรียกว่าไวนิล ) ขนาดของแผ่นเล็กและบางกว่าเก่ามาก ปรับอัตราหมุนอยู่ที่ 45 รอบต่อนาที บรรจุได้หน้าละเพลงเหมือนเดิม และผลิตเป็นแผ่นใหญ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 นิ้ว เรียกว่าแผ่นลองเพลย์ บรรจุได้หน้าละ 6 เพลง อัตราการหมุน 33 รอบต่อนาที
ลุงชาลีทำงานหาเงินเก็บหอมรอบริบอยู่นาน จนถอยเครื่องเล่นแผ่นเสียงมาเป็นสมบัติได้เครื่องหนึ่ง เป็นชนิดที่มีเสียงในตัว หิ้วไปไหนมาไหนได้ มีฮาร์ดแวร์แล้วก็ต้องมี ซอล์ฟแวร์ คือแผ่นเสียง แผ่นลองเพลย์นั้นราคาแผ่นละเกือบๆ200บาท นานๆถึงจะกัดฟันซื้อได้ซักแผ่น ( เงินเดือน พันบาทเศษๆ ) ส่วนใหญ่แล้วลุงชาลีจะเล่นแผ่นซิงเกิล ( ก้อปปี้ ) แผ่นละ 25 บาท หน้าละ 2 เพลง ปกของแผ่นชนิดนี้จะเป็นซองกระดาษสีน้ำตาล เจาะช่องวงกลมไว้ตรงกลาง เพื่อให้อ่านชื่อเพลงได้ ลุงชาลีสะสมแผ่นประเภทนี้ไว้เยอะพอควร รวมทั้งแผ่นลองเพลย์ของ The Beatles ที่กัดฟันซื้อได้เกือบครบ น่าเสียดายที่ไม่รู้คุณค่าของสมบัติที่หาซื้อมาด้วยหยาดเหงื่อ พอระบบเทปคาสเซ็ทเข้ามาแทนที่ ก็ปล่อยปละละเลย ทิ้งตกหล่นสูญหายไปก็มาก แจกจ่ายพวกพ้องไปก็เยอะ สุดท้ายไม่เหลืออะไรเลย
เมื่อกระแสนิยมของเก่าวินเทจย้อนยุคกลับมาในความนิยมอีกครั้ง การฟังเพลงจากเครื่องเล่นแผ่นลองเพลย์หรือไวนิลก็ถูกจุดขึ้นต่างพากันรื้อห้องเก็บของ นำเครื่องเล่น,แอมป์และแผ่นเสียง ออกมาปัดฝุ่น ปลุกให้พื้นคืนชีพ บรรจงวางหัวเข็มลงสัมผัสร่องแผ่น​ เสียงแคร็กที่คุ้นเคยก็เริ่มขึ้นแผ่วเบา
Hey Jude , Don’t make it bad. Take a sad song and make it better………
โฆษณา