28 ต.ค. 2021 เวลา 13:01 • การตลาด
อะไรจะเกิดขึ้น
เมื่อบิ๊กซี - โลตัส มุ่งขยายสาขาสู่ถนนเส้นรอง
1
แม้ทิศทางของตลาดค้าปลีกบ้านเราจะมุ่งไปที่การทำตลาดแบบ Omni channel ที่ผสานช่องทางขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่อ แต่สำหรับค้าปลีกเซ็กเม้นต์ไฮเปอร์มาร์เก็ตที่มี 2 ผู้เล่นอย่างบิ๊กซี – โลตัส ยังคงให้ความสำคัญกับการเดินหน้าขยายสาขาที่เป็นออฟไลน์สโตร์อย่างต่อเนื่อง
2
ส่วนหนึ่งของการขยายสาขานั้น จะมีการปรับฟอร์แมตสโตร์ให้เข้ากับโลเกชั่น และโอกาสทางการตลาดในการเข้าถึงลูกค้าแต่ละพื้นที่ ซึ่งการขยายสาขาในฟอร์แมตที่เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่นั้น ยังคงมีให้เห็นออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับการเข้าไปในพื้นที่ยังไม่มีสาขาของตัวเอง
1
เกมที่เปลี่ยนไปก็คือ จากเดิมที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ที่ใช้กลยุทธ์ Pull Strategy นั่นคือ มีไซส์ขนาดใหญ่ ขายสินค้าราคาถูก และมีรูปแบบออกมาเป็นศูนย์การค้าที่มีร้านค้าและเอนเตอร์เทรเม้นต์ต่างๆ มี Catchment Area หรือรัศมีในการครอบคลุมกำลังซื้อที่ค่อนข้างกว้างหลายกิโลเมตรจากทำเลที่ตั้ง ก็ปรับลดลง โดยจะมีการขยายสาขาเข้าไปใกล้ตัวผู้บริโภค
1
ทำให้เราได้เห็นการขยายสาขาเข้าไปยังถนนเส้นรองมากขึ้น อย่างกรณีของโลตัสที่จะเปิดสาขาบนถนนเลียคลองสอง เขตคลองสามวา ใกล้ซาฟารีเวิลด์ หรืการเปิดสาขาบนถนนบรมราชชนนี โลตัส สาขาสุทธิสาร รวมถึงการเข้าไปเปิดสาขาที่อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นอำเภอชายแดนติดประเทศกัมพูชา ทั้งหมดเป็นแผนที่น่าจะเปิดสาขาได้ในปีหน้า
ขณะที่บิ๊กซี นอกจากการเปิดสาขาล่าสุดที่นราธิวาสแล้ว ในปีนี้ ยังมีแผนที่จะเปิดสาขาบ่อวิน ซึ่งจะเป็นการขยายสาขาขนาดใหญ่ตามเป้าที่จะเปิดเพิ่มในปีนี้ 2 สาขาทำให้มีสาขาขนาดใหญ่ในฟอร์แมตไฮเปอร์มาร์เพิ่มขึ้นเป็น 153 สาขา เช่นเดียวกับการเข้าไปเปิดในชั้น 1ของห้างพาต้าปิ่นเกล้า ซึ่งเดิมทีจะเป็นพื้นที่ที่โลตัสเข้ามาเปิดสาขาในฟอร์แมตซูเปอร์มาร์เก็ต
บิ๊กซี สาขานราธิวาส คือ 1 ในตัวอย่างของการขยายสขาเข้าไปหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ยังไม่มีร้านค้าปลีกขนาดใหญ่จากส่วนกลางเข้าไปเปิดสาขา ซึ่งถือเป็นสาขาที่ 2 ในเขตสามจังหวัดชายแดนใต้ต่อจากสาขาปัตตานีที่มีการเติบโตของยอดขายค่อนข้างดี เพราะมีเพียงบิ๊กซี และห้างท้องถิ่นอย่างไดอาน่าเท่านั้นที่เข้าไปเปิดสาขาในพื้นที่
หากมองตามยุทธศาสตร์การขยายสาขาสู่ประเทศอาเซียนของบิ๊กซีแล้ว จะพบว่า เมืองชายแดนถือเป็นโลเกชั่นสำคัญ เพราะจะถูกใช้เป็นตัวเชื่อมต่อไปสู่การทำตลาดกับประเทศเพื่อนบ้านตามแผนการผลักดันให้บิ๊กซีก้าวขึ้นไปเป็นค้าปลีกระดับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งแน่นอนว่า ตลาดมาเลเซียอยู่ในแผนที่จะขยายสาขาออกไปด้วย หลังจากที่บิ๊กซีมีสาขาในรูปแบบไซส์เล็กที่พนมเปญ และไฮเปอร์มาร์เก็ตเก็ตขนาดใหญ่ที่รวมร้านค้าในพลาซ่าที่ปอยเปต ซึ่งจะเป็นสาขาต้นแบบในการขยายออกไปในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงมีสาขาขนาดเล็กใน สปป.ลาวอีกกว่า 50 สาขา
บิ๊กซี สาขาปอยเปต ถือเป็นการขยายสาขาที่สอดรับกับเป้าหมายการขยายสาขาออกไปยังต่างประเทศที่ครั้งหนึ่งอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เคยออกมาให้ข่าวถึงแนวทางการขยายสาขาของบิ๊กซีว่า จะให้ความสำคัญในการเชื่อมต่อ (Connectivity) กับพื้นที่การค้าชายแดนเพื่อกระจายสินค้าและบริการสู่ภูมิภาคมากขึ้น โดยจะไม่โฟกัสการเข้าไปลงทุนเป็นประเทศหรือตลาดยุทธศาสตร์อีกต่อไป แต่จะมองภาพเป็นยุทธศาสตร์อาเซียนหนึ่งเดียว
สำหรับการขยายสาขาเข้าไปในจังหวัดนราธิวาสนั้น อัศวิน บอกว่า เป็นการเล็งเห็นถึงศักยภาพของเศรษฐกิจประเทศโดยเฉพาะบริเวณพรมแดนเขตเศรษฐกิจภาคใต้ หนึ่งในนั้นคือ จ.นราธิวาส ขณะเดียวกันการค้าชายแดนมีบทบาทสำคัญเช่นกัน โดยมีมูลค่าสินค้าส่งออกและนำเข้าปีละกว่า 2.4 แสนล้านบาท รวมถึงการลงทุน ความพร้อมของแหล่งวัตถุดิบและแรงงาน การเกษตร การท่องเที่ยว และความได้เปรียบของที่ตั้งที่อยู่แนวพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก ของประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย และคนมาเลเซียข้ามฝั่งมาซื้อสินค้าและท่องเที่ยว จ.นราธิวาส เป็นประจำ ทำให้เห็นศักยภาพที่บิ๊กซีจะลงสาขาทำตลาดได้
กลุ่มเป้าหมายหลักของสาขานราธิวาส คือ ประชากรในจังหวัดนราธิวาสซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าโดยตรงของบิ๊กซี รวมถึงชาวมาเลเซีย ทั้งนี้ บิ๊กซี สาขานราธิวาส ใช้งบลงทุนราว 350 ล้านบาท บนเนื้อที่กว่า 19 ไร่ โดยสาขานี้เป็นรูปแบบบิ๊กซี ไฮเปอร์มาเก็ต มาตรฐาน พื้นที่ขนาดอาคารรวม 10,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ขาย 4,000 ตารางเมตร และอีก 6,000 ตารางเมตร จัดสรรเป็นพื้นที่ให้เช่าโดยปัจจุบันมีผู้เช่าเต็มพื้นที่ขายแล้วจากผู้ประกอบการชาวไทย มุสลิม และผู้ประกอบการท้องถิ่นที่มาร่วมขับเคลื่อนธุรกิจสร้างความหลากหลายด้านสินค้าและบริการ
การเข้ามาทำตลาดของไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ในบ้านเรากว่า 20 ปีที่ผ่านมา สร้างความเปลี่ยนแปลงในด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคค่อนข้างมาก ประสบการณ์ในการช้อปกับไฮเปอร์มาร์เก็ตที่เคยสร้างความตื่นตาในอดีตก็คือเรื่องของการขายสินค้าราคาถูกแบบ Everyday Low Price กลายเป็นเรื่องเบสิกที่ไม่มีความแปลกใหม่ไปแล้ว ทำให้ผู้เล่นทั้ง 2 ราย ต่างหันมาใช้กลยุทธ์ราคาในรูปแบบที่ช็อกไพร์ซ เพื่อกระตุ้นการซื้อ อย่างกรณีของโลตัสที่สร้าง Perception ในการเป็นร้านค้าปลีกราคาถูกด้วยแคมเปญ โรลแบ็ก
ขณะที่การมาที่สโตร์แล้วช้อปเป็นจำนวนมาก น่าจะไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการอีกต่อไปแล้ว เพราะมีการสร้างฟอร์แมตของร้านค้าปลีกที่ทำให้เข้าถึงการซื้อได้ง่ายขึ้นแบบทุกที่ทุกเวลา ทั้งฟอร์แมตที่เป็นร้านค้าปลีกขนาดเล็กกระจายเข้าไปในชุมชนต่างๆ และตัวช้อปปิ้งออนไลน์ที่มีส่วนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้ออย่างมาก
ตัวอย่างในเรื่องของความสะดวกในการช้อปนั้น ยังรวมถึงเรื่องของการเดินทางที่โครงสร้างของเมืองเปลี่ยนไป ขณะที่ในสมัยก่อน จำนวนคนหารด้วยจำนวนรถจะมีแค่ 20% แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 80% ทำให้เป็นเรื่องที่ยากลำบากในการฝ่าการจราจรที่ติดขัดเพื่อเข้ามาช้อปปิ้งเพียงอย่างเดียว
1
การเปิดสาขาในพื้นที่ที่เป็นถนนเส้นรองคือรูปแบบหนึ่งของการปรับตัวในเรื่องของการขยายสาขาของยักษ์ไฮเปอร์มาร์เก็ต เพราะการเติบโตของยอดขายที่มาจากสาขาใหม่ยังคงมีความสำคัญ ทำให้เราจะได้เห็นเกมที่เปลี่ยนไปของการขยายสาขาในปีหน้านี้ที่ถนนเส้นรอง หรืออำเภอรองๆ จะเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของการขยายสาขา.....
#BrandAgeOnline
โฆษณา