29 ต.ค. 2021 เวลา 03:00 • ความคิดเห็น
🩺 ตรวจสุขภาพการเงินส่วนบุคคลทำอย่างไร? การเงินของคุณแข็งแรงแค่ไหนมาดูกันครับ!
การตรวจสอบสุขภาพการเงินเป็นสิ่งที่ควรทำโดยมีจุดประสงค์เพื่อดูภาพรวมของการเงินตัวเองว่ามีรอยรั่วหรือมีปัญหาตรงไหน จากนั้นจึงนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด
วันนี้เนิร์ดจึงมานำเสนออัตราส่วนทางการเงินง่ายๆ ไม่ซับซ้อนแต่มีประโยชน์มหาศาลหากเข้าใจหลักการใช้งานครับ
1.สูตรคำนวณความอยู่รอด (Survival Ratio)
สามารถคำนวณได้จาก (รายได้จากการทำงานแต่ละเดือน + รายได้จากทรัพย์สินแต่ละเดือน) จากนั้นนำรายจ่ายแต่ละเดือนมาเป็นตัวหาร จะสามารถวิเคราะห์ได้อย่างคร่าวๆ ว่าการบริหารการเงินในปัจจุบันมีความเสี่ยงต่อการก่อหนี้สินมากน้อยเพียงใด ***โดยทางที่ดีอัตราส่วนนี้ควรมากกว่า 1 เพราะสื่อถึงมีรายได้มากกว่ารายจ่าย
2.สูตรคำนวณความรวย (Wealth Ratio)
สามารถคำนวณได้จาก (รายได้จากสินทรัพย์แต่ละเดือน หารด้วยรายจ่ายแต่ละเดือน) สาเหตุที่เรียกว่าอัตราส่วนความรวยก็เพราะว่าเป็นการคิดจาก Passive Income หรือกล่าวให้เข้าใจโดยง่ายว่าหากเลิกทำงานตั้งแต่วันนี้จะสามารถอยู่ได้หรือไม่และยั่งยืนหรือไม่
3.อัตราส่วนสภาพคล่อง (Basic Liquidity Ratio)
สามารถคำนวณได้จาก เงินสดทั้งหมดหารด้วยรายจ่ายแต่ละเดือน เป็นการแสดงว่าหากขาดรายได้กะทันหันสามารถดำรงชีวิตได้อีกกี่เดือน ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในยุคโควิด-19 โดยปกติควรเตรียมสำรองไว้ 3-6 เดือน แต่จากวิกฤติที่ผ่านมาก็สะท้อนได้ว่าควรเป็น 6-12 เดือนจึงจะพอหายใจได้ทั่วท้อง
4.อัตราส่วนการเก็บออม (Saving Ratio)
สามารถคำนวณได้จาก (เงินเก็บแต่ละเดือนหารด้วยรายรับแต่ละเดือน)x100 เป็นการตรวจสอบว่าเรามีการเก็บเงินเป็นอัตราร้อยละเท่าไรของรายได้ หากมากกว่า 10% ถือว่าน่าพอใจอย่างยิ่ง
5.สินทรัพย์เพื่อการลงทุนต่อความมั่งคั่งสุทธิ (Investment Asset to Net Worth Ratio)
สามารถคำนวณได้จาก (สินทรัพย์ที่ลงทุนไปทั้งหมดหารด้วยความมั่งคั่งสุทธิ) แล้วทำให้เป็นร้อยละด้วยการคูณ 100 โดยที่ความมั่งคั่งสุทธิคำนวณมาจาก ทรัพย์สินทั้งหมดหักออกด้วยหนี้สินทั้งหมด จากการคำนวณทั้งหมดอัตราส่วนนี้ควรมากกว่า 50% เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการนำเงินไปต่อยอด
***สินทรัพย์ในที่นี้เฉพาะสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องและเพื่อลงทุนให้งอกเงยไม่ใช่เงินสด เช่น หุ้นหรือกองทุนรวม ประกันชีวิตและตราสารหนี้
6.อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (Solvency Ratio)
สามารถคำนวณได้จาก (ความมั่งคั่งสุทธิหารด้วยทรัพย์สินทั้งหมด)x100 โดยที่หากมากกว่า 50% ถือว่าน่าพอใจ หรือหนี้สินยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้ดี
7.อัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ (Debt Service Ratio)
สามารถคำนวณได้จาก หนี้สินทั้งหมดหารด้วยรายได้ต่อปี โดยที่ไม่ควรเกิน 35-40% จึงจะถือว่าบริหารหนี้ได้มีประสิทธิภาพไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป
แถมอีก 1 อันเป็นโบนัสที่มีประโยชน์มากสำหรับผู้ที่ไม่รู้ว่าควรเก็บเงินในแต่ละช่วงวัยเท่าไร มีสูตรคำนวณเงินเก็บที่ควรมีแบบง่ายๆ ดังนี้ 1.2xอายุxเงินเดือน ก็จะเป็นเงินเก็บที่ควรมี แต่หากมียังไม่ถึงก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจ เพียงแต่มีไว้เพื่อกำหนดเป้าหมายให้กับตัวเองเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น อายุ 30 ปี มีรายได้ต่อเดือน 30,000 บาท นำเข้าสูตรคำนวณจะได้เป็น 1.2x30x30,000 = 1,080,000 บาท นั่นเองครับ!!
สุดท้ายนี้อัตราส่วนที่นำมาสามารถคำนวณได้อย่างง่ายๆ ขอแค่เพียงมีเครื่องคิดเลขสักเครื่องเพื่อผ่อนแรง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือตรวจสุขภาพกายบ่อยแล้วก็อย่าลืมตรวจสอบและดูแลสุขภาพการเงินของตนเองให้แข็งแรงอยู่เป็นประจำด้วยนะครับ
ขอบคุณสำหรับการอ่านครับ หวังว่าบทควาทนี้จะมีประโยชน์ต่อทุกคนไม่มากก็น้อยนะครับ 😊🙏🏻
โฆษณา