29 ต.ค. 2021 เวลา 07:20 • ไลฟ์สไตล์
"คนจัดดอกไม้ หรือดอกไม้จัดคน"
หลายท่านอาจจะเคยได้ยินได้ฟังมาบ้างแล้ว
เรื่อง คนจัดดอกไม้ หรือดอกไม้จัดคน
แล้วเราเข้าใจ เข้าถึงสิ่งนี้หรือยัง
สมมติว่าเราได้รับมอบหมายให้จัดดอกไม้
มีดอกไม้กับแจกัน อุปกรณ์ต่าง ๆ วางเรียงราย
หน้าที่เราเพียงแต่จัดดอกไม้ใส่แจกัน
ทันที่ตาเรามองเห็นอุปกรณ์ตรงหน้า
จะเกิดการแปลค่าว่าสีไหนสวย สีไหนไม่สวย
จะวางตำแหน่งไหนดี ตัดกิ่งหน่อยดีกว่า
เราก็จะเริ่มดึงเอาประสบการณ์เดิม ๆ ขึ้นมา
เอ๊ะ เคยเห็นคนจัดแบบนี้ เราว่ามันสวยดี
พอจัดวางเสร็จ เอ๊ะ ยังไม่ค่อยเข้าที
ปรับแต่งตรงนี้อีกนิดน่าจะเข้าท่า
พอจัดได้โอเคละ สวยงาม เราก็ส่งมอบงาน
ทีนี้ถ้ามีคนร้อยคน ก็อาจจะมีร้อยแบบ
คงมีซ้ำ ๆ คล้าย ๆ กันบ้างในภาพรวม
แต่ในรายละเอียดย่อมแตกต่างกันไป
เพราะดอกไม้แต่ละดอกไม่มีทางเหมือนกันเป๊ะ
ไม่มีใครถูก ไม่มีใครผิด
...
เราเปลี่ยนแปลงสังคม หรือสังคมหล่อหลอมเรา
เราก็จะพบว่ามันเป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน
ส่งผลกระทบย้อนกลับกันไปมา
เป็นกระแสอิทัปปัจจยตา ไม่มีตัวตน บุคคล เราเขา
เหตุอันหลากหลายส่งผลอันหลากหลาย
เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี
เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ
...
บางสิ่งเราคิดว่าเราเลือกได้
หรือจริง ๆ มันได้ถูกธรรมชาติจัดสรร
ให้พอเหมาะ พอดี
ถูกผลักดันจากความปรารถนาลึก ๆ ที่มันผุดขึ้นมา
จากประสบการณ์เดิมที่ถูกเก็บสะสมไว้
รอวันแสดงผลตามวาระ ตามปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ
หรือที่เรียกกันว่า วิบาก
คำว่า วิบาก ในทางธรรม ไม่ได้หมายถึงความลำบาก
แต่คือ ผลที่มาจากเหตุ ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล
1
หากไม่มีการชำระออก ก็จะหมุนวนเป็นวัฏฏะเรื่อยไป
กิเลส ก่อให้เกิดกรรม กรรมก่อให้เกิดวิบาก
วิบากพอกพูนกิเลส ก่อให้เกิดกรรม ส่งผลเป็นวิบาก
วนเวียน เวียนวน วนลูปต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
การจะหลุดออกจากวังวนนี้
ก็ด้วยการละชั่ว ทำดี ชำระจิตใจให้สะอาดผ่องใส
ประกอบพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา
อาศัยสติ สัมปชัญญะ สมาธิ ปัญญา
อันเป็นอริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 ประการ
หรือที่เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค มรรคสมังคี
ตัดวงจรให้สะดุด ขาดสะบั้นลงในที่สุด
ถ้าวงจรดับรอบปุ๊บ
การกระทำ ณ ปัจจุบันขณะนั้น ๆ จะไม่ก่อให้เกิดวิบาก
เป็นเพียงการทำงานกันตามปกติของกลไลธรรมชาติ
ครูบาอาจารย์ท่านกล่าวไว้ว่า "ขันธ์ติด อย่าติดขันธ์"
...
สังเกตมั้ยว่าเดินผ่านผู้คนจำนวนมาก
ทำไมเราถึงปิ๊ง ถูกใจ บางคน บางสิ่ง
มันถูกจับคู่ Matching แทบจะอัตโนมัติ
ประสบการณ์ใหม่และประสบการณ์เดิมลงล็อกกัน
จากนั้นก็ไหลไปเลย โดนลากยาว
มีคำสั่งผุดขึ้นมาทันควันให้ออกไปกระทำการ
แล้วมันจะมีความรู้สึกนึงผลุบ ๆ โผล่ ๆ ว่า "เรา"
ความรู้สึกว่ามีตัวมีตน ไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา
เกิดเพราะมีเหตุ ดับเพราะหมดเหตุ
ธาตุขันธ์ทำงานกันตามหน้าที่
แต่ความรู้สึกนึงที่ถูกปรุงแต่งด้วยความไม่รู้นี้แหละ
ที่ก่อให้เกิดทุกข์ตามมาเป็นพรวน
แทนที่จะปล่อยให้ทุกสิ่งทำงานกันตามหน้าที่ที่แท้จริง
แต่ก็ชอบเสือก เข้าไปจัดการ จัดแจง แทรกแซง
ก่อให้เกิดความขุ่นมัว หงุดหงิดรำคาญใจ
และอีกสารพัดสาระเพ
ทุกข์เกิดได้ เพราะโง่เอง เพราะจิตโง่เอง
วงจรปฏิจจสมุปบาทเกิดขึ้นได้ เพราะความโง่
เพราะจิตโง่ล้วน ๆ โดยส่วนเดียว ไม่มีอะไรอื่นเลย
ไม่มีใครโง่ จิตโง่
วางความยึดมั่นถือมั่น วางอุปทานขันธ์ลง
ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของธรรมชาติ
ธรรมชาติรู้หน้าที่กันอยู่แล้ว
ไม่ต้องเข้าไปยุ่ง สู่รู้ ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้อะไรเลย ...
เข้าทางไหนออกทางนั้น
ทางออกและทางเข้าคือ ทางเดียวกัน
จุดสิ้นสุดและจุดเริ่มต้นคือ จุดเดียวกัน
เพิ่มเติมคือสติปัญญาเต็มบริบูรณ์
" ... ก็ญายธรรมอันประเสริฐ อันอริยสาวกเห็นดีแล้ว
แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา เป็นไฉน
ดูกรคฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
กระทำไว้ในใจโดยแยบคาย
ถึงปฏิจจสมุปบาทเป็นอย่างดีว่า
เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี
เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ ด้วยประการดังนี้
คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร
เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส
ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้
ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้
ก็เพราะอวิชชาดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชราและมรณะโสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงดับ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้
ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้
ญายธรรมอันประเสริฐนี้ อริยสาวกนั้นเห็นดีแล้ว
แทงตลอดดีแล้ว ด้วยปัญญา ฯ ... "
.
วิบากกรรม – กรรมวิบาก (บาลีวันละคำ 901)
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา