29 ต.ค. 2021 เวลา 12:57
"สื่อสาร" ทักษะสุดท้ายของมนุษย์ที่ยังเหนือกว่า AI
1
"ทักษะการสื่อสาร" อาจเป็นทักษะสุดท้ายของมนุษย์ ที่ยังเหนือกว่า AI เรื่องนี้จริงหรือไม่ ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ (nutavootp@gmail.com) อดีตนายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย หรือ PMAT มีคำตอบ
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า แม้มนุษย์จะมีขนาดสมองที่ใหญ่กว่าสัตว์ชนิดอื่น สามารถคิดและจินตนาการที่นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ แต่มนุษย์ก็ได้เคลื่อนเข้าสู่ข้อจำกัดวิวัฒนาการทางชีวภาพ
และช่องว่างนี้กำลังถูกแทนที่ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI ที่มีความรวดเร็วในการสืบค้นและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ทำให้สามารถเอาชนะมนุษย์ได้ในเกือบทุกการแข่งขัน
3
หมุดหมายแรกเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1997 เมื่อ ดีปบูล คอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐของไอบีเอ็ม เอาชนะแกรี คาสปารอฟ แชมป์หมากรุกโลกแบบเฉียดฉิว 2 ต่อ 1 เกม
อีก 14 ปี ต่อมา ไอบีเอ็มวัตสัน เป็นผู้ชนะเกมโชว์ในรายการตอบปัญหาเชาว์ Jeopardy ถัดมาในปี ค.ศ. 2018 โอเพนเอไอไฟว์ ของอีลอน มัสก์ สามารถเอาชนะทีมแชมป์โลกเกมวางแผนยุทธศาสตร์แบบขาดลอยในกีฬา อีสปอร์ตโดตา 2 รวมทั้ง ลิบราตัส AI ของมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลลอน ก็เล่นชนะแชมป์โป๊กเกอร์ระดับโลก ในการแข่งขันแบบเท็กซัส โฮล เอ็ม
นอกจากนี้ AI ที่พัฒนาร่วมกันโดยไมโครซอฟท์และอาลีบาบา ก็สามารถทำคะแนนได้สูงสุดในแบบทดสอบการอ่านจับใจความของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ส่วนอัลฟาโกะซีโร่ เวอร์ชั่นล่าสุดของอัลฟาโกะ ใช้เวลาเรียนรู้ด้วยตนเองเพียง 3 ชั่วโมง ในการเอาชนะอัลฟาโกะที่เคยเล่นหมากล้อมชนะอี เซดล เจ้าของแชมป์โลกหมากล้อม 18 สมัย
สตีเฟ่น ฮอว์กิ้น นักฟิสิกส์ทฤษฎีและนักจักรวาลวิทยา ยอมรับว่า ความสำเร็จในการสร้าง AI คือปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
แต่ในทางกลับกัน ฮอว์กิ้นทำนายว่าหายนะของโลกในอนาคต อาจเกิดจากการที่เทคโนโลยีสามารถพัฒนาขึ้นไปจนถึงจุดที่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง เข้าใกล้กับสิ่งที่ เรอเน เดการ์ต นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 เคยกล่าวไว้ว่า
1
‘I think, therefore I am’ ซึ่งหมายถึงการมีอยู่ของการคิดเท่านั้นที่สำคัญ ร่างกาย สิ่งรอบตัว หรือประสาทสัมผัสทั้งหลายอาจมีอยู่ หรือไม่ก็ได้
1
การพัฒนา AI ที่เข้าใกล้ความสมบูรณ์แบบ อาจทำให้เผ่าพันธุ์ของมนุษย์ดูด้อยค่าลง แต่การถือครองอาวุธชิ้นสุดท้าย ที่ยังคงทำให้มนุษย์อยู่ในจุดได้เปรียบกว่า AI คือ
2
ทักษะความฉลาดทางสังคม (Social Intelligence) และความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) การทดสอบที่น่าสนใจในเรื่องนี้ คือ การดีเบตซึ่งต้องอาศัย ‘วาทศิลป์’ ในการโน้มน้าวความคิดของผู้ฟัง
1
ในปี ค.ศ. 2019 มีการแข่งขันโต้วาทีในประเด็นที่ไม่แจ้งล่วงหน้า หัวข้อ ‘งบอุดหนุนการศึกษาระดับอนุบาล’ ระหว่าง ฮาริช นาทาราจาน เจ้าของสถิติชนะการดีเบตบนเวทีระดับนานาชาติมากที่สุดในโลก
1
ที่มีเพียงปากกา กระดาษโน้ต สมอง และทักษะ ในการโน้มน้าวใจเพื่อเชื่อมสัมพันธ์กับผู้ฟัง กับ มิส ดีเบตเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ของไอบีเอ็ม ที่สามารถเข้าถึงคลังข้อมูลเอกสารและงานวิจัยได้มากกว่า 1 หมื่นล้านเรื่อง
จุดประสงค์ของการแข่งขันไม่ใช่การทำคะแนนได้สูงสุดแต่เป็นการพยายามเปลี่ยนความคิดของผู้ฟังให้คล้อยตามให้ได้มากที่สุด
ในระหว่างการโต้วาทีที่ไม่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต มิส ดีเบตเตอร์ ใช้ฐานข้อมูลงานวิจัยจำนวนมาก ที่มีผลเชิงประจักษ์ช่วยประมวลสร้างข้อความและวางโครงสร้างเนื้อหาที่ประกอบด้วยหลักฐาน เหตุผล และตรรกะ
เพื่อสนับสนุนประเด็นการอภิปราย จนสามารถสร้างวลีและประโยคที่สวยงามและใช้คำในบริบทต่างๆ ได้ดีกว่ามนุษย์ส่วนใหญ่ ในขณะที่นาทาราจาน โน้มน้าวผู้ฟังผ่านการใช้ทักษะทางอารมณ์และสังคม เพื่อสื่อสะท้อนกลับไปสู่มนุษย์ด้วยกัน
ภายหลังการโต้วาทีสิ้นสุดลง ผู้ชมสดในห้องประชุมกว่า 800 คน ลงคะแนนให้นาทาราจาน เป็นผู้ชนะ เนื่องจากสามารถโต้ตอบได้ตรงประเด็นมากกว่า
ขณะที่มิส ดีเบตเตอร์ ใช้การอธิบายแบบประเด็นต่อประเด็นมากกว่าการโต้แย้ง ข้อได้เปรียบของนาทาราจาน คือ "ทักษะในการสื่อสาร" ที่ประกอบด้วยการวางจังหวะ โทนเสียง
รวมทั้งการหยุดและตั้งคำถามกลับไปยังผู้ฟัง ซึ่งปัญญาประดิษฐ์พ่ายแพ้ต่อนาทาราจาน เนื่องจากใช้น้ำเสียงที่ราบเรียบเป็นโทนเดียวกันตลอดการอภิปราย ไม่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้ฟังจนสร้างการยอมรับได้
ทักษะของนาทาราจาน ในการเชื่อมสัมพันธ์กับอารมณ์ของผู้ฟังถือเป็นอาวุธลับที่ยังคงอยู่ในการครอบครองของมนุษย์
ในอีกด้านหนึ่ง ความพ่ายแพ้ของ AI ในเรื่องดังกล่าว อาจเป็นแค่ภาพลวงตาของความคิดที่ว่า สุดท้ายแล้วอำนาจที่แท้จริงอยู่กับคนที่สร้างมันขึ้นมา
3
เราอาจลืมตระหนักไปว่าในการแข่งขันนั้น มนุษย์เป็นผู้ตั้งโจทย์ วางกรอบกติกา รวมทั้งยังเป็นผู้กำหนดเอาเองว่าคำตอบที่ถูกต้องควรเป็นเช่นไร
เมื่อโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุค ‘เมตาเวิร์ส (Metaverse)’ ในวันที่ผู้คนในร่างอวตาร (Avatar) และ AI สามารถมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันบนพื้นที่เสมือนจริง (Virtual Reality) และพื้นที่เสริมจริง (Augmented Reality)
ถ้าวันนั้นเทคโนโลยี AI ถูกพัฒนาขึ้นไปจนถึงจุดที่สามารถคิดและดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง เราอาจได้เห็นระเบียบโลกใหม่ (New World Order) ที่กำหนดโดย AI และคำตอบอาจไม่ใช่แค่การแพ้ หรือชนะ เท่านั้น
1
แต่หมายถึงการสิ้นสุดความจำเป็นในการมีอยู่ของตัวตนของมนุษยชาติ ดังที่ เรอเน เดการ์ต ได้เคยตั้งคำถามล่วงหน้าเอาไว้เมื่อนานมาแล้ว
1
โฆษณา