30 ต.ค. 2021 เวลา 14:22 • ประวัติศาสตร์
"อาถรรพณ์คำสาป กรุมหาสมบัติวัดราชบูรณะ ภาค 1/2" เรื่องราวจากคอลัมน์ "รุ่นเก๋า...เล่าเกร็ด" บนแอป 2read
พ.ศ. 2500 มีข่าวหนึ่งที่โด่งดังไปทั่วโลก เมื่อพระปรางค์ประธานของวัดราชบูรณะ อยุธยา ถูกผู้ร้ายลักลอบขุดจนไปเจอกรุมหาสมบัติ ได้เครื่องทองของมีค่าไปมหาศาล นับเฉพาะทองคำมีไม่ต่ำกว่า 100 กก.
นอกจากนั้นยังมีพระพุทธรูป พระแผง พระพิมพ์ และของสำคัญของพระมหากษัตริย์อีกนับไม่ถ้วน
เครื่องทองของมีค่าเหล่านี้ รอดพ้นจากการถูกปล้นเมืองในคราวเสียกรุง พ.ศ. 2310 มาได้ แต่สุดท้ายก็ไม่รอดเงื้อมมือผู้ร้ายที่เป็นคนไทยด้วยกันเอง
สิ่งที่น่าสงสัยก็คือว่า ของมีค่าเหล่านี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมถึงมีจำนวนมหาศาลขนาดนั้น ใครหนอเป็นคนเอามาบรรจุไว้ในองค์พระปรางค์?
ในตอนที่ 38 - 39 เราจะไปไขคำตอบพร้อมๆ กันครับ
“เจ้าสามพระยา” สร้างวัดถวาย “เจ้านครอินทร์”
พ.ศ.1959 (ไทยสากล) สมเด็จพระอินทราชา (เจ้านครอินทร์) เสด็จสวรรคตกะทันหัน ยังไม่ทันได้แต่งตั้งผู้สืบราชสมบัติ จึงเกิดศึกชิงบัลลังก์ขึ้นระหว่างพระราชโอรสพระองค์สำคัญ ซึ่งสมเด็จพระอินทราชาได้ส่งไปครองเมืองลูกหลวงในช่วงก่อนหน้า
เจ้าอ้ายพระยา ครองเมืองสุพรรณ
เจ้ายี่พระยา ครองเมืองแพรกศรีราชา (ปัจจุบันอยู่ใน อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท)
เจ้าสามพระยา ครองเมืองชัยนาท (ปัจจุบัน คือ จ.พิษณุโลก)
เจดีย์เจ้าอ้าย-เจ้ายี่
เจ้าอ้ายพระยา และเจ้ายี่พระยา ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากอยุธยามากนัก ก็ยกทัพมาหยั่งเชิงกันในเกาะเมืองอยุธยา ทั้งสองพระองค์เดินทางมาถึงอยุธยาในเวลาไล่เลี่ยกัน แล้วตั้งค่ายในวัดคนละแห่ง และนัดชนช้างกันเพื่อแย่งชิงราชสมบัติ ณ เชิงสะพานป่าถ่าน (ปัจจุบันอยู่หน้าวัดราชบูรณะ)
ซากสะพานป่าถ่าน หน้าวัดราชบูรณะ มองเห็นเจดีย์เจ้าอ้าย-เจ้ายี่
แต่ผลการชนช้างในครั้งนั้นปรากฏว่า ทั้งเจ้าอ้าย และเจ้ายี่ สิ้นพระชนม์ทั้งคู่ ราชสมบัติจึงตกแก่เจ้าสามพระยา ซึ่งเดินทางมาไกลกว่า เจ้าสามพระยาขึ้นครองราชย์ เถลิงพระนาม สมเด็จพระบรมราชาธิราช (ที่ 2)
และในปีเดียวกันนั้นก็ทรงสร้างวัดราชบูรณะ ณ จุดที่ถวายพระเพลิงพระราชบิดา (เป็นธรรมเนียมในช่วงอยุธยาตอนต้น ถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระเจ้าแผ่นดินที่ไหน ก็จะสร้างวัดถวายขึ้นที่นั่น)
พร้อมทั้งได้สร้างเจดีย์เจ้าอ้าย-เจ้ายี่ อุทิศถวายแด่พระเชษฐาทั้งสองพระองค์ ณ จุดที่ชนช้าง เชิงสะพานป่าถ่าน
และในการสร้างพระปรางค์ประธานวัดราชบูรณะในครั้งนั้นเอง สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ได้ฝังพระบรมสารีริกธาตุไว้เป็นสิริมงคลแก่บ้านเมือง และได้ทรงฝังเครื่องประดับพระยศต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ไว้ในห้องกรุมากมาย ทั้งพระแสงขรรค์ทองคำ จุลมงกุฎ เครื่องราชกกุธภัณฑ์จำลอง เครื่องทองชั้นสูง ฯลฯ
นอกจากนั้นยังมีเจ้านายเชื้อพระวงศ์ ข้าราชบริพาร พ่อค้าคหบดีชาวต่างชาติในอยุธยา ที่ได้ร่วมแรงร่วมศรัทธากัน นำของมีค่าต่างๆ มาฝังไว้ในกรุตั้งแต่แรกสร้างใน พ.ศ. 1959 (เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่เจ้านครอินทร์ และเจ้าอ้าย-เจ้ายี่)
จากนั้นก็ใช้ศิลาปิดปากกรุไว้อย่างดี ไม่มีใครรู้อีกเลยว่าในนั้นมีอะไรบ้าง
จนมาความแตกเอาใน พ.ศ. 2500 หรือในอีก 541 ปีต่อมา...
“เจ้านครอินทร์” ผู้ทำให้อยุธยาเป็นปึกแผ่นและมั่งคั่ง
หลายท่านอาจสงสัยว่า ในตอนที่สร้างวัดราชบูรณะนั้น เจ้าสามพระยาท่านเพิ่งจะขึ้นครองราชย์ แต่ทำไมถึงได้มีทรัพย์สินมีค่ามากมายมหาศาล ถึงขนาดนำมาบรรจุไว้ในกรุของพระปรางค์ได้?
เรื่องนี้คงต้องเท้าความกันหน่อย...
อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า เจ้าสามพระยาท่านได้สืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา คือ สมเด็จพระอินทราชา (สมเด็จพระนครินทราชา / สมเด็จพระนครินทราธิราช / เจ้านครอินทราธิราช / เจ้านครอินทร์ / เจ้าอินทร์กุมาร)
ซึ่งกรุงศรีอยุธยาในสมัยของเจ้านครอินทร์นั้น ถือเป็นยุคเฟื่องฟูสุดขีดยุคหนึ่งเลยทีเดียว เพราะแผ่นดินในตอนนั้นถือว่ามีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นในทางการเมือง และยังมีความรุ่งเรืองทางด้านการค้า ซึ่งมาจากการติดต่อค้าขายกับเมืองจีน (ราชวงศ์หมิง)
เจ้านครอินทร์ ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) ทรงปราบดาภิเษกโดยยึดอำนาจจากสมเด็จพระเจ้ารามราชธิราช ซึ่งถือเป็นการที่ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ยึดอำนาจปกครองกรุงศรีอยุธยามาจากราชวงศ์ละโว้ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทำให้อยุธยามีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นทางการเมืองได้เป็นครั้งแรก
ราชวงศ์สุพรรณภูมิมีอำนาจในกรุงศรีอยุธยาอยู่ราวๆ 170 ปี จนไปสิ้นสุดในการเสียกรุง พ.ศ. 2112
ในสมัยที่ยังทรงดำรงตำแหน่ง “เจ้านครอินทร์” ที่เมืองสุพรรณ พระองค์ได้เคยเสด็จไปเจริญสัมพันธไมตรี และติดต่อการค้ากับราชสำนักต้าหมิงที่เมืองจีนด้วยพระองค์เอง ทรงมีความสนิทสนมกับราชสำนักต้าหมิงเป็นอย่างมาก ถึงขนาดมีเรื่องเล่าว่า จักรพรรดิจีนในตอนนั้น ทรงรับเจ้านครอินทร์เป็นราชบุตรบุญธรรมเลยทีเดียว
เรื่องความสนิทสนมกับราชสำนักต้าหมิงนี้ ปรากฏหลักฐานใน หมิงสือลู่ ซึ่งระบุว่า เจ้านครอินทร์ทรงส่งเครื่องบรรณาการไปถึงกรุงจีนในนามของพระองค์เอง และทางกรุงจีนก็พระราชทานสิ่งของที่ระลึกมาถึงเจ้านครอินทร์อย่างสม่ำเสมอ
เมื่อพระองค์ได้ครองราชย์ในกรุงศรีอยุธยา การค้าของอยุธยากับจีนเป็นไปอย่างคึกคัก แน่นแฟ้น และชื่นมื่นเป็นอย่างยิ่ง
นั่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ราชสำนักอยุธยาในสมัยเจ้านครอินทร์ จะมีความร่ำรวยรุ่งเรืองเป็นพิเศษ ทั้งนี้ก็มาจากการค้ากับจีนที่คึกคักเป็นอย่างมากนั่นเอง
และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน ที่เมื่อเจ้านครอินทร์เสด็จสวรรคตแล้ว เจ้าสามพระยาที่เพิ่งจะได้ขึ้นครองราชย์ จะได้ทรงสร้างวัด และนำของมีค่าจำนวนมหาศาลมาฝังไว้ในกรุ เพื่ออุทิศถวายแด่พระองค์ผู้เป็นพระราชบิดา
อีกทั้งยังมีพ่อค้าคหบดีชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับอยุธยา และมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นี่ ก็ได้นำของมีค่าต่างๆ มาเข้าร่วมอุทิศถวายแด่พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นที่รักของพวกเขาด้วย
ทางลงห้องกรุบนพระปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ
จุดเริ่มต้นของการลักลอบขุดกรุวัดราชบูรณะ
บริเวณที่ติดกับวัดราชบูรณะ คือวัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยขุนหลวงพ่องั่ว ปรางค์ประธานของวัดทำหน้าที่เป็น “ปรางค์มหาธาตุ” ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุประจำเมือง
ผ่านไปสองร้อยกว่าปี ถึงสมัยพระเจ้าปราสาททอง ก็มีการบูรณะครั้งใหญ่หนหนึ่งปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ ผ่านสงครามคราวเสียกรุง พ.ศ. 2310 มาได้โดยปลอดภัย
แล้วเมื่อถึงสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ก็ได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นที่อยุธยา ทำให้พระปรางค์ประธานพังถล่มลงมา จนมีสภาพปรักหักพังอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
แต่นอกจากการพังของยอดพระปรางค์แล้ว ในครั้งนั้นก็ไม่ได้เกิดเรื่องร้ายแรงอื่นใดเพิ่มเติม...
กาลเวลาผ่านไปจนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2499
กรมศิลปากรได้งบประมาณจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อขุดสำรวจและบูรณะวัดวาอารามในอยุธยา โดยเริ่มขุดจากวัดมหาธาตุเป็นแห่งแรก เพราะเป็นวัดหลักประจำเมือง
ในการขุดเพื่อบูรณะในครั้งนั้น กรมศิลปากรได้พบกรุสมบัติ เครื่องทองคำ พระพิมพ์ พระทองคำ และของมีค่าจำนวนมาก ที่ใต้ฐานประปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ
พร้อมกันนั้นก็ได้ขุดพบผอบศิลา ภายในมีผอบย่อยๆ ที่ทำด้วยเงินและทองรวม 7 ชั้น ซึ่งในแต่ละชั้นล้วนมีเพชรนิลจินดา เงินทองของมีค่าบรรจุไว้จนแทบล้น
แล้วผอบชั้นในสุด ซึ่งมีลักษณะเป็นตลับทองคำเล็กๆ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอยู่ในน้ำมันจันทน์ ลักษณะเหมือนเกล็ดพิมเสนเล็ก ๆ สีรุ้งพราว ขนาดประมาณ 1/3 ของเมล็ดข้าวสาร มีเพชรนิลจินดาประดับอยู่รอบ ๆ หลายเม็ด (ปัจจุบันถูกเก็บรักษาและตั้งแสดงที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา)
ข่าวที่กรมศิลปากรขุดเจอกรุสมบัติที่วัดมหาธาตุนี้ โด่งดังไปทั่วประเทศ หนังสือพิมพ์พาดหัวเป็นข่าวใหญ่อยู่เป็นแรมเดือน
และมันก็ได้กลายเป็นดาบสองคม เพราะเหล่าคนร้ายต่างก็จ้องกันตาเป็นมัน เนื่องจากพวกเขาคาดคะเนกันอยู่แล้วว่า ถ้าพระปรางค์วัดมหาธาตุมีกรุสมบัติและของมีค่ามากมายถึงขนาดนั้นแล้วละก็ วัดอื่นๆ ในอยุธยา โดยเฉพาะวัดที่อยู่ติดกันอย่าง วัดราชบูรณะ ก็น่าจะมีกรุสมบัติและของมีค่าฝังอยู่ภายในด้วยเช่นกัน
วัดราชบูรณะ อุทยานประวัติศาสตร์พระครศรีอยุธยา
แล้วเหล่าคนร้ายก็ได้เวลาลงมือปฏิบัติการจริงๆ ...
หลังจากผ่านข่าวกรุแตกที่วัดมหาธาตุไปราว 1 ปี
ในที่สุดช่วงเวลาประมาณ 1 ทุ่มเศษ ของคืนวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2500 (ข้อมูลจากการให้ปากคำของ นายลิ เกษมสังข์ หนึ่งในกลุ่มคนร้ายที่ยังมีชีวิตอยู่) คนร้ายประมาณ 20 ชีวิตก็ได้บุกเข้าไปในวัดราชบูรณะ ซึ่งตอนนั้นมีสภาพเป็นป่ารกชัฏ เพราะเป็นช่วงที่กรมศิลปากรเพิ่งจะเริ่มแผ้วถางเพื่อบูรณะ
พวกเขาลักลอบขุดจนเจอกรุในพระปรางค์วัดราชบูรณะ เจอเครื่องทองของมีค่า ขนกันออกมาไม่หวาดไม่ไหว แบ่งสันปันส่วนกันไป เมื่อรวมกับที่กรมศิลปากรขุดภายหลังเพิ่มเติม รวมแล้วมีน้ำหนักมากกว่า 100 กก. นำไปสู่ตำนาน “อาถรรพณ์คำสาป” เพราะทั้งคนร้ายที่ขโมยสมบัติจากกรุ ทั้งร้านทองที่รับซื้อทองไปใส่เตาหลอม รวมถึงชาวต่างชาติที่รับซื้อของมีค่าจากกรุวัดราชบูรณะนี้ ต่างก็มีอันเป็นไป ประสบเหตุเภทภัย หายนะต่างๆ นานา
นี่เป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น ยังมีสิ่งที่น่าตื่นเต้นตกใจรออยู่อีกมากมายมหาศาล เรื่องราวจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามในตอนต่อไป!!!
เรื่องและภาพ  : หอย อภิศักดิ์
::: อ้างอิง :::
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, 2559.
การปรับแก้เทียบศักราช และ การอธิบายความ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ / ตรงใจ หุตางกูร. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2561.
เครื่องทองกรุวัดราชบูรณะ ศิลปะของแผ่นดิน / พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, 2560.
หมิงสือลู่ - ชิงสือลู่ บันทึกเรื่องจริงแห่งราชวงศ์แหมิงและราชวงศ์ชิงฯ / วินัย พงศ์ศรีเพียร บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, ๒๕๕๙.
อยุธยาที่ไม่คุ้นเคย / ปวัตร์ นวะมะรัตน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2557.
กรมศิลป์ อยากเล่า ตอน เครื่องทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
📌อ่านบทความอื่นๆ ในคอลัมน์ "รุ่นเก๋า...เล่าเกร็ด" บนแอป 2read หรือจิ้มภาพด้านล่าง
📲ดาวน์โหลดแอป 2read จิ้มลิงก์นี้เลย! 👉 https://bit.ly/3bQtbiV
✅อ่านง่าย อ่านสะดวก อ่านที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ตามใจต้องการ มีบทฟรีให้อ่าน เลือกอ่านเฉพาะบทที่อยากอ่านก็ได้ ซื้ออ่านทั้งเล่ม (เล่มที่จบแล้ว) ลด 10% ก็ดี๊ดี ใช้เหรียญเงินเปิดอ่านฟรีดีต่อใจ❤️
📚มีทั้งหมวดการลงทุน ธุรกิจ พัฒนาตนเอง ไลฟ์สไตล์ (ประวัติศาสตร์และการท่องเที่ยว) นิยาย การ์ตูน และคอลัมน์หลากหลายเรื่องราวที่น่าสนใจ จากผู้รู้ลึกที่หลงใหลในเรื่องราวนั้นๆ
🎉สมัครสมาชิกกับแอป 2read รับไปเลย 30 เหรียญเงิน ฟรี! เอาไว้ใช้อ่านหนังสือบนแอป 2read
💥อย่าลืมแวะมาอ่านบทความฟรีของ #2readDaily ทุก 7 โมงเช้า
ซึ่งตอนนี้มี 8 คอลัมน์แล้ว สลับกันมาให้อ่านตั้งแต่วันจันทร์ - อาทิตย์เลย
ทั้งคอลัมน์ธุรกิจ หุ้น อสังหาฯ พัฒนาตัวเอง เมืองต่างๆ ประวัติศาสตร์ ตัวละคร และดวง
ชอบเรื่องไหน ก็ตามอ่านกันได้เลยที่แอป 2read ที่เดียว!
#2read #แอปที่มากกว่าการอ่านศูนย์กลางการอัพสกิล
โฆษณา