29 ต.ค. 2021 เวลา 09:24 • ประวัติศาสตร์
สาเหตุของสงครามโลกครั้งที่ ๑
สาเหตุของสงครามโลกครั้งที่ ๑
[วันนี้ทางผู้เขียนขอเล่าถึงสงครามโลกครั้งที่ ๑ ซึ่งไม่ทราบว่าจะมีคนอ่านเยอะหรือไม่เนื่องจากช่วงนี้รู้สึกเพจจะซบเซาลงกว่าแต่ก่อนมาก]
สงครามโลกครั้งที่ ๑ ถือว่าเป็นมหาสงครามครั้งแรก มีความสูญเสียเยอะที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ ประกอบกับในช่วงเดียวกันก็เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และไข้หวัดใหญ่สเปน ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว ๑๗ – ๑๐๐ ล้านคนทั่วโลก
การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ นั้นสาเหตุอาจไม่ได้เริ่มต้นจากการลอบปลงพระชนม์มกุฎราชการแห่งออสเตรีย – ฮังการี แต่ยังมีอีกหลายๆ ปัจจัยซึ่งเป็นภูมิหลังของสงครามครั้งนี้ คือในช่วงเวลานั้นมหาอำนาจหลายชาติส่วนใหญ่อยู่ในทวีปยุโรปอันเป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม กับการล่าอาณานิคมโดยเฉพาะสหราชอาณาจักรทำให้อิทธิพลขยายไปทั่วทุกมุมโลก ประกอบกับสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ซึ่งเป็นรัฐมหาอำนาจในเวลานั้นดูเหมือนว่า ไม่ต้องการฝักใฝ่ฝ่ายไหนเป็นพิเศษ ทั้งยังไม่ต้องการพันธมิตรที่ถาวร โดยในช่วงเวลานั้นยุโรปแผ่นดินใหญ่ประกอบด้วยขั้วอำนาจใหญ่ ๒ กลุ่ม คือ เยอรมนี, ออสเตรีย – ฮังการี, อิตาลี (กลุ่มไตรพันธมิตร)
และฝรั่งเศสกับรัสเซีย
สหราชอาณาจักรก็ดูเหมือนจะเป็นมิตรกับทั้งสองฝ่าย ประกอบกับความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิบริติชที่ยึดครองพื้นที่เกือบหนึ่งในสี่ของโลกทำให้เป็นการแยกตัวอย่างสง่างาม (อังกฤษ: Splendid isolation) ในเวลาเดียวกันนั้นจักรวรรดิออตโตมันหรือตุรกีในช่วงที่มีสุลต่านปกครองก็ถึงกาลเสื่อมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้ยุโรปหลายชาติโดยเฉพาะรัสเซียพยายามจะยึดดินแดนส่วนต่างๆ ทั้งยังแสวงหาผลประโยชน์ของจักรวรรดิในช่วงที่กำลังเสื่อม นอกจากนี้การกำเนิดจักรวรรดิเยอรมันในปี ค.ศ. ๑๘๗๑ (พ.ศ. ๒๔๑๔) ด้วยเหตุนี้ทำให้รัฐเยอรมันที่ใหญ่ที่สุดคือราชอาณาจักรปรัสเซียเป็นรัฐที่ทรงอำนาจมาก จนแทบจะกล่าวได้ว่าจักรวรรดิเยอรมันไม่ต่างอะไรจากปรัสเซียขนาดใหญ่ โดยในขณะที่ปรัสเซียกำลังรวมชาติเยอรมนีนั้นปรัสเซียได้ทำลายอำนาจของจักรวรรดิออสเตรียซึ่งเป็นใหญ่ในแดนชาวเยอรมันมาแต่เดิม ทั้งยังทำสงครามกับฝรั่งเศสในสงครามฝรั่งเศส – ปรัสเซีย
ซึ่งฝรั่งเศสเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ทั้งยังต้องสูญเสียดินแดนบางส่วนให้จักรวรรดิเยอรมัน (รัฐภายใต้การควบคุมของปรัสเซีย) ด้วยเหตุนี้ทำให้ฝรั่งเศสอับอายขายหน้าเป็นอย่างมาก ทำให้ฝรั่งเศสต้องการแก้แค้นเยอรมนีทั้งยังต้องการได้ดินแดนที่เยอรมนียึดคืนไปซึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ ฝรั่งเศสจะทำได้สำเร็จ
.
ด้วยเหตุนี้ทำให้จักรวรรดิเยอรมันกับรัฐฝรั่งเศสนั้นเป็นศัตรูซึ่งกันและกัน โดยนายกรัฐมนตรีแห่งเยอรมนีในเวลานั้นนามว่าอ็อทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck) พยายามจะแก้ปัญหาและพยายามแสดงให้เห็นว่าเยอรมนีเป็นประเทศที่สันติไม่ได้เป็นภัยต่อยุโรป โดยในปี ค.ศ. ๑๘๗๓ (พ.ศ. ๒๔๑๖) เขาสร้างสันนิบาตสามพระจักรพรรดิ (เยอรมัน: Dreikaiserbund) คือระหว่างพระเจ้าไกเซอร์วิลเฮล์มที่ ๑ แห่งจักรวรรดิเยอรมันกับพระเจ้าไกเซอร์ฟรันทซ์ โยเซ็ฟแห่งจักรวรรดิออสเตรีย – ฮังการีและพระเจ้าซาร์อะเล็คซันดร์ที่ ๒ แห่งจักรวรรดิรัสเซีย
เช่นเดียวกับกาลก่อนที่ทั้ง ๓ ชาตินี้เคยร่วมมือกับมาตั้งแต่เมื่อร้อยปีก่อน แต่สันนิบาตสามพระจักรพรรดิถูกยกเลิกในปี ค.ศ. ๑๘๗๘ (พ.ศ. ๒๔๒๑) เนื่องจากรัสเซียชนะสงครามในจักรวรรดิออตโตมันหรือในตุรกี ทำให้จักรวรรดิรัสเซียมีอำนาจมากในดินแดนตุรกีซึ่งด้วยเหตุนี้ทำให้จักรวรรดิออสเตรีย – ฮังการีโกรธแค้นอย่างยิ่ง เนื่องจากราชวงศ์ฮัพส์บวร์คออสเตรียต่างต้องการครอบครองคาบสมุทรบอลข่านซึ่งในเวลานั้นอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมันเช่นเดียวกับรัสเซีย ทำให้บิสมาร์คต้องประชุมที่กรุงเบอร์ลินเมืองหลวงของจักรวรรดิเยอรมันเพื่อแก้ไขปัญหานี้ในปี ค.ศ. ๑๘๗๘ ซึ่งหลังจากการประชุมทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีและรัสเซียเสื่อมลงอย่างหนัก
ทำให้เยอรมนีร่วมมือกับออสเตรีย – ฮังการีเพื่อร่วมมือกันรับศึกหนักจากรัสเซียหากเกิดขึ้นในอนาคต จนกระทั่งในปี ค.ศ. ๑๘๘๒ (พ.ศ. ๒๔๒๕) อิตาลีได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสองจักรวรรดิด้วยทำให้เป็นกลุ่มไตรพันธมิตร
.
เนื่องจากความประสงค์ของเยอรมนีคือไม่ต้องการเป็นปฏิปักษ์ศัตรูโดยตรงกับฝรั่งเศส แต่ต้องการจะมุ่งจำกัดและทำลายอำนาจของฝรั่งเศสอย่างช้าๆ ส่วนความสัมพันธ์ของสหราชอาณาจักรกับจักรวรรดิรัสเซียนั้นก็ค่อนข้างมีความตึงเครียด เนื่องจากอิทธิพลของรัสเซียที่มีมากเกินไปในบอลข่าน หลังจากที่รัสเซียมีความพยายามจะเปิดช่องแคบดาร์ดะเนลส์ในตุรกี ซึ่งเป็นการทำลายผลประโยชน์ของจักรวรรดิบริติชในตะวันออกกลาง ทำให้รัสเซียนั้นรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้นประกอบกับทางฝรั่งเศสก็ดูเหมือนจะโดดเดี่ยวเช่นกัน รัสเซียจึงจัดตั้งพันธมิตรกับฝรั่งเศสในปี ค.ศ. ๑๘๙๒ ( ๒๔๓๕) ด้วยเหตุนี้ทำให้เยอรมนีมีความโดดเดี่ยวทางการทูตยิ่งขึ้น การที่ฝรั่งเศสความเคลื่อนไหวทางการทูตนั้นทำให้บิสมาร์คนายกรัฐมนตรีแห่งเยอรมนี จัดตั้งพันธมิตรใหม่ขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ. ๑๘๘๑ (พ.ศ. ๒๔๒๔) โดยเป็นการคงพันธมิตรระหว่างรัสเซียและเยอรมนีเอาไว้
หลังจากที่ความสัมพันธ์ห่างเหินหลังจากที่สันนิบาตสามพระจักรพรรดิถูกยุบ ทั้งนี้เพื่อเป็นสิ่งประกันว่าหากเกิดสงครามใหญ่ขึ้นในทวีปยุโรปจะทำให้เยอรมนีไม่ต้องรบทั้งสองฝั่ง คือทางฝั่งยุโรปตะวันตกอันนำโดยฝรั่งเศสและยุโรปตะวันออกอันนำโดยรัสเซีย ทั้งในเวลาเดียวกันนั้นความตึงเครียดระหว่างจักรวรรดิฮัพส์บวร์คออสเตรียและจักรวรรดิรัสเซีย เนื่องจากผลประโยชน์ในดินแดนชาวสลาฟกับการขยายอำนาจของรัสเซียในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่มากเกินไป อันเป็นสิ่งที่เยอรมนีภายใต้การปกครองของบิสมาร์คเกรงกลัว โดยเป็นการวางตัวเป็นกลางหากประเทศหนึ่งเข้าร่วมสงครามกับประเทศที่สาม โดยความเป็นกลางนี้ไม่รวมถึงในกรณีที่เยอรมนีรุกรานฝรั่งเศสหรือรัสเซียรุกรานออสเตรีย – ฮังการี ทั้งเยอรมนียังวางตัวเป็นกลางและไม่แทรกแซงในกรณีของช่องแคบบอสฟอรัสและช่องแคบดาร์ดะเนลส์ซึ่งมีปัญหากับจักรวรรดิบริติช
.
ในปี ค.ศ. ๑๘๙๐ (พ.ศ. ๒๔๓๓) ฟรีดริช วิลเฮ็ล์ม วิคทอร์ อัลแบร์ทขึ้นเสวยราชย์เป็นพระจักรพรรดิแห่งเยอรมนีพระองค์ที่ ๓ และกษัตริย์แห่งปรัสเซียพระองค์ที่ ๙ มีพระนามว่าวิลเฮล์มที่ ๒ (Kaiser Wilhelm II von Deutschland) ซึ่งหลังจากการที่บิสมาร์คทำสนธิสัญญาลับกับรัสเซียนั้นส่งผลต่อชื่อเสียงของเขาอยู่มาก ทั้งยังโดนวิลเฮล์มที่ ๒ บีบบังคับให้ออกจากเกษียณอายุราชการ นายกรัฐมนตรีคนใหม่แห่งเยอรมนีก็เหมือนจะไม่มีความสามารถมากพอเท่ากับบิสมาร์ค ทั้งยังไม่สามารถสานต่อนโยบายและเกมการทูตของเยอรมนีเอาไว้อย่างแต่ก่อน โดยในปี ค.ศ. ๑๘๙๐ ทางรัสเซียได้เรียกร้องให้ต่ออายุสนธิสัญญา
แต่จักรพรรดิแห่งเยอรมนีทรงปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว เนื่องจากพระราชวงศ์เยอรมันเป็นพระประยูรญาติใกล้ชิดกับพระราชวงศ์รัสเซีย ทำให้ทางเยอรมนีคิดว่าความสัมพันธ์ในหมู่พระราชวงศ์นี้จะกระทำให้การทูตระหว่างทั้งสองเป็นไปได้สวย และพระองค์ทรงคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างพระราชวงศ์จะทำให้ดึงสหราชอาณาจักรซึ่งดูเหมือนจะไม่ฝักใฝ่ฝ่ายไหนเข้ามาเป็นพวก แต่ในขณะเดียวกันทางออสเตรีย – ฮังการีกับรัสเซียก็ยังขัดแย้งและผลประโยชน์ระหว่างรัสเซียกับสหราชอาณาจักรยังคงขัดแย้งต่อไป ทำให้รัสเซียและฝรั่งเศสทำสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกันดังที่กล่าวไว้แล้ว
นอกจากฝรั่งเศสจะได้พันธมิตรเพิ่มเติมแล้วฝรั่งเศสยังได้ทำสนธิสัญญาฉันทไมตรี (ฝรั่งเศส: entente cordiale) กับสหราชอาณาจักรในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. ๑๙๐๔ (พ.ศ. ๒๔๔๗) ซึ่งเป็นการทำลายความขัดแย้งระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสที่ขัดแย้งกันมายาวนานเกือบพันปี โดยสนธิสัญญานี้ก็กระทบถึงสยามซึ่งถูกขนาบระหว่างจักรวรรดิบริติชและจักรวรรดิอาณานิคมฝรั่งเศสด้วย อีกทั้งรัสเซียและอังกฤษได้ทำสนธิสัญญาอังกฤษ – รัสเซียในปี ค.ศ. ๑๙๐๗ (พ.ศ. ๒๔๕๐)
ทำให้ความขัดแย้งระหว่างสหราชอาณาจักรและรัสเซียซึ่งขัดแย้งตามภูมิภาคต่างๆ ลดลงโดยเฉพาะในบริเวณตะวันออกกลางเปอร์เซีย ทิเบตและอัฟกานิสถาน แม้สหราชอาณาจักรและรัสเซียจะไม่ได้เป็นพันธมิตรในสนธิสัญญานี้แต่ก็ถือเป็นการลดความขัดแย้งระหว่างทั้งสองอันเกิดขึ้นอย่างยาวนาน โดยทั้งสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศสและรัสเซียในอนาคตจะกลายเป็นฝ่ายต่อต้านเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในอนาคต ความแบ่งแยกเหล่านี้ได้สร้างความบาดหมางแก่เยอรมนีระหว่างสหราชอาณาจักรอย่างช้าๆ
.
นอกจากนี้หลังจากที่เยอรมนีสามารถรวมชาติได้แล้วนั้นทำให้เยอรมนีมีความแข็งแกร่งขึ้นมาก โดยเฉพาะด้านกองทัพ เศรษฐกิจ อุตสาหกรรมที่ทำให้เยอรมนีแข็งแกร่งขึ้นอย่างน่าอิจฉา โดยในขณะนั้นกองทัพบกที่แข็งแกร่งที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกในเวลานั้นคือเยอรมนี และราชนาวีที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกในขณะนั้นคือสหราชอาณาจักร ไม่แปลกใจว่าเพราะเหตุใดที่สหราชอาณาจักรเป็นรัฐที่มีอาณานิคมยิ่งใหญ่มหาศาลที่สุด การแข่งขันด้านกองทัพเรือของเยอรมนีทำให้สหราชอาณาจักรเกรงกลัวว่าเยอรมนีจะมีอำนาจเหนือกว่า
และต้องการแย่งชิงความเป็นมหาอำนาจซึ่งครองโลกอย่างสหราชอาณาจักร เนื่องจากในเวลานั้นการครอบครองมหาสมุทรสามารถประกันถึงความเป็นใหญ่และเป็นการวางอำนาจทั่วโลกได้ แม้แต่พระจักรพรรดิเยอรมันก็ทรงต้องการได้รับการยกย่องต่อคุณูปการของพระองค์ที่มีต่อราชนาวีเยอรมนี การทุ่มเททรัพยากรจำนวนมากของเยอรมนีในกองทัพเรือเพื่อแข่งกับสหราชอาณาจักร แม้เยอรมนีจะทุ่มเทมากขนาดไหน แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะได้ ทำให้เยอรมนีคิดว่าควรพัฒนาด้านกองทัพเรือมาเป็นกองทัพบกซึ่งเป็นสิ่งที่ตนมีอยู่แล้ว
.
นอกจากนี้วิกฤตในบอลข่านก็ดูเหมือนจะมีเพิ่มขึ้น ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๘ (พ.ศ. ๒๔๕๑) พระเจ้าไกเซอร์ฟรันทซ์ โยเซ็ฟแห่งจักวรรดิออสเตรีย – ฮังการีประกาศผนวกดินแดนบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาซึ่งเป็นเขตอำนาจอธิปไตยของจักรวรรดิออตโตมันแต่อยู่ภายใต้การบริหารของออสเตรีย – ฮังการีอย่างเป็นทางการ ซึ่งในความเป็นจริงดินแดนบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนานั้นอยู่ภายใต้การปกครองของออสเตรีย – ฮังการีตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๗๘ (พ.ศ. ๒๔๒๑) แล้ว เนื่องจากดินแดนบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนานั้นเป็นดินแดนของชาวสลาฟ และประเทศเซอร์เบียก็เป็นชาวสลาฟเช่นกัน การที่ออสเตรีย – ฮังการีผนวกดินแดนนี้ทำให้บรรดาชาวสลาฟชาตินิยมและชาวเซอร์เบียซึ่งเป็นชาวสลาฟเช่นกันโกรธแค้น โดยสภาราชสำนักเซอร์เบียได้ประท้วงการผนวกดินแดนอย่างเป็นทางการของออสเตรีย – ฮังการี
ทั้งรัสเซียซึ่งสร้างอิทธิพลในดินแดนบอลข่านหลังจากอับอายขายหน้าหลังจากแพ้สงครามกับญี่ปุ่นนั้น ก็มองว่าการกระทำของออสเตรีย – ฮังการีนั้นกร้าวเกินไป ลัทธิชาตินิยมในรัฐบอลข่านและปัญหาชาติพันธุ์ในออสเตรีย – ฮังการี จะเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ต่อไป ประกอบกับปัญหาในรัฐบอลข่านนั้นมีความวุ่นวายขึ้นมากและการเสื่อมอำนาจของจักรวรรดิออตโตมันทำให้เหมือนเป็นการแย่งชิงผลประโยชน์ของแต่ละชาติยิ่งกว่าเดิม วิกฤตในภูมิภาคนี้กำลังเกิดความวุ่นวายและจะส่งผลต่อชาติอื่นๆ ในยุโรปต่อไป
[การลอบปลงพระชนม์ของมกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย – ฮังการีขอพูดถึงในเวลาต่อไป]
(๑) "British Army statistics of the Great War". 1914-1918.net. สืบค้นเมื่อ 13 December 2011.
(๒) Figures are for the British Empire
(๓) Figures are for Metropolitan France and its colonies
(๔) "The war to end all wars". BBC News. 10 November 1998.
(๕) Keegan 1998, p. 8.
Bade & Brown 2003, pp. 167–168.
(๖) Willmott 2003, p. 307.
(๗) "World War I – Killed, wounded, and missing". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-05-12.
(๘) Spreeuwenberg, P.; และคณะ (1 December 2018). "Reassessing the Global Mortality Burden of the 1918 Influenza Pandemic". American Journal of Epidemiology. 187 (12): 2561–2567. doi:10.1093/aje/kwy191. PMID 30202996.
***บทความของวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
โฆษณา