4 พ.ย. 2021 เวลา 11:54 • หนังสือ
เพราะชีวิตมีสิบปี...แค่เจ็ดครั้ง
2
1.
หนึ่งในประโยคยอดฮิตของ สตีฟ จ็อบส์ ที่หลายคนมักอ้างถึงบ่อย ๆ ก็คือ “You can't connect the dots looking forward; you can only connect them looking backwards.”
แปลแบบผมก็คือ "เราไม่รู้หรอกว่า สิ่งที่ทำอยู่วันนี้ มันจะเกี่ยวข้องอะไรกับอนาคตข้างหน้า ต่อเมื่อผ่านมันมาแล้ว มองย้อนกลับไป เราจึงเข้าใจว่าสิ่งที่ทำไว้ในอดีตนั้น มีประโยชน์บางอย่างในวันนี้"
8
ภาพโดย César Gaviria จาก Pexels
...ส่วนตัวผมเห็นด้วยมาก ๆ กับประโยคข้างต้น ไม่มีอะไรที่เราทำในวันนี้ที่ไร้ประโยชน์ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม สุดท้ายมันจะตอบแทนบางอย่างให้กับเรา
1
อย่างผมเอง การไม่มีเพื่อนเล่นแถวบ้านในวัยเด็ก แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่ชอบในเวลานั้น แต่มันก็ทำให้ผมได้อยู่กับหนังสือ ได้อ่านหนังสือทั้งวัน และในเวลาต่อมาก็กลายเป็นคนที่พอจะมีความสามารถทางตัวอักษรอยู่บ้าง
เมื่อก่อน ผมไม่เคยเข้าใจเลยว่าผมจะเรียนวิศวะไปทำไม ในเมื่อชอบดนตรี ตอนนั้นผมไม่มีความสุขในการเรียนเลย แต่ในเวลาต่อมา ผมก็พบว่าการเรียนวิศวะทำให้คิดเป็นระบบและมองภาพรวมได้ดีขึ้น ซึ่งส่งผลต่อวิธีการทำงานของผมในปัจจุบัน
3
นานมาแล้ว ผมเหนื่อยล้ากับการทำธุรกิจเครือข่ายอยู่ถึง 3 ปี ในที่สุดก็หยุด เลิกทำ ตอนนั้นรู้สึกเหมือนเสียเวลาเปล่า แต่ในเวลาต่อมาก็พบว่า มันได้มอบความสามารถในการขายและการพูดหน้าชุมชนให้กับผม ผมไม่มีทางเป็นอย่างในทุกวันนี้ ถ้าไม่เคยผ่านโรงเรียนธุรกิจเครือข่ายมาก่อน
1
...บางทีชีวิตก็ลากเราอ้อมไปอ้อมมา หลงไปในป่า โดนใบไม้บาดเลือดซิบเสียก่อน เพื่อที่จะให้เราได้พบกับแม่น้ำใสสะอาดชื่นใจที่รออยู่ปลายทาง
1
จักรวาลนี้มีแผนที่ชัดเจนไว้แล้ว ขอเพียงเชื่อว่าชีวิตจะไปสู่วันพรุ่งนี้...ที่ดีกว่าเดิม
3
2.
ไม่ได้เขียนแบบคนโลกสวย ไม่ได้เขียนเพื่อปลอบใจใครที่กำลังสับสนกับชีวิต กำลังรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว ผิดพลาด หรือพ่ายแพ้ แต่มันคือ "เรื่องจริง" ที่หลายครั้งเราจำเป็นต้องเดินหลงทาง ก่อนจะได้เจอกับ "สิ่งที่ดีกว่า"
3
หลายครั้งเราจำเป็นต้องล้ม เพื่อให้ได้บทเรียนบางอย่าง หลายครั้งเราจำเป็นต้องผิดพลาด เพื่อจะได้ค้นพบวิธีที่ถูกต้อง และหลายครั้งเราจำเป็นต้องพ่ายแพ้ เพื่อจะได้รู้จักรสชาติของมัน...ว่าขมแค่ไหน
ผมพูดได้เลยว่าคนที่ประสบความสำเร็จนั้น เขาไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า "คนที่เคยหลงทาง ล้มเหลว ผิดพลาด พ่ายแพ้...มากครั้งกว่าคนอื่น" เท่านั้นเอง
2
ใครที่ได้ความสำเร็จมาโดยไม่เคยล้มเหลวมาก่อน ก็ยากที่จะรักษาความสำเร็จนั้นไว้ได้นาน และเมื่อสูญเสียมันไป
3
ก็ไม่ต่างกับสามล้อถูกหวยที่เงินหมดแล้ว ...ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรให้กลับมารวยได้อีกครั้ง
ทุกอย่างที่เราเผชิญอยู่ตอนนี้ มันกำลังสอนบางอย่างเสมอ ทุกวันนี้ผมขอบคุณความล้มเหลวเท่าๆ กับความสำเร็จ แต่ก็ไม่ปฏิเสธหรอกครับว่าวันที่กำลังเจอความล้มเหลว มันเจ็บ เจ็บมาก แต่พอผ่านมาได้แล้ว จะเข้าใจว่า ที่แท้เราต้องไป "เจ็บมาก่อน" จึงจะ "คู่ควร" กับความสำเร็จ
1
ความสำเร็จยืนรอจับมือเรา อยู่หลังกำแพงอุปสรรคนั่นเอง
2
3.
ความผิดพลาดอย่างหนึ่งของการเรียนการสอนในโรงเรียนก็คือ เรามักจะสอนนักเรียนว่า "ห้ามทำผิดพลาด" ในความคิดผม สิ่งเหล่านี้ปลูกฝังให้เด็ก ๆ เติบโตขึ้นมากับการไม่กล้าลองผิดลองถูก ไม่กล้าทำอะไรใหม่ ๆ เพราะเข้าใจว่าการทำผิดพลาดคือเรื่องไม่ดี ห้ามทำเด็ดขาด
2
ในขณะที่ชีวิตจริง การทำผิดพลาดคือวิธีการเรียนรู้ที่ดีอย่างหนึ่ง และความผิดพลาดก็สอนเราได้มากพอ ๆ กับความสำเร็จ คนเรียนเก่งหลายคนจึงมักตกม้าตาย ณ จุดนี้ เพราะกรอบความคิดของเขานั้น บอกกับเขาว่า "สิ่งที่ฉันจะทำ มันต้องถูก มันต้องใช่เท่านั้น ถ้าดูแล้วเสี่ยงว่าจะล้มเหลว หน้าแตก ผิดพลาด ฉันจะไม่ทำ"
3
เราจึงไม่ค่อยได้เห็นคนเรียนเก่งเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ แต่กลับได้เห็นเด็กเรียนไม่เก่ง เรียนจบไม่สูง หรือเรียนไม่จบ กลายเป็นเจ้าของธุรกิจใหญ่โต
เซียนหุ้นคนไหนไม่เคยขาดทุนมาก่อน? นักธุรกิจผู้ยิ่งใหญ่คนไหนไม่เคยเจ๊ง? ยิ่งเลอะ ยิ่งเยอะประสบการณ์ แต่หลายคนไม่เข้าใจจุดนี้ จึงกลัวเกินกว่าเหตุ
คนรุ่นใหม่ที่อายุยังน้อย ควรลองทำอะไรใหม่ ๆ ไปลองพลาด ไปลองล้ม ไปลองเจ๊ง (ในขอบเขตที่รับได้) แล้วจะได้อะไรกลับมามากมาย เพราะเส้นทางสู่ความสำเร็จในชีวิตจริงนั้น มันไม่ใช่ถูก ถูก และถูกเท่านั้น ...แบบนั้นผิดแล้วครับ
...มันต้อง ผิด ผิด ผิด ผิด ผิดแล้วผิดอีก จึงจะค่อยถูกต่างหาก
3
4.
ถ้ารีเซ็ตเงินของทุกคนบนโลกนี้ โดยนำเงินมารวมกันเป็นกองกลางจากคนทั้งโลก จากนั้นหารแบ่งให้ทุกคนได้เงินจำนวนเท่ากัน คุณจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม ผ่านไปไม่นาน คนที่เคยมีเงินมาก จะกลับมามีเงินมากอีกครั้ง คนที่เคยมีเงินน้อย จะกลับมามีเงินน้อยอีกครั้ง
4
ทำไมหนอทำไม? เพราะเส้นสาย เพราะขี้โกง เพราะอะไร? ไม่ยุติธรรมเลย ทำไมฉันต้องกลับมามีเงินเท่าเดิมด้วย?
ไม่ใช่เหตุผลข้างบนเลยครับ แต่คำตอบก็คือ เหตุผลที่คนมีมาก จะมีมากอีกครั้ง คนมีน้อย จะมีน้อยอีกครั้ง เพราะเงินนั้น "ตอบแทนตามความสามารถ" ของคนคนนั้น
เงินเหมือนสโลแกนโฆษณาเก่าชิ้นหนึ่งที่บอกว่า "คุณค่าที่คุณคู่ควร" เงินจะอยู่กับคนที่คู่ควรเท่านั้น ถ้าวันนี้เรามีรายได้หลักหมื่น ก็เพราะเราคู่ควรกับเงินจำนวนนั้น ถ้าวันนี้เราอยากมีรายได้หลักแสนหลักล้าน เราก็ต้องมีความสามารถที่คู่ควรกับเงินจำนวนนั้น
2
บางคนถาม "อยากมีรายได้เพิ่ม ทำอย่างไรดี?" คำถามนี้ไม่มีคำตอบอื่นเลยนอกจาก "พัฒนาตัวเองให้คู่ควรกับเงินจำนวนนั้น" ก่อนจะบ่นว่า "ทำงานมาสิบปี ทำไมรายได้ไม่ค่อยเพิ่มเลย?" บางทีเราอาจต้องถามตัวเองก่อนว่า "แล้วสิบปีที่ว่านั้น ความสามารถเราเพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่? หรือเก่งเท่าเก่า? หรือล้าหลังสู้รุ่นใหม่ไม่ได้?"
3
บางคนบอก "แต่ฉันมีประสบการณ์การทำงานสิบปีเชียวนะ" ...อันนี้ผมว่าเราน่าจะดูดี ๆ อีกครั้ง เพราะบางทีอาจเป็นประสบการณ์ปีเดียวที่เราตั้งใจเรียนรู้ จากนั้นอีก 9 ปีที่เหลือ ก็แค่ใช้ความสามารถของปีแรก มาทำซ้ำ ๆ เพราะหยุดพัฒนาตัวเองไปตั้งนานแล้ว
3
อยากมีรายได้เพิ่ม จึงไม่ใช่การเดินไปหาเจ้านายเพื่อขอขึ้นเงินเดือน แต่คือการเดินไปบอกกับคนในกระจกว่า
"เฮ้ย! พัฒนาตัวเองได้แล้ว" ...และเอาจริง ๆ เรื่องเงินเป็นแค่ตัวอย่างเท่านั้น แต่เรื่องอื่น ๆ ในชีวิต ล้วนใช้วิธีคิดเดียวกัน
2
ถ้าเหตุถูกต้อง ผลย่อมถูกตาม ...เรื่องก็มีเท่านี้ ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้เลย
1
5.
ครั้งหนึ่ง โกวเล้ง เขียนประโยคไว้ในนิยายของเขาว่า "ชีวิตคนเราจะมีสิบปีสักกี่ครั้งกัน" ผมชอบประโยคนี้มาก มันชวนให้เราคิดถึงเวลาที่ล่วงเลยผ่านไป
1
ถ้าคนเราอายุเฉลี่ยเจ็ดสิบปี เราก็มีสิบปีแค่เจ็ดครั้ง สิบปีแรก หมดไปกับความไร้เดียงสา สิบปีต่อมา หมดไปกับการศึกษาเล่าเรียน สิบปีต่อมา หมดไปกับการทำงานและการใช้ชีวิต สิบปีต่อมา หมดไปกับการสร้างฐานะ สร้างครอบครัว สิบปีต่อมา หมดไปกับการลงหลักปักฐาน รักษาสิ่งที่สร้างมา สิบปีต่อมา หมดไปกับการดูแลสุขภาพกายใจให้แข็งแรง ...สิบปีสุดท้าย หมดไปกับการปล่อยวาง รอการกลับบ้าน
แต่ละสิบปีผ่านไปไวเหมือนโกหก มีอะไรที่เราทำไปแล้วมากมาย และก็ยังมีอะไรอีกมากมายที่เรายังไม่ได้ทำ
1
เวลาคือหน่วยเงินในกำมือของเราที่เอาไปแลกสิ่งอื่น เราเอาเวลาไปแลกงาน เราเอางานไปแลกเงิน แต่เราก็ไม่เคยเอาเงินไปแลกเวลาคืนกลับมาได้สักที
1
ถ้าธนาคารเวลามีอยู่จริง เราก็ไม่เคยมีสมุดบัญชีสักเล่ม ที่จะดูได้ว่าตอนนี้เราเหลือเวลาอยู่เท่าไหร่? เรารู้ว่าใช้ "สิบปี" ของเราไปกี่ครั้งแล้ว แต่ไม่อาจรู้ว่าเราจะใช้ "สิบปี" ที่เหลือของเราได้ครบหรือไม่?
1
แต่นั่นก็ยังไม่สำคัญเท่ากับเราใช้เวลาสิบปีของเราคุ้มค่าหรือเปล่า? เมื่อหันหลังกลับมา ขอให้พูดได้เต็มปากว่าเราใช้มันไปอย่างไม่น่าเสียดาย
"ชีวิตคนเราจะมีสิบปีสักกี่ครั้งกัน" ...ใช้ "สิบปี เจ็ดครั้ง" ของเราให้คุ้มค่าครับ.
1
โฆษณา