29 ต.ค. 2021 เวลา 18:35 • ศิลปะ & ออกแบบ
#อะไรคือศิลปะ?
ศิลปะคือการแสดงออกทางความคิดของมนุษย์ โดยใช้สื่อ วัสดุ หรืออุปกรณ์ทางศิลปะที่มีอยู่หลากชนิด สร้าง ประดิษฐ์ ขึ้นมาเพื่อแสดงออกให้เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง วัตถุหรือสื่อผสมต่างๆ ที่มีให้ใช้ตามยุคสมัย..... นี่คือนิยามของ “ศิลปะ” กว้างๆ ในความคิดของผม
ให้สังเกตว่า ศิลปะมักทำหน้าที่สะท้อนความคิดของมนุษย์และวัฒนธรรมร่วมสมัยในยุคนั้นๆ เสมอ
เคยสงสัยกันมั้ยว่า..ทำไม? นักประวัติศาสตร์จึงมักใช้ผลงานศิลปะ เป็นตัวแทนในการศึกษาวิเคราะห์สภาพสังคม การใช้ชีวิตและวิธีคิดของผู้คนในยุคนั้นๆ ...... เหตุก็เพราะ ศิลปะมักทำหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์ของมนุษย์ลงในผลงานที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
หากจะให้เล่าย้อนประวัติศาสตร์ศิลปะกลับไปเรื่อยๆ คงยาวมาก เอาเป็นว่าศิลปะ เริ่มต้นมาตั้งแต่มนุษย์ยุคหินแล้ว หลักฐานก็คือภาพวาดที่ปรากฏตามผนังถ้ำโบราณ ที่ยังคงมีหลงเหลือให้เห็นจนถึงปัจจุบัน
ศิลปะไม่เคยหยุดนิ่ง แต่มันพัฒนาไปเรื่อยๆ (ตามความชอบ ไม่ชอบ หรือความขี้เบื่อของมนุษย์) โดยล้อไปตามกระแสความคิดของผู้คนในสังคมยุคนั้นๆ ทั้งความคิดของคนกลุ่มใหญ่ในสังคม หรือเพียงคนเดียวในลักษณะปัจเจกบุคคลก็ได้
ศิลปะเปรียบได้กับตัวแทนความคิดของมนุษย์ในแต่ละยุค แต่ละท้องถิ่น ที่ถ่ายทอดออกมาเป็นรูปธรรมด้วยสื่อและเทคนิคทางศิลปะที่มีอยู่หลากชนิด โดยมักผูกพันกับขนบธรรมเนียม ประเพณี ศาสนา และความเชื่อของมนุษย์ในแต่ละยุคตลอดเวลา
ขณะที่คนส่วนใหญ่อาจยอมรับผลงานศิลปะที่สวยงาม ละเอียดประณีต หรือออกแนวเหมือนจริง ว่า..มันคือศิลปะ เพราะดูรู้เรื่องและทำความเข้าใจได้ง่ายกว่า แต่ถ้างานศิลปะนั้นที่ไม่สวย แถมยังดูไม่รู้เรื่องอีกล่ะ จะเรียกว่าเป็นศิลปะได้หรือไม่?
คำตอบ : ศิลปะไม่เคยถูกจองจำหรือถูกจำกัดความว่า.... มันจะต้องสวยงาม (ตามค่านิยมในแต่ละยุค) เสมอไป แต่ศิลปะมีหน้าที่สะท้อนความคิดของมนุษย์ผู้สร้างผลงานออกมาซื่อๆ ตรงไปตรงมา ซึ่งบางทีอาจจะไม่งามตามค่านิยมในยุคนั้นๆ แต่หากชัดเจน ตรงประเด็น และสื่อสารจนสามารถสร้างอารมณ์สะเทือนใจได้ ก็เรียกว่าศิลปะได้เช่นกัน
ประเด็นนี้อยากจะให้วิเคราะห์กันอีกว่า สิ่งที่เรียกว่า “ความงาม” นั้น ไม่สามารถกำหนดเฉพาะเจาะจงลงไปได้อย่างถาวร ว่าแบบนี้ถึงจะเรียกว่างาม แบบนี้เรียกว่าไม่งาม เพราะความงามนั้น แปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามค่านิยมของยุคสมัย ยุคนี้ผู้คนอาจยอมรับกันว่าสิ่งนี้งาม แต่อีกยุคหนึ่ง...กลับไม่ยอมรับ กลายเป็นเชย หรือน่าเกลียดไปแล้วก็ได้
เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2564 เกิดประเด็นดราม่าในคณะวิจิตรศิลป์ มช. เกี่ยวกับการทำลายผลงานศิลปะของนักศึกษา จากฝีมือของอาจารย์ภายในคณะเอง หลังเกิดข่าวผมจึงเสิร์ชดูผลงานต้นเหตุ พบว่าผลงานนักศึกษาทั้งหมด เป็นการแสดงออกทางศิลปะในเชิง “เน้นความคิด” หรือ Conceptual art (แนวคิดของการทำงานศิลปะสมัยใหม่ที่เริ่มต้นได้ราว 100 กว่าปี) โดยมีทั้งความขบถ ละทิ้งค่านิยมความงามแบบเดิมๆ ต่อต้านความสูงส่ง เสียดสีสังคม นิยมความเรียบง่าย
ดราม่าที่เหล่านักศึกษาต่างพากันเรียกว่า #ขณะวิจิตรสิ้น ยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2564 เกิดเหตุการณ์นักศึกษาสาขาวิชา Media Art and Design คณะวิจิตรศิลป์ บุกยึดพื้นที่หอศิลปวัฒนธรรม มช. คืน เนื่องจากคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ห้ามไม่ให้นักศึกษาเข้าใช้พื้นที่จัดแสดงผลงาน จนนักศึกษาต้องใช้คีมตัดเหล็กตัดโซ่พังประตูหน้าเข้ามา ถึงจะเข้าไปภายในพื้นที่ได้แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถจัดแสดงผลงานได้ เพราะคณบดีคณะวิจิตรศิลป์สั่งให้ตัดน้ำตัดไฟภายในตึกทั้งหมด OMG!
'Fountain' by Marcel Duchamp, 1917 [ผลงานในแนวคิด Ready-made Art : เมื่อทุกสิ่งที่อยู่รอบกายกลายเป็นศิลปะ]
ศิลปินที่ใช้ #ศิลปะเน้นความคิด เพื่อแสดงออกในการทำงานศิลปะของตนเองนั้น มีหลายคนที่โด่งดังระดับโลกหรือระดับตำนาน อาทิ ศิลปินฝรั่งเศส-อเมริกัน “มาร์แซล ดูชองป์” (Marcel Duchamp, 1887-1968) ศิลปินอเมริกัน “โรเบิร์ต เราเชนเบิร์ก” (Robert Rauschenberg, 1925-2008) เรียกได้ว่าความคิดแหกกฎของพวกเขา สร้างแรงกระเพื่อมขนานใหญ่ต่อวงการศิลปะโลก และยังส่งอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน
เอาล่ะ! ผมขอข้ามประเด็นการเมืองที่ทำให้ผลงานนักศึกษา คณะวิจิตรศิลป์ มช. ถูกรื้อทำลาย ถูกห้ามจัดแสดงออกไปก่อน แต่....คำถามคือ อยู่ๆ อาจารย์จะใช้อำนาจบาตรใหญ่ทำลายผลงานนักศึกษา ปิดกั้นการแสดงออก โดยเก็บลงถุงดำขึ้นรถไปทิ้ง ถามว่า...มันควรแก่เหตุหรือ? ไม่ว่าคุณจะมองว่าผลงานชิ้นนั้นมันน่ารังเกียจ หรือเห็นว่าไม่เหมาะสมที่จะจัดแสดงในช่วงเวลานี้อย่างไรก็ตาม คุณควรลงไปคุยกับเขาในฐานะมนุษย์ แล้วให้เขาเป็นคนจัดการรื้อเก็บเองจะไม่ดีกว่าหรือ?
'ภิกษุสันดานกา' ศิลปิน: อนุพงษ์ จันทร, เทคนิค: สีอะคริลิกบนผ้าจีวร, ชนะเลิศเหรียญทอง ศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 53 (พ.ศ. 2550)
ประเด็นนี้อาจใกล้เคียงกับกรณีภาพวาด #ภิกษุสันดานกา ของอนุพงษ์ จันทร เมื่อปี พ.ศ. 2550 หรือการใช้คัดเตอร์กรีดทำลายผลงานของ อ.ถวัลย์ ดัชนี เมื่อปี พ.ศ. 2514 แต่ทั้ง 2 สาเหตุ เกิดจากบุคคลภายนอกที่ไม่พอใจในผลงานชิ้นนั้นๆ ไม่ใช่บุคลากรที่เป็นอาจารย์ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเองเลยแม้แต่น้อย
จิด.ตระ.ธานี : #เล่าสู่กันฟังนะครับ
#Jitdrathanee

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา