30 ต.ค. 2021 เวลา 06:17 • ไลฟ์สไตล์
“พระสงฆ์ น้ำตา และการกลับมาของการล่าแม่มด”
ในยุคที่คนสามารถสื่อสารกันได้มากขึ้นด้วย social media ความอยุติธรรมทั้งหลายในสังคมก็ปรากฏในเห็นมากขึ้น
ความอยุติธรรมเหล่านี้ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคนี้แต่ฝังตัวอยู่ในสังคมไทยมายาวนาน
ราวกับเศษฝุ่นที่ถูกซุกไว้ใต้พรมจนเต็ม
และยุคของ social media คือมือที่เปิดพรมให้เห็นฝุ่นกองโตเหล่านั้น
ยุคที่ศาสนาเข้าสู่จุดที่มืดมน เหมือนกับสถาบันอื่นในสังคม
ในมุมมองหนึ่งก็เห็นความพยายามที่จะแยกพระสงฆ์ออกจากทางโลก แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เห็นทางโลกก็เข้าครอบงำวงการสงฆ์อย่างเต็มที่
และมีหน่วยงานกำกับดูแลพระสงฆ์ที่ไม่ทำตาม
หากมองย้อนกลับไปในอดีตของสังคมมนุษย์ ศาสนามักถูกใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมือง
ในช่วงเวลายุคมืดของมนุษยชาติ การถูกจับเผาทั้งเป็น การเข่นฆ่าผู้เห็นต่างทาง ก็เริ่มมาจากการใช้ศาสนาเป็นเครื่องรองรับความชอบธรรม
แม้ว่าเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานแต่ราวกับว่าการอ้างความชอบธรรมเหล่านั้นก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากวิถีชีวิตของมนุษย์เท่าไหร่นัก
ยุคที่คนห่างจากพระ ยุคที่คนห่างจากวัด ยุคที่ความต้องการสนองทางวัตถุคือจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต
สถาบันทางสังคมเก่าแก่ถูกท้าทายทางความเชื่อ คนยุคใหม่เลือกใช้ชีวิตอย่าง “ไร้ศาสนา”
แต่แล้วก็เหมือนมีตัวจุดประกายอีกครั้ง ให้คนในสังคมหันกลับมา ในปรากฏการณ์ “พระไลฟ์สด”
การผนวกรวมเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ากับภาพลักษณ์อันคร่ำครึของศาสนา
สะท้อนภาพของการปรับตัวให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ ทำให้คนรู้สึกว่าศาสนาไม่ได้เป็นเรื่องที่ล้าสมัยอีกต่อไป
และแน่นอนว่า ขณะเดียวกันก็มีอีกด้านหนึ่งของเหรียญที่มองต่างไป ด้วยความอนุรักษนิยมของสถาบันนี้ การกระทำเช่นนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ “ขวางหูขวางตา” และ “ไม่เหมาะสม”
ขบวนการล่าแม่มดจึงกลับมาอีกครั้ง ในยุคใหม่ ในดินแดนแห่งใหม่ เพียงแต่เป้าหมายครั้งนี้ ไม่ใช่แม่มดอีกต่อไป แต่เป็น “พระสงฆ์”
รูปใดที่ขัดผลประโยชน์ รูปใดที่ไม่ใช่พวกพ้อง รูปใดที่โดดเด่นเกินไป
สงฆ์เหล่านั้นต้อง “พ้นจากความเป็นพระ” แม้จะปราศจากซึ่งเหตุผลอันชอบธรรมรองรับก็ตาม
แสิไม่ใช่การจัดเผาทั้งเป็นมาในอดีต แต่เป็นการทำลายตัวตนทางศาสนาของพระสงฆ์เหล่านั้นจนย่อยยับ
ผลลัพธ์ของความอยุติธรรมเหล่านั้นก็คือ “น้ำตา”
น้ำตาที่หลั่งไหลให้กับความไม่เป็นธรรม
น้ำตาที่หลั่งไหลให้กับการจ้องทำลาย
และต้องไม่ลืมว่ายังมีน้ำตาที่มองไม่เห็นอีกมากมาย
คำถามคือ น้ำตาต้องหลั่งไหลอีกแค่ไหน ผู้คนถึงจะเห็นและรู้สึกถึงความอยุติธรรมเหล่านี้
และศรัทธาของผู้คนอีกมากมายแค่ไหน ที่ต้องเสื่อมสลายไปพร้อมกับน้ำตา ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นเหล่านั้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูญสิ้นศรัทธาของคนรุ่นใหม่ที่อนาคตของศาสนาอยู่ในมือของพวกเขา
หากเจตนารมณ์ของผู้ปกป้องแสดงออกผ่านการกระทำที่ท้ายสุดได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นการทำลายในระยะยาว
เมื่อเป็นเช่นนั้นจะยังเรียกว่าผู้ปกครองได้อยู่หรือไม่?
และถ้าเหล่าศาสนิกชนกลับนิ่งเฉยกับเรื่องเหล่านี้
ในอนาคตข้างหน้าอีกไม่ช้าอาจเป็นได้ว่า ศาสนาอาจถึงกาลเสื่อมสลายไป
เพราะอย่าลืมว่าสิ่งที่ทำให้ศาสนาคงอยู่ไม่ใช่ องค์กรหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ
แต่คือ “ศรัทธาในจิตใจของผู้คน”
จาก “ศาสนา” ก็จะเหลืองเพียง “หลักปรัชญา” เท่านั้น …
โฆษณา