30 ต.ค. 2021 เวลา 11:40 • ปรัชญา
"ธรรมะอยู่ทุกหนทุกแห่ง … มองให้เป็นจะเห็นธรรม"
1
" ... ธรรมะอยู่ในที่ทุกที่
อยู่ที่ตัวเราเองจะมองเห็นธรรมะไหม
กระทั่งในส้วมก็มีธรรมะ
ในบ้าน ในกุฏิก็มีธรรมะ
บนถนน บนรถเมล์ บนรถทัวร์ มีธรรมะทั้งหมด
ฉะนั้นธรรมะอยู่ในที่ทุกที่
ไม่ใช่อยู่ที่ตรงนั้น ที่ตรงนี้
อยู่ป่าช้าถ้ามองไม่เป็น ก็ไม่ได้ธรรมะ
ได้ความหลงผิด
อย่างเข้าไปอยู่เพื่อจะให้หายกลัวผี
ไม่ใช่การฝึกกรรมฐาน
จะฝึกกรรมฐานก็เห็นธาตุเห็นขันธ์
เห็นไตรลักษณ์ของธาตุของขันธ์อะไรอย่างนี้
ถ้าเข้าไปอยู่เพื่อให้ไม่กลัวผี ถือว่า Fail แล้ว เสียเวลา
หรือจะไปอยู่ป่าอยู่เขา แล้วก็ไม่ได้ลดละกิเลสอะไร
มันก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน
ฉะนั้นธรรมะไม่เลือกกาลเวลา
ไม่เลือกสถานที่ กาลเวลา
อย่างนั่งอยู่ในส้วม สถานที่อยู่ในส้วมก็ภาวนาได้
มีคนเขาภาวนาได้ดิบได้ดีมาแล้วด้วย
สักแต่ว่าธาตุ
ฉะนั้นพยายามฝึกตัวเอง
ให้ภาวนาตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นจนหลับ
ยกเว้นเวลาที่ทำงานที่ต้องคิด ยกเว้นแค่นั้น
เวลาอื่นพยายามมีสติรู้สึกกาย มีสติรู้สึกใจไป
รู้สึกกายไปเรื่อยๆ ต่อไปก็เห็น ร่างกายมันไม่เที่ยง
ร่างกายหายใจออกไม่เที่ยง ร่างกายหายใจเข้าไม่เที่ยง
ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ไม่เที่ยง
ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่งไม่เที่ยง
ร่างกายนี้สักแต่ว่าเป็นธาตุ
มีธาตุไหลเข้า มีธาตุไหลออก
เช่น หายใจเข้าแล้วก็หายใจออก
กินอาหารแล้วก็ขับถ่าย
ดื่มน้ำเข้าไปแล้วก็เป็นเหงื่อ เป็นปัสสาวะ
เป็นน้ำลายอะไรออกไป ก็เป็นแค่ธาตุที่หมุนเวียน
ดูไปๆ ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีเรา ไม่มีเขา
เป็นสักแต่ว่าธาตุเท่านั้นเอง
ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย เราก็เห็นมันเกิดดับ
ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายมันก็เกิดดับ
ความรับรู้ทางตา ความรับรู้ทางหู
พวกนี้ก็ถือว่าเป็นธาตุหมดเลย
ธาตุที่เราใช้ทำกรรมฐานไม่ใช่มีแค่ธาตุ 4
แล้วก็ไม่ใช่มีแค่ธาตุ 6
ธาตุ 4 คือดิน น้ำ ไฟ ลม
ธาตุ 6 ก็เติมอากาศธาตุกับวิญญาณธาตุลงไป
แต่ธาตุเวลาเราทำกรรมฐานมี 18 ธาตุ
6 ธาตุเป็นของภายนอก
คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็เป็นธาตุ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นธาตุ นี่ 12 แล้ว
แล้วก็วิญญาณที่เกิด คือวิญญาณ ก็คือตัวความรับรู้
หรือตัวจิตนั่นล่ะที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
อีก 6 ก็เป็นธาตุ รวมแล้วมีธาตุ 18
เวลาเราภาวนา ไม่ต้องตกใจ
ถึงเวลามันก็รู้ก็เห็นพัฒนาไปเอง
ตอนนี้ดูเท่าที่ดูได้ ได้ยินหลวงพ่อพูด
โอ๊ย ทำไมเยอะนัก ไม่เยอะหรอก ค่อยๆ เรียนไป
เหมือนความรู้
อย่างเราเรียนปริญญาโท ปริญญาตรีอะไรนี้
ความรู้ทำไมมันเยอะ เรียนตั้งเยอะตั้งแยะ
ไปทำมาหากินใช้ความรู้นิดเดียว
วิชาที่เรียนมาตั้งเยอะตั้งแยะไม่ได้ใช้อะไรอย่างนี้
เรารู้สึกว่ามันเยอะ ที่จริงมันไม่ได้เยอะ
เพราะเราเรียนมาตั้งแต่ ป.1
เราค่อยๆ เพิ่มๆ ความรู้ไป
การภาวนาก็เหมือนกัน
ค่อยๆ เพิ่มความรู้ถูก ความเข้าใจถูกไป
ฉะนั้นอย่างหลวงพ่อพูดให้ฟัง
คล้ายๆ หลวงพ่อเรียนได้ปริญญาตรีแล้ว
หลวงพ่อก็พูดวิชาการได้เยอะหน่อย
อย่างเราอยู่ประถม อยู่อนุบาลอยู่อะไรก็ค่อยๆ เรียน
ไม่ต้องเรียนเท่าหลวงพ่อพูดหรอก
เรียนเท่าที่เราเห็น เดี๋ยววันหนึ่งมันก็เรียนได้เยอะ
บางคนอาจจะเป็นด็อกเตอร์อะไรเลย
เก่งกว่าหลวงพ่อเลย เอาแน่ไม่ได้หรอก
1
ความปรุงแต่งขวางนิพพาน
ฉะนั้นเราหัดภาวนาให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว
ดูการทำงานของธาตุของขันธ์ไป
กรรมฐานมีสิ่งที่ใช้ทำกรรมฐาน
ก็มีเรื่องขันธ์ 5 เรื่องอายตนะ 12
เรื่องธาตุ 18 มีเรื่องอินทรีย์ 22
อินทรีย์ 22 ส่วนใหญ่จะเป็นนามธรรมทั้งหลาย
เราไม่ต้องเรียนหรอกเดี๋ยวเข้าใจเอาเอง
ค่อยๆ เรียนไป
สูงสุดก็คือปฏิจจสมุปบาท 24
สิ่งเหล่านี้จะรู้ด้วยตัวเอง
ขอเพียงตั้งต้นด้วยการที่จิตใจเราอยู่กับเนื้อกับตัว
มีสติรู้กายมีสติรู้ใจด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
จะเห็นความจริงของกายของใจ
ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันเห็นเอง
พอเห็นแล้วจิตก็วาง จิตก็หมดความปรุงแต่ง
อย่างมันเห็นความจริงร่างกายนี้คือตัวทุกข์
ก็จะไม่ปรุงแต่งว่าทำอย่างไรร่างกายจะเป็นสุข
ทำอย่างไรร่างกายจะไม่ทุกข์
จะไม่มีคำว่าจะทำอย่างไร จะทำอย่างไร
ก็เรียกว่ามันไม่ปรุงแต่ง
อย่างพวกเรานั่งคิดทุกวันเลยว่าจะภาวนาอย่างไร
ทำอย่างไรจะดีกว่านี้ เห็นไหมมันมีแต่คำว่า ทำ
นั่นล่ะปรุงแต่งทั้งนั้น
แต่ตรงที่คิดจะภาวนาเรียกว่าปรุงดี
เป็นความปรุงดี ถามว่าดีไหม ดี
แต่ถามว่าจะไปบรรลุมรรคผลนิพพานได้ไหม ไม่ได้หรอก
ความปรุงแต่งมันขวางอยู่
นิพพานเป็นสภาวะที่พ้นความปรุงแต่ง
มันก็ยังปรุงอยู่ไม่เจอหรอก แต่อาศัยปรุงดี
แล้วค่อยๆ สะสมความรู้ถูกความเข้าใจถูกไป
พอสัมมาทิฏฐิเราสมบูรณ์ขึ้นมา
มรรคผลมันก็มีขึ้นมา
แล้วปัญญาเราแก่รอบแล้วอริยมรรคก็จะเกิด เกิดเอง
ไม่มีใครทำมรรคผลให้เกิดได้ เกิดเอง
เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาเราสมบูรณ์ ค่อยๆ ฝึก
สรุปก็คือการทำกรรมฐาน ไม่เลือกสถานที่ ไม่เลือกเวลา
เมื่อไรมีสติระลึกรู้รูปธรรมนามธรรมที่กำลังปรากฏ
ด้วยจิตที่ตั้งมั่น คือมีสัมมาสมาธิ แล้วก็เป็นกลาง
เมื่อนั้นเราเดินปัญญาอยู่
เมื่อไรเรามีสติระลึกรู้อารมณ์อันเดียวอยู่
อันนั้นก็ภาวนาเหมือนกัน แต่เป็นระดับสมถกรรมฐาน
ไม่ถึงวิปัสสนา
ฉะนั้นอย่างเราเห็นท้องพอง เห็นท้องยุบอะไรนี้เป็นสมถะ
ขยับมืออย่างนี้ รู้มือที่เคลื่อนไหวอยู่เป็นสมถะ
แล้วเห็นรูปที่เคลื่อนไหวเป็นสักแต่ว่าธาตุ
ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
เห็นความเกิดดับของรูปของอะไร
อย่างนี้ถึงจะเป็นวิปัสสนา ต้องเห็นไตรลักษณ์
การเห็นไตรลักษณ์นี้เป็นตัวปัญญา
ปัญญามันจะเกิดได้ต้องมีสัมมาสมาธิ
ในอภิธรรมจะสอน
“สัมมาสมาธิ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา”
ฉะนั้นเราฝึกจิตใจให้มันอยู่กับเนื้อกับตัว
ให้มันตั้งมั่น มีสัมมาสมาธิ
แล้วก็สติระลึกรู้กายด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง
จิตมันจะไม่จมลงไปในกาย
สติระลึกรู้อะไรจิตก็ไม่จมลงไปในสิ่งนั้น
อย่างพวกเราพอไปรู้ลมหายใจ
สติรู้ลมหายใจจิตมันไหลไปอยู่ที่ลม
จิตไม่ตั้งมั่น ใช้ไม่ได้หรอก ได้แต่สมถะ
เรียนรู้ความปรุงแต่งไป อะไรคือความปรุงแต่ง
ก็คือกายนี้ใจนี้นั่นล่ะคือความปรุงแต่ง
เรียนรู้ไปจนเข้าใจความจริงของมัน
ว่ามันเป็นไตรลักษณ์
พอเข้าใจความจริงก็เลิกปรุงแต่ง
อย่างเรารู้ว่ากายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
เราก็เลิกปรุงแต่งที่จะให้กายนี้เที่ยง
ไม่รู้จักแก่ ไม่รู้จักเจ็บ ไม่รู้จักตายอะไรนี้
อันนั้นปรุงทั้งสิ้นเลย
พอรู้ความจริงแล้วกายนี้มันเป็นก้อนทุกข์ เป็นก้อนธาตุ
เราก็หมดความปรุงแต่งที่จะให้กายนี้เที่ยง
หมดความปรุงแต่งที่จะให้กายนี้มีแต่ความสุข
หมดความปรุงแต่งที่จะบังคับกายนี้ให้ได้
1
ฉะนั้นรู้กายอย่างที่กายเป็น จิตมันวาง มันวางกาย
แล้วก็รู้นามธรรมไป เห็นนามธรรมมันทำงาน
บางคนสตาร์ตที่ดูนามธรรมเลยก็ได้ แล้วแต่จริตนิสัย
ถ้าเราเข้ามาที่นามธรรมเลย
มาดูจิตเห็นความปรุงแต่งในจิต
พอรู้จริงวางจิตลงไปด้วย มันจะวางกายไปด้วย
เพราะจิตเป็นสิ่งที่เราหวงแหนที่สุดแล้วว่าคือ ตัวเราของเรา
ถ้ากระทั่งจิตยังไม่ยึดไม่ถือ
กายมันไม่ยึดไม่ถืออัตโนมัติ
หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยสอนหลวงพ่อ
หลวงพ่อถามท่าน “ผมไปตามวัดต่างๆ
ได้ยินครูบาอาจารย์แทบทุกวัดเลย
ท่านสอนลูกศิษย์ท่าน สอนญาติโยม
สอนลงมาที่กายทั้งนั้นเลย”
ก็เลยไปถามหลวงปู่ดูลย์บอก
“หลวงปู่ครับ แล้วผมจะต้องไปดูกายไหม”
ท่านก็บอกเลย
“เขาดูกายเพื่อให้เห็นจิต
เมื่อเข้ามาถึงจิตแล้ว จะเอาอะไรกับกาย
กายเป็นของทิ้ง”
ท่านพูดอย่างนี้เลย
ฉะนั้นหลวงพ่อภาวนา หลวงพ่อวางกายแล้ว
แล้วเราเข้ามาที่จิตแล้ว ข้ามช็อตมา
อันนี้แล้วแต่จริตนิสัยคน แต่ละคนไม่เหมือนกัน
บางคนต้องดูที่กายก่อน ดูที่จิตไม่รู้เรื่องเลย
อย่างเมื่อวานก็มีคนมาเรียนกับหลวงพ่อ
เขามาอยู่ในทีมหมอที่มาช่วยดูแลหลวงพ่อ
มา Follow up
มีคนหนึ่งเขาคิดอย่างเดียวเลย คิดๆๆๆ
หลวงพ่อบอกให้รู้สึกร่างกายไว้ เขาก็ยังคิดอีก
รู้สึกร่างกายแล้วมันจะไปเห็นจิตไหมอะไรอย่างนี้
บอกรู้สึกกายไม่ใช่ต้องคิดต่อ
ถ้าดูจิตไม่เห็น มันมั่วไปหมดแล้ว ดูกาย
จับหลักให้แม่นเลย
ถ้าดูจิตก็ไม่ได้ ดูกายก็ไม่ได้ ทำสมถะ
หลักของการปฏิบัติมันมีแนวรุกแนวรับอย่างนี้
แต่ถ้าเรามีกำลังพอข้ามมาดูจิตเลยก็ได้
ถ้าจริตนิสัยมันถูกอย่างนั้น
อย่างหลวงพ่อมาดูกายแล้วรู้สึกจืด
รู้สึกมันคับแคบ มันน้อย จิตมันวิจิตรพิสดารมาก
จิตมีตั้งเท่าไร 80 กว่าอย่าง เรียนแล้วสนุก
ฉะนั้นภาวนาอยู่ที่ตัวเอง ที่กายที่ใจของตัวเอง
มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง
ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
ถ้ารู้จิตรู้ใจได้ รู้จิตรู้ใจไป รู้จิตรู้ใจไม่ได้ ดูกายไว้
ถ้าดูใจก็ไม่ได้ ดูกายก็ไม่ได้ ทำสมถะทันทีเลย
ไม่มีตรงไหนเลยที่บอกว่าไม่ต้องทำ
ฉะนั้นถ้าไม่ดูจิตก็ต้องมาดูกาย
ดูจิตดูกายไม่ได้ก็ทำสมถะ
แล้วบอกเหนื่อยทำอย่างไร เหนื่อยก็ทำสมถะพักผ่อน
สมาธิเป็นที่พักผ่อนที่ดีมากเลย
อย่างคืนๆ หนึ่งเรานอนหลายชั่วโมง
เวลาจิตมันเข้าสมาธิ สักชั่วโมงหนึ่งมันสดชื่นกว่ากันเยอะ
สดชื่นยิ่งกว่านอนอีก
ฝึกตัวเองไม่เลือกกาล ไม่เลือกสถานที่
มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง
ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
ทำได้อย่างนี้มรรคผลนิพพานไม่หนีเราไปไหนหรอก
ไม่ใช่ไปนั่งแต่งจิตให้เอ๋อ ให้เคลิ้ม ให้ซึม ให้แข็ง
อย่างนั้นใช้ไม่ได้ ผิดอย่างแรงเลย
เป็นตัวขวางมรรคผลนิพพาน. … "
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
23 ตุลาคม 2564
ติดตามการถอดไฟล์บรรยายฉบับเต็มจาก :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา