30 ต.ค. 2021 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
มาเลเซีย: หนึ่งในประเทศสำคัญ ผู้ควบคุมจุดยุทธศาสตร์เส้นทางการค้าโลก
18
มาเลเซีย: หนึ่งในประเทศสำคัญ ผู้ควบคุมจุดยุทธศาสตร์เส้นทางการค้าโลก
📌 มองย้อนประวัติศาสตร์มาเลเซีย ดินแดนผู้ควบคุมเส้นทางการค้าของโลกตั้งแต่โบราณ
มาเลเซียเป็นประเทศที่นับได้ว่ามีชัยภูมิที่ดีมาก ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ควบคุมเส้นทางการค้าตั้งแต่โบราณกาล โดยนับตั้งแต่เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 1 ที่อินเดียกับจีนเริ่มมีการค้าขายกัน มีการเดินเรือสมุทรเพื่อขนส่งสินค้าแลกเปลี่ยนกัน ผ่านช่องแคบมะละกาของคาบสมุทรมลายู​ จึงทำให้เกิดการตั้งรกรากขึ้น ก่อเป็นชุมชนและเมืองต่างๆ ขึ้น ตามผืนแผ่นดินในอาณาบริเวณทางผ่านการค้าเหล่านี้ จนท้ายที่สุด พัฒนาขึ้นไปเป็นอาณาจักรได้ในช่วงศตวรรษ 7
2
อาณาจักรที่ว่าก็คือ อาณาจักรศรีวิชัยที่ได้แผ่ขยายอิทธิพลปกครองพื้นที่เกือบทั้งหมดของคาบสมุทรมาเลย์ ตั้งแต่บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานีของประเทศไทยในปัจจุบัน ลงไปจนถึงเมือง Palembang ของหมู่เกาะอินโดนีเซีย ควบคุมเส้นทางการค้าสำคัญระหว่างอินเดียและจีน ส่งผลให้อาณาจักรศรีวิชัยมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก
1
แผนที่อาณาจักรศรีวิชัย
นอกจากนี้ ด้วยการที่เมืองต่างๆ ในบริเวณคาบสมุทรมาเลย์ตั้งอยู่บนจุดเส้นทางการค้าระหว่างอินเดียและจีน ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายวัฒนธรรมของอินเดียและจีนมาอีกด้วย อย่างเช่น อาณาจักรศรีวิชัยเองก็รับวัฒนธรรมด้านศาสนามาจากอินเดีย จนมีการยกย่องอุปถัมภ์ศาสนาพุทธและฮินดูเป็นศาสนาหลักของอาณาจักรอีกด้วย
1
แต่ทว่าอาณาจักรศรีวิชัยก็มาถึงจุดจบลงในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 เมื่อเกิดความขัดแย้งต่างๆ ขึ้น มีการทำสงครามกับต่างชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างศูนย์กลางอำนาจของอาณาจักรกับรัฐบริวารต่างๆ โดยรอบก็อ่อนแอ จนสุดท้ายก็ถูกแทนที่โดยอำนาจใหม่อย่างอาณาจักรมัชปาหิต
แต่แม้ว่าอาณาจักรศรีวิชัยจะถึงจุดสิ้นสุดลง แต่ก็มีเชื้อพระวงศ์ของอาณาจักรศรีวิชัยที่ได้หนีไปตั้งอาณาจักรของตัวเอง อย่างเช่นเจ้าชาย Sang Nila Utama แห่งศรีวิชัยที่ได้ไปตั้งอาณาจักรสิงคปุระ (Kingdom of Singapura) หรือที่รู้จักกันว่า เทมาเซ็ค (Temasek) ขึ้นบนเกาะสิงคโปร์ แต่หลังจากที่ตั้งอาณาจักรดังกล่าวได้ไม่นานนัก ก็ถูกกองทัพของอาณาจักรมัชปาหิตไล่ต้อน จนสุดท้ายต้องขึ้นไปทางเหนือ นำไปสู่การตั้งอาณาจักรใหม่ในฐานะรัฐสุลต่านแห่งมะละกาขึ้น (Sultanate of Malacca) ซึ่งควบคุมเส้นทางการค้าสำคัญของโลกผ่านช่องแคบมะละกา
5
หลังจากที่ตั้งอาณาจักรขึ้น รัฐสุลต่านแห่งมะละกาก็เจริญรุ่งเรืองและแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ควบคุมเส้นทางการค้าสำคัญได้ อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนและคุ้มครองโดยราชวงศ์หมิงของจีน ทำให้ไม่มีอาณาจักรโดยรอบจะกล้าเข้ามารังแก นอกจากนี้ รัฐสุลต่านแห่งมะละกายังได้มีการอุปถัมภ์ศาสนาอิสลามขึ้นเป็นศาสนาหลักอีกด้วย จากอิทธิพลของศาสนาอิสลามที่ถูกเผยแพร่มาทางเส้นทางการค้ากับอาหรับ
2
แต่แล้ว ครั้นเมื่อเกิดปัญหาการแย่งชิงบัลลังก์ขึ้นภายในอาณาจักรมัชปาหิต กษัตริย์สิ้นพระชนม์ลง เกิดกันขึ้น ความขัดแย้งทำให้อาณาจักรมัชปาหิตอ่อนแอลง เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางมะละกาก็ใช้โอกาสดังกล่าวให้เป็นประโยชน์ โดยค่อยๆ เข้ามาแปลงเมืองต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรมัชปาหิตที่นับถือศาสนาฮินดูกับพุทธอยู่ให้มานับถือศาสนาอิสลามมากขึ้นเรื่อยๆ ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการปกครอง
1
เมื่อแปลงได้สำเร็จ ก็ทำให้เมืองเหล่านี้หันมาสวามิภักดิ์กับตัวเองได้มากขึ้น จนสุดท้าย สามารถแพร่ขยายอิทธิพลควบคุมทั้งคาบสมุทรมลายูไว้ได้สำเร็จ
📌 เมื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ดึงดูดให้มหาอำนาจตะวันตกเข้ามาในภูมิภาค
จุดเปลี่ยนที่สำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงต้นศตวรรษที่ 16 เมื่อโปรตุเกสได้เข้ามายึดกรุงมะละกา เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าของตัวเอง การล่มสลายลงของรัฐสุลต่านแห่งมะละกาทำให้เกิดสุญญากาศทางอำนาจในคาบสมุทรมลายูอย่างมาก เกิดรัฐสุลต่านขึ้นมามากมาย และบรรดารัฐฯ เหล่านี้ก็มีการสู้รบกับทางโปรตุเกสโดยตลอด
1
ต่อมา เมื่อดัชต์เดินทางเข้ามาในพื้นที่บ้าง เพราะต้องการเข้ามาตั้งฐานที่ตั้งการค้าในเอเชียเช่นเดียวกัน ก็ได้เข้าไปเจรจาและทำข้อตกลงกับเหล่ารัฐสุลต่านเหล่านี้ จนทำให้สามารถร่วมมือกันขับไล่พวกโปรตุเกสออกจากมะละกาได้สำเร็จ โดยที่ดัชต์จะเข้าไปควบคุมกรุงมะละกาแทน เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันมหาศาลเอาไว้โดยมีเงื่อนไขว่าดัชต์จะไม่มีการขยายขอบเขตพื้นที่ของตัวเอง หรือก่อสงครามแต่อย่างใด
5
ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว อิทธิพลของชาติตะวันตกก็ยังคงถูกจำกัดไว้เป็นหลักอยู่ที่กรุงมะละกา ยังไม่ได้มีการแผ่ขยายอิทธิพลไปยังบริเวณอื่นๆ ในคาบสมุทรมลายู จนกระทั่งในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เมื่อจักรวรรดิอังกฤษต้องการเข้ามาตั้งฐานที่ตั้งการค้าในเอเชียเพื่อทำการค้ากับจีนโดยเฉพาะ
📌 จากการรุกรานของพวกโปรตุเกสสู่การปกครองภายใต้จักรวรรดิอังกฤษ
อังกฤษได้ริเริ่มโดยให้บริษัท East India ของอังกฤษมาเข้าครอบครองเกาะปีนังในปี 1786 จากนั้น ก็เป็นเกาะสิงคโปร์ในปี 1819 และท้ายที่สุด ในปี 1824 ก็บรรลุข้อตกลงกับทางดัชต์เพื่อแบ่งแยกดินแดนอาณานิคมในแถบคาบสมุทรมลายูกัน โดยอังกฤษจะดูแลพื้นที่ฝั่งเหนือ รวมถึงเกาะมะละกา ในขณะที่ดัชต์ก็ควบคุมทางใต้ ซึ่งก็คือ หมู่เกาะอินโดนีเซียนั่นเอง
1
ภายในปี 1824 อังกฤษสามารถควบคุมพื้นที่จุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการค้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้ได้สามจุด ประกอบไปด้วย ปีนัง สิงคโปร์ และมะละกา โดยมีการเรียกสามเมืองดังกล่าวว่า Strait Settlements เป็นจุดเริ่มต้นของอาณานิคมอังกฤษในคาบสมุทรมลายู
1
3 Strait Settlements ของ British Malaya
ในช่วงแรก จักรวรรดิอังกฤษได้ยึดถือนโยบายสำคัญที่ว่าจะไม่เข้าแทรกแซงกิจการภายในของบรรดารัฐมลายูต่างๆ เหล่านี้ เนื่องจากให้ความสำคัญแต่เพียงเรื่องกิจการการค้าของท่าเรือตัวเองในเมืองต่างๆ เท่านั้น
1
อย่างไรก็ตาม ก็เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้น จากเรื่องการขุดเหมืองแร่ดีบุกในบรรดานักธุรกิจชาวจีนและชาวมลายูเอง ส่งผลให้ท้ายที่สุดแล้ว อังกฤษต้องเข้าไปแทรกแซง เนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าวอาจส่งผลต่อกิจการการค้าของอังกฤษได้
สิ่งที่อังกฤษได้ทำได้ช่วยวางรากฐานและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจมาเลเซียอย่างมาก
รัฐบาลอาณานิคมได้มีการปฏิรูประบบภาษีขึ้นใหม่ แทนที่ระบบซึ่งกดขี่ขูดรีด ไม่เป็นธรรม มีการปฏิรูปด้านภาคการเกษตร และส่งเสริมการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก มีการสร้างสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานอย่างเช่น รถไฟ ไปจนถึง ระบบโทรเลขขึ้น เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าที่สะดวกยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีการจัดสรรการศึกษาขั้นพื้นฐานและสาธารณสุขให้ชาวเมืองอีกด้วย
นโยบายต่างๆ ของอังกฤษได้ทำให้อาณานิคมพัฒนาขึ้นไปอย่างมาก ชาวเมืองได้มีการหันไปปลูกพืชชนิดใหม่อย่างเช่น พริกไทย ใบยาสูบ น้ำมันปาล์ม และยาง และสุดท้าย ก็พัฒนาไปจนส่งออกเยอะที่สุดในภูมิภาคได้
3
นอกจากนี้ ในช่วงดังกล่าว ด้วยเศรษฐกิจที่ไปได้ค่อนข้างดี มีโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตค่อนข้างเยอะ ส่งผลให้มีการอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาใน Strait Settlements เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากบรรดาชาวจีนในแผ่นดินใหญ่ที่หนีความลำบากยากแค้นมา
การปกครองของอังกฤษก็ยังได้ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งได้สะดุดลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กองทัพของจักรวรรดิญี่ปุ่นเข้ามาบุกยึดพื้นที่ในคาบสมุทรมลายูเอาไว้ เนื่องจากต้องการควบคุมเส้นทางการค้า และบรรดาทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ไปสนับสนุนการบุกยึดพื้นที่ภาคเหนือของจีน
แม้ว่าการเข้ายึดครองของญี่ปุ่นจะสิ้นสุดลงในปี 1945 จากที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขและกองทัพอังกฤษสามารถบุกทวงคืนได้ แต่การปกครองของญี่ปุ่นก็ได้สร้างกระแสความรักชาติ (Nationalism) ขึ้นมา ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญมากที่นำไปสู่ขบวนการเรียกร้องอิสรภาพในช่วงหลังสงครามโลก
หลังสงครามโลกจบลงใหม่ๆ ทางรัฐบาลเจ้าอาณานิคมอังกฤษได้นำเสนอแนวคิดในการรวมรัฐสุลต่านทั้งหมดไว้ภายใต้ชื่อเดียวซึ่งก็คือ Malayan Union
1
แต่ด้วยเงื่อนไขที่ว่าการรวมตัวดังกล่าวจะทำให้อำนาจและความเป็นอิสระของแต่ละรัฐลดลง จึงได้รับการต่อต้านอย่างมาก จนนำไปสู่การเจรจาใหม่ ทำให้เกิดการจัดตั้ง Federation of Malaya ซึ่งเคารพสภาพพิเศษของแต่ละรัฐที่มีการปกครอง มีสุลต่าน และมีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ในปี 1948
📌 จากหลายรัฐอาณานิคมสู่การประกาศอิสรภาพและรวมชาติเป็นสหพันธรัฐมาเลเซีย
1
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ สหพันธรัฐมลายูก็ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมอังกฤษอยู่ ซึ่งก็ได้รับแรงต่อต้านอยู่อย่างต่อเนื่อง จนสุดท้าย หลังจากความพยายามของหลายฝ่ายและกระแสจากในอังกฤษเอง ก็ได้นำไปสู่การประกาศอิสรภาพขึ้นในเดือนสิงหาคม ปี 1957 โดยมีรัฐบาลหลายฝ่าย (Alliance Government) นำโดย Tunku Abdul Rahman เป็นนายกรัฐมนตรี และมีการเปลี่ยนสภาพเป็นสหพันธรัฐมาเลเซียในปี 1963
ตุนกู อับดุล ระฮ์มัน (Tunku Abdul Rahman)
นโยบายเศรษฐกิจที่รัฐบาล Alliance ดำเนินการได้มุ่งเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจดั้งเดิมที่เป็นกลุ่มสำคัญมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม โดยมีแนวนโยบายเน้นสนับสนุนตลาดเสรี ลดการแทรกแซงของภาครัฐให้น้อยที่สุด รักษาการขาดดุลงบประมาณให้อยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งสนับสนุนเหล่าอุตสาหกรรมหนักผ่านการตั้งภาษีนำเข้าสูงเพื่อทดแทนการนำเข้า (เหมือนเช่นที่หลายประเทศเอเชียที่เจริญเติบโตดีได้ดำเนินการ)
1
ขณะเดียวกัน ก็ได้พยายามพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ระบบการศึกษาให้มีคุณภาพและเข้าถึงทุกคน เพื่อให้พร้อมในการสร้างชนชั้นกลางใหม่เป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม นโยบายในยุคดังกล่าวที่มีการสนับสนุนกลุ่มทุนชั้นบนเป็นพิเศษ โดยมุ่งหวังว่าเมื่อกลุ่มธุรกิจชั้นบนมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นจะกระจายลง (Trickle down) ไปสู่ชนชั้นล่างเอง แต่ความเป็นจริงก็ไม่ใช่เช่นนั้น เกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ขึ้นอย่างมาก และเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างชนชั้นไปอีก
ในช่วงทศวรรษ 1970 รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาได้มีนโยบายใหม่ที่ชื่อว่า New Economic Policy โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ การสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติ (National Unity) ผ่านการลดความยากจน (Poverty Eradication) และการปรับโครงสร้างสังคมใหม่ (Restructuring of Society) เพื่อให้ลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากนโยบายในอดีตที่มุ่งเน้นกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมที่เป็นของต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ และสนับสนุนธุรกิจของเหล่าชนพื้นเมืองภูมิบุตร หรือชาวมาเลย์นั่นเอง
อีกทั้งรัฐบาลยังได้ทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวกลางที่เชื่อมระหว่างส่วนทุนและแรงงาน โดยการแก้บรรดากฎหมายแรงงานต่างๆ ให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น มีการอนุญาตให้ผู้หญิงมีโอกาสเข้ามาทำงานได้มากยิ่งขึ้น และมีการลดบทบาทอิทธิพลของเหล่าสหภาพแรงงานไป เพื่อให้เป็นที่น่าลงทุนกับบรรดาเหล่าอุตสาหกรรมหนักที่ผลิตเพื่อการส่งออกต่างๆ
3
ผลก็คือการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในช่วงดังกล่าวขยายตัวได้ดีอย่างมาก โดยมีปัจจัยสำคัญจากนโยบายที่ใช่ที่สนับสนุนให้เกิด Export-Led Growth
1
กระทั่งในทศวรรษ 1980 ที่ท่านมหาเธร์ รัฐบุรุษของมาเลเซียได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจครั้งแรก ก็ได้เผชิญกับความท้าทายอย่างมาก เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง การส่งออกที่เคยช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็ไม่ได้ทำงานได้ดีเช่นเดิมอีกต่อไป การลงทุนจากต่างประเทศก็ลดลงจากสภาพเศรษฐกิจที่แย่ ทำให้มหาเธร์ได้เพิ่มบทบาทของรัฐฯ ขึ้นไปเพื่อทำหน้าที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจแทน
ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด
แต่ทว่าเหล่าบรรดาธุรกิจต่างๆ ก็ไม่ได้พึงพอใจมากนัก แต่กลับเรียกร้องให้รัฐบาลลดบทบาทของตัวเองเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนเสียดีกว่า (ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดหลักในยุคนั้น ที่เชื่อเรื่องเสรีนิยมใหม่)​
ด้วยเหตุนี้ ในช่วงยุคสมัยต่อมาของมหาเธร์จึงได้มีการปรับนโยบายของตัวเองใหม่ไปสู่การลดกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจเพื่อกระตุ้นการลงทุน มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ผลกำไรย่ำแย่
1
การเปิดเสรีเศรษฐกิจดังกล่าวได้ทำให้บรรดาธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศพัฒนาแล้ว ย้ายฐานการผลิตมาที่มาเลเซียจากกฎเกณฑ์ที่น้อยกว่า และค่าแรงที่ถูกกว่ามาก ทำให้เศรษฐกิจของมาเลเซียกลับมาเติบโตได้ดีอีกครั้ง โดยในช่วงหลังปี 1988 เป็นต้นไป เติบโตได้ราว 9% ต่อปี
1
แต่สุดท้ายก็หยุดชะงักลง เมื่อเผชิญวิกฤติการณ์การเงินเอเชียในปี 1997 ซึ่งมาเลเซียก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ และแสดงให้เห็นความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจมาเลเซียอย่างมากจากทุนนิยมพวกพ้อง (Crony Capitalism) และการปลดล็อคกฎเกณฑ์จนหละหลวมมากเกินไป ทำให้มาเลเซียเองก็ต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อให้มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีรากฐานที่เข้มแข็งและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
1
โดยสรุป จึงกล่าวได้ว่ามาเลเซียถือเป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศที่ได้เติบโตมาอย่างรวดเร็ว แม้จะเพิ่งได้ก่อตั้งประเทศมาไม่นาน ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายของประชาชนมาเลเซียเอง เป็นตัวอย่างของประเทศที่กล้าตัดสินใจ เลือกเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ใช่ เรียนรู้จากทั้งโมเดลที่ล้มเหลวและประสบความสำเร็จของประเทศต่างๆ และสามารถนำมาปรับใช้กับประเทศตัวเองได้อย่างเหมาะสม ทั้งหมดนี้ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้มาเลเซียเป็นประเทศที่น่าสนใจอย่างยิ่ง สมกับที่เป็นหนึ่งในผู้นำสำคัญของอาเซียนและเอเชียครับ
1
#ประวัติศาสตร์มาเลเซีย #เศรษฐกิจมาเลเซีย #มาเลเซีย
#Bnomics #All_about_History #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
Drake, P.J. (1979). The Economic Development of British Malaya to 1914: An Essay in Historiography with Some Questions for Historians. Journal of Southeast Asian Studies, 10(2), 262–290

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา