30 ต.ค. 2021 เวลา 15:55 • ประวัติศาสตร์
“ศาลพระภูมิ” ในวันที่ไม่เหมือนเดิม
การเดินทางมาเมืองไทยครั้งแรกของดาราดัง รัสเซล โครว์ นักแสดงฮอลลีวูดเจ้าของรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำฝ่ายชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง Gladiator ในปี 2000 เพื่อถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง The Greatest Beer Run Ever
โดยผ่านมาทางภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์จากนั้นมุ่งสู่กรุงเทพฯ มีเรื่องราวที่กลายเป็นข่าวคราวให้พูดถึงกันได้หลายวัน จากการเผยแพร่ภาพถ่ายประสบการณ์ในเมืองไทยผ่านทางทวิตเตอร์ที่ชื่อว่า Russell Crowe อย่างต่อเนื่องในอารมณ์อะเมซซิ่งไทยแลนด์
1
สิ่งที่เขานำมาถ่ายทอดดูเป็นเรื่องธรรมดาของคนไทย แต่เมื่อถูกนำเสนอโดยคนดังระดับโลกก็กลายเป็นเรื่องให้พูดถึงด้วยความสนใจที่ไม่ปกติ เพราะภาพถ่ายเหล่านั้นบอกเล่าเรื่องราวของเราผ่านมุมมองที่มีทั้งความตื่นเต้น แปลกตา และประทับใจ บางภาพคล้ายมีคำถามซ่อนไว้ ไม่ว่าภาพสายไฟที่ห้อยพะรุงพะรัง ภาพเสาไฟกินรี ตู้เติมน้ำมันหยอดเหรียญ แม้แต่สัตว์เลื้อยคลานท้องถิ่นที่คนไทยไม่ค่อยปลื้มนัก
5
การทวีตภาพของเขาเป็นที่ยินดีของคนไทยเพราะถือเป็นการช่วยโปรโมทการท่องเที่ยวก่อนที่จะเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 1 ฤศจิกายน 2564 โดยเฉพาะเมื่อเขาเผยแพร่ภาพถ่ายการแวะชิมอาหารร้านเจ๊ไฝ เจ้าของสตรีทฟูดรางวัลมิชลินสตาร์ 1 ดาวของเมืองไทย และชุดภาพที่มีพระปรางค์วัดอรุณฯ กับข้อความชื่นชมเมืองไทยว่ามีสถานที่สวยงาม น่าสนใจ และตื่นตาตื่นใจ ผู้คนยินดีต้อนรับอย่างอบอุ่น ในวันสุดท้ายของซีรี่ส์ Lost in Bangkok
5
แต่ภาพที่ทำให้เกิดเป็นเรื่องราวสนุกสนานของคนในโลกโซเชียลมีเดียคือ ภาพถ่ายเซลฟี่ของเขากับบ้านหลังหนึ่งที่มองเห็นอาคารทรงปราสาทหลังเล็กๆ สีขาวตั้งอยู่บนเสาคอนเกรีตท่ามกลางแมกไม้สีเขียว ซึ่งมีคนไทยเข้าไปรีสตีทแสดงความเห็นเป็นภาษาอังกฤษด้วยข้อความหยอกล้อทำนองว่า “คนไทยรักแมวมากถึงขนาดสร้างบ้านให้แมว” โดยเน้นด้วยวงกลมสีแดงตรงปราสาทหลังเล็กนั้น
3
ดราม่าเรื่องนี้สนุกมากขึ้นเมื่อมีผู้นำภาพถ่ายที่มีแมวนอนอยู่บนสิ่งปลูกสร้างนั้นโพสต์ตามมาอีกหลายภาพ ทำให้ชาวต่างชาติจำนวนหนึ่งเกิดความสงสัยจนต้องตั้งคำถามว่าสิ่งนั้นเป็น “บ้านแมว” จริงเหรอ แม้มีผู้เข้ามาให้ข้อมูลว่าความจริงปราสาทหลังเล็กนั้นสร้างให้เทวดาอาศัยเพื่อช่วยปกป้องคุ้มครองคนในบ้านตามความเชื่อของคนไทย แต่ภาพแมวที่อาศัยอยู่ก็ชวนให้เข้าใจสับสนได้
10
ทำให้ผู้เขียนนึกถึงประสบการณ์เมื่อหลายปีก่อนที่พาเพื่อนชาวฝรั่งเศสชมโลหะปราสาทหน้าวัดราชนัดดา และข้ามมาฝั่งป้อมมหากาฬ บังเอิญได้เข้าไปชุมชนป้อมมหากาฬ (ก่อนที่จะถูกไล่รื้อไปในปี พ.ศ.2561) มีเรือนไม้สองชั้นที่ใต้ร่มไม้ใหญ่ ด้านข้างมีบ้านไม้หลังเล็กๆ รูปทรงเรียบง่าย หลังคาจั่วแบบไทย ตั้งอยู่บนเสาไม้เดียว ซึ่งเพื่อนฝรั่งถามด้วยความสงสัยว่าคืออะไร เมื่อบอกว่า “ศาลพระภูมิ” (a spirit house)เขาอมยิ้มแล้วบอกนึกว่า “บ้านนก” (birdhouse)
1
เรื่องศาลพระภูมิสำหรับคนไทยไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เชื่อว่าคนจำนวนมากก็อธิบายไม่ได้ว่าคืออะไรกันแน่
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้คำอธิบายความหมายว่า “ศาลพระภูมิ” คือ ที่สถิตของเทพารักษ์ประจำพื้นที่และสถานที่ ทำด้วยไม้เป็นเรือนหลังคาทรงไทยตั้งอยู่บนเสาเดียว ปัจจุบันนิยมทำด้วยปูนเป็นรูปปราสาทก็มี
3
ภายในศาลไม่ได้มีเทวรูปหรือรูปเคารพแบบศาลอื่น ๆ หากแต่มีเจว็ดใช้ประดิษฐานไว้ในศาลพระภูมิ
“เจว็ด” เดิมทำด้วยแผ่นไม้รูปทรงแบบใบเสมา รูปทรงสูงเพรียว ขนาดไม่แน่นอนเปลี่ยนแปลง ด้านหน้าเขียนหรือแกะเป็นรูปเทพารักษ์ยืนอยู่บนแท่นหันหน้าเฉียงไปข้าง ๆ มือหนึ่งถือพระขรรค์ อีกมือหนึ่งถือสมุด บางทีก็ถือพระขรรค์กับถุงเงิน หรือพระขรรค์กับแส้และสมุดดำ แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปเป็นทำด้วยปูนทรงใบเสมาพิมพ์ลาย หรือใช้เป็นองค์เทวรูปเลยก็มี
3
ตัวอาคารศาลพระภูมิก็มีพัฒนาการด้านรูปทรงและวัสดุจัดสร้างมาอย่างไม่หยุดนิ่ง จากเดิมเป็นไม้ปลูกสร้างทรงเรือนไทย เปลี่ยนแปลงมาเป็นอาคารปูนรูปทรงปราสาท ต่อมามีการทำด้วยหินอ่อน แกรนิตโต้ เรื่อยมาจนเป็นอาคารกระจกแวววาวก็มี
4
โดยเฉพาะในช่วงสิบหลังมีการพัฒนารูปทรงใหม่ที่แหวกแนวออกมามากขึ้น ด้วยการออกแบบรูปทรงสถาปัตยกรรมทันสมัย หรือที่เรียกว่าทรงโมเดิร์น ที่มีหลายแบบตามแต่ผู้ผลิตจะสร้างสรรค์ขึ้นมา เช่นหลังคาลอนชั้นเดียว หรือ 2-3 ชั้น หลังคาโดม ทรงแบบกรีก-โรมัน กระทั่งอาคารกระจกก็มี เพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของอาคารสมัยใหม่ และสนองตามความต้องการตามรสนิยมที่เปลี่ยนแปลงไป
แต่รูปทรงตามแบบนิยมที่สืบทอดกันหลายสิบปีคือสถาปัตยกรรมทรงปราสาทจัตุรมุขยังคงเป็นที่ต้องการหลักของตลาด โดยมีการจำลองมาจากพระราชวังต่างๆ นอกจากนี้บางรายยังมีการเพิ่มเติมส่วนยอดเป็นแบบพระปรางค์เลียนโบราณสถานสำคัญเช่นปรางค์สามยอด หรือปรางค์วัดอรุณฯ
ในประเด็นรูปทรงสถาปัตยกรรมของศาลพระภูมินั้น ไม่มีการกล่าวถึงวิธีการโดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ไม่ได้มีทุกบ้าน สมัยก่อนจะสร้างกันเองตามความพอใจหรือความสะดวก แต่ปัจจุบันศาลพระภูมิเป็นสินค้า หากผลิตจากแหล่งผลิตเดียวกันจะมีรูปทรงเหมือนๆ กัน แต่เนื่องจากการแข่งขันของตลาดจึงมีการออกแบบรูปทรงสถาปัตยกรรมหลากหลายมากขึ้น
1
แม้ศาลพระภูมิจะมีรูปแบบที่หลากหลาย ไม่มีวิธีการทางสถาปัตยกรรมที่แน่ชัด เพราะโดยมากเกิดจากรูปแบบและวิธีการสร้างของร้านจำหน่ายศาลพระภูมิเป็นหลัก แต่ข้อสำคัญศาลพระภูมินั้นจะต้องเป็นศาลเสาเดียว
เรามักเข้าใจกันว่าศาลพระภูมิเป็นความเชื่อตามคติพราหมณ์ ที่ว่าเทพารักษ์หรือพระภูมิเทวดาทำหน้าที่พิทักษ์เหย้าเรือนและเขตที่ตั้งบ้านของผู้เป็นเจ้าของที่ดิน ตลอดจนผู้อยู่อาศัยให้พ้นภัยทั้งปวง ในการปลูกเรือนใหม่จึงมีความนิยมปลูกศาลพระภูมิไว้เพื่อให้พระภูมิซึ่งเป็นเจ้าที่ได้อยู่อาศัยและปกป้องรักษาผู้อาศัยให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข
เรื่องที่มาพระภูมิมีหลายตำนานไม่ตรงกัน หลักๆ มีอยู่ 3 ตำนาน คือ ตำนานพระภูมิแบบศาสนาพราหมณ์ดั้งเดิม ตำนานพระภูมิแบบเรื่องนารายณ์ 10 ปาง และตำนานพระภูมิแบบชาดกตามพุทธศาสนา
ตามความเชื่อแบบพราหมณ์-ฮินดู ศาลพระภูมิเปรียบประดุจวิมานประทับของพระพระอิศวรที่อยู่บนยอดเขาพระสุเมรุจึงต้องมีเสาเดียว แนวทางตามพระพุทธศาสนาเชื่อว่าพระภูมิเป็นเทวดาที่เรียกว่า “ภุมมะเทวดา” ที่อาศัยอยู่ตามเนินดิน หรือซุ้มประตู การตั้งศาลพระภูมิจึงต้องตั้งบนดินและมีเสาเดียวเท่านั้น ต่างจากศาลเจ้าที่หรือศาลตายายที่เปรียบเสมือนบ้านเรือนชาวบ้านจึงมี 4 เสา ส่วนศาลที่อยู่ตามโคนต้นไม้ หรือทางสามแพ่ง เป็นที่สิงสถิตของวิญญาณเร่ร่อนนิยมสร้างเป็นศาลมี 6 เสา หรือ 8 เสา ซึ่งถือเป็นการแบ่งชั้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้จำแนกประเภทและวิธีบูชาได้ชัดเจน
3
ซึ่งนักวิชาการรุ่นหลังอธิบายว่าความเชื่อเรื่องนี้มีรากเหง้ามาจากคติความเชื่อพื้นบ้านดั้งเดิมที่นับถือผีอยู่แต่เดิม ผสมผสานเข้ากับความเชื่อทางพราหมณ์-ฮินดูและพุทธศาสนาที่เข้ามามีอิทธิพลภายหลัง แล้วยกระดับให้ดูดีขึ้นโดยเปลี่ยนจากคำว่า “ผี” เป็นเทพในนามพระภูมิที่มีชั้นสูงกว่า
2
คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญศาสนาฮินดูยืนยันว่าจากการตรวจสอบข้อมูลไม่พบหลักฐานเคยมีความเชื่อแบบนี้ที่ประเทศอินเดียเลย จึงมีมุมองต่อประเด็นความเชื่อเรื่องพระภูมิว่า ไม่ใช่ทั้งของพราหมณ์และพุทธ แต่เป็นความเชื่อเรื่อง “ผี” สิ่งศักดิ์แบบดั้งเดิมของวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนจะที่เปลี่ยนมาเป็นระบบจักรวาลของพุทธ-พราหมณ์ ซึ่งต่างจากความหมายของวิญญาณปัจเจกบุคคลอย่างที่เข้าใจกันในปัจจุบัน
3
โดยในอดีตชุมชนหนึ่งๆ จะมีศาลผี (ศาลเจ้าที่แบบเดิม) เพียงศาลเดียวทำหน้าที่ปกปักรักษาคนในชุมชนทั้งหมด ภายหลังเมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนแยกตัวเป็นปัจเจกมากขึ้น จึงเกิดศาลพระภูมิสำหรับบ้านแต่ละหลังตามมา
ทุกวันนี้ความเชื่อที่แบ่งแยกระดับชั้นของศาลทำให้ชาวบ้านมีการตั้งศาลเจ้าที่หรือศาลตายาย อยู่คู่กับศาลพระภูมิ แล้วเรียกรวมกันว่า “พระภูมิเจ้าที่” ส่วนอาคารหรือที่ทำการขนาดใหญ่บางแห่งอาจเพิ่มศาลของเทพเจ้าฮินดูเอาไปอีกเพราะเชื่อว่าเป็นเทพชั้นสูงกว่ามีพลังอำนาจปกป้องได้มากกว่า
ศาลพระภูมิจึงไม่ใช่คติความเชื่อของพราหมณ์-ฮินดู หรือพุทธศาสนา อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นผลผลิตของความเชื่อลูกผสมที่มีผีเป็นรากฐานเดิม ดังจะเห็นได้ว่าผู้ทำพิธีกรรมตั้งศาลพระภูมินั้นเป็นได้ทั้งพระ พราหมณ์ หรือฆราวาสที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม
1
อย่างไรก็ดี ถึงแม้วันนี้ศาลพระภูมิจะเปลี่ยนโฉมหน้าและรูปแบบจากประเพณีนิยมเดิม แต่ความเชื่อในเรื่องพระภูมิเจ้าที่ยังคงฝังแน่นอยู่ในสังคมไทยที่พุทธ-พราหมณ์และผีอยู่ร่วมกันมายาวนาน
ติดตามสตอรี่ดี ๆ จาก The Story Thailand ได้ตามช่องทางเหล่านี้
Instagram:
LINE TODAY: TheStoryThailand
#TheStoryThailand #เดอะสตอรี่ไทยแลนด์ #สตอรี่ดีๆ
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา